พบ พ.ร.ฎ.กำหนดมาตรฐานส้วมปี 2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้อีก 120 วัน ให้ยกเลิกส้วมซึม หันมาใช้ชักโครก อ้างคุณภาพต่ำ ไม่ปลอดภัย ก่อนหน้านี้ ครม.ยิ่งลักษณ์ไฟเขียวแผนแม่บทพัฒนาส้วม ตั้งเป้าใช้ชักโครกทุกครัวเรือนในปี 2559
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา “กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556” ใจความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า เป็นการสมควรกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และได้ดำเนินการตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2548 แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.792 - 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ. 2554) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์วิเทรียสไชนา : โถส้วมนั่งราบ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนามัยของประชาชนได้ หากมีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์และเศรษฐกิจของประเทศ ในการนี้ ได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ. 2554) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์วิเทรียสไชนา : โถส้วมนั่งราบ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และได้ดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องครบถ้วนตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2548 แล้ว สมควรกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
อ่านประกอบ : พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ได้แก่ 1.เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 - 2559) และ 2.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 - 2559) ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายความสำเร็จที่กำหนดไว้
สาระสำคัญของแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 - 2559) มีดังนี้
1.วัตถุประสงค์ ได้แก่ (1) เพื่อพัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (2) เพื่อให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย (3) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ (4) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่าง ถูกหลักสุขาภิบาล
2.เป้าหมายความสำคัญ มีดังนี้ (1) ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบ “ส้วมนั่งราบ” ร้อยละ 90 ภายในปี พ.ศ. 2559 (2) สถานบริการสาธารณะ และสถานที่สาธารณะมีบริการ “ส้วมนั่งราบ” อย่างน้อย 1 ที่ร้อยละ 10 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2559 (3) ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2559 (4) คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2559 (5) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2559
3. กลุ่มเป้าหมาย
(1) ส้วมครัวเรือน
(2) ส้วมสาธารณะในสถานบริการสาธารณะและสถานที่สาธารณะ 12 ประเภท ได้แก่ 1. แหล่งท่องเที่ยว 2. ร้านจำหน่ายอาหาร 3. ตลาดสด 4. สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ 5. สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 6. สถานศึกษา 7. โรงพยาบาล 8. สถานที่ราชการ 9. สวนสาธารณะ 10. ศาสนสถาน 11. ส้วมสาธารณะ ริมทาง และ 12. ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/ดิสเคานต์สโตร์
4. กลยุทธ์ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าประสงค์ได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน จะใช้กลยุทธ์หลักในการดำเนินงาน 4 กลยุทธ์ ดังนี้คือ (1) กลยุทธ์การสร้างการมีส่วนร่วม (Creating Particpation Strategy) (2) กลยุทธ์การสื่อสารสาธารณะ (Public Communication Strategy) (3) กลยุทธ์การใช้มาตรการทางสังคมและมาตรการทางกฎหมาย (Social and Law Enforcement Strategy) (4) กลยุทธ์การพัฒนาวิชาการและการเรียนรู้ (Knowledge and Learning Strategy)
5.การแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ แผนฯ จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลได้ จำเป็นต้องมีกระบวนการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รวมถึงภาคเอกชน หรือเจ้าของสถานประกอบการ ในการดำเนินงานภายใต้แผนฯ การขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการส้วมสาธารณะไทยผลักดันและให้การสนับสนุนแต่ละภาคส่วนให้มีการจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ะละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุได้รับบริการที่มีมาตรฐานถูกสุขลักษณะ และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคม
6.การติดตามประเมินผล เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ การดำเนินงานตามแผนฯ กำหนดให้มีการติดตามและประเมินผล โดยดำเนินการดังนี้
(1) คณะกรรมการส้วมสาธารณะไทย มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย อำนวยการและติดตามความกว้าหน้าผลการดำเนินงานส้วมสาธารณะไทย อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพตามความเหมาะสม
(2) ให้คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมาย ตามแผนฯ ประจำทุกปี ในระยะครึ่งแผนฯ และระยะสิ้นสุดของแผนฯ และรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ ในการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนฯ ต่อคณะกรรมการส้วมสาธารณะไทย