ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554….
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พร้อมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และคณะผู้บริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงผู้เกี่ยวข้อง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าการสนองพระราชดำริด้านงานวิจัย ของสถาบันฯ สรุปสถานการณ์น้ำประเทศไทย ปีพุทธศักราช 2553 และเดือนมกราคม-สิงหาคม ปีพุทธศักราช 2554 การคาดการณ์สภาพอากาศประเทศไทย ปีพุทธศักราช 2554 ผลการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 4 และการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สะท้อนให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ เนื่องจากฝนที่มาเร็วกว่าปกติตั้งแต่ต้นปีและตกต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนใกล้เต็มความจุ
ในขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ฉายภาพวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี โดยจากข้อมูลพบว่ามีจังหวัดประสบสถานการณ์อุทกภัยถึงกว่า 44 จังหวัดเลยทีเดียวและยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
แน่นอนการแก้ปัญหาดังกล่าวย่อมหนีไม่พ้นภาระหน้าที่ของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งอุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้สังคมได้เห็นถึงความอ่อนด้อยในการบริหารประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้อย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้นว่า วาทะกรรม "ดีแต่โม้" ช่างเหมาะสมกับรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยประการทั้งปวง
เพราะเอาแค่เริ่มต้น ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนก็คงต้องฝันค้างไปตามๆ กัน กับวาทกรรมแก้น้ำท่วมสวยหรู ที่ชื่อว่า "บางระกำโมเดล" ที่ออกมาจากปากของผู้นำประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือ การดำเนินการตามหลัก 2 พี 2 อาร์ คือ พี1-เตรียมพร้อมความพร้อมด้านข้อมูลพื้นที่ พี2-ป้องกันในระยะยาวอย่างยั่งยืน อาร์1-แก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว และอาร์2-ดูแลชดเชย เยียวยา ผู้ประสบภัย
ว่ากันว่า วาทกรรมบางระกำโมเดล เป็นอีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ของทีมงานที่ปรึกษานายกฯ ที่ขยันชงวาทกรรมสวยหรูให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดกรอกหูประชาชน เพราะไม่ว่าเธอจะถูกถามถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็จะอ้างถึง "บางระกำโมเดล" แทบทุกครั้ง ขนาดว่าไปตรวจน้ำท่วมในพื้นที่น้ำยังไม่ท่วม ก็บัญญัติศัพท์ใหม่ "อุดรโมเดล" ขึ้นมาแบบหน้าตาเฉย
จะว่าไปแล้ว บางระกำโมเดล ฟังไปฟังมาก็ดูเท่ห์ดีในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะในขณะที่นายกรัฐมนตรีท่องคาถา" บางระกำ โมเดล " วันละ3 เวลาหลังอาหาร แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ พื้นที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกถูกน้ำท่วมมานานเกือบ 2 เดือนเข้าไปแล้ว ซึ่งชาวบ้านต้องอพยพไปนอนริมถนนหนีน้ำท่วม เฝ้าภาวนารอเวลาให้น้ำลด จะว่าไปแล้วก็มิได้ต่างจากแผนการตลาดเดิมๆ ของทีมที่ปรึกษาที่รายล้อมที่คิดออกมาเพื่อแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ ไปเท่านั้นเอง
ไม่ต้องอื่นไกล ขนาดวันแรกที่ประกาศใช้“บางระกำโมเดล” รัฐบาลโคลนนิงก็ยังได้ผลตอบรับแบบแทงใจดำจากชาวบ้านในพื้นที่ อาทิ นายพลอย สอนแก้ว ชาวบ้าน หมู่ 15 อ.บางระกำ กล่าวว่า บางระกำโมเดล คิดว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตแบบปกติต้องช่วยเหลือตัวเอง แต่ก็มีบ้างที่ทางจังหวัด ทางอำเภอนำสิ่งของเข้ามาช่วยเหลือ
