xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 4-10 ม.ค.2553

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “มานิต” ยอมทิ้งเก้าอี้ รมต.แล้ว ด้าน “ปชป.” ใช้สูตรโยก “จุรินทร์”คุม สธ. - ให้ “ชินวรณ์”เสียบ ศธ.แทน !
นายมานิต นพอมรบดี แถลงลาออกจากรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขแล้ววันนี้(10 ม.ค.)
ความคืบหน้ากรณีนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุขจากพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี หลังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน สรุปผลสอบว่าบกพร่องต่อหน้าที่กรณีโครงการไทยเข้มแข็งส่อทุจริต ขณะที่นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขจากพรรคภูมิใจไทย ยังไม่ลาออก แม้จะถูกคณะกรรมการสอบฯ ระบุว่ามีพฤติกรรมส่อทุจริตในโครงการดังกล่าวด้วยการล้วงลูกดึงงบประมาณเข้า จ.ราชบุรีที่ตนเป็น ส.ส. รวมทั้งนัดรับประทานข้าวกับบริษัทเจ้าของรถยนต์ผู้ผลิตรถพยาบาลและเครื่องพ่นฆ่ายุงลาย โดยนายมานิต บอกว่า ตนจะลาออกหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในพรรคจะตัดสินใจในวันที่ 5 ม.ค. ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมหารัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่แทนนายวิทยา โดยมีแคนดิเดตอยู่ 5 คน คือ นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ,นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ,นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม. ,นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และประธานวิปรัฐบาลนั้น

ปรากฏว่า ก่อนที่การประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เพื่อเลือกผู้เหมาะสมนั่งรัฐมนตรีสาธารณสุขจะมีขึ้นในวันที่ 6 ม.ค. มีข่าวว่า ตัวเต็งเหลืออยู่เพียง 2 คน คือ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โดยมีข่าวว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคฯ หนุนนายชินวรณ์ ขณะที่นายนิพิฏฐ์ได้รับแรงหนุนจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคฯ ทั้งนี้ เมื่อถึงวันประชุม มีรายงานว่า นายสุเทพ ได้เสนอที่ประชุมให้มีการสับเปลี่ยนรัฐมนตรี เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหามาก จึงควรเอาคนที่มีประสบการณ์เข้าไปดูแล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงเสนอให้โยกนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ไปนั่งรัฐมนตรีสาธารณสุข แล้วพิจารณาผู้เหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการแทน จากนั้นได้มีการเสนอให้เลือกผู้เหมาะสมจากแคนดิเดตทั้ง 5 คน ด้วยการโหวตลับ ผลปรากฏว่า นายชินวรณ์ได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขด้วยคะแนนสูงสุด 9 เสียง จากทั้งหมด 16 เสียง รองลงมาคือนายจุติ ได้ 6 เสียง และนายนิพิฏฐ์ได้ 1 เสียง นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้นายวิทยา แก้วภราดัย เป็นประธานวิปรัฐบาลแทนนายชินวรณ์ด้วย โดยเป็นไปตามการเสนอของนายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี น้องชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังพลาดตำแหน่งรัฐมนตรีหลายครั้ง นายนิพิฏฐ์ได้ออกอาการน้อยใจ โดยออกมาเปรยทำนองว่าอาจเลิกเล่นการเมือง “บางคนเรียกร้องให้ผมย้ายพรรค แต่คงทำไม่ได้ ตราบใดที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ยังอยู่ เพราะนายชวนเป็นเทพเจ้าทางการเมืองของผม ร้ายที่สุดอาจยุติบทบาททางการเมือง” นายนิพิฏฐ์ ยังบอกด้วยว่า ไม่เห็นด้วยที่กรรมการบริหารพรรคใช้วิธีโหวตเลือกคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี และว่า หากใช้วิธีโหวต ตนไม่มีวันได้เป็นรัฐมนตรี แม้จะกี่ร้อยครั้งก็ตาม เพราะมันมีสาเหตุ แต่ไม่ขอพูด อย่างไรก็ตาม นายนิพิฏฐ์ บอกว่า ตนได้ส่งเอสเอ็มเอสไปแสดงความยินดีกับว่าที่รัฐมนตรีสาธารณสุขและว่าที่รัฐมนตรีศึกษาธิการแล้ว

