xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 21-27 ส.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. การแถลงนโยบายรัฐบาล ส่อโมฆะ หลังสภาล่ม เพราะพาดพิง “ทักษิณ”ส่งผลอภิปรายเกินกำหนด!
กลุ่มเสื้อแดงรุมยำอดีต นศ.ที่นำพวงหรีดมาวางหน้ารัฐสภา พร้อมข้อความตำหนินายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาอย่างไม่เป็นกลาง หลังห้ามอภิปรายพาดพิง ทักษิณ(25 ส.ค.)
การแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่อรัฐสภา ซึ่งกำหนดไว้ 2 วันเมื่อวันที่ 23-24 ส.ค.นอกจากจะไม่จบตามกำหนด โดยต้องประชุมต่อในช่วงบ่ายวันที่ 25 ส.ค.จนอาจมีปัญหาให้ต้องตีความว่ารัฐบาลแถลงนโยบายเกินวันที่กฎหมายกำหนดหรือไม่แล้ว ยังปรากฏว่าบรรยากาศการอภิปรายนโยบายรัฐบาลเป็นไปด้วยความปั่นป่วนประท้วงกันวุ่นวาย เพียงเพราะมีการพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทั่งส่งผลให้สภาล่ม เพราะองค์ประชุมไม่ครบ

โดยบรรยากาศการแถลงและอภิปรายนโยบายรัฐบาลเริ่มดุเดือดตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 24 ส.ค. เมื่อนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยขึ้นมามีอำนาจ จากการสะสมพลังมวลชนคนเสื้อแดง โดยหลายครั้งมีการสร้างประเด็นชนชั้นขึ้นมา เสมือนว่าพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนของคนที่ถูกกดขี่ แต่รัฐบาลชุดก่อนเป็นตัวแทนของกลุ่มอำมาตย์ หรือกลุ่มที่ต้องการให้คนจนมีความยากจนต่อไป จึงขอถามนายกฯ ว่า อะไรทำให้เชื่อว่าเรื่องอำมาตย์ไม่ใช่วาทกรรมว่างเปล่าที่หลอกลวงมวลชนให้เป็นฐานสนับสนุนการก้าวขึ้นมามีอำนาจรัฐของฝ่ายทุน และไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในการแก้ไขปัญหาความยากจน

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ฟังนายสาทิตย์อภิปรายเช่นนั้น จึงลุกขึ้นตอบโต้ จนเกิดการประท้วงกันไปมา หลังจากเหตุการณ์สงบลง การอภิปรายได้ดุเดือดขึ้นมาอีกครั้งในช่วงเย็น ระหว่างที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยมีการพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นประท้วงว่าพูดนอกประเด็น ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ปราม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เช่นกันว่าไม่ควรพูดถึงอดีตและห้ามพูดถึงบุคคลภายนอก ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน คือ นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ต่างลุกขึ้นประท้วงการทำหน้าที่ประธานของนายสมศักดิ์ว่าวางตัวไม่เป็นกลาง แต่นายสมศักดิ์ไม่อนุญาตให้ประท้วง ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยเปิดฉากประท้วงกันไปมาจนวุ่นวาย สุดท้ายนายสมศักดิ์ได้ใช้อำนาจประธานเชิญนายวิรัตน์และนายธนาออกจากห้องประชุม ส่งผลให้บรรยากาศเริ่มตึงเครียด โดยมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กว่า 20 คนลุกขึ้นยืน พร้อมยกมือประท้วงนายสมศักดิ์

จากนั้นนายสมศักดิ์ ได้เรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(รปภ.) ของรัฐสภาเข้ามาเพื่อเชิญ ส.ส.ที่ยืนประท้วงออกจากห้องประชุม โดยมี รปภ.เข้ามา 3 นาย แต่ยังไม่กล้าเข้าไปเชิญ ส.ส.ออก กระทั่งนายสมศักดิ์ได้ลุกขึ้นยืน ซึ่งถือเป็นมาตรการเตือนขั้นสูงสุด ระหว่างนั้น นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง และนายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตะโกนว่า “ที่นี่รัฐสภา ไม่ใช่ตึกชินฯ ประธานมีผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า” จนนายสมศักดิ์ยอมนั่งลง พร้อมกล่าวว่า “ทำอย่างนี้ได้ประโยชน์อะไร” จากนั้นเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายลง จึงเริ่มอภิปรายต่อ

