xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 22-28 ก.พ.2553

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลศิริราช เพื่อไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน(27 ก.พ.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ในหลวง” เสด็จฯ ออกจาก รพ.ศิริราช กลับวังสวนจิตรฯ

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินด้วยรถเข็นไฟฟ้า ลงจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระพักตร์ที่สดชื่น แจ่มใส อยู่ในฉลองพระองค์แจ็กเก็ตสีชมพู พระสนับเพลาสีดำ โดยพระหัตถ์จูงคุณทองแดง ก่อนเสด็จฯ ไปยังลานพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชบิดา โดยทรงนำพวงมาลัยถวายราชสักการะ จากนั้น เสด็จฯ ยังอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงนำพวงมาลัยถวายราชสักการะพระรูปหล่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แล้วเสด็จฯ ยังท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราช ทรงนำพวงมาลัยถวายสักการะพระพุทธรูปเมตตาคุณากร และทรงใช้เวลาประทับเพื่อทอดพระเนตรทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเวลา 15 นาที จากนั้น เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อเสด็จฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ทั้งนี้ ระหว่างประทับรถเข็นพระที่นั่งผ่านตามเส้นทางพระราชดำเนิน มีประชาชนจำนวนมากที่ทราบข่าว ต่างมารอเฝ้ารับเสด็จ เมื่อพระองค์เสด็จฯ ผ่าน ประชาชนต่างรู้สึกปลาบปลื้ม และก้มกราบ พร้อมเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้อง

ด้านสำนักพระราชวัง แจ้งว่า จะยังคงเปิดให้ประชาชนได้ร่วมลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ศาลาศิริราช 100 ปี โรงพยาบาลศิริราชต่อไป

2. ศาลฎีกาฯ สั่งยึดทรัพย์ “ทักษิณ” 4.6 หมื่นล้าน ชี้ ผิดทั้งซุกหุ้น-ใช้ตำแหน่งนายกฯ เอื้อชินคอร์ป!

องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร(26 ก.พ.)
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. เวลา 13.30น. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลสั่งยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท ที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือชินคอร์ป ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และได้ทรัพย์สินมาจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ หลังองค์คณะอ่านคำร้องของอัยการสูงสุดและคำคัดค้านของ พ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านทั้ง 22 คนแล้ว ได้อ่านคำวินิจฉัยในแง่ข้อกฎหมายที่มีผู้ร้องคัดค้าน เช่น ศาลฎีกาฯ มีอำนาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ ซึ่งองค์คณะมีมติเอกฉันท์ว่า ศาลฎีกาฯ มีอำนาจพิจารณาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนกรณีที่ผู้ร้องคัดค้านอ้างว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ไม่มีอำนาจไต่สวนคดีนี้นั้น องค์คณะมีมติเอกฉันท์ว่า คตส.มีอำนาจในการไต่สวนและไต่สวนโดยชอบแล้ว พร้อมเห็นว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็มีอำนาจดำเนินการต่อจาก คตส. ส่วนอัยการสูงสุดก็มีอำนาจในการยื่นคำร้องคดีนี้ นอกจากนี้ยังเห็นว่า คำร้องของผู้ร้อง(อัยการสูงสุด)มีลักษณะแจ้งชัดไม่เคลือบคลุม

ส่วนในแง่คดีที่ต้องวินิจฉัย ได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปจริงหรือไม่ ซึ่งองค์คณะมีมติเอกฉันท์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ป 1,419.49 ล้านหุ้น ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ ทั้ง 2 สมัย โดยอำพรางหุ้นไว้ในชื่อลูกๆ และเครือญาติ ประกอบด้วย นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว ,น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ,นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ

สำหรับประเด็นที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจชินคอร์ปหรือไม่ องค์คณะมีมติด้วยเสียงข้างมาก ว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ใช้อำนาจขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจชินคอร์ปทั้ง 5 กรณีตามที่อัยการสูงสุดฟ้อง โดยศาลระบุว่า ปรากฏข้อเท็จจจริงว่า พ.ต.ท.ทักษิณเกี่ยวข้องสั่งการโดยชัดแจ้ง 2 กรณี คือ กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต และกรณีอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ อนุมัติสินเชื่อแก่รัฐบาลพม่า โดย พ.ต.ท.ทักษิณสั่งการ มอบนโยบายผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และข้าราชการ ส่วนอีก 3 กรณี คือ การปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรเติมเงิน ,กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตใช้เครือข่ายร่วม และกรณีละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมนั้น พ.ต.ท.ทักษิณล้วนเป็นผู้กำกับดูแลในฐานะนายกฯ

