คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1. “ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ครม.ยิ่งลักษณ์แล้ว พร้อมตรัสให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต!
หลังสภาโหวตเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย และน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ส.ค. โดยพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ มีขึ้นที่พรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงหลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า พร้อมที่จะทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน ไม่เกรงต่อความยากลำบากใดใด รวมทั้งจะจดจำเจตจำนงและเหตุผลของการเข้ามารับใช้แผ่นดินเกิดในครั้งนี้ ด้วยความภาคภูมิใจในความรักของประชาชน และจะใช้ความเป็นมืออาชีพ สร้างสุข สลายทุกข์ ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างสุดความสามารถ พร้อมสัญญาว่า จะไม่ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำเพื่อประเทศไทยของทุกคน
ส่วนหน้าตาคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่นั้น หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้จัดโผ ครม.และนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีลงมาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ประกอบด้วย 1.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีคุมตำรวจ 3.พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีคุมความมั่นคง 4.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 5.นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6.น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 7.นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 8.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 9.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 10.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
11.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 12.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 13.นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 14.นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 15.พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 16.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 17.นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 18.นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 19.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 20.นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 21.นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 22.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 23.นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 24.นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 25.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 26.นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 27.นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 28.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 29.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 30.นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 31.นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 32.นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 33.นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 34.นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ 35.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ในวันที่ 10 ส.ค. เวลา 17.30น. ณ ห้องประชุมชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามที่ได้กล่าวปฏิญาณเพื่อความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ และผู้ใหญ่ควรแสดงตัวอย่างให้กับทุกคนในประเทศ เพื่อให้งานต่างๆ ดำเนินไปด้วยดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสด้วยว่า ขณะนี้โลกมีความวุ่นวายมากพอแล้ว ขอให้ประเทศไทยมีความเรียบร้อยสักแห่งหนึ่ง
สำหรับกระแสสังคมต่อภาพลักษณ์ ครม.ยิ่งลักษณ์ ค่อนข้างไม่น่าพอใจ โดย ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ชี้ว่า โฉมหน้า ครม.ยิ่งลักษณ์ เป็นแค่ ครม.เกรดซี ไม่น่าพอใจ เพราะเป็นเพียงแค่ตัวสำรอง โดยเป็นการตั้งบุคคลที่สามารถรับคำสั่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมีคุณสมบัติสูงมากนัก และส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความเหนือกว่า เพื่อให้ภาพลักษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความโดดเด่นขึ้นมา ผศ.ทวี ยังวิเคราะห์กรณีที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วยว่า เพราะเป็นเด็กในคาถาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณไว้วางใจ เพื่อประสานขอสิทธิพิเศษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ
ซึ่งก็เป็นจริงดังที่ ผศ.ทวีคาดไว้ เพราะยังไม่ทันที่นายสุรพงษ์ จะเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ก็เริ่มเดินเครื่องช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว เริ่มด้วยการหารือกับทูตญี่ปุ่น เพื่อขอวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ พร้อมย้ำกับทูตญี่ปุ่นด้วยว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายสั่งห้าม พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเข้าประเทศใด ส่วนที่มีข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศจะคืนพาสปอร์ตให้ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายสุรพงษ์ ยอมรับว่า ทูตญี่ปุ่นได้ติดต่อผ่านทางนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และว่า หากทางกระทรวงรวบรวมข้อมูลเสนอให้คืนพาสปอร์ต พ.ต.ท.ทักษิณจริง ตนก็พร้อมจะดำเนินการโดยยึดหลักความถูกต้อง
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็รู้สึกผิดหวังเมื่อเห็นรายชื่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 3 คน โดยบอกว่า คนในวงการศึกษาค่อนข้างผิดหวังกับรายชื่อรัฐมนตรีทั้ง 3 คน(นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ,นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ,นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) โดยให้คะแนนรัฐมนตรีทั้ง 3 คนแค่ 5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 เพราะไม่โดดเด่น และไม่เคยเห็นผลงานหรือวิสัยทัศน์ด้านการศึกษามาก่อน เห็นได้ชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้คัดเลือกรัฐมนตรีจากคุณสมบัติ ความสามารถ หรือผลงาน แต่พิจารณาจากโควตาพรรคการเมือง จึงต้องทำใจและคิดว่าคงเป็นชะตากรรมของประเทศ “เห็นรายชื่อแล้วรู้สึกว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ค่อนข้างเป็นสีเทาขึ้นมาทันที ขณะนี้อนาคตทางการศึกษาของเด็กริบหรี่ ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้เวลา 6 เดือน จะแถลงผลงาน กว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 3 คน จะเรียนรู้งานก็คงหมดเวลาแล้ว”
2. “พระราชินี” ทรงสะเทือนใจเหตุไม่สงบภาคใต้ หวังรัฐบาลนำความสงบสุขกลับคืน พร้อมเผย “ในหลวง” ทรงห่วงน้ำท่วม!
