xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 6-13 ก.พ.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. รัฐบาล งัด กม.มั่นคงฯ ขู่สลายพันธมิตรฯ หลัง 15 ก.พ. ด้าน “พันธมิตรฯ” ไม่หวั่น ยัน เสียอิสรภาพ ดีกว่าเสียดินแดน!
พันมิตรฯ รวมพลังถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 ว่าจะปกป้องแผ่นดิน ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า(11 ก.พ.)
ความคืบหน้าสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา หลังเกิดการปะทะกัน 2 วัน 2 รอบ เมื่อวันที่ 4-5 ก.พ. หลังกัมพูชาไม่พอใจที่ไทยจี้ให้ปลดธงชาติกัมพูชาและรื้อถอนวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระที่ตั้งอยู่ในเขตไทยบริเวณพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ซึ่งนอกจากกัมพูชาจะไม่ปลดธงและไม่รื้อถอนวัดแก้วฯ แล้ว ยังเคลื่อนทัพรถถังและรถหุ้มเกราะไปประจำบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.ศรีสะเกษด้วย ก่อนเปิดฉากยิงอาวุธหนักเข้ามาฝั่งไทย จนมีชาวบ้านและทหารบาดเจ็บและเสียชีวิต สุดท้าย พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ต้องเดินทางไปเจรจากับ พล.ท.เจีย มอน ผู้บัญชาการภูมิภาคที่ 4 ของกัมพูชา และได้ข้อสรุป 4 ข้อ คือ 1.หยุดยิง 2.ห้ามเพิ่มกำลังทหาร 3.ดูแลไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ 4.ประสานงานด้านข้อมูลให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

แต่ปรากฏว่า กัมพูชากลับไม่รักษาสัญญาที่ว่าจะหยุดยิง โดยได้ยิงปืนใหญ่จากวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระเข้าใส่ไทยบริเวณบ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ทำให้บ้านเรือนเสียหายหลายสิบหลัง มีชาวบ้านเดือดร้อนนับหมื่นคน

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดหน่วยสงเคราะห์เคลื่อนที่เดินทางไปมอบผ้าห่มและเครื่องครัวแก่ราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เผยว่า ทหารกัมพูชายิงปืนใหญ่ของรถถังเข้ามา ทำให้ทหารไทยต้องตอบโต้ตามความเหมาะสม โดยยิงเครื่องยิงลูกระเบิดสวนกลับไป ไม่ถึงขั้นต้องตอบโต้ด้วยปืนใหญ่ ทั้งนี้ มีรายงานว่า อาวุธที่กัมพูชายิงเข้ามายังฝั่งไทย เป็นจรวดหลายลำกล้อง หรือที่เรียกว่า บีเอ็ม 21 ซึ่งเป็นอาวุธที่ได้รับการช่วยเหลือทางทหารจากประเทศเวียดนาม สามารถยิงได้ไกล 12 ไมล์ ใช้ในการทำลายรถถังและเป้าหมายที่เป็นกลุ่มก้อน

ขณะที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ทำหนังสือถึงนางมาเรีย ลุยธา วิเบโร วิออตติ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอสซี) โดยอ้างว่า แม้จะมีการเจรจาหยุดยิงแล้ว ไทยยังคงเปิดฉากโจมตีรุกรานกัมพูชาอย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้อาวุธหนักยิงเข้ามายังปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นมรดกโลก สมเด็จฯ ฮุน เซน ยังใส่ร้ายไทยด้วยว่า มีพฤติกรรมรุกรานกัมพูชาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและข้อตกลงสันติภาพปารีสปี 2534 “ข้าพเจ้าร้องขออย่างจริงจังให้จัดการประชุมด่วนของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ เพื่อหยุดยั้งการรุกรานของไทย” ทั้งนี้ สมเด็จฯ ฮุน เซน ยอมรับด้วยว่า ระหว่างที่ทหารกัมพูชาปะทะกับทหารไทยนั้น พล.ท.ฮุน มาเน็ต บุตรชายของตน ได้ร่วมรบบริเวณชายแดนด้วย ซึ่งมีข่าวสะพัดว่า พล.ท.ฮุน มาเน็ตได้รับบาดเจ็บจากการปะทะดังกล่าวด้วย