อย่างไรก็ตาม มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลต้องตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เพียงใดนั้น องค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า “เมื่อผลของการดำเนินการทั้งหมดเอื้อประโยชน์โดยตรงต่อชินคอร์ป เอไอเอส ไทยคม และบริษัทในเครือ ย่อมทำให้บริษัทได้ผลกำไรและเงินปันผล นอกจากนี้ยังแสดงให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไปถึงความมั่นคงแก่กิจการ อันก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้สนใจลงทุน ทำให้มูลค่าหุ้นชินคอร์ปสูงขึ้น ดังนั้น เงินปันผลค่าหุ้นและเงินค่าขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้เทมาเส็ก จึงเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา(พ.ต.ท.ทักษิณ) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ตามประกาศคณะปฏิรูปฯ ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”

ส่วนกรณีที่คุณหญิงพจมาน ในฐานะผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ร้องว่า ในส่วนของสินสมรสควรได้รับการคุ้มครองไม่ควรถูกยึดนั้น องค์คณะระบุว่า จากการไต่สวนพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานร่วมกันก่อตั้งบริษัทชินคอร์ป และบุคคลทั้งสองมีหุ้นอยู่จำนวนมาก รวมทั้งได้ดำเนินกิจการร่วมกันและมีผลประโยชน์ร่วมกันตลอดมา โดยคุณหญิงพจมานดูแลจัดการด้านการเงินและทรัพย์สิน นอกจากนี้ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณตั้งบริษัทแอมเพิลริช ได้ความว่า คุณหญิงพจมานได้จ่ายค่าหุ้นให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณแทนบริษัทแอมเพิลริชไปก่อน จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจึงโอนค่าหุ้นให้ในภายหลัง ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าว “เป็นการแสดงให้เห็นเจตนาแสวงหาประโยชน์ร่วมกันตลอดมา เงินปันผลหุ้นและขายหุ้น เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจ อันเป็นการได้มาโดยไม่ชอบเสียแล้ว ผู้ถูกกล่าวหา(พ.ต.ท.ทักษิณ)และผู้คัดค้านที่ 1 (คุณหญิงพจมาน)ไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นสินสมรส ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้เงินในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดินได้ด้วย”

ส่วนศาลจะยึดทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลระบุว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปนั้น มีมูลค่าเดิมอยู่ด้วย นอกเหนือจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการให้ตกเป็นของแผ่นดินทั้งหมดย่อมไม่เป็นธรรมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน จึงให้ถือว่า ประโยชน์จากราคาหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่เพิ่มขึ้นนับแต่ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะดำรงตำแหน่งนายกฯ ในวาระแรกคือ 7 ก.พ.2544 เป็นต้นไป เป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน คิดเป็นจำนวนกว่า 46,373 ล้านบาท ส่วนอีก 30,247 ล้านบาท ถือว่าเป็นมูลค่าหุ้นที่มีอยู่เดิมก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ

ทั้งนี้ องค์คณะศาลฎีกาใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานถึง 7 ชั่วโมง ขณะที่คุณหญิงพจมานและลูกๆ ไม่ได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด โดยส่งทนายมาฟังแทน ขณะที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ที่จะพิพากษาคดียึดทรัพย์ได้รับการคุ้มกันความปลอดภัยอย่างเต็มที่ระหว่างเดินทางจากที่พักมายังศาล โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดรถกันกระสุน 9 คันรอรับผู้พิพากษาทั้ง 9 คนจากศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อเดินทางมายังศาลฎีกา สนามหลวง

