xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 4-10 ต.ค.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์หญิงยีหวาง พินดาริกา แห่งภูฏาณ เสด็จฯ ศาลาศิริราช 100 ปี ร่วมลงนามถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว(9 ต.ค.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. พระอาการ “ในหลวง”คงที่ เสวยพระกระยาหารและบรรทมได้ดี!

ความคืบหน้าพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ต.ค. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 15 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น และทรงพระบรรทมได้ดี ผลการตรวจพระวรกายและเอ๊กซเรย์พระอุระ(อก) พบว่า อาการอักเสบของพระปัปผาสะ(ปอด)ทุเลาลงมาก วันต่อมา( 5 ต.ค.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 16 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดี คณะแพทย์ได้งดพระโอสถปฏิชีวนะทั้งหมดที่ถวายจนครบตามกำหนด แต่ยังคงถวายการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดต่อไป ต่อมาวันที่ 6 ต.ค.สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 17 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดี คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดที่พระอุระ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพพระปัปผาสะ และทำกายภาพบำบัดทั่วไป เพื่อเพิ่มพระกำลังกล้ามเนื้อ วันต่อมา(7 ต.ค.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 18 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดี ผลการตรวจพระวรกายและเอ๊กซเรย์พระอุระ พบว่า การอักเสบของพระปัปผาสะทุเลาลงอีก ต่อมาวันที่ 8 ต.ค. สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 19 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดี คณะแพทย์ยังคงถวายการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพพระปัปผาสะและพระกำลังต่อไป วันต่อมา(9 ต.ค.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 20 ว่า พระอาการโดยทั่วไปคงที่ เสวยพระกระยาหารได้ดี และมีพระกำลังเพิ่มขึ้น

ล่าสุด วันนี้(10 ต.ค.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 21 ว่า พระอาการโดยทั่วไปคงที่ เสวยพระกระยาหารและทรงบรรทมได้ดี

ทั้งนี้ ประชาชนและบุคคลสำคัญทั้งในส่วนของไทยและต่างประเทศยังคงทยอยเดินทางมาร่วมลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ศาลาศิริราช 100 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 6 ต.ค. เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก พระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ได้เสด็จมาลงนามถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายแจกันดอกไม้ และพระราชสาส์นของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ที่แสดงความห่วงใยพระอาการประชวร มีใจความว่า “หม่อมฉันรู้สึกกังวลใจที่ได้ทราบข่าวว่า ฝ่าพระบาททรงพระประชวร ขอถวายพระพรให้ฝ่าพระบาททรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว และทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง” ต่อมาวันที่ 9 ต.ค. องค์หญิงยีหวาง พินดาริกา แห่งภูฏาน พระมาตุฉาของสมเด็จพระราชาธิบดีจิ๊กมี เคเซอ นัมเกล วังชุก กษัตริย์แห่งประเทศภูฏาน ได้เสด็จฯ มาลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นกัน โดยองค์หญิงยีหวางตรัสว่า “ในฐานะประชาชนชาวภูฏาน ขอถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหายจากพระอาการประชวรอย่างรวดเร็ว มีพระพลานามัยแข็งแรง พระชนมายุยืนนาน ประเทศไทยเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของข้าพเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์ของภูฏาน”

2. “ก.ม.ม.” ประชุมใหญ่ “สนธิ” นั่ง หน.พรรคตามคาด ด้าน “สมศักดิ์”รอง หน. – “สุริยะใส” เลขาฯ !

สนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่(6 ต.ค.)
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. พรรคการเมืองใหม่(ก.ม.ม.)ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดประชุมใหญ่สมาชิกของพรรค ที่อาคารธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค สำหรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น ผู้ที่สมาชิกเสนอชื่อ ได้แก่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ,นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ,นายสุริยะใส กตะศิลา ,พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ ,พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ,ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ แต่ปรากฏว่า หลายคนที่สมาชิกเสนอชื่อ ยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรค ทำให้ขาดคุณสมบัติ ขณะที่นายสมศักดิ์-นายสุริยะใส และ พล.ร.ท.ประทีป ขอสละสิทธิ์ ทำให้มีบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียว คือ นายสนธิ และหลังจากให้สมาชิกลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรค ปรากฏว่า นายสนธิได้รับเลือกด้วยคะแนน 1,741 คะแนน งดออกเสียง 61 บัตรเสีย 73 ใบ