ต่อมาในช่วงค่ำ ได้เกิดการประท้วงกันวุ่นวายอีกครั้ง หลังนายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายโจมตีเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ โดยบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้รับสารภาพแล้วเรื่องการใช้กำปั้นเหล็กในการแก้ปัญหา ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทยฟังแล้วไม่พอใจ จึงลุกขึ้นประท้วง แต่นายชวนยังอภิปรายต่อด้วยสีหน้าเรียบเฉย กระทั่งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่านายชวนใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมขอให้นายชวนถอนคำพูด นอกจากนี้นายณัฐวุฒิยังพูดทำนองเหน็บพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า มีผู้นำประเทศบางคนสั่งการฆ่าประชาชน 91 ศพ แต่ไม่มีคำสารภาพ จากนั้น ส.ส.ทั้งสองฝ่ายได้ประท้วงกันไปมา กระทั่งต้องหยุดพักการประชุมชั่วคราว

เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง ปรากฏว่าความขัดแย้งยังไม่ยุติ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจึงเสนอให้ปิดประชุม แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้เปิดประชุมต่อไป เพราะสมาชิกฝ่ายค้านยังอภิปรายนโยบายรัฐบาลไม่ครบตามที่กำหนดไว้ นายสมศักดิ์จึงขอให้นับองค์ประชุมเพื่อขอมติว่าจะให้เปิดประชุมต่อไปหรือไม่ ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนได้ประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องประชุม เมื่อนายสมศักดิ์ได้สั่งให้นับองค์ประชุม ปรากฏว่าครั้งแรกมี ส.ส.และ ส.ว.เข้าประชุมแค่ 308 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 325 คน นายสมศักดิ์จึงสั่งให้นับองค์ประชุมอีกครั้ง พร้อมอ้างว่า เครื่องและบัตรลงคะแนนของสมาชิกมีปัญหา

ต่อมา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นท้วงติงนายสมศักดิ์ว่า การประชุมแถลงนโยบายของรัฐบาลเป็นการประชุมเพื่อรับทราบ ไม่ใช่การอภิปรายเรื่องกฎหมายสำคัญที่ต้องมีการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ดังนั้นประธานสามารถขอมติจากที่ประชุมได้เลยว่าจะให้เปิดหรือปิดการประชุม ไม่ต้องมีการนับองค์ประชุม ซึ่งต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามนายสมศักดิ์ได้แจ้งที่ประชุมว่า มีสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมประชุมแค่ 314 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม จึงต้องสั่งปิดประชุมโดยปริยายเมื่อเวลาประมาณ 23.30น. พร้อมนัดประชุมเพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาลต่อในช่วงบ่ายวันรุ่งขึ้น(25 ส.ค.)

ทั้งนี้ การที่สภาล่ม ส่งผลให้ญัตติการแถลงนโยบายรัฐบาลยังค้างอยู่ในที่ประชุมรัฐสภา และการที่นายสมศักดิ์นัดประชุมต่อในวันที่ 25 ส.ค. อาจเกิดปัญหาในแง่ข้อกฎหมายที่ระบุให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลต้องแล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลังรัฐบาลเข้ารับหน้าที่ ซึ่งนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลครั้งนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะจะต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วันหลังเข้ารับหน้าที่ แต่วันที่ 25 ส.ค.นับเป็นวันที่ 16 แล้ว จึงต้องดูว่าจะมีองค์กรใดยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับว่าการแถลงนโยบายของรัฐบาลก็เป็นโมฆะ ซึ่งรัฐบาลก็จะยังไม่สามารถทำงานได้ นายวิรัตน์ ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่หวั่นการแถลงนโยบายรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ ยืนยัน รัฐบาลได้ทำตามขั้นตอนครบแล้ว โดยอ่านแถลงนโยบายจนจบ ที่เหลือเป็นการรับฟังข้อคิดเห็น ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีภาวะผู้นำในการแถลงนโยบาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า ขอให้ดูผลงานเป็นหลัก เพราะหากมีภาวะผู้นำแต่ไม่มีผลงาน ประชาชนก็จะผิดหวัง

2. กกต.มีมติให้ใบแดง “บุญจง” กรณีจัดเลี้ยง-แจกของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เตรียมส่งศาลฎีกาฯ ชี้ขาด อาจถึงขั้นยุบพรรค ภท.!

