xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 พ.ย.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียน ก่อนลอยพระประทีป ณ ท่าน้ำศิริราช(2 พ.ย.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ในหลวง-พระราชินี” เสด็จฯ ลอยกระทง ณ ท่าน้ำศิริราช ด้านพสกนิกรปลื้มปีติ - กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่!

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. เวลา 18.55น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ จากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นที่ประทับรักษาพระอาการประชวร ไปยังท่าน้ำศิริราชเพื่อทรงลอยพระประทีปเนื่องในเทศกาลลอยกระทง ซึ่งแม้จะเป็นการเสด็จฯ ส่วนพระองค์ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สื่อมวลชนรายงานข่าวและเผยแพร่ภาพการลอยพระประทีปครั้งนี้ได้

โดยก่อนเสด็จฯ ถึงท่าน้ำศิริราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำพวงมาลัยถวายสักการะพระพุทธรูปเมตตาคุณากร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำท่าน้ำศิริราชโรงพยาบาลศิริราช จากนั้นได้เสด็จฯ ยังมุกของท่าน้ำ เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้นำพระประทีปซึ่งทำจากขนมปังทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียน แล้วทรงพนมพระหัตถ์และอธิษฐาน ขณะเดียวกันสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนที่เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังทูลเกล้าฯ ถวายเช่นกัน เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้นำพระประทีปของทั้งสองพระองค์ไปลอยในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์จึงเสด็จฯ ยังท่าน้ำเพื่อลอยพระประทีปที่ได้จัดเตรียมไว้เช่นกัน ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรพระโอรสพระธิดาทรงลอยพระประทีปด้วยพระพักตร์แจ่มใส และหลังจากทรงลอยพระประทีปแล้ว ทุกพระองค์ประทับต่อเพื่อทอดพระเนตรวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้เวลา 20 นาทีก่อนเสด็จฯ กลับ

ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พสกนิกรเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างใกล้ชิด ทรงโบกพระหัตถ์พร้อมกับทรงยกกล้องขึ้นฉายพระรูปประชาชนที่มารอเฝ้ารับเสด็จ ขณะที่ประชาชนต่างเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” พร้อมก้มลงกราบแทบฝ่าพระบาท บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เมื่อได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2. รบ.ไทย สุดทน ประกาศลดความสัมพันธ์ “กัมพูชา” หลัง “ฮุน เซน” ตั้ง “ทักษิณ” เป็นที่ปรึกษา!

นายบัวสอน บุปผาวัน นายกฯ ลาว กวักมือเรียกสมเด็จฯ ฮุน เซนให้มาถ่ายรูปร่วมกันระหว่างประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงที่ประเทศญี่ปุ่น(6 พ.ย.)  ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนตรงกลาง
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ทางการกัมพูชาได้ออกประกาศแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีจำคุก 2 ปีที่ไทยกำลังต้องการตัว ให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาและเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยของกษัตริย์นโรดม สีหมุนี ของกัมพูชา นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังออกแถลงการณ์ยืนยัน จะไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณให้ไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนด้วย โดยอ้างว่า คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคดีที่มาจากแรงจูงใจทางการเมือง และว่า กัมพูชาจะไม่ยอมเนรเทศ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าหาก พ.ต.ท.ทักษิณตัดสินใจที่จะมาพำนักอยู่ในกัมพูชา หรือเดินทางเข้ามาหรือออกไปจากกัมพูชา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณได้รับมอบหมาย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่รัฐบาลกัมพูชาประกาศแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฯ ฮุน เซน ครั้งนี้ มีขึ้นหลังจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปพบหารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน เมื่อวันที่ 21 ต.ค. จากนั้นสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้ออกมาส่งสัญญาณช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยการเตรียมบ้านไว้รอให้ พ.ต.ท.ทักษิณมาอยู่ พร้อมแสดงความเห็นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีแผ่นดินอยู่ ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง ไม่เท่านั้น เมื่อสมเด็จฯ ฮุน เซน เดินทางมาไทยเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อวันที่ 23 ต.ค. สมเด็จฯ ฮุน เซน ก็ยังประกาศว่าได้เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณให้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของตน พร้อมยืนยันหาก พ.ต.ท.ทักษิณมาอยู่กัมพูชา จะไม่ส่งตัวให้ไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย จึงได้พูดเตือนสติให้สมเด็จฯ ฮุน เซน คิดให้ดี จะตัดสินใจในสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของคนทั้งสองชาติเพื่ออะไร อย่าเป็นเหยื่อหรือเบี้ยให้ใครเลย แต่ในที่สุด สมเด็จฯ ฮุน เซน และทางการกัมพูชาก็ไม่ฟังคำเตือนโดยออกประกาศแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวของตนเมื่อวันที่ 4 พ.ย.