ด้านยูเอ็นเอสซี ได้เตรียมประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 14 ก.พ. โดยเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายกัมพูชาและไทยเข้าชี้แจงเหตุปะทะดังกล่าว ซึ่งฝ่ายไทย รัฐบาลมอบหมายให้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปชี้แจง

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ฉะนั้นไทยต้องเดินหน้าคัดค้าน และว่า “ถ้ายูเนสโกหยุดกระบวนการตรงนี้ก่อน การแก้ปัญหาในพื้นที่จะง่ายขึ้น ไม่เช่นนั้นทางกัมพูชาหรือต่างชาติที่จะเข้ามาในพื้นที่พิพาท ก็จะมีแรงกดดันที่จะมาทำอะไรหลายอย่างที่เป็นการละเมิดเอ็มโอยู(ปี 2543) แล้วต้องมีการตอบโต้กันไป”

ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาเตือนกัมพูชาว่า อย่ามาต่อกรกับไทย หากยังเกเรก็มีแต่เจ็บลูกเดียว “เราพร้อมจะชี้แจงทุกเวทีนานาชาติ แม้เขา(กัมพูชา)จะแสดงให้เห็นภาพว่าเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ความเห็นใจนี้ไม่อนุญาตให้สมเด็จฯ ฮุน เซน เป็นเด็กเกเรกับไทย ต้องชี้แจงตอนนี้มีเด็กเกเรตอแยอยู่ข้างบ้าน...”

ด้านนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ แถลง(11 ก.พ.)ว่า สัปดาห์หน้า ส.ส.รัฐบาลกว่า 100 คน จะเข้าชื่อยื่นเรื่องต่อ ผอ.ยูเนสโก ผ่านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ตามที่กัมพูชายื่นเรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกพิจารณา เนื่องจากบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารยังเป็นพื้นที่พิพาทอยู่ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปะทะกันของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานภาพถ่ายที่ทางกัมพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานปฏิบัติการทางการรบอีกด้วย ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ยูเนสโกเตรียมส่งคณะผู้แทนมาตรวจสอบความเสียหายของปราสาทพระวิหารโดยเร่งด่วน พร้อมเรียกร้องให้ไทย-กัมพูชาอดทนอดกลั้นและนำความสงบกลับคืนมา ขณะที่บุคคลในรัฐบาลไทยหลายคนไม่เห็นด้วยที่ยูเนสโกจะมาตรวจสอบความเสียหายของปราสาทพระวิหาร พร้อมบอกว่า ไทยเตรียมเปิดการเจรจาตามกรอบเจบีซีกับกัมพูชาในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่ากัมพูชาปฏิเสธที่จะเจรจากับไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังทหารไทยและกัมพูชาปะทะกันไป 3 รอบในช่วง 3 วัน ปรากฏว่า วันต่อมา(7 ก.พ.) ทหารกัมพูชาก็เปิดฉากยิงเข้ามายังฝั่งไทยอีกเป็นรอบที่ 4 ในรอบ 4 วันติดต่อกัน โดยยิงปืนใหญ่ถล่มใส่ทหารไทยบริเวณภูมะเขือ อ.กันทรลักษณ์ จึงเกิดการตอบโต้กันนาน 10 นาที เบื้องต้นไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่มีทหาร 1 นายเสียชีวิตเพิ่มเติมจากเหตุปะทะเมื่อวันที่ 6 ก.พ. คือ ส.อ.ธนากร พูลเพิ่ม อายุ 30 ปี สังกัดกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 6 ช่วยราชการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 โดยถูกสะเก็ดระเบิดจากกระสุนปืนใหญ่ของกัมพูชาบริเวณศีรษะและแขน

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้ออกมาขู่ว่า ตนและคนไทยจะร่วมกันยื่นฟ้องสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในฐานะอาชญากรสงคราม ฐานสั่งให้ทหารกัมพูชาใช้อาวุธสงครามเพื่อทำร้ายประชาชนโดยตรง กรณียิงจรวดถล่มบ้านภูมิซรอล ทำให้ชาวบ้านบาดเจ็บและเสียชีวิต