ส่วนทางฟากพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ที่จะต้องตัดสินใจว่าจะให้นายมานิต นพอมรบดี ลาออกจากรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขหรือไม่นั้น มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค.แกนนำพรรคภูมิใจไทย เช่น นายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา รวมทั้งนายมานิต ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในโควตากลุ่มมัชฌิมา ได้ประชุมหารือ โดยได้ข้อสรุปว่า จะให้นายมานิตทำงานต่อไป เพราะยังไม่ถือว่านายมานิตเป็นผู้ถูกกล่าวหา เป็นเพียงแค่ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการสอบเท่านั้น ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมาย พรรคภูมิใจไทยไม่ให้การยอมรับ

ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า นายมานิตยังทำงานอยู่ ส่วนกระแสกดดัน อย่าไปฟังเลย ให้เป็นการตัดสินใจของผู้ใหญ่ดีกว่า เพราะจะต้องพิจารณาจากความถูกต้องเป็นหลัก ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นต่างจากนายชวรัตน์ โดยส่งสัญญาณชัดเจนว่า การตัดสินใจลาออกของรัฐมนตรีควรฟังกระแสสังคมและยึดกฎเหล็ก 9 ข้อที่เคยให้ไว้กับ ครม. “ผมฟังกระแสสังคม แล้วผมก็ตัดสินใจโดยฟังกระแสสังคม และยังยึดกฎเหล็ก 9 ข้อที่กำหนดขึ้นมา”

ทั้งนี้ หลังประชุมกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย(5 ม.ค.) นายมานิต ได้เปิดแถลงข่าวยืนยันยังไม่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข พร้อมเผยสิ่งที่ตนร้องขอ 3 เรื่อง 1.ขอใช้สิทธิส่วนบุคคลฟ้องดำเนินคดีคณะกรรมการสอบสวนที่ระบุว่าตนมีพฤติกรรมส่อทุจริตล้วงลูกงบประมาณไทยเข้มแข็งฯ 2.หากคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ตนก็พร้อมจะรับผิดชอบด้วยการลาออก และ 3.ขอชี้แจงต่อสภาหลังเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ เพราะเชื่อว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจตนเกี่ยวกับเรื่องโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาจี้ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ปลดนายมานิตพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข เพื่อรับผิดชอบเรื่องทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข “ขอให้ดำเนินการอย่างจริงจังกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ อย่าทำให้กฎเหล็กกลายเป็นแค่กฎเด็กที่กำหนดขึ้นเพื่อการเล่นขายของเท่านั้น”

ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.สัดส่วน พรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาอ้างว่า กฎเหล็กของนายกฯ มีไว้สำหรับใช้กับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น เพราะเป็นกฎเหล็กที่วางไว้ในนามหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะไปก้าวก่ายพรรคอื่นไม่ได้ ด้านนายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า กฎเหล็กดังกล่าว ตนได้แจ้งในการประชุม ครม.ไม่ใช่ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ ยังส่งสัญญาณให้นายมานิตลาออกด้วย หาไม่แล้ว ตนจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง “สุดท้ายแล้วผมจะเป็นคนดำเนินการ แต่ตอนนี้ให้นายมานิตไปคิดทบทวนก่อน ซึ่งถ้านายมานิตยังไม่ลาออก ก็เป็นการตัดสินใจของเขา แต่การดำเนินการต่อไปก็เป็นเรื่องของผม ซึ่งผมจะใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน เพราะการดำเนินการในเรื่องต่างๆ จะทำพร้อมๆ กันหมด”

