คลิกที่นี่ เพื่อฟัง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชดำริ
“ในหลวง” ตรัสชมสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล ใกล้กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นโครงการที่เรียกว่า แหวกแนว สร้างสำเร็จขึ้นได้โดยเร็ว มีประโยชน์จริงๆ เป็นโครงการที่น่าสนใจสร้างด้วยเทคนิคสมัยใหม่ ถือเป็นประโยชน์กับภาคกลาง และได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี
เวลา 17.47 น.วันนี้ (19 ก.ย.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯออก ณ ห้องประชุม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะข้าราชการกรมชลประทาน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 5 โครงการ และรับพระราชทานพระราชดำริเพื่อเป็นแนวทาง การเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าว
นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทาน ดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้ง 5 โครงการนั้น กรมชลประทานได้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้าง และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันโครงการต่างๆ สามารถนำประโยชน์ให้แก่ราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียดการดำเนินงานแต่ละโครงการดังนี้
1.โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ได้เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2542 แล้วเสร็จปี 2548 มีความจุ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถบรรเทาน้ำท่วม โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา วันที่ 19 กรกฎาคม - 19 กันยายน 2554 สามารถชะลอน้ำได้ถึง 37 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน รวม 185,000 ไร่ ในฤดูฝน ส่งน้ำให้พื้นที่ทำการเกษตรได้เต็มที่ ในฤดูแล้ง สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ทำการเกษตรได้ 60,000-70,000 ไร่ ผลผลิตข้าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยข้าวนาปี เดิมได้ผลผลิตเฉลี่ย 48 ถังต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 64 ถังต่อไร่ และข้าวนาปรัง เดิมได้ผลผลิตเฉลี่ย 53 ถังต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 72 ถังต่อไร่ และกรมชลประทานได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก บริเวณท้ายเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ จำนวน 28 ล้านหน่วยต่อปี
2.โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง จ.สงขลา ได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ตั้งแต่ปี 2539 แล้วเสร็จในปี 2542 ทำให้การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปากพนัง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถป้องกันการรุกของน้ำเค็ม เป็นแหล่งน้ำจืดไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม และรักษาสิ่งแวดล้อมได้เต็มพื้นที่
3.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร จ.นครพนม เริ่มก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นลำน้ำก่ำและลำน้ำสาขา เมื่อปี 2538 และแล้วเสร็จครบจำนวน 7 แห่งในปี 2552 ทำให้สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำก่ำเหนือประตูระบายน้ำ รวมประมาณ 53 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำที่เก็บกักจำนวนนี้ สามารถนำไปใช้ในการชลประทาน ในพื้นที่สองฝั่งของลำน้ำได้ โดยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากลำน้ำก่ำไปยังคลองชลประทานเข้าสู่พื้นที่ชลประทานทั้งสองฝั่งลำน้ำ 165,000 ไร่ ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำเป็นพื้นที่ชลประทานรวมทั้งสิ้น 41,700 ไร่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2559 ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการทำเกษตรทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง
4.โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เริ่มก่อสร้างตัวเขื่อนเมื่อปี 2548 แล้วเสร็จในปี 2552 สามารถบรรเทาน้ำท่วม โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา วันที่ 119 กรกฎาคมถึง 19 กันยายน 2554 สามารถชะลอน้ำได้ถึง 565 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งสามารถส่งน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 23,826 ไร่ จากระบบส่งน้ำทั้งหมดของโครงการที่วางแผนไว้ 155,166 ไร่ และเมื่อดำเนินการก่อสร้างระบบชลประทานได้แล้วตามแผนงานที่วางไว้ จะสามารถส่งน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 439,161 ไร่ รวมทั้งสามารถบรรเทาการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง และส่งผลถึงการบรรเทาการเกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบางส่วน
5.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังไปยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาฬสินธุ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2542 ความจุ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ทำการเกษตรในพื้นที่ชลประทานได้ 4,600 ไร่ และเมื่อปี 2546-2552 ได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร มายังพื้นที่โครงการลำพะยังตอนบน โดยอุโมงค์มีความยาวประมาณ 710 เมตร สามารถผันน้ำมาเติมลงสระเก็บน้ำประจำไร่นา ที่จะกระจายในพื้นที่รับประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน สามารถช่วยเหลือราษฎรให้ทำการเกษตรในพื้นที่ชลประทานได้เพิ่มเติมอีก 12,000 ไร่
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้จัดตั้งองค์กรรองรับ ในการบริหารและจัดการน้ำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ตามที่ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ โดยมีการนำเทคโนโลยีและกระบวนการมีส่วนร่วมของราษฎร มาใช้ในการบริหาร และจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง
ในการนี้ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งสร้างด้วยเทคนิคสมัยใหม่ เป็นประโยชน์กับภาคกลาง และได้รับความร่วมมือจากประชาชน
“โครงการขุนด่าน เป็นโครงการที่น่าสนใจถือว่าเป็นเขื่อนที่มีความก้าวหน้า สร้างขึ้นมาด้วยเทคนิคสมัยใหม่ ใหม่ที่สุดที่มีอยู่ในเมือง นับว่าเป็นโครงการใหญ่ที่เป็นประโยชน์กับการชลประทานในภาคกลาง ซึ่งไม่เคยมีใหญ่โตขนาดนี้ ใกล้กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นโครงการที่เรียกว่าแหวกแนว เราเลยสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทันทีเลย ซึ่งตามปกติของการ ภาคกลางนี้สร้างยาก เพราะว่าหาที่ยาก และสถานที่ที่สร้างเป็นที่จำกัด แต่นี่นับว่าเป็นโครงการที่น่าดู แล้วก็โครงการที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับหลายจังหวัด รวมทั้งจังหวัดพระนคร ซึ่งต้องการโครงการชลประทานอย่างนี้ ที่โครงการชลประทานในภาคกลาง ใกล้กรุงเทพฯ ฝ่ายชลประทานน่าจะอธิบายกับประชาชนได้ว่าเป็นโครงการที่ทำยาก และเป็นโครงการที่สำเร็จขึ้นได้โดยนับว่าเร็ว จึงเป็นโครงการที่น่าสนใจ ชาวบ้านในเขตโครงการนั้นย่อมทราบดี ความสำคัญของโครงการนี้ เพราะว่าครั้งแรกที่ไปเขตนั้นได้คุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านเขายินดีมาก เขาสนับสนุนโครงการนี้อย่างยิ่ง ซึ่งตามปกติโครงการแบบนี้จะมีการคัดค้านมาก เพราะว่าจะต้องมีปัญหาเรื่องที่ดิน มีปัญหาเรื่องที่ของชาวบ้าน แต่นี้ไม่มีปัญหา เขาเห็นด้วย และเขาอยู่ในท้องที่นั้นเขาเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำโครงการ และโครงการมีประโยชน์จริงๆ”