xs
xsm
sm
md
lg

“NBTC Watch” บี้ซ้ำ กสทช.แจงเงินพีอาร์ 110 ล้าน-จวกชุ่ยลงงบซื้อสื่อ “มติชน” คลาดเคลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะทำงานติดตาม กสทช.ออกแถลงการณ์บี้ซ้ำ กสทช.ทำงานขาดประสิทธิภาพลงตัวเลขงบซื้อสื่อเครือมติชนคลาดเคลื่อน จี้อย่าแจงเฉพาะประเด็นตัวเลขผิดพลาด ต้องเคลียร์งบที่เหลืออีก 110 ล้านด้วย อัดซ้ำใช้งบประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์มากกว่าเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน

วันนี้ (21 พ.ย.) คณะทำงานติดตาม กสทช.(NBTC Watch) ได้ออกแถลงการณ์ กรณีการนำเสนอข้อมูลการใช้เงินงบประมาณของ กสทช.ซื้อพื้นที่โฆษณาในสื่อเครือมติชนที่คลาดเคลื่อน ว่า ตามที่สำนักงาน กสทช.ได้มีหนังสือชี้แจงข้อมูลการซื้อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ถึงคณะทำงานติดตาม กสทช.(NBTC Watch) ว่า สำนักงาน กสทช.ได้มีการปรับปรุงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของ บริษัท มติชน จำกัด ที่ได้นำเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.nbtc.go.th ตามมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ที่มีความคลาดเคลื่อนของงานทางธุรการที่พิมพ์ตัวเลขผิดพลาด จากเงินจำนวน 1.07 ล้านบาท เป็น 10.7 ล้านบาท ให้ถูกต้องแล้ว วงเงินรวมของการซื้อสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นวงเงินรวม 3,659,660 บาท และขออภัยเป็นอย่างสูงมายัง คณะทำงานติดตาม กสทช.ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 นั้น

คณะทำงานติดตาม กสทช.ขอเรียนให้สาธารณชน รวมถึงสำนักงาน กสทช.ทราบดังนี้

1.รายงานตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ กสทช.ของคณะทำงานฯ จัดทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช.ซึ่งต้องจัดเป็นแหล่งข้อมูลที่มีระดับความเชื่อถือสูงสุด เพราะสำนักงาน กสทช.เป็นผู้รับผิดชอบและจัดทำขึ้นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เพื่อเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดในสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างให้สาธารณชนทราบ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 59(7) ที่กำหนดว่า “รายละเอียดของผลการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงาน กสทช.และสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของ กสทช.และสำนักงาน กสทช.ให้ประชาชนทราบ ข้อมูลดังกล่าวจึงต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อปรากฏในภายหลังว่า ข้อมูลของสำนักงาน กสทช.หน่วยงานธุรการขององค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลผลประโยชน์จำนวนมหาศาลของประเทศเกิดความผิดพลาดขึ้น จึงเป็นการส่งสัญญาณที่บ่งชี้อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ว่า ระบบการทำงานของสำนักงาน กสทช.เป็นไปโดยขาดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากผลที่เกิดจากการทำงานที่ผิดพลาดของ สำนักงาน กสทช.ซึ่งถูกนำมาใช้ต่อโดยคณะทำงานฯ ส่งผลให้บุคคลหรือองค์กรใดได้รับผลกระทบ คณะทำงานฯ ก็ขอน้อมรับผลที่เกิดจากความผิดพลาดของข้อมูลของสำนักงาน กสทช.ดังกล่าว และขออภัยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมา ณ โอกาสนี้

อนึ่ง หากผลจากการแก้ไขข้อมูลของสำนักงาน กสทช.ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผลการศึกษาซึ่งทำให้การจัดทำรายงานฉบับนี้ต้องมีความคลาดเคลื่อนหรือบกพร่องเป็นประการใด คณะทำงานฯ พร้อมที่จะทำการศึกษาและทบทวนผลการรายงานใหม่ทันทีที่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนจากสำนักงาน กสทช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเปิดเผยให้สาธารณชนทราบในโอกาสต่อไป

2.คณะทำงานฯ ขอเรียกร้องให้สำนักงาน กสทช.ยุติการชี้แจงเฉพาะในประเด็นการบันทึกข้อมูลการพิมพ์ตัวเลขผิดพลาดเพียงเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นที่สำคัญอื่น โดยสำนักงาน กสทช.มีหน้าที่ต้องตอบคำถามที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในรายงานฉบับนี้ อาทิ

• งบประมาณส่วนที่เหลืออีกจำนวน 110 ล้านบาท เมื่อนำมาหักลบกับจำนวนเงินที่สำนักงาน กสทช.ใช้ไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ (ภายในระยะเวลา 5 เดือน) แล้ว ก็ยังคงมีวงเงินสูงถึง 110 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของวงเงินงบประมาณรวมทั้งปี (2,500 ล้านบาท) หาใช่ร้อยละ 1-2 ดังที่มีการกล่าวอ้างผ่านสื่อมวลชนแต่อย่างใด เพราะหากการใช้งบประมาณของสำนักงาน กสทช.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว งบประมาณที่เหลือจากการใช้จ่ายจำนวนนี้จะเป็นเงินได้ที่จะต้องนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมาย

• เหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้วิธีพิเศษเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างประชาสัมพันธ์ในงบประมาณเกินกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้ หากมีการเตรียมการที่ดี ย่อมสามารถใช้วิธีปรกติในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใสได้

• เหตุผลที่ต้องใช้งบจำนวนมาก เพื่อซื้อปกหนังสือบางฉบับเพื่อเน้นการนำเสนอภาพลักษณ์ขององค์กรหรือผู้แทนองค์กรบางคน มากกว่าเน้นการให้ข้อมูลต่อประชาชน

• การใช้งบประมาณเพื่อซื้อพื้นที่เนื้อหาสื่อที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับการรายงานข้อมูลในพื้นที่สื่อ อันอาจเป็นที่มาให้เกิดการตั้งคำถามในเชิงจริยธรรมสำหรับองค์กรกำกับดูแลด้านสื่อ

• เหตุผลของการใช้งบประชาสัมพันธ์เพื่อการรับฟังความเห็นเพื่อการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย แต่กลับใช้เงินจำนวนน้อยกว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์มาก

3.คณะทำงานติดตาม กสทช.เป็นคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูล ติดตามตรวจสอบการทำงานของ กสทช.อย่างเป็นอิสระจากผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ใด ภายใต้การสนับสนุนด้านงานธุรการจากศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในการติดตามตรวจสอบการทำงานของ กสทช.คณะทำงานฯ ใช้ขั้นตอนและความรู้ทางวิชาการเป็นแนวทางในการศึกษา เพื่อจัดทำรายงานเผยแพร่เป็นข้อมูลให้สาธารณชนทราบ และเพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายมีข้อมูลประกอบการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน กสทช.และ กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่จะต้องมีความพร้อมรับผิด (Accountability) ต่อสาธารณะ

คณะทำงานฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสำนักงาน กสทช. กสทช.จะเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อทำให้การกลไกการติดตามตรวจสอบการทำงาน กสทช. มีประสิทธิภาพสมตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
คณะทำงานติดตาม กสทช.(NBTC Watch)
21 พฤศจิกายน 2555
กำลังโหลดความคิดเห็น