ส่งผลให้วันต่อมา(5 พ.ย.) รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบโต้การกระทำของกัมพูชาด้วยการเปิดแถลงพร้อมออกแถลงการณ์เรียกนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ กลับประเทศ ซึ่งถือเป็นการตอบโต้ทางการทูตด้วยการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตลง โดยให้เหตุผลในการตอบโต้กัมพูชา 5 ข้อ 1.รัฐบาลไทยได้ชี้แจงรัฐบาลกัมพูชาไปแล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ต้องอยู่เหนือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล 2.การดำเนินการของฝ่ายกัมพูชาต่อ พ.ต.ท.ทักษิณถือว่าไม่สามารถแยกแยะออกจากความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศได้ และกระทบต่อความรู้สึกของคนไทยทั้งชาติ 3.การตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวนายกฯ กัมพูชา ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทยและเป็นการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของไทย รวมทั้งทำให้ความสัมพันธ์และผลประโยชน์ส่วนบุคคลอยู่เหนือความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ 4.การดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ก็เพื่อให้กัมพูชารับรู้ถึงความไม่พอใจของประชาชนไทยทั้งปวง 5.การดำเนินการของรัฐบาลกัมพูชา ทำให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทบทวนสถานะความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาด้วยการเรียกเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญกลับ และจะมีการทบทวนพันธกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งทบทวนความร่วมมือที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการกับกัมพูชา ซึ่งการทบทวนนี้รัฐบาลไทยกระทำด้วยความจำใจ...

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันความจำเป็นที่กระทรวงการต่างประเทศต้องตอบโต้ทางการทูตต่อกัมพูชา แต่จะไม่ให้กระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เพราะเชื่อว่าชาวไทยและชาวกัมพูชาต้องการที่จะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน แต่เมื่อรัฐบาลกัมพูชามาทำในสิ่งที่เป็นปัญหาก็จะเป็นการตอบโต้ในส่วนของรัฐบาล

ขณะที่นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล เผยว่า ก่อนที่จะมีการลดระดับความสัมพันธ์ของไทยต่อกัมพูชาครั้งนี้ นายกฯ ได้หารือกับฝ่ายความมั่นคงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ,นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ,พล.อ.ประวิตร วงษ์ สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม ,พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก รวมทั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนายทหารระดับเสนาธิการ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังไทยตอบโต้กัมพูชาด้วยการเรียกทูตไทยในกัมพูชากลับประเทศ รัฐบาลกัมพูชาก็สวนกลับไทยด้วยการเรียกทูตกัมพูชาในไทย(นางยู ออย)กลับประเทศเช่นกัน โดยบอกว่าเป็นการเรียกกลับชั่วคราว และจะให้ทูตกัมพูชาเดินทางกลับมาไทยอีก เมื่อทางการไทยส่งทูตไทยกลับกัมพูชาเท่านั้น