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.เขต 10 นครราชสีมา และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ให้เสนอศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) แก่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.เขต 10 นครราชสีมา และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) เป็นระยะเวลา 5 ปี หลังถูกร้องว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2553 กรณีให้พัฒนาการ จ.นครราชสีมา นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 300 คน ไปอบรมที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง และมีการจัดเลี้ยงแจกสิ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าแก่ผู้เข้าอบรม

ทั้งนี้ นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย แจงเหตุที่ กกต.ตัดสินใจให้ใบแดงนายบุญจง ทั้งที่ กกต.จังหวัดนครราชสีมาเสนอให้ กกต.กลางยกคำร้อง เพราะการกระทำของนายบุญจงเกิดขึ้นในวันที่ประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง แต่ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งยังไม่มีผล โดยจะมีผลในวันรุ่งขึ้น แต่ กกต.กลางเห็นว่า เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้ว ก็ถือว่ามีความผิดแล้ว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 49(2) ซึ่งบัญญัติให้ กกต.เข้าไปควบคุมดูแลการหาเสียงเลือกตั้งนับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง และว่า หลังจากนี้ หากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งรับคำร้องของ กกต.ไว้พิจารณาเมื่อใด นายบุญจงจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษา ซึ่งหากพิพากษาสอดคล้องกับมติของ กกต. นายบุญจงจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งอาจนำไปสู่การยุบพรรคภูมิใจไทยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ด้วย เพราะนายบุญจงทำผิดขณะเป็นกรรมการบริหารพรรค คือเป็นรองหัวหน้าพรรค

นายสมชัย ยังยืนยันด้วยว่า การวินิจฉัยกรณีนายบุญจงล่าช้า ไม่ใช่ความผิดของ กกต. “ความล่าช้าดังกล่าวมาจากหลายสาเหตุ ทั้งขั้นตอนการพิจารณาสำนวนของ กกต.จังหวัดล่าช้า และที่สำคัญมาจากการที่ผู้ถูกกล่าวหาใช้วิธีการซื้อเวลาในการมาให้ถ้อยคำต่อ กกต. ซึ่ง กกต.จะไปตัดโอกาสการชี้แจงข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่สำคัญและมีผลทางกฎหมาย หากทำเช่นนั้น จะทำให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่า เพราะฉะนั้นเราต้องยึดหลักช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม”

ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.เขต 10 นครราชสีมา และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มองว่า ตนไม่น่าจะถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี เพราะ กกต.มีมติกรณีเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2553 ซึ่งหลังจากการเลือกตั้งครั้งนั้น ก็มีการยุบสภา ทำให้สถานะความเป็น ส.ส.ของตนได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว กระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นมติของ กกต.จึงไม่น่าจะส่งผลมาถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากนายบุญจงถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และพรรคภูมิใจไทยถูกยุบพรรคจริง จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือไม่ เพราะหากพรรคภูมิใจไทยถูกยุบพรรค เท่ากับว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ต้องไม่มีพรรคภูมิใจไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อไม่มีพรรคภูมิใจไทย ก็ย่อมไม่มี ส.ส.ของพรรคที่ได้รับเลือก 34 คน ซึ่งจะส่งผลให้จำนวน ส.ส.ไม่ครบร้อยละ 95 ทำให้ไม่พอที่จะเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่าวันนี้ก็ยังไม่มีสภา แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร

3.ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ศาลชั้นต้น ยกฟ้อง “พจมาน-เลขาฯ ส่วนตัว” คดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้นชิน ส่วน “บรรณพจน์”ลงโทษสถานเบา จำคุก 2 ปีรอลงอาญา!
คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร พร้อมลูกๆ เดินทางมาศาลอาญา เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้นชิน (24 ส.ค.)
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหารบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ,คุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจากกรณีที่คุณหญิงพจมานโอนหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ให้นายบรรณพจน์ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเป็นเงิน 546 ล้านบาท

ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกนายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมานคนละ 3 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยแจ้งข้อความเท็จและมีลักษณะใช้อุบายหรือฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายมาตรา 37(1) และ (2) ประกอบมาตรา 83 และ 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายได้จากเงินภาษีอากรและเบี้ยปรับกว่า 546 ล้านบาท ส่วนนางกาญจนาภา ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า นายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมานไม่ได้ให้ถ้อยคำเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เห็นได้จากการที่นายบรรณพจน์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อประเมินภาษีไว้แล้ว แต่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ทำหนังสือเชิญนายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมานมาสอบถามข้อเท็จจริงหลังจากที่นายบรรณพจน์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีแล้วนานกว่า 3 ปีเศษ โดยไม่ได้ออกหมายเรียก และไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร การกระทำของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบตามประมวลรัษฎากรมาตรา 19 การกระทำของนายบรรณพจน์ จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(1)

นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ยังระบุด้วยว่า การให้ถ้อยคำของนายบรรณพจน์ต่อเจ้าพนักงานที่ว่า ตนเป็นพี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ได้ช่วยเหลือครอบครัวและธุรกิจของคุณหญิงพจมานมาตลอด รวมทั้งได้แต่งงานกับ น.ส.บุษบา ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่สิ่งที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความเท็จ เพียงแต่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้น้อยเท่านั้น

ส่วนความผิดกรณีหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37(2) นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรลงโทษนายบรรณพจน์สถานเบา โดยเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปีนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว แต่พิพากษาแก้ศาลชั้นต้นจากไม่รอลงอาญา เป็นรอลงอาญา 1 ปี อย่างไรก็ตามเพื่อให้นายบรรณพจน์หลาบจำ จึงเห็นควรลงโทษปรับนายบรรณพจน์ด้วย เป็นเงิน 100,000 บาท

ศาลอุทธรณ์ ยังให้เหตุผลที่ลงโทษนายบรรณพจน์สถานเบาด้วยว่า “จำเลยที่ 1 เป็นเพียงนักธุรกิจ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเมื่อถูกตรวจสอบเรื่องการรับโอนหุ้นก็ยอมรับว่าได้มาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือมีชื่อเสียงเป็นผู้มีอิทธิพล ผู้ประกอบอาชีพในทางไม่สุจริต โดยจำเลยที่ 1 เคยรับราชการมาก่อน และสร้างคุณงามความดีให้กับสังคมด้วยการบริจาคเงินจำนวนมากให้กับมูลนิธิไทยคม เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส” เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิไทยคม ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

สำหรับคดีในส่วนของคุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภานั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าคุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภาร่วมกระทำผิดกับนายบรรณพจน์ด้วยหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย

ด้านนายเมธา ธรรมวิหาร ทนายความของนายบรรณพจน์ ขอเวลาดูคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก่อนตัดสินใจว่าจะยื่นฎีกาคดีนี้หรือไม่ เพราะนายบรรณพจน์ยังคงถูกลงโทษแม้จะสถานเบาก็ตาม ขณะที่นายวีรภัทร ศรีไชยา ทนายความคุณหญิงพจมาน เผยว่า ยังรู้สึกไม่พอใจกับผลคดีที่ออกมา เพราะศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแค่ 2 คน ไม่ใช่ 3 คนตามที่ตั้งประเด็นอุทธรณ์ไว้ ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อคำพิพากษาระบุว่านายบรรณพจน์มีภาระต้องเสียภาษี จะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรหรือไม่ นายวีรภัทร บอกว่า เรื่องเสียภาษีถือว่าจบไปแล้ว เพราะการประเมินของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่ชอบ เนื่องจากเป็นการประเมินเกิน 5 ปีตามที่กฎหมายกำหนด

ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก หนึ่งในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ป.ป.ช.จะนำคำพิพากษาของศาลมาศึกษา จากนั้นจะหารือกับอัยการสูงสุดว่าจะยื่นฎีกาคดีดังกล่าวหรือไม่ เพราะถือว่าคดียังไม่สิ้นสุด

4. ศาลปกครอง ยกฟ้องคดี “สุรนันท์” ฟ้อง กสทช. ชี้ การสรรหาชอบด้วยกฎหมายแล้ว ด้านเจ้าตัว เตรียมอุทธรณ์!

 นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ผู้ฟ้องคดี กสทช.
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายอนุวัฒน์ ธาราแสวง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง พร้อมองค์คณะได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร หนึ่งในผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ด้านเศรษฐศาสตร์ ยื่นฟ้องนายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ,กรรมการสรรหาฯ ทั้งคณะ และเลขาธิการวุฒิสภา ว่าสรรหา กสทช.โดยไม่โปร่งใส เพราะไม่เสนอชื่อนายสุรนันท์ ให้เข้าเป็น 1 ใน 4 ผู้สมควรได้รับคัดเลือกเป็น กสทช. หลังนายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ที่ได้รับเลือกในลำดับ 3 ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเป็นกรรมการบริษัท อสมท. แทนที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะมีมติเลื่อนผู้ที่คะแนนในลำดับรองลงมา ลำดับที่ 5 คือนายสุรนันท์ขึ้นมาแทนนายอรรถชัย คณะกรรมการสรรหาฯ กลับใช้วิธีประชุมพิจารณาคัดเลือกใหม่ และเลือกนายยุทธ์ ชัยประวิตร ซึ่งเดิมได้คะแนนเป็นลำดับที่ 7 มาแทนนายอรรถชัย