ด้าน พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ได้รายงานสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาให้นายกรัฐมนตรีทราบ ระหว่างประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์(11 ก.พ.)ว่า สถานการณ์ชายแดนเริ่มตึงเครียดตั้งแต่กลางเดือน ม.ค.เพราะกัมพูชาละเมิดข้อตกลงเอ็มโอยู 2543 หลายครั้ง แม้ไทยทักท้วงไป แต่กัมพูชาก็ไม่ยอมแก้ไข ตรงกันข้ามมีการลักลอบเพิ่มเติมกำลังเข้ามาในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร มีการสร้างเส้นทางใหม่ๆ เพื่ออ้างสิทธิต่างๆ ดังนั้น เพื่อป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย ไทยจึงสร้างเส้นทางเข้าสู่ปราสาทพระวิหารเช่นกัน พล.ท.ธวัชชัย ยังวิเคราะห์ด้วยว่า “กัมพูชามีความมุ่งหมายจะเข้ายึดและควบคุมภูมิประเทศสำคัญตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200000 ที่กัมพูชายึดถือ แม้การปฎิบัติยังไม่บรรลุผล แต่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายกัมพูชามีความมุ่งหมายจะเข้ายึดพื้นที่การอ้างสิทธิ หากจัดการได้สำเร็จ ก็สามารถชี้แจงต่อสังคมโลกว่า มีความชอบธรรมในการดำเนินการว่าเป็นพื้นที่ของตน”

สำหรับความเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังจากได้ขอฉันทามติจากผู้ชุมนุม( 5 ก.พ.)ว่าจะยกระดับการชุมนุมเป็นการเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลาออก เพื่อรับผิดชอบกรณีที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหา ปล่อยให้กัมพูชารุกล้ำและยึดครองดินแดนไทย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียด จนทหารทั้งสองฝ่ายปะทะกัน กระทั่งมีทหารและประชาชนเสียชีวิต พันธมิตรฯ ได้ประกาศจะเคลื่อนขบวนไปเรียกร้องให้มีการปกป้องแผ่นดินในวันที่ 11 ก.พ.เวลา 09.00น.โดยยังไม่ขอระบุสถานที่

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รีบออกมาประเมินว่า พันธมิตรฯ คงจะเคลื่อนพลไปหน้ารัฐสภา เพราะจะมีการลงมติร่างแก้ไข รธน.วาระ 3 จึงอาจจะดาวกระจายไปปิดล้อมรัฐสภา ขณะที่คณะรัฐมนตรี ส่งสัญญาณเตรียมใช้กำลังสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ครอบคลุมพื้นที่ 7 เขตรอบทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ประกอบด้วย เขตปทุมวัน ,ดุสิต ,พระนคร ,ราชเทวี ,ป้อมปราบศัตรูพ่าย ,วัฒนา และวังทองหลาง นั่นหมายถึงครอบคลุมพื้นที่ที่พันธมิตรฯ กำลังชุมนุมอยู่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ด้วย โดยรัฐบาลอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และต้องการเปิดถนนเพื่อคืนพื้นที่ให้ประชาชน โดยให้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9-23 ก.พ.

ด้านแกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันว่า การประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ จะไม่กระทบต่อการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ และว่า รัฐบาลไม่ต้องกังวล เพราะวันที่ 11 ก.พ. พันธมิตรฯ จะไม่ไปทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา แต่จะมีการลำเลียงสิ่งของอุปโภคบริโภคไปให้กำลังใจทหารและประชาชนใน อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษเท่านั้น ส่วนใน กทม.จะมีเพียงการเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ว่า จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อนำแผ่นดินที่เสียแก่กัมพูชาไปแล้วกลับคืนมาให้หมด และจะป้องกันอย่างยั่งยืน ไม่ให้เสียดินแดนไปอีก

ทั้งนี้ หลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ,กรรมการสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ต่างไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพราะกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมอย่างสงบ ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดเหตุรุนแรงแต่อย่างใด หากบุคคลใดได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม ก็สามารถใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายปกติได้ การประกาศใช้กฎหมายมั่นคงฯ จึงเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าจะใช้กำลังสลายการชุมนุมของประชาชน ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อ รธน.ด้วยเหตุนี้ นายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ จึงได้ยื่นหนังสือต่อสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติ(10 ก.พ.) เพื่อขอให้ติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ของรัฐบาลว่าจะใช้กฎหมายนี้ในการละเมิดสิทธิประชาชนและทำร้ายประชาชนหรือไม่

