xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกตีแผ่ชีวิตผู้นำโกง เป็นบทเรียนสอนทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอบีเอส-ซีบีเอ็นนิวส์/เอเยนซีส์ - สื่อต่างชาติเสนอบทความกรณี "ทักษิณ" ถูกทางการอังกฤษยกเลิกวีซ่า และต้องระเหเร่ร่อนหาที่พำนักอาศัยใหม่ ยกชะตาชีวิตของอดีตผู้นำจอมคอร์รัปชั่นทั่วโลก เพื่อเป็นบทเรียนเตือนสติแก่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย

สำนักข่าวเอบีเอส-ซีบีเอ็นนิวส์ของฟิลิปปินส์ เสนอบทความที่ใช้ชื่อว่า "Lessons for Thaksin from deposed leaders" (บทเรียนสำหรับทักษิณจากพวกผู้นำที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง) โดยชี้ว่า หลังจากรัฐบาลอังกฤษยกเลิกวีซ่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้ภริยาแล้ว สื่อมวลชนก็รายงานไปต่างๆ นานาว่า บ้านหลังต่อไปของคนทั้งสองจะเป็นแห่งหนใด

สื่อแดนตากาล็อกกล่าวว่า รายงานเหล่านี้มีทั้งที่ระบุว่า สามีภรรยาคู่นี้อาจะตัดสินใจปักหลักอยู่ในจีน, โบลิเวีย, พวกรัฐในแอฟริกา, หรือกระทั่งในฟิลิปปินส์ แต่สำหรับฟิลิปปินส์นั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศแดนตากาล็อกออกมาบอกแล้วว่า ยังไม่ได้รับคำขอลี้ภัยใดๆ จากอดีตนายกรัฐมนตรีไทยรายนี้

อย่างไรก็ตาม เอบีเอส-ซีบีเอ็นเตือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณอาจพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะขอลี้ภัยไม่ว่าที่ประเทศไหน เพราะโลกเวลานี้สนธิสัญญาหลายฉบับที่ทำให้พวกผู้นำจอมโกงทั้งหลายที่กำลังถูกกล่าวหาฟ้องร้องในชาติบ้านเกิดเมืองนอนของพวกตน จะประสบความลำบากขึ้นมากในการหารัฐที่ยินดีต้อนรับพวกเขาในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ทั้งนี้หนึ่งในสนธิสัญญาเหล่านี้ก็คือ อนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งบรรจุมาตราต่างๆ ว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน, การส่งตัวบุคคลที่ถูกตัดสินลงโทษแล้ว, และการเรียกคืนทรัพย์สินที่ถูกโจรกรรมไป

สำนักข่าวของฟิลิปปินส์ย้ำว่า พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งหลบหนีไปอยู่ในอังกฤษ นับแต่ที่เขาถูกขับไล่ด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 2006 ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะเดียวกัน ภรรยาของเขาก็ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหาหลบเลี่ยงการเสียภาษี

บรรดารายงานข่าวล่าสุดต่างบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณกำลังเดินทางไปทั่วเอเชีย และก็เหมือนกับพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นที่เผชิญข้อหากระทำความผิดในประเทศของพวกตน นั่นคือ อาจจะหาทางขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศอื่นๆ

เอบีเอส-ซีบีเอ็นนิวส์บอกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลบางราย ที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดในบ้านเกิดเมืองนอน ได้ถูกส่งตัวกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน หรือถูกเนรเทศกลับไปยังประเทศของพวกตนเพื่อเผชิญข้อกล่าวหา

สำนักข่าวแห่งนี้กล่าวว่า ได้อาศัยรายงานข่าวต่างๆ ตลอดจนการวิจัยของทางสำนักข่าวเอง จัดทำเป็นรายการกรณีดังๆ จำนวนหนึ่งของพวกผู้นำและเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติที่ถูกส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด หรือถูกคุมขังโดยศาลระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินคดีตามข้อหาความผิดของพวกเขา

รายการกรณีดังๆ ดังกล่าวนี้ มีดังนี้

**อัลแบร์โต ฟูจิโมริ, เปรู

ฟูจิโมริได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สามในปี 2000 ท่ามกลางข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้ง ต่อมาเรื่องสินบนอื้อฉาวที่พัวพันกับอดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรอง วลาดิมิโร มอนเตซิโน ก็บังคับให้ฟูจิโมริต้องหลบหนีไปญี่ปุ่น และอาศัยอยู่ที่นั่นแบบเนรเทศตัวเองเป็นเวลา 5 ปี