จากนั้นนายสนธิได้ใช้สิทธิตามข้อบังคับพรรค เสนอรายชื่อกรรมการบริหารพรรคจำนวนกึ่งหนึ่งคือ 12 คน เพื่อให้สมาชิกลงคะแนนรับรอง ประกอบด้วย 1..นายสมศักดิ์ โกศัยสุข รองหัวหน้าพรรค 2.นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรค 3.พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ เหรัญญิกพรรค 4.นายบรรจง นะแส กรรมการบริหารพรรค 5.นายประพันธ์ คูณมี กรรมการบริหารพรรค 6.นายสุทธิ อัชฌาศัย กรรมการบริหารพรรค 7.นายชาลี ลอยสูง กรรมการบริหารพรรค 8.นายชุมพล สังข์ทอง นายทะเบียนพรรค 9.นางสาวอาภารัตน์ ชาติชุติกำจร กรรมการบริหารพรรค 10.นายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรค 11.นายศรัณยู วงศ์กระจ่าง รองเลขาธิการพรรค และ 12.นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ กรรมการบริหารพรรค

ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่สมาชิกเสนอและลงคะแนนเลือกตั้ง 12 คน ประกอบด้วย 1.นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก แนวร่วมพันธมิตรฯ 2.พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ อดีตผู้บังคับการตำรวจ ภาค 4 อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล 3.นายเทิดภูมิ ใจดี อดีตผู้นำแรงงาน 4.พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ อดีตผู้ช่วยหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตนายทหารราชองครักษ์ 5.นางลักขณา ดิษยะศริน ตะเวทิกุล ผู้จัดการโรงเรียนนานาชาติดิอเมริกันสคูลออฟแบงค็อก 6.นางเสน่ห์ หงส์ทอง ผู้ประสานงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) 7.นายอมรเทพ อมรรัตนานนท์ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาปี 2519 8.นายพิชิต ไชยมงคล รักษาการรองเลขาธิการพรรค 9.นายธัญญา ชุนชฎาธาร นักวิชาการ นักเขียน 10.นางทัศนีย์ บุญประสิทธิ์ แกนนำพันธมิตรฯ อุบลราชธานี 11.นายสราวุธ นิยมทรัพย์ แกนนำพันธมิตรฯ นครปฐม และ 12.นายรังษี ศุภชัยสาคร แกนนำเครือข่ายพันธมิตรฯ อุดรธานี

ด้านนายสนธิ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์หลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ว่า จะยึดมั่นอุดมการณ์ “ซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ ทำงานเป็น” พร้อมพูดถึงพัฒนาการของการเมืองภาคประชาชน ที่เริ่มต้นจากพันธมิตรฯ จนนำมาสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า “วันนี้ไม่ใช่เพียงแค่วันประวัติศาสตร์ธรรมดา วันนี้มีความหมายมากกว่าการมาจัดตั้งให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ วันนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สังคมไทยและสังคมโลกจะต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์การเมืองจะต้องเขียนตำราใหม่ ในเรื่องการเมืองของเมืองไทย จากคนไม่เกิน 1,000 คน ที่หอประชุมเล็กธรรมศาสตร์เมื่อปี 2548 พัฒนามาเป็นคนหลายพันคนในหอประชุมใหญ่ คนหลายหมื่นคนที่สวนลุมฯ ต่อมาที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และคนหลายแสนคนที่สนามหลวง เริ่มด้วยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อเนื่องมาจนวันนี้ ได้เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าการเมืองของเมืองไทยนั้นไม่สามารถจะอยู่ได้ ถ้าไม่มีภาคประชาชนเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”