ทั้งนี้ นายมานิต ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 6 ม.ค.เพื่อขอลาพักราชการเป็นเวลา 30 วัน แต่ได้พบนายอภิสิทธิ์แค่ 5 นาที เพราะนายอภิสิทธิ์ต้องไปประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตามนายอภิสิทธิ์ได้พูดถึงใบลาของนายมานิตในเวลาต่อมาทำนองว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ “การยื่นใบลา 30 วัน โดยใช้เหตุผลว่าจะไปชี้แจงกับ ป.ป.ช. คงไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมา คดีของ ป.ป.ช.ใช้เวลาพิจารณานานกว่านั้น” นายอภิสิทธิ์ ยังส่งสัญญาณทำนองขีดเส้นให้นายมานิตลาออกและให้พรรคภูมิใจไทยส่งชื่อรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขคนใหม่ภายในต้นสัปดาห์หน้า “ยังไม่ได้รับคำตอบจากนายมานิตเลย ทราบว่ากำลังปรึกษาหารือกับหลายคนอยู่ และว่า ขณะนี้ตนกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับ ครม. คิดว่าต้นสัปดาห์หน้าจะสามารถดำเนินการได้”

ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มมัชฌิมา พรรคภูมิใจไทยแจ้งว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ได้คุยกับนายมานิตแล้วว่า จะให้นายมานิตลาออก เพราะแกนนำพรรคภูมิใจไทยไม่ต้องการให้เกิดแรงกระเพื่อมในรัฐบาล โดยนายสมศักดิ์ตกลงกับนายมานิตว่า หากนายมานิตลาออก คนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทนจะต้องเป็นคนที่นายมานิตเลือกหรือเห็นชอบด้วย ซึ่งขณะนี้มีแคนดิเดตอยู่ 2 คน คนหนึ่งคือนายประศาสน์ ทองปากน้ำ อดีต ส.ส.สุโขทัย ซึ่งมีความสนิทสนมกับนายสมศักดิ์มานาน ส่วนอีกคนคือนายสมนึก เฮงวาณิชย์ ส.ส.บุรีรัมย์ ซึ่งนายมานิตพยายามผลักดันอยู่

ล่าสุด วันนี้(10 ม.ค.) นายมานิตได้แถลงลาออกจากรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขแล้ว โดยยืนยันว่า การตัดสินใจครั้งนี้ ไม่ได้ถูกกดดันจากนายกรัฐมนตรี พร้อมย้ำ ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็ง เพราะยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างแม้แต่รายเดียว และตนก็ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบงบประมาณโครงการดังกล่าว

2. อัยการ สั่งไม่ฟ้อง “สุรยุทธ์” รุกเขายายเที่ยง ชี้ ไม่เจตนาทำผิด ด้าน “เสื้อแดง” ไม่สน-เดินหน้าชุมนุมตามกำหนด!
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย
จากกรณีที่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ประกาศจะนำคนเสื้อแดงและผู้ไร้ที่ทำกินบุกขึ้นเขายายเที่ยง จ.นครราชสีมา ในวันที่ 11 ม.ค. เพื่อชุมนุมหน้าบ้านพัก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ที่มีบ้านพักบนเขายายเที่ยง แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมอ้างว่า การสอบสวนดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้าและยังไม่มีความชัดเจนนั้น

ปรากฏว่า ก่อนถึงวันนัดชุมนุม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนที่ไม่มีที่ทำกิน ไปร่วมกันจับจองที่ดินทำกินให้กับตัวเองบริเวณรอบๆ เขายายเที่ยงได้ในวันที่ 11 ม.ค. ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย บอกว่า หลังเสร็จภารกิจทวงความยุติธรรมที่เขายายเที่ยงแล้ว ประมาณวันที่ 15 หรือหลังวันที่ 15 ม.ค.จะนัดประชุมแกนนำเสื้อแดงเพื่อกำหนดวันชุมนุมใหญ่ โดยเบื้องต้นตั้งเป้าว่า จะเป็นการชุมนุมครั้งเดียวจบ หลังจากนี้จะไม่มีการชุมนุมอีก นอกจากนี้ต้องเลือกจุดที่ได้เปรียบที่สุด ซึ่งตรงนี้ทำให้ยังไม่สามารถกำหนดวันชุมนุมใหญ่ได้ เพราะต้องเตรียมความพร้อมให้สมบูรณ์ที่สุดในการรับมือประชาชนที่จะมาร่วมชุมนุม 1 ล้านคน ที่จะเต็มทั้งสนามหลวง ถนนราชดำเนิน ลานพระบรมรูปทรงม้า และทำเนียบรัฐบาล นายจตุพร ยังประกาศด้วยว่า การชุมนุมครั้งนี้จะไม่ยาวนาน เพราะทุกอย่างจะจบลงได้ภายใน 7 วัน