3. “ทักษิณ” โวย ศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือเหมือนเมื่อครั้งยุบ ทรท. ด้าน “เสื้อแดง” นัดชุมนุมใหญ่ 14 มี.ค.!
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปธ.พรรคเพื่อไทย นำทีม ส.ส.พรรคฯ แถลงป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ(27 ก.พ.)
หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กว่า 4.6 หมื่นล้านบาท ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านพีเพิลชาแนลหรือทีวีเสื้อแดงทันที โดยกล่าวหาว่า ศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดการทางการเมืองเหมือนเมื่อครั้งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย(ทรท.) “พี่น้องฟังการอ่านของศาลไหม พี่น้องรู้สึกมันคล้ายๆ วันที่ไทยรักไทยถูกยุบไหม เหมือนกันเลย ตั้งแต่ก่อนที่จะมีปฏิวัติเล็กน้อย ศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดการทางการเมือง ...สรุปแล้วว่า การเป็นนายกฯ นี่ เศรษฐกิจดีขึ้น ทรัพย์สินประเทศเพิ่มขึ้น แต่ไม่เห็นแบ่งผมเลย แต่บริษัทในครอบครัวดีขึ้น บอกว่าผมโกง แล้วก็ยึด ผมบอกว่าวันนี้เขาขบขันและขำกันทั้งโลก...” พ.ต.ท.ทักษิณ ยังประกาศด้วยว่า จะสู้ต่อไป จะหาความยุติธรรมให้เจอ ไม่ว่าจะอยู่ในนรกหรือสวรรค์ พร้อมขอให้คนที่รักประชาธิปไตยสู้ต่อไป อย่าดูหนังม้วนเดียว

อนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เคยพูดก่อนหน้านี้ว่า หากศาลสั่งยึดทรัพย์ตน จะนำเรื่องนี้ฟ้องต่อศาลโลก ซึ่งภายหลังนายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล ได้ออกมายืนยันว่า คดีนี้ไม่เข้าองค์ประกอบที่จะฟ้องต่อศาลโลกได้

ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เตรียมหาช่องอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณใน 30 วันตามที่กฎหมายเปิดช่องให้หากมีข้อเท็จจริงใหม่ โดยเชื่อว่า ประเด็นที่น่าจะนำไปต่อสู้ได้คือ การที่ศาลใช้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) มาใช้เป็นหลักกฎหมายในการพิจารณา ซึ่งหลักดังกล่าวขัดกับหลักกฎหมายสากล นายพีรพันธุ์บอกด้วยว่า จะดูว่าผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในคดียึดทรัพย์มีเหตุผลอย่างไร เพื่อจะได้นำมาประกอบการอุทธรณ์

ทั้งนี้ นอกจากพรรคเพื่อไทยจะหาช่องอุทธรณ์คดียึดทรัพย์เพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ยังได้นำทีมแกนนำและ ส.ส.พรรค เปิดแถลงเมื่อวานนี้(27 ก.พ.) พร้อมออกแถลงการณ์โจมตีการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยอ้างว่า การที่ศาลฎีกาฯ พิพากษายึดทรัพย์ครั้งนี้เป็นผลพวงจากการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 19 ก.ย.2549 และทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจากนั้นได้ใช้อำนาจเผด็จการแต่งตั้ง คตส. ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นมาตรวจสอบ และมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นการกลั่นแกล้ง เลือกปฏิบัติ และลุแก่อำนาจ

พล.อ.ชวลิต อ้างด้วยว่า บ้านเมืองที่เลวร้ายอยู่ในขณะนี้ เพราะมีคนชักใยอยู่เบื้องหลัง “วันนี้สิ่งหนึ่งที่อยู่ภายในใจของคนไทยที่ยังตอบกันไม่ได้คือ มีคนบางคนอยู่เบื้องหลังและชักใย ทำให้สถานการณ์ในบ้านเมืองเลวร้าย ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าคือใคร และกำลังทำอะไรอยู่ ...สิ่งที่คนไทยมีความรู้สึกอย่างชัดเจนก็คือ ความยุติธรรมในสังคมกำลังหมดไป เราต่างพูดถึง 2 มาตรฐาน ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งไม่ยุติธรรมมานานแล้ว 78 ปี ที่เราเฝ้ารอสิ่งนี้อยู่” ไม่เท่านั้น พล.อ.ชวลิต ยังเผยถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยด้วยว่า จะพยายามเปลี่ยนแปลงให้อำนาจเป็นของประชาชนดังพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 7 “เราจำเป็นต้องทำให้พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รับสั่งมาชัดเจนว่า มีพระประสงค์ที่จะให้อำนาจของพระองค์เป็นของประชาชน พรรคเพื่อไทยจะทำทุกอย่างเพื่อให้พระราชปณิธานขององค์พระมหากษัตริย์ในบรมราชจักรีวงศ์เกิดเป็นจริงให้จงได้”