นายสนธิ ยังยืนยันด้วยว่า พรรคการเมืองใหม่และพันธมิตรฯ เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นอย่ามาปิดกั้นว่าถ้ามีพรรคการเมืองแล้ว จะต้องห้ามชุมนุม “พี่น้องต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคการเมืองใหม่นั้น เป็นเนื้อเดียวกัน ใครก็ตามที่บอกว่า เมื่อเรามีพรรคการเมืองแล้ว เราประท้วงไม่ได้นั้น เป็นคนที่ไม่เข้าใจหลักการของระบอบประชาธิปไตย เพราะพรรคการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือหนึ่งของพันธมิตรฯ เท่านั้นเอง พันธมิตรฯ จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเพื่อเป็นเครื่องมือเข้าไปต่อสู้ในระบบ แต่หากในระบบนั้นยังถูกปิดกั้นด้วยอำนาจมืด และยังถูกปิดกั้นด้วยการฉ้อฉล การซื้อสิทธิขายเสียง พันธมิตรฯ ซึ่งเป็นภาคประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะใช้สิทธิ์ต่อต้านอย่างสงบและอหิงสา และเนื่องจากพรรคการเมืองใหม่เป็นพรรคของประชาชน ก็ต้องมีสิทธิเข้าร่วมสู้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจะมาพูดบอกว่า เมื่อพันธมิตรฯ มีพรรคการเมืองแล้ว บทบาทของพันธมิตรฯ ต้องสลายไป จึงเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง”

ทั้งนี้ นอกจากพันธมิตรฯ จะประชุมเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่เมื่อวันที่ 6 ต.ค.แล้ว วันต่อมา 7 ต.ค.พันธมิตรฯ ยังได้จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี 7 ตุลาฯ โดยเริ่มด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 193 รูป ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตจากกรณีเจ้าหน้าที่ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่คัดค้านไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 หลังจากเสร็จพิธีทำบุญตักบาตร แกนนำพันธมิตรฯ ได้เคลื่อนขบวนด้วยการเดินเท้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่ออ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ “7 ตุลาฯ ต้องไม่สูญเปล่า” จากนั้นได้ไปรวมตัวกันจัดกิจกรรมที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. แก้ รธน. ทำ “เพื่อไทย” ร้าว – “เฉลิม” ไขก๊อก ปธ. ส.ส. ด้าน “พันธมิตรฯ” ขู่ชุมนุมใหญ่ค้านแก้ รธน.!
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย(วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน-วิปวุฒิสภา) มีมติให้แก้ รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และจะให้สำนักกฎหมายของ 2 สภาเป็นผู้ยกร่างแทนคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพื่อความรวดเร็ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะยกร่างแบบใด ระหว่างร่างเดียว 6 ประเด็น หรือ 6 ร่างๆ ละ 1 ประเด็น รวมทั้งยังไม่ได้ข้อยุติว่า จะทำประชามติก่อนเข้าสภา หรือให้สภาผ่านร่างแก้ไข รธน.วาระ 1 ก่อน แล้วค่อยทำประชามติในชั้นกรรมาธิการ ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ออกมาแถลงค้านการแก้ รธน.ทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าว เนื่องจากไม่ใช่หนทางสู่ความสมานฉันท์ และทั้ง 6 ประเด็นที่จะแก้ ล้วนแล้วแต่แก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง จึงไม่ควรให้นักการเมืองพวกนี้มาแก้กันเองนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มีสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรคเข้าร่วมประชุมด้วย เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา ,นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ,นายเนวิน ชิดชอบ ,นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ,นายพินิจ จารุสมบัติ ฯลฯ

หลังประชุม นายเนวินให้สัมภาษณ์ด้วยการโฟนอินเข้าโทรศัพท์มือถือผู้สื่อข่าวว่า ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า จะแก้ รธน.6 ประเด็น และยกร่าง 6 ฉบับ โดยหลังยกร่างเสร็จ จะให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพื่อให้รับหลักการโดยเร็ว เมื่อรับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ ซึ่งนายกฯ ยืนยันกรอบเวลาว่าจะทำให้เสร็จเร็วที่สุด

ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ชี้ว่า การทำประชามติเรื่องแก้ รธน.ควรทำก่อนที่สภาฯ จะพิจารณาร่างแก้ไข รธน. เพราะถ้าทำหลังสภาผ่านวาระ 1 แล้ว อาจไม่มีผลทางกฎหมาย “ตามที่ผมเข้าใจคือ ควรทำประชามติก่อนร่างจะเข้าสภา ผมยังสงสัยว่า ถ้ารัฐสภาผ่านวาระ 1 ไปแล้ว และเมื่อไปทำประชามติได้ผลว่า ประชาชนให้แก้ไข 4 ประเด็น แต่รัฐสภายืนยันจะทำ 6 ประเด็น จะทำอย่างไร เมื่อผลการประชามติไม่ได้ผูกพันรัฐสภา มันยังมีข้อสงสัยทางกฎหมายว่า ถ้าทำระหว่างนั้น มันจะมีผลทางกฎหมายหรือเปล่า ถ้าไม่มี ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ผมถึงพยายามบอกว่าต้องทำก่อน เมื่อทำแล้วประชาชนเห็นว่าควรแก้ไขประเด็นใด จึงนำร่างประเด็นนั้นเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการ ทุกอย่างก็จบ”

เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นแก่รัฐบาลเช่นกันว่า หากจะทำประชามติเรื่องแก้ รธน. ควรทำก่อนนำร่างแก้ไข รธน.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อเป็นการนำความเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณา แต่หากทำประชามติหลังจากร่างแก้ไข รธน.ผ่านความเห็นชอบในวาระแรกแล้ว อาจเข้าลักษณะการเพิ่มขึ้นของขั้นตอนในการแก้ไข รธน.ตามมาตรา 291 และเป็นการดำเนินการขัดต่อ รธน.มาตรา 165

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และประธานวิปรัฐบาล บอกว่า แม้ผลการทำประชามติจะไม่มีผลผูกพันกับรัฐสภา แต่เมื่อกฤษฎีกาเสนอความเห็นมาเช่นนี้ ควรทำให้เกิดความถูกต้อง เพราะผลการออกเสียงประชามติจะมีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองและนักการเมือง

ด้านชมรม ส.ส.ร.50 นำโดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานชมรม และอดีตรองประธานสภาร่าง รธน.(ส.ส.ร.) และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.2550 ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ รธน.เมื่อวันที่ 6 ต.ค. โดยให้เหตุผลว่า ส.ส.และ ส.ว.ยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตาม รธน.ให้ครบถ้วน เช่น การออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับสนใจแต่จะแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ของตนและพรรคการเมือง ชมรม ส.ส.ร.50 ยังชี้ด้วยว่า การเสนอแก้ รธน.ของรัฐบาลอาจขัดต่อ รธน.มาตรา 122 เพราะมีความพยายามของบุคคลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ได้เข้าประชุมตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาและวิธีแก้ รธน.เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่บ้านพิษณุโลก โดยมีนายกฯ เป็นประธาน “การที่ ส.ส.และ ส.ว.ดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว ย่อมแสดงว่าเป็นผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติ มอบหมาย หรือครอบงำ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของ รธน.มาตรา 122 มีโทษร้ายแรงว่า จงใจกระทำการขัดต่อ รธน. ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถึงขั้นถอดถอนและผิดทางอาญา”

ขณะที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการแก้ รธน.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ บอกว่า “ตลอดระยะเวลาที่ชุมนุมกันรวมทั้งหมด 226 วัน เราชุมนุมเพื่อคัดค้านการแก้ รธน.และขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิด แต่ขณะนี้รัฐบาลจะแก้ รธน.อีก ดังนั้น จะขอประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการแก้ รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ โดยจะชุมนุมใหญ่ แต่จะเป็นเมื่อไหร่ ต้องหารือกันก่อน”