ทั้งนี้ ตุลาการเจ้าของคดี ได้แถลงความเห็นส่วนตัวเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่ผูกพันองค์คณะตุลาการว่า การสรรหา กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่เลื่อนลำดับนายสุรนันท์ขึ้นมาแทนนายอรรถชัย การใช้วิธีลงคะแนนคัดเลือกใหม่ เป็นการเปิดช่องให้เกิดความไม่เป็นธรรม พร้อมชี้ว่า การที่ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่แจ้งให้คณะกรรมการสรรหาฯ ทราบทั้งที่รู้ว่านายอรรถชัยขาดคุณสมบัติ ทำให้คณะกรรมการสรรหาฯ ลงคะแนนเลือกนายอรรถชัยเป็น กสทช.นั้น ถือเป็นการใช้ดุลพินิจที่ร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม องค์คณะตุลาการศาลปกครองได้พิพากษาตรงข้ามกับตุลาการผู้แถลงคดี โดยยกฟ้องคำร้องของนายสุรนันท์ พร้อมยกเหตุผลว่า การที่นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ประธานคณะกรรมการสรรหา กสทช. ไม่แจ้งให้คณะกรรมการสรรหาฯ ทราบว่านายอรรถชัยขาดคุณสมบัติ เนื่องจากได้รับเลือกเป็นกรรมการบอร์ด อสมท.เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2554 ซึ่งนายจตุรงค์ทราบดีเพราะเป็นรองประธานบอร์ดดังกล่าวอยู่ด้วย ทำให้คณะกรรมการสรรหาฯ เลือกนายอรรถชัยเป็นผู้เหมาะสมได้รับเลือกเป็น กสทช.นั้น ถือเป็นการใช้ดุลพินิจที่ร้ายแรง แต่ภายหลังได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ได้เพิกถอนรายชื่อนายอรรถชัยออกแล้ว ซึ่งแม้ระเบียบของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ไว้ แต่ระเบียบข้อ 13 ได้กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาฯ เป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งได้วินิจฉัยโดยมีมติเอกฉันท์ให้มีการลงคะแนนใหม่ด้วยวิธีลงคะแนนลับ จึงถือว่าได้ทำตามระเบียบแล้ว “ส่วนที่ผู้ฟ้อง(นายสุรนันท์) อ้างว่า ในการคัดเลือกบุคคลสมควรได้รับเลือกเป็น กสทช.แทนนายอรรถชัย ควรเลื่อนผู้ที่มีคะแนนลำดับรองลงมานั้น เห็นว่าเมื่อการประชุมวันที่ 25 เม.ย.2554 มีผู้ได้รับการคัดเลือก...แต่ผู้ฟ้องไม่ได้รับการเลือก จึงยังไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะให้เลื่อนลำดับขึ้นไปแทนนายอรรถชัยได้”

ด้านนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ผู้ฟ้องคดีนี้ เผยหลังฟังคำพิพากษาศาลปกครองว่า จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในสัปดาห์หน้า เนื่องจากเห็นว่าคำแถลงคดีของตุลาการผู้แถลงคดีและคำพิพากษาขององค์คณะศาลปกครองยังมีบางประเด็นที่ยังแย้งกันอยู่ ซึ่งตนจะนำไปใช้ต่อสู้ในการอุทธรณ์ต่อศาล เชื่อว่าจะดำเนินการได้ทันก่อนที่วุฒิสภาจะคัดเลือก กสทช.ในวันที่ 5 ก.ย.นี้

ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ซึ่งเคยสรุปผลสอบว่าการสรรหา กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองยกฟ้องคำร้องของนายสุรนันท์ว่า คดีที่ศาลยกฟ้องถือเป็นประเด็นเล็กน้อย ไม่ใช่ประเด็นหลัก โดยยกฟ้องประเด็นที่นายสุรนันท์ขอให้เพิ่มชื่อตัวเองเข้าไปในรายชื่อ 22 รายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช. ส่วนประเด็นหลักๆ ที่ฟ้องว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองอีก 3 คดี
กำลังโหลดความคิดเห็น