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทวิตข้อความผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์หลังกระทรวงการต่างประเทศเรียกทูตไทยในกัมพูชากลับประเทศ โดยแขวะรัฐบาลว่า “ทำไมเด็กจัง over react ไป?” พ.ต.ท.ทักษิณยังขอบคุณที่สมเด็จฯ ฮุน เซน แต่งตั้งให้ตนเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฯ ฮุน เซนด้วย “ขอบคุณท่านฮุน เซน เพิ่งส่งสำเนาที่ King สีหมุนี ทรงโปรดเกล้าฯมาให้ผมก็นับเป็นเกียรติ แต่คงไม่สนุกเหมือนลงมือทำเองให้คนไทยหายจน ...ผมขออนุญาตพี่น้องคนไทยไปให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจกับรัฐบาลกัมพูชาตามที่โปรดเกล้าจาก King สีหมุนีไปพลาง ก่อนที่จะมีโอกาสได้มารับใช้พี่น้องใหม่” พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ออกแถลงการณ์ด้วยเมื่อวันที่ 6 พ.ย.โดยโจมตีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ตอบโต้รัฐบาลกัมพูชาว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ใช้อารมณ์และขาดสติยั้งคิด ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเสื่อมทรามลง “รัฐบาลนายอภิสิทธิ์กำลังนำปัญหาการเมืองไปกดดันประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขจัดผม ซึ่งนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์คิดว่าเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง โดยเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวประกัน” พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันด้วยว่า การให้คำปรึกษาทางเศรษฐกิจแก่รัฐบาลกัมพูชานั้น ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่มีวาระแอบแฝง และเป็นการช่วยประเทศไทยทางตรงและทางอ้อม

ด้านเอแบคโพลล์ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนหลังรัฐบาลดำเนินการตอบโต้ทางการทูตกัมพูชาด้วยการลดระดับความสัมพันธ์ หลังสมเด็จฯ ฮุน เซน ตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา โดยผลสำรวจพบว่า คะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 3 เท่าตัว จากร้อยละ 23.3 ในเดือน ก.ย. มาอยู่ที่ร้อยละ 68.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด ขณะที่เสียงที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมีอยู่ร้อยละ 21.1 ส่วนอีกร้อยละ 10.3 ยังคงขออยู่ตรงกลาง

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ พูดถึงกรณีที่รัฐบาลไทยได้ประกาศท่าทีทบทวนพันธกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายกัมพูชาว่า ขณะนี้(6 พ.ย.) กระทรวงการต่างประเทศทบทวนแล้ว 1 เรื่อง คือ บันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อน ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.2544 ซึ่งทำในสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยจะนำเสนอ ครม.พิจารณาแจ้งการบอกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าวกับฝ่ายกัมพูชาในวันที่ 10 พ.ย.นี้

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เผยเหตุที่กระทรวงฯ ต้องทบทวนเอ็มโอยูดังกล่าว เนื่องจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้บริหารประเทศขณะที่ทำเอ็มโอยู ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับทราบแนวทางการเจรจา ท่าที และความลับที่มีอยู่ในขณะนั้น และขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับกัมพูชาแล้ว อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์อย่างสำคัญ รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว ส่วนเอ็มโอยูอื่นๆ ที่ไทยทำกับกัมพูชาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ อาจมีการพิจารณายกเลิกอีกในอนาคต รวมถึงการทบทวนความร่วมมือต่างๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่รัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือรัฐบาลกัมพูชาต่อไป เช่น โครงการก่อสร้างถนนสาย 48 มูลค่า 1.4 พันล้านบาทที่ ครม.อนุมัติกรอบการก่อสร้างไปแล้ว สัปดาห์หน้าคงทราบว่าจะสามารถชะลอข้อตกลงใดได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกัมพูชาได้ออกมาอ้างว่า ไทยไม่สามารถยกเลิกเอ็มโอยูฝ่ายเดียวได้ โดยนายวา คิมฮง ผู้แทนเจรจาเรื่องเขตแดนกัมพูชา บอกว่า “ผมไม่เห็นว่ามีข้อไหนหรือประโยคไหนที่ยินยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกเลิกเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวได้ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องปฏิบัติตามเอ็มโอยูจนกว่าจะพบหนทางแก้ปัญหาในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างสิทธิ”