สำหรับท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อการแก้ไข รธน.นั้น แม้ก่อนหน้านี้ นายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้านจะประชุมและได้ข้อยุติกับวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภาไปแล้วว่า เห็นด้วยกับการแก้ รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีจำคุก 2 ปี ได้วิดีโอลิงก์มายังที่ประชุมพรรคเพื่อไทยประจำสัปดาห์เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ทำนองไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.โดยบอก “ไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยเล่นตามเกมของฝ่ายรัฐบาล เพราะการแก้ รธน.6 ประเด็น คิดว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ...คิดว่ารัฐบาลทำเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น แต่ถ้ารัฐบาลจะทำจริงๆ ก็ถามว่ากล้าหรือไม่ที่จะให้ประชาชนเลือกระหว่าง รธน.ฉบับ 2540 และ 2550” ปรากฏว่า วันต่อมา(7 ต.ค.) แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ออกอาการกลับลำ ไม่หนุนการแก้ รธน.6 ประเด็นดังกล่าวแล้ว โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้แถลงผลการประชุมระหว่างวิปฝ่ายค้านและแกนนำพรรคเพื่อไทยว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.6 ประเด็นของรัฐบาล เพราะเห็นว่าทั้ง 6 ประเด็นไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน และไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติในภาวะที่ประเทศประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ 2,000 ล้านบาท “ขอยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อจะนำ รธน.2540 กลับมาใช้ เพราะมั่นใจในแคมเปญหาเสียงของพรรคเพื่อไทยว่า เลือกเกินครึ่ง เพื่อนำ รธน.2540 กลับมาใช้” ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยประกาศถอนตัวจากความร่วมมือวิป 3 ฝ่ายใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า “ใช่ เพราะไม่เห็นด้วย และไม่ใช่เพิ่งจะมาไม่เห็นด้วยตอนนี้ แต่ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรก...”

ด้านวิป 3 ฝ่าย(วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน-วิปวุฒิสภา) ได้ประชุมร่วมกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือถึงนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อแต่งตั้ง ผอ.สำนักกฎหมายของทั้งสองสภา เป็นกรรมการยกร่างแก้ไข รธน.ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ใน 2 แนวทาง คือ ฉบับละ 1 ประเด็น 6 ฉบับ และฉบับเดียวทั้ง 6 ประเด็น พร้อมกันนี้ยังให้ไปจัดทำโครงร่างแก้ไข รธน. ทั้งข้อดี-ข้อเสียของ รธน.ปี 2540 และ 2550 รวมทั้งเหตุผลที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอให้แก้ไข รธน. โดยจะนำมาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 22 ต.ค.

ด้านนายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ยืนยันก่อนเข้าร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย โดยยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยยังคงหนุนการแก้ รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ซึ่งคำพูดของนายวิทยาถือว่าสวนทางกับที่ ร.ต.อ.เฉลิมแถลงไปก่อนหน้านี้ โดยนายวิทยา บอกว่า “เช้าวันนี้(8 ต.ค.) ได้หารือกับแกนนำพรรค ทุกคนก็มีความเห็นตรงกันว่า หากจะแก้ไข 6 มาตราก็เดินหน้าไป แต่ถ้าจะนำเงิน 2,000 ล้านบาทมาทำประชามติ เพื่อถามว่าจะแก้หรือไม่แก้แค่ 6 มาตรา พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย เพราะหากทำประชามติก็ควรถามว่าจะให้นำ รธน.ปี 2540 กลับมาใช้แทนหรือไม่”

ทั้งนี้ มีข่าวว่า เหตุที่นายวิทยายังคงเข้าร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย พร้อมยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยหนุนการแก้ รธน.6 ประเด็น เนื่องจากอดีตแกนนำพรรคพลังประชาชนที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ,นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้ประชุมร่วมกัน(8 ต.ค.) โดยเห็นว่า การที่ ร.ต.อ.เฉลิมแถลงค้านการแก้ รธน.และค้านมติวิป 3 ฝ่ายนั้น จะส่งผลด้านลบต่อพรรคมากกว่าด้านบวก จึงโทรศัพท์แจ้งให้นายวิทยายืนยันท่าทีของพรรคว่าหนุนแก้ รธน.6 ประเด็น

