xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกยกชะตาชีวิตอดีตผู้นำจอมโกงก้องโลกสอน “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอบีเอส-ซีบีเอ็นนิวส์ - สื่อต่างชาติจัดทำบทความพิเศษกรณี “ทักษิณ” ถูกทางการอังกฤษยกเลิกวีซ่า และต้องระเหเรร่อนหาที่อยู่อาศัยใหม่ ยกชะตาชีวิตของอดีตผู้นำจอมคอร์รัปชันทั่วโลก เพื่อเป็นบทเรียนเตือนสติแก่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย

สำนักข่าวเอบีเอส-ซีบีเอ็น ของฟิลิปปินส์ รายงานบทความในหัวข้อ “Lessons for Thaksin from deposed leaders” มีเนื้อหาว่า หลังจากรัฐบาลอังกฤษ ยกเลิกวีซ่าของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ และพจมาน ภรรยา สื่อมวลชนรายงานต่างๆ นานา ว่า บ้านหลังต่อไปของทั้งสองคนจะเป็นหนแห่งใด
(ไฟล์ภาพ) ทักษิณสนิทสนมกับอาร์โรโย ผู้นำฟิลิปปินส์เมื่อปี2003 แต่เวลานี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัย
สื่อแดนตากาล็อก ระบุต่อมีรายงานว่า สองสามีภรรยา อาจตัดสินใจอยู่ในจีน โบลิเวีย และชาติในแอฟริกา หรือแม้แต่ในฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์ ยืนยันว่า ไม่ได้รับคำขอลี้ภัยจากอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้

เอบีเอส-ซีบีเอ็น ระบุว่า ทักษิณอาจพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะขอลี้ภัยในประเทศใดประเทศหนึ่ง สืบเนื่องจากสนธิสัญญาของโลกได้สร้างความลำบากมากขึ้นต่ออดีตผู้นำจอมโกงทั้งหลายที่เผชิญข้อกล่าวหาในบ้านเกิด และพยายามหาประเทศที่ยอมให้พวกเขาลี้ภัยทางการเมือง

ทั้งนี้ หนึ่งในสนธิสัญญาเหล่านั้น คือ อนุสัญญาองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชัน ซึ่งเนื้อหาเปิดช่องให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โยกย้ายบุคคลที่ต้องคำพิพากษาและกู้คืนทรัพย์สมบัติที่ถูกขโมยไป

สำนักข่าวของฟิลิปปินส์ ระบุต่อว่า ทักษิณหลบหนีไปอยู่ในอังกฤษ นับตั้งแต่ถูกขับไล่โดยรัฐประหารเมื่อปี 2006 เขาถูกพบว่ามีความผิดในข้อหาคอร์รัปชัน และถูกตัดสินจำคุก 2 ปี ในความผิดละเมิดกฎหมายผลประโยชน์ขัดแย้ง ขณะที่ภรรยาของเขาถูกพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษี

รายงานข่าวล่าสุด ระบุว่า ทักษิณกำลังเดินทางไปทั่วเอเชีย เหมือนกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ที่เผชิญข้อกล่าวหาในบ้านเกิด ซึ่งต้องขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศอื่น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้นำบางรายและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในประเทศบ้านเกิดและถูกส่งตัวกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนหรือถูกเนรเทศกลับไปยังประเทศของพวกเขาเพื่อเผชิญข้อกล่าวหา

Abs-cbnNews.com/Newsbreak ได้จัดทำรายชื่อของผู้นำและเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่รู้กันดี ที่ถูกส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิดหรือถูกคุมตัวอยู่ในสถานคุมขังของศาลระหว่างประเทศเพื่อเผชิญข้อกล่าวหาต่างๆ ดังนี้
อัลแบร์โต ฟูจิโมริ
อัลแบร์โต ฟูจิโมริ,เปรู
ฟูจิโมริได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัย 3 ในปี 2000 ท่ามกลางข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้ง เรื่องอื้อฉาวสินบนเกี่ยวกับอดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง วลาดิมิโร มอรเตซิโนบีบให้เขาต้องหนีไปอยู่ในญี่ปุ่น และอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 5 ปี

ในเดือนพฤศจิกายนปี 2005 เขาเดินทางไปยังชิลี แต่ถูกจับกุม เขาเผชิญข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องเหตุสังหารหมู่ 25 ศพ ดักฟังผิดกฎหมาย คุมขังสื่อมวลชน และนักธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงคอร์รัปชัน ทั้งนี้ ศาลฎีกาชิลีอนุมัติคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเปรู ซึ่งล่าสุดศาลเปรูอยู่ระหว่างพิจารณาคดี

ราโดวาน คาราดซิค,บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
คาคาดซิคประกาศตัวเองเป็นผู้นำของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ในปี 1992 เขากำลังเผชิญข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก เกี่ยวข้องกับเหตุสังหารหมู่ชาวมุสลิม 8,000 คนในปี 1995 และถูกปลดจากอำนาจในปีเดียวกัน เขาถูกจับกุมในเซอร์เบีย และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาถูกส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังกรุงเฮก

อัลฟอนโซ ปอร์ติลโญ,กัวเตมาลา
ปอร์ติลโญดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีกัวเตมาลา ระหว่างปี 2000-2004 เขาเผชิญข้อกล่าวหาคอร์รัปชันในคดีเงินกองทุน 15 ล้านดอลลาร์ หายไปจากกระทรวงกลาโหม ปอร์ติลโญ หนีไปยังเม็กซิโกหลังวาระดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลง ขณะที่ศาลฎีกาเม็กซิโก ตัดสินเมื่อเดือนตุลาคม 2008 ว่าเขาควรถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังกัวเตมาลา

บอริส สุสตาร์,สโลวีเนีย
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการเศรษฐกิจ สุสตาร์ ถูกพิพากษาว่า มีความผิดรับเงินใต้โตะจากบริษัทแลกกับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากกระทรวงเศรษฐกิจ เขาหลบหนีออกนอกประเทศก่อนคำตัดสินแต่เขาถูกจับได้ในแคนาดาเมื่อปี 2007 จากนั้นถูกส่งมอบให้กับทางการสโลวีเนีย

ชาร์ลส์ เทย์เลอร์,ไลบีเรีย
เทย์เลอร์ขึ้นสู่อำนาจในปี 1997 หลังจากสงครามกลางเมืองในไลบีเรียยุติลง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2003 ศาลพิเศษของเซียร์ราลีโอน ฟ้องเขาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชน และ 3 เดือนต่อมา ศาลยุติธรรมแห่งสหประชาชาติออกหมายจับเทย์เลอร์ โดยทางยูเอ็นบอกว่าผู้นำรายนี้ก่อตั้งและสนับสนุนกบฏเซียร์ราลีโอน

เทย์เลอร์ลงจากตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2003 ภายหลังเสียงเรียกร้องให้เขาสละตำแหน่ง จากนั้นเขาเดินทางไปไนจีเรีย ซึ่งทางรัฐบาลยื่นข้อเสนอให้ที่ลี้ภัย แต่ 3 ปีต่อมาทางการไลบีเรียร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน และรัฐบาลไนจีเรียยอมปล่อยเทย์เลอร์ไปขึ้นศาลในเซียร์ราลีโอน ทว่าไม่ยอมส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับมายังไลบีเรีย

ทั้งนี้ เทย์เลอร์หายไปจากบ้านพักในไนจีเรีย แต่ถูกจับกุมได้ขณะพยายามข้ามพรมแดนไปยังแคเมอรูน จากนั้นเขาถูกส่งตัวไปเข้าคุกของสหประชาชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น