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง พูดถึงกรณีกลุ่มเสื้อแดงจะนำประชาชนขึ้นไปจับจองที่ดินทำกินบนเขายายเที่ยงว่า เจ้าหน้าที่จะดูแลควบคุมสถานการณ์ตามปกติ ส่วนที่จะเข้าไปจับจองที่ดินทำกินนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา กฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าไปตามกฎหมาย คงไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะนัดกันไปบุกเขาใหญ่

ด้าน พ.ต.อ.วณัฐ อรรถกวิน รอง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา พูดถึงการเตรียมรับมือการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่เขายายเที่ยงในวันที่ 11 ม.ค.ว่า ได้ใช้แผนกรกฏ 52 เพื่อป้องกันมือที่สามที่ไม่หวังดีและสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงขึ้น และว่า “การที่กลุ่มคนเสื้อแดงรวมทั้งคนที่ไร้ที่ทำกินจะบุกยึดที่บนเขายายเที่ยงและบุกเข้าไปในบ้านของ พล.อ.สุรยุทธ์นั้น ถ้าทำเช่นนั้นจริงผิดตามกฎหมาย จะถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้และตำรวจดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและบุกรุกเคหสถานของบุคคลอื่น ซึ่งบ้าน พล.อ.สุรยุทธ์เป็นที่ส่วนบุคคล”

ขณะที่ชาวบ้านบริเวณเขายายเที่ยง ได้ขึ้นป้ายผ้าวิงวอนกลุ่มคนเสื้อแดงอย่าสร้างความวุ่นวายหรือความรุนแรงในพื้นที่ และไม่ต้องการให้กลุ่มคนเสื้อแดงมาขับไล่หรือจับจองพื้นที่โดยพลการ

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ได้ออกมาขู่จะชุมนุมยืดเยื้อ หากมีใครสร้างสถานการณ์ให้วุ่นวายหรือเกิดความรุนแรง “หากมีใครคิดจะล้มเดิมพันกันที่เขายายเที่ยง แสดงว่ารัฐบาลเป็นผู้เลือกโดยมีเราเป็นผู้สนอง ซึ่งพร้อมจะชุมนุมยืดเยื้ออยู่ 3 วัน 5 วัน แล้วแต่สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา” ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.อีกคน ได้ออกมายืนยัน(9 ม.ค.)ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจะชุมนุมหน้าบ้าน พล.อ.สุรยุทธ์วันที่ 11 ม.ค. และจะค้างคืนบนเขายายเที่ยง 1 คืน จากนั้นวันรุ่งขึ้นแกนนำจะประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าจะสลายการชุมนุมหรือไม่

ขณะที่ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผย ตำรวจภูธรภาค 3 ได้เตรียมกำลังไว้รักษาความสงบวันที่ 11 ม.ค.แล้วประมาณ 5,000 นาย พร้อมเตรียมอุปกรณ์ปราบจลาจลตามหลักสากลไว้ ทั้งรถน้ำและแก๊สน้ำตา

ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี พูดถึงบ้านพักบนเขายายเที่ยง โดยยืนยันว่า พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย หากอัยการสูงสุดมีมติอย่างไร จะดำเนินการตามกฎหมาย ขณะที่นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลง(8 ม.ค.)ว่า อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเขต 3 มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี พล.อ.สุรยุทธ์ กับพวกรวม 3 คน บุกรุกเขายายเที่ยง ตามพนักงานสอบสวนไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2552 และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเห็นชอบกับอัยการไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ดังนั้นคดีจึงเสร็จเด็ดขาดแล้ว เนื่องจาก พล.อ.สุรยุทธ์ขาดเจตนาทำผิด จึงมีเพียงการครอบครองที่ดินที่ผิดเงื่อนไขตามมติ ครม.เมื่อปี 2518 เท่านั้น และว่า เรื่องนี้อัยการจังหวัดสีคิ้วได้มีหนังสือแจ้งให้ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 ดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม.ดังกล่าวแล้ว “หนังสือที่อัยการแจ้งให้ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรนั้น เพียงแต่ให้ดำเนินการตามมติ ครม.ที่ให้นำที่ดินคืนแก่ผู้ครอบครองหรือทายาทผู้ครอบครองที่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์เท่านั้น ส่วนกรมป่าไม้จะดำเนินการเอาที่ดินคืนจาก พล.อ.สุรยุทธ์หรือไม่อย่างไร เป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้ที่จะดำเนินการ อัยการไม่มีอำนาจหน้าที่ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ละเว้นไม่ดำเนินการให้การครอบครองที่ดินเป็นไปตามเงื่อนไขมติ ครม.ปี 2518 ก็น่าคิดว่าอาจจะเป็นความผิดละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน”

ด้าน พล.อ.นินนาท เบี้ยวไข่มุก ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และนายทหารใกล้ชิด พล.อ.สุรยุทธ์ พูดถึงกรณีมีการเรียกร้องให้ พล.อ.สุรยุทธ์คืนพื้นที่เขายายเที่ยงที่ถือสิทธิอยู่ว่า ต้องไปดูคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด ซึ่งวินิจฉัยว่า คนที่ 1 ไม่ผิด คนที่ 2 ก็ไม่ผิด และคนที่ 3 คือ พล.อ.สุรยุทธ์ก็ไม่ผิด ซึ่งคำวินิจฉัยระบุว่า พล.อ.สุรยุทธ์ไม่ใช่เจ้าของ แต่เป็นเรื่องของกรมป่าไม้ที่ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่าจะต้องทำอย่างไร “หากมีมติให้คืน ต้องเรียกคืนจากทุกคนที่อยู่ข้างบนซึ่งมีเป็นร้อย แล้วกรณีเดียวกันอีกเป็นแสนคนทั่วประเทศ ก็ต้องเรียกคืนหมด ขณะนี้ต้องรอคณะกรรมการที่กำลังจะตั้งมาพิจารณาว่ามีมติอย่างไร คงไม่ใช่ทำเฉพาะกรณีของ พล.อ.สุรยุทธ์เพียงคนเดียว”

3. “พันธมิตรฯ” ขู่ ชุมนุมต้าน หากนำ รธน. 2540 กลับมาใช้ ด้าน “เพื่อไทย” ยุพรรคร่วมฯ เปลี่ยนขั้ว!

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลงท่าทีคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(5 ม.ค.)
ความคืบหน้ากรณีพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาพยายามเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา คือ มาตรา 190 กรณีที่สนธิสัญญาระหว่างประเทศต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน และมาตรา 94 เรื่องเขตเลือกตั้ง ซึ่งพรรคร่วมฯ ต้องการให้แก้ไขจากเขตใหญ่เรียงเบอร์ เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว โดยนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ในฐานะแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่แก้ รธน. พรรคชาติไทยพัฒนาอาจจะไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อให้มีการแก้ไข รธน.นั้น

ปรากฏว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ยืนยันเช่นกันว่า รธน.2550 ต้องมีการแก้ไข และเป็นเรื่องที่ผู้นำรัฐบาลต้องดำเนินการ ผู้สื่อข่าวถามว่า นายบรรหารบอกว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่แก้ รธน.ตามที่สัญญาไว้ พรรคชาติไทยพัฒนาอาจเปลี่ยนขั้วทางการเมือง นายชวรัตน์ บอกว่า ยังไม่ได้คิดอะไร แต่ในทางการเมือง อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เมื่อถามว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่แก้ รธน.พรรคภูมิใจไทยอาจย้ายขั้วไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย นายชวรัตน์ บอกว่า “เป็นไปได้ ถ้ามีความจำเป็น”