หรือนายณรงค์ ภู่สวัสดิ์ ชาวบ้าน หมู่ 14 ต.บางระกำ กล่าวว่า บางระกำโมเดล คิดว่าน่าจะเป็นภาพที่สวยหรูจากการที่ราชการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือประชาชน แต่เท่าที่ดูก็ยังไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม เพียงแต่มีเอกชนและองค์กรต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือโดยนำสิ่งของมาช่วยมากขึ้น
...ชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่ต้องมีสิ่งใดมาอธิบายเพิ่มเติม ถึงสุดยอดโมเดลแก้น้ำท่วมของรัฐบาลโคลนนิ่ง ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อด้วยหน้าตาชื่นบานว่า พอใจกับผลงานบางระกำโมเดล แต่จากเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่คงจะบอกได้ดีว่ามีประสิทธิผลเพียงใดต่อประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน
ยิ่งเมื่อสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากถูกน้ำท่วมในพื้นที่ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง ชัยนาทและนครสวรรค์ ก็ยิ่งการทำงานที่ล่าช้าของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ได้เป็นอย่างดี
กล่าวคือ พบว่าประชาชนถึง 38.24%ไม่ค่อยพอใจการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่ได้รับคามช่วยเหลือ และอยากเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเจ้าหน้าที่สิ่งของที่จำเป็นโดยเร็ว ส่วนข้อเสนออันดับ 1 ที่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมอยากให้ช่วยเหลือก็คือ อยากให้นายกฯ สั่งการถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ให้เข้าไปดูแลในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและมีการเรียกประชุมการประสานงานระหว่างภาครัฐกับชุมชนเป็นระยะๆ
และสวนดุสิตโพลก็ไม่ใช่โพลแรกที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่พอใจการแก้ปัญหาของรัฐบาลนี้ เพราะก้อนหน้านี้ก็เคยมีโพลในลักษณะนี้แล้ว แต่รัฐบาลนี้ก็ยังคงทำงานที่เชื่องช้า
แต่ที่น่าเศร้าและหดหู่ใจมากไปกว่านั้นก็คือ การช่วยหลือดังกล่าวยังมีเงื่อนงำของการทุจริตท่ามกลางความเดือดร้อนของชาวบ้านอีกด้วย เมื่อนายสุรกิจ เหลาหชัยอรุณ อดีต ส.อบจ.พิจิตร ออกมาให้ข้อมูลว่า ถุงยังชีพของทางราชการที่ส่วนใหญ่ตั้งราคาซื้อเป็นมาตรฐานถุงละ 500 บาท แต่ความจริงที่ปรากฏน่าจะส่อเค้าว่าจะมีการทุจริต เพราะพุงยังชีพที่แจกบางแห่ง สิ่งของที่แจกมีปริมาณน้อย ข้าวสารมีกลิ่นเหม็นหืน บางถุงขึ้นรา หุงไม่ขึ้นหม้อ ข้าวแข็งกินไม่อร่อย
นอกจากนี้ น้ำปลาบรรจุขวดเป็นน้ำปลาที่ด้อยมาตรฐาน โดยน่าจะเป็นน้ำปลาปรุงแต่งคือน้ำผสมเกลือมากกว่าจะเป็นน้ำปลาที่มีคุณค่าทางอาหารจริงๆ ส่วนน้ำพืชก็แจกขวดเล็กแค่ 1-2 ขวด บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋องและผักกาดกระป๋องก็มีเพียงอย่างละ 4 ชิ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่ารูปร่างหน้าตา บางระกำโมเดล หรือรวมไปถึงพื้นที่น้ำท่วมต่างๆ ที่พร้อมจะถูกเนรมิตชื่อให้เพียงแต่สวยหรู มีรูปธรรมเป็นเช่นไร มีการวางแนวทางเป็นอย่างไร และจะแก้ปัญหาระยะยาวได้ดีแค่ไหน แน่นอนก็คงมีเพียงนายกฯรูปงาม ที่ชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงคนเดียวเท่านั้น ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด
