xs
xsm
sm
md
lg

บก.จร.ขึ้นป้ายประจานตัวเอง ลั่นไม่ขยันรีดไถอีกแล้ว คุยปีหน้าผุด “สุภาพบุรุษจราจร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กองบังคับการตำรวจจราจรขึ้นป้ายประจานตัวเอง ลั่นตำรวจจราจรยุคใหม่ ไม่ตีไก่ ไม่ตั้งด่านหวังเงินรางวัล ไม่รีดไถประชาชน ไม่ดักซุ่มตามทางโค้ง ไม่ใช้กิริยาวาจาไม่เหมาะสม หลังสังคมเอือมระอา พร้อมผุดโครงการสร้างภาพ “สุภาพบุรุษจราจร” ให้ดูดี

วันนี้ (13 ธ.ค.) กองบังคับการตำรวจจราจรได้จัดทำป้ายคัตเอาท์ระบุว่า “กลับหลังหัน ไม่ตีไก่ ไม่ตั้งด่านหวังเงินรางวัล ไม่รีดไถประชาชน ไม่ดักซุ่มตามทางโค้ง ไม่ใช้กิริยาวาจาไม่เหมาะสม ตำรวจจราจรยุคใหม่ ใส่ใจประชาชน” โดยเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊ก ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) ระบุว่า ในปี 2557 นี้ งานจราจรตำรวจนครบาล จะเป็นปีแห่งสุภาพบุรุษจราจร และปีแห่งการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน อย่างเต็มที่ สำหรับโครงการสุภาพบุรุษจราจร ขณะนี้พร้อมแล้วในการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ตามบัญญัติ 10 ประการ อาทิ มีจิตสำนึกต่อการบริการ ไม่รีดไถ่ มีวินัย ขยัน มีความคิดริเริ่ม มีความเอื้ออารี มีเกียรติยศอย่างภาคภูมิ ทั้งนี้เพื่อรับใช้และให้บริการแก่ประชาชน ให้สามารถเดินทางบนท้องถนนได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจรทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในปัจจุบัน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทั้งการตั้งด่านตรวจเพื่อจับผู้ใช้รถใช้ถนนเสียค่าปรับอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ แม้จะใส่หมวกกันน็อกหรือขับขี่ด้วยความเร็วตามกฎหมายก็ตาม รวมทั้งมีการใช้คำพูดไม่เหมาะสมเพื่อกรรโชกให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเสียค่าปรับ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังมีการดักซุ่มตามมุมอับ เช่น ตามทางโค้งหรือพุ่มไม้เพื่อดักจับผู้ใช้รถใช้ถนน กระทั่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มีการตั้งเฟซบุ๊กในลักษณะ “มีด่านบอกด้วย” เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำของเจ้าหน้าที่

สำหรับคำว่า “ตีไก่” นั้น ผลวิจัยการศึกษามาตรการป้องกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจเกินขอบเขต กรณีพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยสำนักงาน ป.ป.ช.เมื่อปี 2552 ให้ความหมายว่า เป็นพฤติกรรมของตำรวจจราจรเรียกผู้กระทำความผิดกฎหมายจราจร อาทิ ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ดัดแปลงอุปกรณ์ตัวรถ เป็นต้น แล้วเรียกเก็บเงินจากผู้กระทำความผิดเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จะไม่จับกุม เป็นการกระทำที่สร้างความเสื่อมเสียในวงกว้างแก่องค์กรตำรวจมากที่สุด บางกรณีพบว่าตำรวจจราจรบางรายจะใช้ศิลปะในการพูดโน้มน้าว หรือขู่ให้ผู้กระทำผิดเห็นว่าจะต้องประสบความยากลำบากอย่างไรในการไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจ หรือจำนวนค่าปรับที่สูงมากหากไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้ยอมให้สินบน


กำลังโหลดความคิดเห็น