ทั้งนี้ คำพูดของแกนนำพรรคภูมิใจไทยและแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เพียงถูกตีความว่าเป็นคำขู่จากพรรคร่วมรัฐบาลถึงพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยังทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยสบช่องชวนพรรคร่วมรัฐบาลให้ร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยในการนำ รธน.2540 กลับมาใช้ด้วย โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย บอกว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีแนวคิดที่จะแก้ รธน.2550 และนำ รธน.2540 กลับมาใช้ ซึ่งตรงกับแนวคิดของพรรคเพื่อไทย “เมื่อผมได้ยินว่าพี่บรรหารมีแนวคิดที่จะแก้ไข รธน.ที่ตรงกับพรรคเพื่อไทย ผมก็จะไปคุยในนามส่วนตัวกับคุณสมศักดิ์ (ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย และแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา) และพี่บรรหาร หลังเสร็จการเลือกตั้งซ่อม จ.มหาสารคาม และ จ.ปราจีนบุรีในวันที่ 10 ม.ค. โดยได้โทรศัพท์คุยกับนายสมศักดิ์เบื้องต้นไปแล้ว”

ขณะที่นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ออกมาตอกย้ำว่า สถานการณ์ขณะนี้ เลยจุดที่จะแก้ รธน.แล้ว ควรนำ รธน.2540 กลับมาใช้มากกว่า “ตอนนี้สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปแล้ว คืออาจไม่เอา 2 ประเด็น(ของพรรคร่วมรัฐบาล) หรือ 6 ประเด็น(ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ)ด้วยซ้ำ ดีไม่ดีอาจเอา รธน.2540 มาแก้ไขเลยก็ได้ ซึ่งมีทางเป็นไปสามแบบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่นำเสนอเข้าสภา”

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีมีการเสนอให้นำ รธน.2540 กลับมาใช้ว่า “หากใช้หมดทุกมาตรา ก็จะสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของมวลชนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งผลจาก รธน.คือ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องติดคุก รวมทั้งได้ทรัพย์สินและสถานภาพทางการเมืองกลับมาทั้งหมด นี่ก็เป็นอีกมุขหนึ่งอีกรูปแบบหนึ่งของข้อเรียกร้อง พรรคร่วมรัฐบาลต้องคิดให้มาก”

ด้านแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เปิดแถลง(5 ม.ค.) พร้อมออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ รธน.2550 ใน 3 ประเด็น คือ คัดค้านการแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจและโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คัดค้านการฟอกความผิดให้กับนักการเมืองและพวก และคัดค้านการแก้ รธน.ที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนักการเมืองกันเอง ทั้งนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ชี้ว่า การแก้ รธน.2550 หรือพยายามนำ รธน.2540 กลับมาใช้ เป็นการทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหาย เพราะ รธน.2550 ไม่มีความผิด ทำไมนักการเมืองไม่แก้ไขตัวเอง ทำไมจะต้องแก้ไข รธน.เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ด้านนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ย้ำว่า หากมีการนำ รธน.2540 กลับมาใช้ พันธมิตรฯ จะออกมาชุมนุมคัดค้านทันที

ทั้งนี้ หลังพันธมิตรฯ ขู่ชุมนุมหากมีการนำ รธน.2540 กลับมาใช้ ปรากฏว่า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย และแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา รีบออกมาปฏิเสธว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่ได้ต้องการให้มีการนำ รธน.2540 กลับมาใช้ และยังไม่ได้รับนัด ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด “ท่านบรรหารก็พูดก็หารือกันว่าคงเป็นไปได้ยาก หากจะนำ ฉบับปี 2540 กลับคืนมาในตอนนี้ เพราะอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ตอนนี้บ้านเมืองก็ช้ำพอแล้ว และเป็นชนวนที่ทำให้คนในชาติแตกแยกซึ่งเป็นอันตราย ขอให้เอา 2 ประเด็นที่แก้ไขในตอนนี้ก่อน”