เพราะในขณะที่ฝ่ายค้าน คือพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการตั้งกระทู้ถามสด ถึงวาระเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในสภาผู้แทนราษฎร ปรากฎว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ก็เพิ่งตื่น สวมวิญญาณภาวะผู้นำประเทศลงไปตรวจพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ชัยนาท อ่างทองและ อยุธยา แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ซ้ำร้ายก็คือการลงไปตรวจพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว ก็ยังไม่ได้ปรากฏอยู่ในวาระประจำสัปดาห์ของ "นายกฯปูแดง" เลยอีกต่างหาก
แถมการลงพื้นที่ของ นายกปูแดง ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า เดินแจกถุงยังชีพ เพียงไม่กี่นาที พร้อมการต้อนรับกันอย่างพร้อมเพรียงของแกนนำเสื้อแดงตามจังหวัดต่างๆ ให้ดูเสมือนว่า ประเทศไทยช่างโชคดีที่มีผู้นำประเทศที่ห่วงใยประชาชนอย่างเหลือกำลัง
ซ้ำร้ายขนาดที่เธอได้กลับมาประจำการตอบกระทู้ในสภาฯ ก็หาได้มีคำชี้แจงถึงการแก้ปัญหาทีละจุดในแต่ละจังหวัดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ในแต่ละจังหวัดประสบปัญหา ไม่เหมือนกันเนื่องจากต่างกันโดยสภาพพื้นที่และพื้นที่โดยล้อม เช่นเขื่อน หรือจะเป็นพื้นที่ไร่ พื้นที่นา ฉะนั้น การแก้ปัญหาน้ำท่วมของในแต่ละที่ก็ย่อมจะต่างกัน โดยสิ้นเชิง และก็เฉกเช่นเดิม บรรดารัฐมนตรีของนายใหญ่และนายหญิง ก็ต้องรับบทหนังหน้าไฟคอยตอบบรรดาคำถามที่ฝ่ายค้าน คือพรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งกระทู้ถาม
ขณะเดียวกัน ที่น่าตลกก็คือ เมื่อสัปดาห์ก่อนรัฐบาลได้มีการประชุมครม.โดยที่ประชุมได้อนุมัติว่าจะเพิ่มเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยจาก 5,000 บาทเป็น 5,500 บาท ท่ามกลางการรอความช่วยเหลือของประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน แต่ก็ดูเหมือนมิได้นำพา โดยบรรดาส.ส.พรรคเพื่อไทยกับไปเปิดศึกเล่นสงครามน้ำลายโดยโยนว่าพรรคประชาธิปัตย์ช่วงเป็นรัฐบาล เป็นต้นเหตุที่ทำให้งบประมาณช่วยเหลือไม่พอ หมายความว่าอย่างไร ก็ย่อมหมายความว่า รัฐบาลโคลนนิ่ง ไม่ได้ใส่ใจกับความทุกข์ยากเดือนร้อนของประชาชนมาก่อนเลย ในขณะที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาเป็นเดือนแล้ว แต่จนป่านนี้ประชาชนหลายพื้นที่ก็ยังไม่ได้เงินเยียวยาจากรัฐบาล หลักฐานก็คือ ครม.เพิ่งจะอนุมัติงบประมาณไปได้เพียงไม่กี่วัน
หากถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ทำอะไรอยู่ ก็ไม่พ้นเอาแต่เฉิดฉายอยู่ในทำเนียบรัฐบาล จนถึงขนาดสื่อมวลชนบางแห่งถึงกับยกให้เธอเป็นถึงผู้นำแฟชั่นด้านเสื้อผ้า หน้า ผม นอกจากนี้ก็ยังคอยเป็นหุ่นเชิดรับคำสั่ง ทักษิณ ชินวัตร โยกย้ายข้าราชการพรรคพวกตัวเองในกระทรวงต่างๆอย่างสนุกสนาน คอยเห็นดีเห็นงามให้นายกรัฐมนตรีตัวจริงอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เสนอหน้าออกมาชูคอจะเร่งยื่นฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งคงมิพักต้องถามว่าปัญหาใดควรเป็นเรื่องที่ควรทำก่อนกัน
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในฐานะผู้นำประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดีทีสุดก็เป็นเพียงเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ถูกน้ำท่วม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมแก้ปัญหา คอยสั่งบรรดารัฐมนตรีให้ลงพื้นที่ที่ประสบภัย แต่ก็แค่พอเป็นพิธีไปวันๆเท่านั้น
อาจกล่าวได้ว่าจากปัญหาอุทกภัยที่ประเทศไทยประสบอยู่ ณ ขณะนี้ สังคมก็ได้รับรู้และรับทราบ ความบ้อท้าและไร้น้ำยาในการจัดการแก้ไขปัญหาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และยิ่งตอกย้ำให้ชัดเจนกับคำว่าเป็น "รัฐบาลดีแต่โม้" ไม่ผิดเพี้ยนด้วยประการทั้งปวง