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ก็ยืนยันความจำเป็นที่ไทยต้องตอบโต้ทางการทูตต่อกัมพูชาเพราะก้าวล่วงกิจการภายในของไทย โดยเฉพาะการไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณให้ไทย โดยให้เหตุผลว่าถูกเล่นงานทางการเมือง ทั้งที่ได้เคยชี้แจงสมเด็จฯ ฮุน เซนตั้งแต่ต้นแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณหนีคดีอาญา ส่วนการลดระดับความสัมพันธ์กับกัมพูชาจะยืดเยื้อแค่ไหนนั้น นายสุเทพ บอกว่า ขึ้นอยู่กับฝ่ายกัมพูชาว่าจะคิดได้หรือไม่ ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะออกมาตรการตอบโต้กัมพูชาเพิ่มเติมถึงขั้นปิดด่านชายแดนหรือไม่ นายสุเทพ บอกว่า “ต้องดูท่าที ถ้ากัมพูชาแข็งกร้าว โต้ตอบมาแบบไม่ประนีประนอม ระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ต้องลดไปเรื่อยๆ อาจถึงขั้นต้องปิดด่านชายแดน แต่ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การเปิดศึก การยิงกันกับการปิดด่านถือเป็นคนละเรื่องกัน อย่าไปคิดเรื่องนี้สนุกตามอารมณ์ ไอ้เรื่องรบนั่นไม่ใช่เรื่องยาก แต่รบกันมันมีคนเจ็บคนตาย ซึ่งเป็นทหาร เป็นชาวบ้านที่ถูกลูกหลง เป็นญาติพี่น้องเราทั้งนั้น ดังนั้น เรื่องสงครามต้องหยุดไว้ ต้องใช้วิธีอื่นไปก่อน”

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์กรณีสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา จนนำมาสู่ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างไทย-กัมพูชาว่า อยากตั้งข้อสังเกตว่า การตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นการตอบแทนบุญคุณของสมเด็จฯ ฮุน เซน ที่กลุ่มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงกรณีของพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักไทยช่วยเหลือ โดยเฉพาะในตอนเลือกตั้งกัมพูชา หรือพูดง่ายๆ ว่า ตอนนั้นยอมสละประโยชน์ของประเทศไทยให้ ดังนั้นความเป็นบุญคุณตรงนี้คงทำให้สมเด็จฯ ฮุน เซน นึกถึงและเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น

ด้านแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เปิดแถลง(6 พ.ย.) พร้อมออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของสมเด็จฯ ฮุน เซน ที่ใช้เล่ห์เพทุบายเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย และย่ำยีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเจตนาให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาด้วยการโปรดเกล้าฯ จากกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมกันนี้ขอประณาม พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนการรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา ถือว่าการกระทำอุบาทว์เช่นนี้ เป็นการสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติในการชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน ทำตัวเป็นผู้ทรยศต่อชาติ ทำให้เกิดความแตกแยกกับประเทศเพื่อนบ้าน และยังใช้สถาบันกษัตริย์ชาติอื่นมาทำลายความศักดิ์สิทธิ์และเกียรติภูมิของศาลฎีกาที่กระทำในพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างไร้จริยธรรม “เมื่อทักษิณหลบหนีจากราชอาณาจักรไทยด้วยคำพิพากษาของศาลในพระปรมาภิไธย แต่ตัดสินใจรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาด้วยการโปรดเกล้าฯ จากกษัตริย์กัมพูชา จึงต้องถือว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทักษิณเลือกเป็นข้าในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรกัมพูชาแล้ว”

3. “มานิต”ส่อพ้น รมต.หลัง “กกต.” ชี้ ถือหุ้นขัด รธน. ด้าน “เจ้าตัว” น้อมรับ แต่ ไม่ลาออก!
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้พิจารณารายงานของอนุกรรมการไต่สวนที่ตรวจสอบการถือหุ้นของ ส.ส.61 คนว่าเข้าข่ายถือหุ้นในกิจการสื่อและถือหุ้นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐในลักษณะผูกขาดตัดตอน อันเป็นลักษณะต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 48 ประกอบมาตรา 265(2) และ (4) หรือไม่ ซึ่งหากเข้าข่ายอาจเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตาม รธน.มาตรา 106(6)

ทั้งนี้ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.เผยว่า ในบรรดา ส.ส.61 คนที่ถูกร้องให้ตรวจสอบนั้น มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลด้วย 4 คน คือ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ,พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ,นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า นายมานิตเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ถือหุ้นต้องห้ามจนถึงวันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 20 ธ.ค.2551 โดยนายมานิตถือหุ้นในบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) 500 หุ้น ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2545-7 ต.ค.2552 และถือหุ้นในบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.2547 จำนวน 4 ล้านหุ้น และได้ขายออกไป 17 ครั้ง โดยขายครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2551 ซึ่งที่ประชุม กกต.ได้มีมติเสียงข้างมากเห็นตามอนุกรรมการที่เสนอความเห็นว่า การถือครองหุ้นดังกล่าวของนายมานิตเข้าลักษณะต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 267 อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 182(7) ต่อไป

