xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแพ่งยกคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉินกรณี “จอดำยูโร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลแพ่งยกคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉิน ให้ “จีเอ็มเอ็ม แซท” ถ่ายทอดสดยูโรก่อน 2 ก.ค.ห่วงประชาชนจะจอดับกันทั้งประเทศ

วันนี้ (29 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลไต่สวน เพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉินในคดีหมายเลขดำ ผบ.1841/2555 กรณีที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กับพวกรวม 5 ราย ซึ่งเป็นผู้บริโภคใช้บริการสาธารณะฟรีทีวี และผู้ใช้ระบบเคเบิลทีวีและดาวเทียม ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ทีวีช่อง 3 กองทัพบก ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องร่วมกันทำละเมิด และผิดสัญญา โดยขอให้ศาลไต่สวนเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน ให้จำเลยที่ 1-4 แพร่ภาพถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรโดยด่วนที่สุด ก่อนการแข่งขันจะสิ้นสุดในวันที่ 2 กรกฎาคม

ทั้งนี้ ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยมีใจความสำคัญว่า ปัจจุบันผู้บริโภคที่รับชมส่วนใหญ่ สามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลยูโรได้ทางการส่งสัญญาณระบบภาคพื้นดิน และทางเสาอากาศได้อยู่แล้ว อีกทั้งจำเลยที่ 4 (บริษัทจีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด) ซึ่งเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันจากสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งศาลไม่สามารถบังคับให้จำเลยที่ 4 ไปละเมิดสัญญาลิขสิทธิ์นั้นได้ จะส่งผลให้ยูฟายกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 4 ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศได้ ซึ่งนับเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงมากกว่า และอาจส่งผลกระทบต่อการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายการกีฬาอื่นๆ ในอนาคต และยังเป็นเรื่องสิทธิทางการค้าระหว่างประเทศ ถ้าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว

ทั้งนี้ น.ส.สารี กล่าวก่อนเข้ารับฟังคำวินิจฉัยของศาล ว่า การฟ้องคดีครั้งนี้ ไม่ว่าผลของศาลจะคุ้มครองหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นคำเตือนถึงผู้ประกอบธุรกิจทุกราย ว่า การทำธุรกิจต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณะมากกว่าเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ทั้งนี้ จากการสืบพยานเมื่อวานนี้ ผู้พิพากษาเห็นว่า การดำเนินการที่เกิดขึ้น คำนึงถึงแต่การละเมิดลิขสิทธิ์ โดยไม่นึกถึงความเสียหายของผู้บริโภคที่รับชมฟรีทีวี 11 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ยังเห็นว่า กลไกต่างๆ ที่ควรทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ยังไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้เชื่อว่า ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนคงได้บทเรียนร่วมกัน จึงเรียกร้องให้ภาครัฐ เร่งผลักดันการออกฎหมายองค์กรอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้หาก ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว องค์กรผู้บริโภคจะขอดูรูปคดีอีกครั้ง ก่อนหาแนวทางดำเนินการต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น