ล่าสุด วันนี้(13 ก.พ.) ที่ประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ที่มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ผอ.ศอ.รส.เป็นประธาน ได้มีมติขีดเส้นตายให้ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้ หากไม่ออก พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกก่อน 2 ครั้ง จากนั้นจะออกหมายจับต่อไป พร้อมขู่ว่า หากไม่ยอมปฏิบัติตาม นอกจากแกนนำจะมีความผิดแล้ว จะทำประวัติผู้ร่วมชุมนุมด้วย เพราะถือว่าละเมิดข้อห้ามของ ศอ.รส. และว่า หลังวันที่ 15 ก.พ.ตำรวจอาจต้องเข้าคลี่คลายสถานการณ์เพื่อเปิดพื้นที่ โดยยืนยันตำรวจมีเพียงโล่ กระบอง สนับเข่า เสื้อเกราะ ไม่มีปืน หากต้องใช้แก๊สน้ำตา จะใช้ชนิดขว้าง ไม่มีเสียงดัง ไม่ทำให้อวัยวะฉีกขาดแน่นอน หากนอกเหนือจากนี้ถือว่าไม่ใช่ของตำรวจ

ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการปกป้องแผ่นดินฯ ปฏิเสธคืนพื้นที่ชุมนุม ยืนยัน พร้อมเข้าพบตำรวจหากมีหมายเรียก พร้อมย้ำ เสียอิสรภาพดีกว่าเสียดินแดน

2. ร่างแก้ไข รธน.ผ่านฉลุยวาระ 3 ด้าน “พท.” ยื้อ-ยื่นส่งศาล รธน.ตีความ ขณะที่ “ปู่ชัย” ส่งซิกจับตา 18 ก.พ. ยุบสภาหรือไม่!

บรรยากาศการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไข รธน.วาระ 3(11 ก.พ.)
ความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เรื่องสนธิสัญญาต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และมาตรา 93-98 เรื่องที่มา ส.ส. ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาได้ผ่านวาระ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับไปแล้ว โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับสูตรของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ส.ส.เขต 375 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน หรือ 375+125 และเตรียมพิจารณาในวาระ 3 วันที่ 11 ก.พ.นั้น

ปรากฏว่า ก่อนถึงกำหนด มีข่าวว่า แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 2 คน พยายามต่อสายถึงสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เพื่อขอเสียงสนับสนุนในการลงมติโหวตรับร่างแก้ไข รธน.ในวาระ 3 โดยมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ 22 ส.ว.ที่เคยลงมติงดออกเสียงในวาระ 2 เนื่องจากรัฐบาลต้องหาเสียงสนับสนุนในการโหวตรับร่างแก้ไข รธน.อีก 15 เสียง เพื่อให้เสียงหนุนถึงกึ่งหนึ่ง คือ 313 เสียง จึงจะถือว่าร่างแก้ไข รธน.ผ่าน

ซึ่งในที่สุด เมื่อถึงกำหนดประชุมลงมติร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 2 ฉบับในวาระ 3 ปรากฏว่าผ่านฉลุยทั้ง 2 ฉบับ โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.มาตรา 190 ด้วยคะแนน 397 ต่อ 19 งดออกเสียง 10 เสียง ส่วนร่างแก้ไข รธน.มาตรา 93-98 ที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน 347 ต่อ 37 งดออกเสียง 42 เสียง ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนำร่าง รธน.ทั้ง 2 ฉบับเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างแก้ไข รธน.