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม ที่เคยบอกว่ากำลังนัดหารือกับนายบรรหารเรื่องนำ รธน.2540 กลับมาใช้ ก็ออกอาการพลิ้วโดยพูดใหม่(5 ม.ค.)ว่า ที่ต้องการคุยกับนายบรรหารนั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องแก้ รธน.เพราะเป็นคนเสนอมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.6 ประเด็น และว่า การจะไปพบนายบรรหารเพื่อพูดคุยกันตามประสาคนชอบพอกัน เหมือนกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ก็ชอบพอกัน จะไปคุยกันว่า บ้านเมืองเป็นอย่างนี้แล้วจะอยู่กันยังไง จะไปร่วมหัวจมท้ายกับรัฐบาลไหวเหรอ แต่ไม่ใช่การไปชวนให้ย้ายขั้วย้ายข้าง

ด้านนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งล่าสุดได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ออกมายืนยัน(8 ม.ค.)ว่า หากนำ รธน.2540 กลับคืนมาตอนนี้คงทำงานลำบากและไม่สำเร็จ ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยให้นำ รธน.2540 กลับมา พรรคชาติไทยพัฒนาคงไม่เอาด้วย

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอให้แก้ รธน.2 มาตรา คือ มาตรา 190 และมาตรา 94 เรื่องเขตเลือกตั้งว่า สำหรับมาตรา 190 ไม่มีปัญหา แต่สำหรับมาตรา 94 ที่เกี่ยวกับระบบเขตเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์จะนำไปหารือระหว่างการสัมมนาพรรคที่ จ.กระบี่ ระหว่างวันที่ 22-24 ม.ค.หรือจะหาข้อสรุปในที่ประชุม ส.ส.พรรควันใดวันหนึ่งก่อนเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 21 ม.ค. หาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าชื่อให้มีการแก้ รธน.ด้วย จะได้ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน

4. “อภิสิทธิ์” เตรียมจี้ “สุเทพ” สั่ง “ก.ตร.” เลิกมติอุ้ม ตร.ฆ่า ปชช. เหตุ ป.ป.ช.ชี้มูลโดยชอบแล้ว!
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธาน ก.ตร.
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2552 ให้ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กรณีที่ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ,พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ว่าผิดอาญาและผิดวินัยร้ายแรงกรณีปล่อยให้มีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี ว่าผิดอาญาและผิดวินัยร้ายแรง กรณีปล่อยให้กลุ่มเสื้อแดงทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ จนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากที่ จ.อุดรธานี โดยที่ประชุม ก.ตร.มีมติว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ,พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ไม่มีความผิดตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ไม่สมควรลงโทษให้ออกจากราชการ พร้อมสรุปว่า ป.ป.ช.ชี้มูลไม่ชอบ ที่ประชุม ก.ตร.จึงมีมติให้ทำหนังสือถึงนายกฯ เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจการชี้มูลกรณีดังกล่าวของ ป.ป.ช.

ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า มติของ ก.ตร.เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะที่ผ่านมาเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2546 ที่ยืนยันอำนาจของ ป.ป.ช.ในการชี้มูลความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ดังนั้นคำสั่งของ ป.ป.ช.จึงชอบแล้ว นายวิชา ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เคยทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และได้รับคำยืนยันว่า ครม.ไม่อยู่ในสถานะที่จะขัดหรือแย้งต่อคำสั่งของ ป.ป.ช.ได้ เพราะ ป.ป.ช.มีอำนาจตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่า พ.ร.บ.ทั่วไป และได้มีการนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบแล้ว แต่เหตุใดจึงไม่มีการแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ ก.ตร.ทราบ นายวิชา เผยด้วยว่า ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เพื่อสอบถามว่าเหตุใดจึงไม่ยอมนำมติคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ระบุว่า หากหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. จะต้องถูกดำเนินคดีทางวินัยและอาญา ขอยืนยันว่า ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลความผิดของตำรวจทั้งสามนายอย่างรอบคอบแล้ว มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด ไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นตำรวจสีแดงหรือสีเหลือง แต่พิจารณาจากข้อกฎหมายล้วนๆ