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงนั้น แม้แกนนำ นปช.จะไม่นัดชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ก.พ. โดยมีแค่คนเสื้อแดงของกลุ่มแดงสยามที่นำโดยนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือแซ่ด่าน ชุมนุมที่สนามหลวงอย่างบางตา แต่แกนนำ นปช.ก็ได้ประกาศนัดรวมพลคนเสื้อแดงทั่วประเทศในวันที่ 12 มี.ค. ทั้งนี้ นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.เผยถึงเหตุที่ไม่นัดชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ก.พ.ว่า รัฐบาลพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่เสียหายต่อขบวนการเสื้อแดง โดยไปผูกโยงการเคลื่อนไหวกับคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท มีการสร้างกระแสผ่านสื่อสารมวลชน จนดูว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่กลียุคและจะเกิดสงครามกลางเมือง ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จึงมีมติไม่ชุมนุมวันที่ 26 ก.พ. และจะเริ่มเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 12 มี.ค. หรือที่เรียกว่า “12 มีนาฯ เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน” โดยจะเคลื่อนเข้าถึงกรุงเทพฯ เพื่อขับไล่รัฐบาลในช่วงเช้าตรู่วันที่ 14 มี.ค.

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลฎีกาฯ พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณเพียง 1 วัน มือมืดก็ได้สร้างความปั่นป่วนให้บ้านเมืองด้วยการปาระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพหลายสาขาเมื่อคืนวันที่ 27 ก.พ. โดยจุดแรก คนร้ายขว้างระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม โชคดีไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ โดยแรงระเบิดทำให้เกิดหลุมบริเวณพื้นถนนหน้าธนาคาร และทำให้กระจกประตูของธนาคารแตกเสียหายหลายบาน นอกจากนี้ยังมีรถแท็กซี่ที่จอดอยู่บริเวณดังกล่าว และรถยนต์ที่ขับผ่านมาอีก 1 คันถูกแรงระเบิดทำให้กระจกและยางแตก จากการตรวจสอบพบว่า เป็นระเบิดเอ็ม 67 ชนิดขว้าง จุดที่ 2 ที่พบระเบิด คือหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาพระราม 2 โชคดีมีผู้พบเห็นและแจ้งเจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้ทัน จากการตรวจสอบ พบว่าเป็นระเบิดลูกเกลี้ยงชนิดเอ็ม 67 เช่นกัน นอกจากนี้คนร้ายยังได้ปาระเบิดเข้าใส่ธนาคารกรุงเทพอีก 2 จุด คือธนาคารกรุงเทพ สาขาพระประแดง จ.สมุทรปราการ แรงระเบิดส่งผลให้กระจกของธนาคารได้รับความเสียหาย รวมทั้งตู้โทรศัพท์เสียหายอีก 4 ตู้ ส่วนอีกจุด คือบริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพสาขาถนนศรีนครินทร์ โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน จากการตรวจสอบพบว่าเป็นระเบิดแบบขว้างชนิดเอ็ม 67 เช่นกัน

ด้าน พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด เพื่อให้เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นหลังเกิดเหตุปาระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพ ส่วนการติดตามคนร้ายนั้น พล.ต.ท.สัณฐาน บอกว่า ขณะนี้ได้ภาพสเก็ตช์คนร้ายแล้ว แต่ยังไม่ได้ขอศาลออกหมายจับ และว่า จากการตรวจสอบพบว่า คนร้ายที่ก่อเหตุหน้าธนาคารกรุงเทพ ถนนสีลม เป็นชาย ซึ่งพอทราบแล้วว่าเป็นกลุ่มใด แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผู้ก่อเหตุในจุดอื่นด้วยหรือไม่ หรือมีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงก่อนหน้านี้หรือไม่

ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ รีบออกมาปฏิเสธว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมแสดงความไม่พอใจที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่นอกเหนือการคาดหมาย และอาจเกี่ยวข้องกับคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยบอกว่า นายอภิสิทธิ์กำลังพูดให้คนเข้าใจผิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดดังกล่าว นายนพดล ยังจี้ให้นายอภิสิทธิ์รีบจับตัวคนร้ายมาสอบสวนความจริงโดยเร็ว ถ้าทำไม่ได้ก็ควรพิจารณาตัวเองด้วยการลาออก

ขณะที่นายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่ ก็เชื่อว่า เหตุระเบิดธนาคารกรุงเทพ มีความเชื่อมโยงกับคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งเป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ที่พุ่งเป้าไปยัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษโดยตรง นายสำราญ ยังเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ติดตามจับกุมคนร้ายให้ได้ ไม่เช่นนั้นสมควรพิจารณาตัวเอง นอกจากนี้ นายสำราญ ยังเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ขยายผลคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยการเอาผิดทางกฎหมายทั้งแพ่งและอาญา โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เช่น กรณีใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์ต่อดาวเทียมไอพีสตาร์ และการแก้ไขสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัท เอไอเอส

4. “ศาลฎีกา” ยกฟ้องหวยออนไลน์ ส่งผล “กองสลาก” ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 2.5 พันล้าน!