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม กกต.เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ได้มีมติให้นายมานิต ซึ่งเป็น ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย สิ้นสุดความเป็น ส.ส.ด้วย เพราะถือหุ้นในกิจการสื่อ อันเป็นการกระทำต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 48 ประกอบมาตรา 265(2) และ (4)

ด้านนายมานิต ยังไม่ยอมชี้แจงรายละเอียดใดใด โดยบอกว่าขอดูรายละเอียดคำวินิจฉัยของ กกต.อีกครั้ง และว่า กฎหมายทุกฉบับเกิดจากเจตนาดีทั้งหมด ต้องน้อมรับ เพียงแต่ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องระวังมากขึ้น การพิจารณาเรื่องต่างๆ ต้องละเอียดรอบคอบมากขึ้น เมื่อถามว่า จะแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ นายมานิต บอกว่า อยากทำให้เป็นบรรทัดฐานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ทราบถึงกระบวนการ ขั้นตอนที่จะต้องกระทำ หากทำใบซื้อขายหุ้นหาย เพราะกรณีเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นกับคนอื่นได้เช่นกัน ส่วนจะส่งผลให้มีการปรับตนพ้น ครม.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ใหญ่ในพรรคภูมิใจไทย

ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกว่า ระหว่างนี้ นายมานิตจะยังคงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป แต่จะต้องเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค หากที่ประชุมเห็นว่านายมานิตควรอยู่ในตำแหน่งต่อ ก็ให้อยู่ต่อไป แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเห็นตาม กกต.ก็จะให้นายมานิตกลับมารับตำแหน่งอีกครั้งเหมือนกรณีนายไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข หากที่ประชุมพรรคเห็นว่านายมานิตมีความผิด นายมานิตไม่สามารถที่จะอยู่ในตำแหน่งได้ ก็จะต้องมีการปรับ ครม. “แต่ส่วนตัวเห็นว่า การตัดสินให้นายมานิตพ้นจากรัฐมนตรี เพราะถือหุ้นเพียง 500 บาท รุนแรงเกินไป เพราะไม่ใช่ว่ามีเจตนาจะทุจริต แต่เห็นนายมานิตชี้แจงว่า น่าจะเป็นหุ้นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นที่เคยถือไว้ทั้งหมด 500 หุ้น หุ้นละ 1 บาท และเอกสารก็หาย และได้มีการแจ้งความไว้แล้ว ดังนั้น หากหุ้นเพียงแค่ 500 บาทกับตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นการตัดสินที่ไม่สมเหตุสมผล แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย ต้องทำตาม เพราะไม่มีข้อไหนเขียนว่าให้อภัยกันได้ แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม และเรื่องแบบนี้ทุกคนมีโอกาสพลาดได้”

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกรัฐบาล ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลง(4 พ.ย.)ว่า คณะกรรมการบริหารพรรคหารือกรณีนายมานิตอย่างไม่เป็นทางการ โดยเห็นว่านายมานิตไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่ของพรรค ก็เห็นทำนองเดียวกัน เพราะยังมีสิทธิต่อสู้ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้กรรมการบริหารพรรคยังเห็นว่า ที่ผ่านมานายมานิตปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขได้อย่างดียิ่ง ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี แต่ถ้าพรรคตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่านายมานิตดำรงตำแหน่งได้ ก็จะเชิญกลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง “กรณีนี้เป็นเรื่องคุณสมบัติ ถ้าไปทำทุกอย่างให้ถูกต้องตาม รธน. ก็มีสิทธิจะเป็นรัฐมนตรีต่อไปได้ ไม่ใช่เรื่องความประพฤติไม่เหมาะสม หรือทำหน้าที่รัฐมนตรีไม่ได้ จึงถือว่ามีความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐมนตรีต่อไป”

4. “ราเกซ” ยังไม่ซัดทอดนักการเมืองเอี่ยวคดีบีบีซี ขณะที่ “ภท.”ยัน “เนวิน” ไม่เกี่ยว!

นายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหายักยอกทรัพย์บีบีซี
ความคืบหน้ากรณีนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ หรือบีบีซี ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ ที่ศาลสูงของแคนาดาปฏิเสธคำอุทธรณ์ของนายราเกซที่ร้องคัดค้านคำสั่งของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมแคนาดาที่ให้ส่งตัวตนกลับมาให้ไทยดำเนินคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แคนาดา ส่งผลให้นายราเกซถูกส่งตัวให้ไทยตามที่ร้องขอ หลังใช้กระบวนการพิจารณายาวนานถึง 13 ปี โดยเมื่อนายราเกซ ซึ่งป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์เดินทางมาถึงไทย(30 ต.ค.) ได้ถูกนำตัวไปสอบปากคำที่กองปราบปราม ก่อนถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยให้อยู่ในสถานพยาบาลที่ทางเรือนจำจัดไว้ให้ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้คุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงจะเกิดอันตรายนั้น นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เผยว่า “ได้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้คุมทุกคนที่เข้าเวรยามดูแลนายราเกซให้ทำตามระเบียบเรือนจำอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับนักโทษรายอื่นๆ ห้ามรับสินบนใดใดทั้งสิ้น หากพบจะดำเนินการทางวินัยทันที”

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พูดถึงความปลอดภัยของครอบครัวและญาตินายราเกซที่มาอยู่เมืองไทยเพื่อช่วยเหลือในแง่คดีว่า นายราเกซยังไม่ขอรับความคุ้มครอง และยังไม่ให้การต่อเจ้าหน้าที่ และว่า นายราเกซเป็นผู้ต้องหาที่มีข้อมูลสำคัญ หากเกรงว่าครอบครัวและญาติจะตกอยู่ในอันตราย สามารถร้องขอดีเอสไอให้ไปดูแลความปลอดภัยได้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ไปถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ว่า กรณียักยอกทรัพย์บีบีซีส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ควรมีการขยายผลเรื่องนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า นี่คือเหตุผลที่ต้องดำเนินคดี และต้องดูต่อไปว่าไปเกี่ยวข้องอะไรกับใคร ถ้าเจ้าหน้าที่อยากได้ข้อมูลจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยใช้อภิปราย ยินดีให้ข้อมูลอย่างเต็มที่เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ เมื่อถามว่า ยินดีให้ข้อมูลแม้จะส่งผลกระทบต่อแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหรือ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า “ต้องให้ครับ ต้องยึดถือผลประโยชน์ของประเทศ”

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ในฐานะได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการควบคุมบีบีซีในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดในการดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำผิด ได้ออกมายืนยันว่านายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยคลังและนักการเมืองสมาชิกกลุ่ม 16 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวแต่อย่างใด โดยบอกว่า บุคคลที่ถูกดำเนินคดีในปัจจุบันล้วนแล้วแต่มีพฤติกรรมกระทำความผิด ส่วนบุคคลที่ไม่ถูกดำเนินคดีแปลว่า แม้บางคนเป็นลูกค้าบีบีซี แต่ไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วยก็ถูกดำเนินคดีทางแพ่งไปแล้ว ส่วนบางคนก็มาประนอมหนี้แต่ไม่มีความผิดทางอาญา ส่วนนายเนวิน แกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยคลังในขณะนั้น ไม่พบว่าเข้ามาเป็นลูกค้าหรือเข้ามาร่วมทุจริตแต่อย่างใด นายศุภชัย ยังยืนยันด้วยว่า “ที่มาพูดวันนี้ไม่ใช่เพราะตนอยู่กับนายเนวิน แต่เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ตนไม่ได้อยู่กับนายเนวินและดำเนินคดีกับทุกคน”

ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และบิดานายเนวิน ชิดชอบ ก็ออกมาป้องนายเนวินหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเกี่ยวข้องกับคดีบีบีซี โดยบอก “เนวินเป็นแค่ตัวแทนจ๊อกจ๋อยไม่มีบทบาทอะไร แค่อภิปรายในสภาเท่านั้น” เมื่อถามว่า ส่วนตัวเชื่อว่านายเนวินไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใช่หรือไม่ นายชัย บอกว่า “ไม่มี เพราะเรื่องกู้เงิน ผมก็ยังเคยกู้เลย แต่ใช้ไปหมดแล้ว”