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี และประชาชนรวม 15,304 คน เข้าถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 79 พรรษาในวันที่ 12 ส.ค. ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสในหลายเรื่อง อาทิ ทรงเผยว่า เวลานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสบายขึ้นมากแล้ว แต่แพทย์แนะนำให้ทำกายภาพบำบัด นอกจากนี้พระองค์ยังทรงงานได้เพิ่มขึ้น โดยทรงติดตามโครงการต่างๆ และทรงเป็นห่วงภาวะน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคอีสานเป็นอย่างมาก โดยได้พระราชทานสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมหลายแห่ง
ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ตรัสถึงข่าวเศร้าหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่ทรงมีเมตตาแก่ประชาชนมาโดยตลอด พร้อมทรงขอบคุณรัฐบาลที่จัดงานอย่างสมพระเกียรติ
สำหรับข่าวเศร้าอีกเรื่องที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถตรัสถึง คือ กรณีที่เฮลิคอปเตอร์ตกที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 3 ลำ ทำให้สูญเสียกำลังพล 16 นาย และช่างภาพโทรทัศน์ 1 คน โดยพระองค์รู้สึกเศร้าเสียใจอย่างยิ่ง เพราะผู้สูญเสียทุกคนล้วนเป็นกำลังที่แข็งแกร่ง จึงขอให้ทุกคนระลึกถึงความดีของบุคคลเหล่านี้ และร่วมกันปกป้องผืนป่า อย่าให้ความสูญเสียครั้งใหญ่เป็นความสูญเปล่า
นอกจากนี้ ยังทรงห่วงปัญหายาเสพติดที่บ่อนทำลายสังคมไทย และนับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น “ยาบ้ากำลังทำลายสังคมไทยอย่างน่ากลัว ไม่สบายใจเลยที่มีการระบุว่า ยาบ้ามีขายทุกตรอกซอกซอย ในโรงเรียน ในวัด ผู้ค้ากำลังทำตัวเป็นฆาตกร ฆ่าลูกหลานไทยอย่างเลือดเย็น” สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเผยด้วยว่า เคยให้เงินสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ซึ่ง ป.ป.ส.ได้นำเงินไปสมทบกับงบประมาณของสำนักงานแล้วตั้งเป็นกองทุนต่อต้านยาเสพติดขึ้นชื่อว่า “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” โดยมอบให้หมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดเมื่อปี 2547 จำนวน 672 หมู่บ้าน ต่อมารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขยายผลตั้งหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินขึ้นทั่วประเทศ ขณะนี้มีทั้งหมด 12,189 หมู่บ้าน นอกจากนี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยังหาทุนมาสมทบอีก 300 ล้านบาท จึงหวังว่ารัฐบาลจะสานต่อโครงการดังกล่าว “เชื่อแน่ว่ารัฐบาลต่อไปจะสานต่อโครงการนี้ แต่ถ้ารัฐบาลทำงานฝ่ายเดียว คงไม่สำเร็จ คนไทยต้องผนึกกำลังช่วยกัน... ควรต่อต้านและประณามผู้ผลิต ผู้ค้า และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ”
นอกจากปัญหายาเสพติดแล้ว ความไม่สงบในภาคใต้เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสะเทือนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกรณีที่โจรใต้ลอบทำร้ายพระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาต รวมทั้งครูอาสาที่ไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง “ข้าพเจ้าไม่อยากเชื่อว่าเป็นฝีมือของชาวไทยมุสลิมที่ทำร้ายพระสงฆ์... ถือเป็นการกีดกันไม่ให้มีการใส่บาตร เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการประกอบกิจทางศาสนา รู้สึกสะเทือนใจ ไม่อยากให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราอีกต่อไป ขอความร่วมมือได้ช่วยกันพาสันติสุขและความสงบกลับคืนมาสู่ภาคใต้โดยเร็ว”
3. เยอรมนี คืนเครื่องบินส่วนพระองค์แล้ว หลังรัฐบาลไทยวางหนังสือค้ำประกันเพื่อต่อสู้คดีหลักกับ “วอลเตอร์ บาว” 38 ล้านยูโร!
หลังจากสำนักราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ออกแถลงการณ์กรณีศาลเยอรมนีอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ เพื่อเป็นของกลางให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทวอลเตอร์ บาว โดยศาลเยอรมนีพร้อมถอนอายัด แต่รัฐบาลไทยต้องมีการวางเงินประกัน 20 ล้านยูโรก่อน ซึ่งในที่สุด สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงออกแถลงการณ์พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อระงับข้อพิพาทดังกล่าว แม้พระองค์จะมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทดังกล่าวก็ตาม แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุว่า รัฐบาลยังมีแนวทางต่อสู้คดีได้หลายช่องทาง พร้อมกราบทูลขอดำเนินการตามแนวทางของรัฐบาลก่อนนั้น
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ขณะยังเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาเผยว่า ศาลเยอรมนีได้มีคำสั่งถอนอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์แล้ว หลังรัฐบาลไทยยื่นหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทยวงเงิน 38 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท และว่า หากไทยชนะคดีที่มีข้อพิพาทกับบริษัทวอลเตอร์ บาว สามารถถอนหนังสือค้ำประกันคืนได้
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะยังเป็นนายกรัฐมนตรี ยืนยันเช่นกันว่า ทางการเยอรมนีได้ยอมคืนเครื่องบินส่วนพระองค์แล้ว หลังจากรัฐบาลไทยวางเงินประกันในคดีหลักที่บริษัทวอลเตอร์ บาว เรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย ไม่ใช่คดีอายัดเครื่องบิน โดยรัฐบาลได้ใช้เงินของรัฐบาลในการวางประกัน
สำหรับการถอนอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ครั้งนี้ สอดคล้องกับที่นายกษิต ภิรมย์ ขณะยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า รัฐบาลจะเดินหน้าต่อสู้ในคดีหลักคือคดีที่บริษัท วอลเตอร์ บาว เรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้มีการยกเลิกการอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์โดยปริยาย แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากที่นายกษิตพูดก็คือ รัฐบาลได้นำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารกรุงไทยวงเงิน 1,500 ล้านบาทไปวางเพื่อต่อสู้ในคดีหลักด้วย เหมือนกับเป็นเครื่องยืนยันว่า หากไทยสู้คดีแล้วแพ้ ก็ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้บริษัทวอลเตอร์ บาว
4. ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ให้ “ชัช ชลวร” พ้นเก้าอี้ประธาน อ้าง ไม่เกี่ยวคลิปฉาวยุบพรรค แต่เป็นสัญญาใจที่รับปากไว้!
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดแถลงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้นายชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่นายชัชได้แสดงเจตนารมณ์ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่าจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน โดยการพ้นจากตำแหน่งจะมีผลทันที แต่ยังคงดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปจนครบวาระ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ให้นายชัชทำหน้าที่ประธานที่ประชุมชั่วคราวจนกว่าจะได้ประธานคนใหม่
นายจรัญ ย้ำด้วยว่า การลาออกของนายชัชไม่ได้เกิดจากแรงกดดันให้รับผิดชอบกรณีที่นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญนำคลิปการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคดียุบพรรคไปเผยแพร่จนเกิดความเสื่อมเสียต่อองค์กรแต่อย่างใด เพราะคดีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน ยังไม่ชัดว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลัง แต่มีการนำคดีไปสู่ศาลและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)แล้ว หากผลออกมาใครเกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ ก็มาว่ากันอีกที
ส่วนขั้นตอนการคัดเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่นั้น นายจรัญ เผยว่า ได้วางหลักไว้ว่า หากตุลาการคนใดประสงค์จะเป็นประธาน ให้เสนอตัว หรือให้ตุลาการคนอื่นเสนอชื่อ แต่เจ้าตัวต้องยินยอม จากนั้นให้ที่ประชุมคณะตุลาการลงมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก ซึ่งขณะนี้มีแคนดิเดตหลายคนแล้ว “เมื่อมีผู้ได้รับเลือกให้เป็นประธานแล้ว จะต้องเสนอชื่อไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถนัดประชุมเพื่อลงมติได้ภายในเดือน ส.ค.นี้”