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธาน ก.ตร. ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับมติ ก.ตร.มากกว่ามติ ป.ป.ช. โดยพูดถึงกรณีที่ ก.ตร.มีมติว่าตำรวจทั้งสามนายไม่ได้ทำผิดตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องดำเนินการตามขั้นตอน โดยกรณีของ พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ให้กลับเข้ารับราชการได้เลยตามที่ที่ประชุม ก.ตร.มีมติ ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท ต้องเสนอเรื่องมาที่นายอภิสิทธิ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดที่สั่งการให้ลงโทษ ซึ่งนายกฯ จะวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นเรื่องของนายกฯ ผู้สื่อข่าวถามว่า อย่างนี้จะเป็นการย้อนรอยไม่เคารพมติของ ป.ป.ช.ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นมติเด็ดขาดไปแล้วหรือไม่ นายสุเทพ บอกว่า หาก 2 หน่วยงานมีความขัดแย้งกัน นายกฯ อาจนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. และถ้าเห็นว่า 2 หน่วยงานที่ถือกฎหมายคนละฉบับอาจจะมีปัญหาขัดแย้งกัน รัฐบาลก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไปแล้ว นายสุเทพ บอกว่า ตนไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในกรณีเดียวกันหรือไม่

ด้านนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.บอกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.คงต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในคณะกรรมการชุดใหญ่ในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาว่ามติ ก.ตร.ดังกล่าวให้เหตุผลว่าอย่างไร แต่ตามกฎหมายแล้ว มติ ก.ตร.ไม่สามารถหักล้างมติของ ป.ป.ช.ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยยืนยันแล้วว่า ป.ป.ช.มีอำนาจเด็ดขาดในการชี้มูลความผิด

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันเช่นกัน(10 ม.ค.)ว่า ฝ่ายบริหารหรือ ก.ตร.ไม่มีอำนาจไปกลับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ที่ให้ไล่ออก พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ แต่ทำได้เพียงขออุทธรณ์จากไล่ออกเป็นปลดออก และว่า องค์กรที่มีอำนาจกลับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ก็คือ ศาลปกครอง เพราะเป็นองค์กรอิสระเหมือนกัน ซึ่งนายตำรวจทั้งสามสามารถขอความเป็นธรรมจากศาลปกครองได้ นายอภิสิทธิ์ บอกด้วยว่า หลังทราบมติ ก.ตร. ตนได้ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยค้นข้อกฎหมาย ซึ่งพบว่า เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ว่า การอุทธรณ์ตามกฎหมายบริหารงานบุคคล จะอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการสั่งลงโทษเท่านั้น เช่น กรณีมีการลงโทษไล่ออก อาจจะอุทธรณ์ให้ปลดออกได้ จะไปกลับข้อเท็จจริงหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ไม่ได้ ซึ่งตนจะแจ้งความเห็นดังกล่าวให้นายสุเทพ ในฐานะประธาน ก.ตร.ทราบในวันพรุ่งนี้(11 ม.ค.) “คงต้องแจ้งให้ท่านรองนายกฯ (สุเทพ) แจ้ง ก.ตร.ไปทบทวนเรื่องนี้ เพราะจะขัดกับ รธน. และเคยมีคำวินิจฉัยเรื่องทำนองนี้ไปแล้วกรณีอดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่เคยทำแบบเดียวกัน คือ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมา ก.พ.ลงโทษ แล้วไปอุทธรณ์ แต่กลับเกินเลยไปก้าวล่วงดุลพินิจของ ป.ป.ช. เมื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทางศาลบอกว่า ไม่มีอำนาจทำเช่นนั้นได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น