หลังมีข่าวความพยายามซื้อเสียง ส.ส.-ส.ว.โดยแกนนำในรัฐบาล เพื่อแลกกับการโหวตหนุนร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 2 ฉบับในวาระ 3 ปรากฏว่า ส.ส.-ส.ว.บางคนที่ก่อนหน้านี้เคยยืนยันว่าจะไม่หนุนร่างแก้ไข รธน.สูตร 375+125 ของรัฐบาล ก็กลับมาหนุน เช่น นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเคยค้านอย่างหนัก แต่ก็เปลี่ยนมาหนุน ขณะที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.พิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ไม่หนุนตั้งแต่วาระ 1 และ 2 ยังคงยืนยันจุดยืนเดิมโดยโหวตงดออกเสียง ส่วน ส.ว.นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ว.22 คนที่เคยงดออกเสียงในวาระ 2 ได้หันมาเทคะแนนให้รัฐบาล 9 คน ขณะที่ ส.ว.สรรหาอีก 5 คนจาก 38 คน ที่เคยโหวตไม่เห็นด้วยในวาระ 2 ก็ได้กลับลำมาโหวตเห็นด้วยในวาระ 3 รวมทั้ง ส.ว.ที่เคยลาประชุมถึง 22 คน จาก 53 คน ก็โหวตเห็นด้วยเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี ที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะไม่โหวตให้ แต่สุดท้ายก็ยอมโหวตให้ ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งโดยมารยาทต้องงดออกเสียง ก็ยังใช้สิทธิความเป็น ส.ส.โหวตหนุนร่างแก้ไข รธน.ของรัฐบาลในวาระ 3 เช่นกัน

ด้านพรรคเพื่อไทย(พท.) อ้างว่า การเสนอร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 2 ฉบับของรัฐบาลไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 เพราะไม่ได้ระบุเลขมาตราที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติม ส.ส.พรรคเพื่อไทยจึงได้เข้าชื่อ 177 คน บวกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหาอีก 1 คน แล้วยื่นหนังสือต่อนายชัย เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหากนายชัยส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์จะต้องชะลอการนำร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 2 ฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ จนกว่าจะทราบผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่า ถ้ารัฐสภาส่งร่างแก้ไข รธน.มา ตนมีหน้าที่ส่งขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะตาม รธน.ตนมีหน้าที่ต้องดำเนินการภายใน 20 วัน ขณะที่นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พูดถึงการดำเนินการของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยในประเด็นดังกล่าวว่า ที่ ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นไปเป็นเชิงเทคนิคมากๆ ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะร่าง รธน.ได้ผ่านวาระ 1 ,2 และ 3 แล้ว ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมมาตราไหนและแก้อย่างไร ถ้าไม่ได้ระบุตัวเลขมาตรา ก็ไปเพิ่มไว้ในตอนหลัง แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมไม่ชอบและล้มไปหมด

ส่วนเงื่อนเวลาในการประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่นั้น นายอภิสิทธิ์ ค่อนข้างพูดชัดเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ว่า เมื่อทุกอย่างเข้าที่จะให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ 1.เศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว 2.การแก้ไข รธน. ซึ่งมีการพิจารณาวาระ 3 ในวันที่ 11 ก.พ. “3.ต้องแน่ใจว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต้องปราศจากความรุนแรง ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐบาลเร่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังได้พูดอย่างชัดเจนแล้วว่า จะไม่ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ และจะให้เลือกตั้งภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้”

ขณะที่ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.สัดส่วน และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ส่งสัญญาณว่า การยุบสภาอาจมีขึ้นหลังการประชุมสภาเพื่อพิจารณางบกลางปีในวันที่ 16 ก.พ.นี้ และการแถลงผลงานรัฐบาลปี 2553 ต่อสภาในวันที่ 24 ก.พ.

ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาพูดเป็นนัยถึงเงื่อนไขการยุบสภา(11 ก.พ.)ว่า “ขอให้รอฟังวันที่ 18 ก.พ. เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่ขอให้รอดูวันที่ 18 ก.พ.” ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ไปถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ถึงคำพูดของนายชัยว่าวันที่ 18 ก.พ.หมายถึงการยุบสภาหรือไม่ แต่นายอภิสิทธิ์ไม่ตอบตรงๆ โดยบอกว่า “ต้องถามคนพูดครับ ...ถามว่าวันที่ 18 จะเป็นยังไง ผมบอกว่าไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเป็นวันมาฆบูชา” เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกว่าเป็นการส่งซิกยุบสภาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ยิ้มก่อนตอบว่า “ไม่ยุบก่อนวันมาฆบูชาอยู่แล้ว”

3. “สกอ.” มีคำสั่งไล่ออก “คิม ไชยแสนสุข” พ้นอธิการ ม.รามฯ ด้าน “รังสรรค์-เฉลิมพล”โดนด้วย ฐานออกคำสั่งยืดอายุราชการตัวเอง!

นายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ เผยว่า นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ได้ลงนามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ให้ไล่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาออกจากราชการจำนวน 3 ราย ได้แก่ นายรังสรรค์ แสงสุข ,นายเฉลิมพล ศรีหงษ์ และนายคิม ไชยแสนสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ส่วนเหตุผลที่ไล่บุคคลทั้งสามออกจากราชการนั้น เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดทั้งทางวินัยร้ายแรงและอาญาแก่นายรังสรรค์เมื่อเดือน พ.ย.2552 ว่า ทุจริตต่อหน้าที่ราชการเกี่ยวกับการจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียนรวมและปฏิบัติการ 25 ปีของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังชี้มูลให้พิจารณาโทษนายรังสรรค์ ,นายเฉลิมพล และนายคิม เมื่อครั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย ,รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย และรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ตามลำดับ กรณีออกคำสั่งขยายเวลาราชการให้แก่นายรังสรรค์ และนางรำไพ สิริมนกุล รองอธิการบดี ซึ่งทั้ง 2 เกษียณอายุราชการในปี 2547 เพื่อให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งวิชาการ ขณะที่ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารไปพร้อมกันด้วย อันเป็นความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นายไชยยศ บอกด้วยว่า คำสั่งไล่ออกจากราชการในส่วนของนายรังสรรค์ มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2547 ทำให้นายรังสรรค์ที่ในขณะนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ต้องคืนบำเหน็จบำนาญย้อนหลัง ส่วนนายเฉลิมพลที่เกษียณอายุไปแล้วเช่นกัน มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2553 ต้องคืนบำเหน็จบำนาญย้อนหลังเช่นกัน สำหรับนายคิมที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
“นายสุเมธได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า สกอ.มีอำนาจดำเนินการตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลหรือไม่ และกฤษฎีกาตีความกลับมาว่าเป็นอำนาจของ สกอ. ดังนั้น นายสุเมธจึงมีคำสั่งไล่ออกจากราชการทั้ง 3 คน”

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ สกอ.จะต้องส่งเรื่องไปยังสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อรับทราบคำสั่ง และให้ทั้ง 3 คนออกจากตำแหน่งราชการ จากนั้นให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหาอธิการบดีคนใหม่ต่อไป แต่นายรังสรรค์ ,นายเฉลิมพล และนายคิม ก็ยังมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.)ได้ภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ นายรังสรรค์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงมา 4 สมัย ตั้งแต่ปี 2537-2550 รวม 12 ปี เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงยาวนานที่สุด ขณะที่นายคิม รับราชการที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงตั้งแต่ปี 2522 ,เป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหารปี 2530 ,รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขต ปี 2541-2545 ,รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ปี 2546-2550 และได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดีเมื่อเดือน ส.ค.2550

ด้านนายประจวบ ไชยสาส์น นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เป็นประธานประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ เป็นการเร่งด่วน(10 ก.พ.) เพื่อแต่งตั้งรักษาราชการอธิการบดีแทนนายคิม ซึ่งที่ประชุมมีมติแต่งตั้งนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ ให้รักษาราชการแทนอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ นายประจวบ บอกด้วยว่า “เรื่องที่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ ต้องทำในขณะนี้ คือเดินทางไปให้กำลังใจที่บ้านของทั้ง 3 ท่าน ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ค่อยว่ากัน และในนามของสภามหาวิทยาลัยฯ ขอยืนยันว่า จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อคนดีศรีรามคำแหงทั้ง 3 ท่าน จะรักษาความยุติธรรม ศักดิ์ศรีของประชาคมรามคำแหง ส่วนที่นายคิมจะยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.อ.นั้น ต้องติดตามว่าจะเปลี่ยนโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เพราะการถูกไล่ออกจะมีผลต่อบำเหน็จบำนาญ”