ในเดือนพฤศจิกายน 2005 เขาเดินทางไปยังชิลีเพื่อพยายามต่อไปยังเปรู และถูกจับกุมตัว เขาถูกทางการเปรูตั้งข้อหาเกี่ยวกับการตั้งหน่วยล่าสังหารขึ้นมาฆ่าผู้คนไป 25 คน, ดักฟังโทรศัพท์อย่างผิดกฎหมาย, คุมขังนักหนังสือพิมพ์และนักธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย, ตลอดจนกระทำความผิดเรื่องคอร์รัปชั่น ในที่สุดศาลสูงสุดชิลีได้พิพากษาอนุมัติคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเปรู และล่าสุดศาลเปรูได้ตัดสินจำคุกเขา อีกทั้งยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีความผิดอื่นๆ ต่อไปด้วย

**ราโดวาน คาราจิก, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

เมื่อปี 1992 คาราจิกประกาศตัวเองเป็นผู้นำแห่งรัฐของสาธารณรัฐเซอร์เบียแห่งบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งเขาบอกว่าเป็นรัฐเอกราช เวลานี้เขากำลังเผชิญข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อยู่ที่ "ศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย" ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากความเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ชาวมุสลิม 8,000 คนในปี 1995 เขาถูกถอดออกจากอำนาจในปี 1995 เช่นกัน หลังจากหลบหนีอยู่หลายปี เขาถูกจับกุมตัวในเซอร์เบียและถูกส่งตัวไปยังกรุงเฮกเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

**อัลฟองโซ ปอร์ติโญ, กัวเตมาลา

ปอร์ติโญดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีกัวเตมาลาระหว่างปี 2000 ถึง 2004 เขาเผชิญข้อกล่าวหาคอร์รัปชั่นในคดีเงินทุน 15 ล้านดอลลาร์หายไปจากกระทรวงกลาโหมของประเทศ ปอร์ติโญหนีไปยังเม็กซิโกเมื่อหมดวาระดำรงตำแหน่ง ซึ่งหมายถึงการสูญเสียอภิสิทธิ์ที่จะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในศาล ทางศาลสูงสุดของเม็กซิโกมีคำพิพากษาในเดือนตุลาคม 2008 ให้ส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังกัวเตมาลา

**บอริส สุสตาร์, สโลวีเนีย

สุสตาร์ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเศรษฐกิจ ถูกพิพากษาว่ามีความผิดรับเงินใต้โต๊ะจากบริษัทหลายแห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่เขาจะช่วยเหลือบริษัทเหล่านี้ให้ได้รับเงินกู้จากกระทรวงเศรษฐกิจ สุสตาร์หลบหนีออกจากประเทศก่อนที่ศาลจะตัดสิน แต่ก็ถูกจับตัวที่แคนาดาในปี 2007 จากนั้นก็ถูกส่งมอบให้แก่ทางการสโลวีเนีย

**ชาร์ลส์ เทย์เลอร์, ไลบีเรีย

เทย์เลอร์ขึ้นสู่อำนาจในปี 1997 ภายหลังสงครามกลางเมืองในไลบีเรียยุติลง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2003 "ศาลพิเศษสำหรับเซียราลีโอน" ตั้งข้อหาเขาว่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอีก 3 เดือนต่อมา คณะผู้พิพากษายุติธรรมของสหประชาชาติก็ได้ออกหมายจับเทย์เลอร์ โดยทางยูเอ็นบอกว่าผู้นำไลบีเรียผู้นี้ได้ก่อตั้งและสนับสนุนพวกกบฎเซียราลีโอน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเอาเด็กๆ มาเป็นทหาร

เทย์เลอร์ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีไลบีเรียในเดือนสิงหาคม 2003 ภายหลังมีเสียงเรียกร้องมากมายให้เขาก้าวลงจากอำนาจ จากนั้นเขาเดินทางไปไนจีเรีย ซึ่งรัฐบาลประเทศนั้นเสนอให้ที่ลี้ภัยอันปลอดภัยแก่เขา แต่อีก 3 ปีต่อมา รัฐบาลไลบีเรียได้ยื่นเรื่องขอให้ส่งตัวเทย์เลอร์กลับมาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และรัฐบาลไนจีเรียก็ยอมปล่อยเทย์เลอร์ไปขึ้นศาลพิเศษสำหรับเซียราลีโอน ทว่าไม่ยอมส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังไลบีเรีย

เทย์เลอร์ได้หายตัวไปจากบ้านพักของเขาในไนจีเรีย แต่แล้วก็ถูกจับกุมขณะกำลังพยายามข้ามพรมแดนไปประเทศแคเมอรูน จากนั้นเขาก็ถูกส่งตัวมาอยู่ในความควบคุมของสหประชาชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น