 บรรยากาศที่ศาลฎีกา หลังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชนะคดีไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้บริษัท จาโก้ 2.5 พันล้านบาท(24 ก.พ.)
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท จาโก้ จำกัด ซึ่งบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด(มหาชน) จัดตั้งให้จำหน่ายสลากการกุศลแบบอัตโนมัติ หรือหวยออนไลน์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้สำนักงานสลากฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการทำผิดสัญญาเป็นจำนวนกว่า 2,500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2543

ทั้งนี้ ศาลมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า สัญญาที่สำนักงานสลากฯ แต่งตั้งบริษัท จาโก้ เป็นผู้แทนจำหน่ายหวยออนไลน์นั้น ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือไม่ เนื่องจากโครงการที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้องได้รับอนุมัติจาก ครม.ก่อน ซึ่งจากการฟังข้อเท็จจริง ศาลเห็นว่า บริษัท จาโก้ เคยให้ข้อมูลต่อสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ที่เคยสำรวจค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งแรกของโครงการหวยออนไลน์ของบริษัท จาโก้ พบว่า บริษัท จาโก้ เคยให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวมีมูลค่า 1,600 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัท จาโก้ ยังเคยเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงงบดุลการลงทุนครั้งแรกว่า มีถึง 1,700 ล้านบาท จึงเป็นการลงทุนโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ส่วนกรณีที่บริษัท จาโก้ เคยให้การในภายหลังว่า มูลค่าโครงการเหลือเพียง 980 ล้านบาทนั้น ศาลชี้ว่า แสดงให้เห็นเจตนาการไม่เปิดเผยตัวเลขลงทุนที่แท้จริง และมีพิรุธในลักษณะบ่ายเบี่ยงว่าโครงการดังกล่าวมีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ประกอบกับพยานหลักฐานข้อมูลที่บริษัท จาโก้ เคยให้ต่อทีดีอาร์ไอ เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นการให้ข้อมูลในขณะที่ยังไม่เกิดข้อพิพาท จึงฟังได้ว่า สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายสลากหวยออนไลน์ระหว่างสำนักงานสลากฯ กับบริษัท จาโก้ มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จึงเข้าเงื่อนไขภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานที่ต้องเสนอ ครม.เห็นชอบก่อนดำเนินการ

ศาลฎีกา ยังวินิจฉัยด้วยว่า สำนักงานสลากฯ ได้ทำสัญญาถูกต้องตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว แต่เมื่อคู่สัญญายังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง คือไม่ได้เสนอ ครม.พิจารณา จึงถือว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นโดยมิชอบ ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีผลบังคับทั้งฝ่ายบริษัท จาโก้ และสำนักงานสลากฯ ทำให้ข้อตกลงระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการไม่มีผลบังคับใช้ การชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 24 วรรค 1 ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ศาลมีอำนาจไม่รับตามบังคับชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ส่วนที่ศาลชั้นต้นรับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยให้สำนักงานสลากฯ จ่ายเงินชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้บริษัท จาโก้ นั้น ศาลฎีกา เห็นว่า เป็นการพิพากษารับบังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ จึงพิพากษากลับศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องของบริษัท จาโก้

หลังฟังคำพิพากษา นายตรีจักร ตัณฑ์ศุภศิริ กรรมการประธานเจ้าหน้าที่บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด(มหาชน) บอกว่า คงต้องเคารพคำตัดสินของศาลฎีกา แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด คงต้องศึกษาข้อมูลก่อน

ด้านนายสุรัตน์ ศรีวิพัฒน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญคดีอาญา 1 ซึ่งรับผิดชอบคดีนี้ให้สำนักงานสลากฯ บอกว่า หลังศาลฎีกามีคำพิพากษา ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการแล้ว บริษัท จาโก้ไม่มีสิทธิโต้แย้งใดใดอีก

ส่วนนายวันชัย สุระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ บอกว่า ยังไม่สามารถพูดรายละเอียดได้มากนัก เพราะต้องดูคำตัดสินของศาลก่อน แต่ที่ชัดเจนคือ สำนักงานสลากฯ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้บริษัท จาโก้ และว่า หลังจากนี้จะหารือกับสำนักงานสลากฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น