ส่วนความคืบหน้าในแง่การดำเนินคดีนายราเกซฐานยักยอกทรัพย์บีบีซีนั้น เมื่อวันที่ 2 พ.ย. พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนายราเกซ ได้นำสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมซึ่งเป็นคำให้การปฏิเสธของนายราเกซที่เป็นภาษาอังกฤษ และคำแปลภาษาไทยของล่าม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ และผลรายงานจากแพทย์ผู้ตรวจอาการป่วยของนายราเกซที่ระบุว่านายราเกซมีสติและสุขภาพดี แต่มีอาการอ่อนล้าที่แขนและขาบ้างเล็กน้อย โดยสำนวนมีทั้งหมดประมาณ 90 แผ่น ส่งมอบให้นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร

ด้านนายเศกสรรค์ เผยว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบปากคำล่ามที่ทำการแปลคำให้การของนายราเกซว่าได้รับมอบหมายให้เป็นล่ามทำหน้าที่อย่างถูกต้องหรือไม่ จึงให้พนักงานสอบสวนไปสอบปากคำเจ้าหน้าที่ล่ามคนดังกล่าวด้วย และว่า ตนได้แต่งตั้งรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจ อัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจฯ และคณะรวม 5 คนเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาตรวจสอบรายละเอียดของคดีนี้ ซึ่งหลังจากตรวจสอบแล้ว พบข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวน 2 ประเด็น คือ การแปลเอกสารภาษาอังกฤษ และการแจ้งสิทธิต่อสู้คดีให้ผู้ต้องหาทราบ ซึ่งยังดำเนินการไม่ครบถ้วน จึงประสานให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเพิ่มเติม

นายเศกสรรค์ ยังบอกด้วยว่า การยื่นฟ้องนายราเกซ ไม่จำเป็นต้องรอฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในส่วนของนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการบีบีซีกับพวก ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 10 ปี ปรับ 2,264 ล้านบาท ฐานปล่อยกู้เงิน 1,657 ล้านบาทโดยทุจริต ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ เพราะเป็นคนละส่วนกัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะฟ้องคดีนายราเกซในวันที่ 11 พ.ย.เช่นกัน หรืออย่างช้าไม่เกิน 1 เดือน ส่วนคดีทุจริตอีก 20 สำนวนที่นายราเกซเป็นผู้ต้องหานั้น ได้สรุปรายละเอียดให้อัยการสูงสุดทราบ เพื่อแจ้งรายละเอียดคดีเหล่านั้นให้ทางแคนาดารับทราบตามมารยาทของการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว พร้อมยืนยัน อัยการจะยื่นฟ้องนายราเกซทั้ง 20 คดีต่อไป จะไม่ปล่อยให้ขาดอายุความ

ทั้งนี้ มีสื่อของแคนาดาพูดถึงนายราเกซไว้อย่างน่าสนใจ โดยหนังสือพิมพ์ เดอะ แวนคูเวอร์ ซัน ได้นำเสนอบทความของนายเดวิด เบนส์ ที่ชี้ให้เห็นว่า นายราเกซฉกฉวยประโยชน์จากความโอบอ้อมอารีเกินควรในกระบวนการยุติธรรมแคนาดา ต่อสู้คดีในทุกๆ แง่มุมได้ยาวนานถึง 13 ปี 3 เดือน โดยทางการต้องใช้เงินภาษีใช้จ่ายเพื่อการนี้ไปหลายล้านดอลลาร์ แต่ตอบแทนด้วยการสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินของท้องถิ่น สมคบกับนักต้มตุ๋นและผู้ที่ละเมิดกฎหมายตลาดหลักทรัพย์หลอกขายหุ้นไร้ค่าให้กับนักลงทุนทั้งในแวนคูเวอร์และในต่างประเทศ จนมีคดีถูกฟ้องร้องรวม 36 คดี รวมถึงพยายามจะก่อรัฐประหารในเซียร์ราลีโอน ขณะที่เจ้าหน้าที่แคนาดาไม่พยายามทำอะไร เพราะเข้าใจว่าอีกไม่นานก็จะส่งตัวให้ทางการไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น