ด้านนายโลมิรันดร์ บุตรจันทร์ สมาชิกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยื่นฟ้อง กกอ.และนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ กกอ.ต่อศาลปกครองแล้ว โดยขอให้ศาลวินิจฉัยเพิกถอนหรือยกเลิกหนังสือคำสั่งไล่อาจารย์ทั้ง 3 ออกจากราชการ เพื่อความเป็นธรรม และยุติความขัดแย้งในการตีความข้อกฎหมายที่ผิดพลาด ส่งผลให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียงที่ได้สะสมคุณงามความดีมานาน

4. รัฐ เสียค่าโง่อีกรอบคดี “คลองด่าน” หลังอนุญาโตตุลาการสั่ง “คพ.”จ่ายผู้รับเหมา 6 พันล้าน ด้าน “ก.ม.ม.” จี้คลังปฏิเสธ ชี้ มีเงื่อนงำ!
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่(ก.ม.ม.)
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. มีรายงานข่าวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วย นายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ ประธานคณะฯ ,นายเสถียร วงศ์วิเชียร และนายเคียง บุญเพิ่ม อนุญาโตตุลาการ ได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีกับกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรฯ กรณีที่กิจการร่วมค้าฯ อ้างว่ากรมควบคุมมลพิษผิดสัญญาโครงการบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ(คลองด่าน)

ทั้งนี้ คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินให้แก่กิจการร่วมค้าฯ เป็นเงิน 4.9 พันล้านบาทเศษ และ 3.1 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2546 เป็นต้นมา จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันให้กิจการร่วมค้าฯ ส่วนข้อร้องเรียนอื่นๆ ให้ยก

ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยืนยันจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการ เพราะคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย และว่า การที่สัญญาโครงการดังล่าวเป็นโมฆะ จึงเท่ากับไม่มีสัญญาเกิดขึ้น นายสุพัฒน์ ยังบอกด้วยว่า กรมฯ ได้สงหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดชี้แจงกรณีดังกล่าวแล้วล่วงหน้า เพื่อเตรียมดำเนินการขั้นตอนต่อไป หากกระทรวงการคลังเห็นด้วยกับการคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่หากกระทรวงการคลังเห็นควรให้จ่ายเงินกิจการร่วมค้าฯ กรมฯ ก็พร้อมทำตามคำสั่ง คาดว่าจะรู้ผลประมาณต้นเดือน มี.ค. “กรมฯ ได้แสดงเอกสารเพิ่มเติมต่อสำนักงานอัยการสูงสุด โดยยื่นคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในส่วนของที่ดินและคำพิพากษาศาลอาญาที่กรมฯ ฟ้องกิจการร่วมค้าฯ ในข้อหาโกงที่ดินและสัญญา ซึ่งทั้ง 2 ศาลตัดสินให้จำคุกผู้เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการอุทธรณ์”

ด้านนางดาวัลย์ จันทรหัสดี แกนนำชาวบ้านคลองด่าน แนะว่า สิ่งที่กรมควบคุมมลพิษต้องเร่งทำโดยด่วนมี 2 ข้อ คือ 1.ต้องรีบร้องขอต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายใน 90 วัน 2.ควรนำผลจากคำตัดสินของคดีอาญาฐานฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดินมาขยายผล โดยจะต้องนำมาฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกเงินคืนจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างหรือกิจการร่วมค้าฯ

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่(ก.ม.ม.) เรียกร้องให้กระทรวงการคลังปฏิเสธคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ เพราะมีเงื่อนงำและไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ นายสุริยะใส ยังตั้งคำถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมควบคุมมลพิษและอัยการด้วยว่า เหตุใดก่อนหน้านี้จุดยืนของกรมควบคุมมลพิษจึงสับสนว่าจะปฏิเสธหรือจะเลือกแนวทางไกล่เกลี่ยในรูปแบบที่คณะอนุญาโตตุลาการแนะนำ และจุดยืนที่สับสนนี้มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ รวมถึงอัยการที่เป็นอนุญาโตตุลาการ ตัวแทนฝ่ายรัฐได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและต่อสู้อย่างเต็มที่แล้วหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น