นายจรัญ ยังออกตัวด้วยว่า ตนคงไม่อยู่ในฐานะที่จะเสนอตัวเข้ารับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือถ้าใครเสนอชื่อตน ก็คงไม่รับ เพราะตนอาวุโสน้อยสุด และว่า ในระบบศาล จะคำนึงถึงเรื่องอาวุโส คือการเข้าสู่ตำแหน่งราชการเป็นสำคัญ โดยในวาระของตุลาการที่เหลืออีก 6 ปี ซึ่งมีตุลาการอีก 8 คนนั้น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ มีอาวุโสสูงสุดในการเข้ารับราชการศาลยุติธรรม “งานของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่งานบังคับบัญชา ไม่เหมือนฝ่ายบริหาร เพราะมาทำหน้าที่เพิ่มเติมในด้านธุรการ การบริหารจัดการงบประมาณ ส่วนงานด้านตุลาการนั้น ก็ทำหน้าที่เหมือนกับตุลาการคนอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ดังนั้น คนที่มาทำหน้าที่ประธานศาล จึงไม่ต้องเอาซุปเปอร์แมนมา แต่เอาคนที่ประชาชนรับได้ในการทำงานมาก็พอแล้ว”
5. กรมสรรพากร คืนทรัพย์สินที่อายัดไว้กว่าหมื่นล้านแก่ “โอ๊ค-เอม” แล้ว อ้าง ไม่ต้องเสียภาษีซื้อขายหุ้นชินคอร์ป เพราะเจ้าของหุ้นตัวจริงคือ ทักษิณ!
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เผยว่า กรมฯ ได้คืนเงินสด 200 ล้านบาท รวมทั้งหุ้นและที่ดินที่เคยอายัดไว้รวมกว่า 1 หมื่นล้านบาทแก่นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากกรมฯ พิจารณาแล้วว่าจะไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลภาษีอรกรกลางที่มีคำวินิจฉัยว่าการประเมินภาษีของกรมฯ ที่เคยประเมินว่านายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ต้องเสียภาษีจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปของบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ ที่บุคคลทั้งสองเป็นกรรมการว่า เป็นการประเมินภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลภาษีอากรกลางเห็นว่านายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปที่แท้จริง เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำตัดสินไปแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของหุ้นตัวจริง ซึ่งหลังจากศาลฎีกาฯ มีคำวินิจฉัยเช่นนั้น นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ก็ได้ขอให้กรมสรรพากรถอนการอายัดทรัพย์สินดังกล่าว แต่กรมฯ ชี้แจงว่า หากต้องการถอนการอายัด ต้องไปฟ้องร้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งบุคคลทั้งสองได้ไปฟ้อง และในที่สุดศาลภาษีอากรกลางตัดสินว่าการประเมินภาษีของกรมฯ ไม่ถูกต้อง กรมฯ จึงได้ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำตัดสินของศาลภาษีอากรกลาง และได้คืนทรัพย์สินมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านแก่บุคคลทั้งสองไปเรียบร้อยแล้ว
นางจิตรมนี ยังย้ำด้วยว่า การที่กรมสรรพากรไม่อุทธรณ์คำตัดสินของศาลภาษีอากรกลางไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใด “เมื่อมีคำสั่งศาลฎีกาออกมาว่าใครเป็นเจ้าของหุ้นและคำสั่งศาลภาณีอากรกลางชัดเจนว่าเราประเมินภาษีไม่ถูกต้อง จึงเห็นว่าอุทธรณ์ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ จึงเห็นว่าคืนเงินที่อายัดไว้กลับไป และได้รายงานกระทรวงการคลัง รวมถึงนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น แต่หากจะมองว่ากรมสรรพากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่อุทธรณ์ให้ถึงที่สุด ก็เชื่อว่าสามารถอธิบายข้อเท็จจริงได้ และยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะได้ดำเนินการคืนเงินไปก่อนที่จะรู้ผลการเลือกตั้ง”
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดถึงกรณีที่กรมสรรพากรไม่อุทธรณ์คำตัดสินของศาลภาษีอากรกลาง และได้คืนเงินพร้อมทรัพย์สินที่อายัดไว้แก่นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาทว่า กรณีที่ไม่อุทธรณ์ถือว่าฟังได้ แต่เมื่อไม่เก็บภาษีจากนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา เพราะไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริงแล้ว ก็ต้องเก็บภาษีจากเจ้าของหุ้นตัวจริง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยังสามารถจัดเก็บภาษีได้ เพราะภาระทางภาษีมีอายุความถึง 10 ปี จึงเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่ดำเนินการถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157