อย่างไรก็ตาม การที่นายวิทยาหักหน้า ร.ต.อ.เฉลิมด้วยการพูดไปอีกทางนั้น ไม่เพียงสะท้อนถึงความไม่เป็นเอกภาพในพรรคเพื่อไทย แต่ยังบานปลายถึงขั้นทำให้ ร.ต.อ.เฉลิมน้อยใจ ประกาศลาออกจากประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทยแล้ว โดย ร.ต.อ.เฉลิมได้ส่งโทรสารจากบ้านริมคลองไปยังสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 9 ต.ค. มีใจความว่า “ตามที่ ส.ส. กรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าพรรค ได้กรุณามอบความไว้วางใจให้กระผมทำหน้าที่ในตำแหน่งประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทยมาตามลำดับ บัดนี้ กระผมได้ทำหน้าที่ดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาอันสมควร ประกอบกับมีภารกิจสำคัญ ซึ่งจะทำให้การทำหน้าที่ขาดประสิทธิภาพ จึงขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคได้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาทำหน้าที่แทน”

ด้านนายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน พูดถึงกรณีที่มีการมองว่า ร.ต.อ.เฉลิมลาออกจากประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพราะถูกนายวิทยาหักหน้าว่า “คงไม่ใช่ ประธาน ส.ส.มีอำนาจเหนือประธานวิปฝ่ายค้าน สามารถสั่งปลดประธานวิปฝ่ายค้านยังได้ ซึ่งไม่แน่ 2 วันนี้ประธานวิปอาจถูกปลดก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน คงเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า การที่ใครจะเข้าจะออกเป็นเรื่องของพรรค”

4. “อภิสิทธิ์” รับ โยก “กอร์ปศักดิ์”นั่งเลขาฯ นายกฯ - ชง “ไตรรงค์”เสียบรองนายกฯ แต่ยังรอเวลาเหมาะสม!

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ และไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์
หลังมีข่าวว่า นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่า สาเหตุมาจากปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ที่ยังไม่สามารถตั้งได้ ซึ่งนายนิพนธ์หนุน พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.โดยอ้างว่าได้รับสัญญาณพิเศษมา แต่นายอภิสิทธิ์ ยืนยันหนุน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็น ผบ.ตร.เนื่องจากไม่อยากหนุนตำรวจที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเกรงจะทำคดีเอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีข่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอร้องให้นายนิพนธ์ทบทวนการลาออก แต่นายนิพนธ์ไม่รับปากว่า จะทำตามที่นายชวนขอร้องหรือไม่ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ให้รอความชัดเจนเรื่องนายนิพนธ์ในวันที่ 5 ต.ค.นั้น ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ได้ออกมายืนยันว่า นายนิพนธ์ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ แล้ว โดยยื่นใบลาออกตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.และมีผลวันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ ยังบอกด้วยว่า จะพยายามหาคนมาดำรงตำแหน่งแทนภายในสัปดาห์นี้(หมายถึงสัปดาห์ที่แล้ว)

ทั้งนี้ มีข่าวว่า นายอภิสิทธิ์จะโยกนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจมานั่งตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ แทนนายนิพนธ์ และให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นรองนายกฯ แทนนายกอร์ปศักดิ์ อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ ไม่ยืนยันข่าวดังกล่าว โดยบอกว่า สัปดาห์หน้า(หมายถึงสัปดาห์นี้) จะมีความชัดเจนว่าจะมีการปรับ ครม.หรือไม่

ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ พูดถึงข่าวที่จะไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ว่า “ผมคงไปตอบอะไรไม่ได้ แต่ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน หากจะให้ผมไปทำอะไร ผมก็ทำได้ เพราะผมเป็นกู๊ดโซเยอร์(ทหารดี)” วันต่อมา(6 ต.ค.) นายกอร์ปศักดิ์ พูดถึงเรื่องย้ายตำแหน่งอีกครั้งว่า “ผมได้บอกกับนายกฯ ไปแล้วว่า แล้วแต่นายกฯ ผมไม่มีปัญหาอยู่แล้ว จะให้ออกจากตำแหน่งโดยไม่มีตำแหน่งเลยก็ได้”

ด้านนายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า วันที่ 13 ต.ค.นี้ กรรมการบริหารพรรคจะนัดประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อที่นายกฯ เสนอในการปรับ ครม. ทั้งตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ และอาจรวมถึงรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคจะเห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอทุกครั้ง

ด้านนายอภิสิทธิ์ ได้ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับกรณีที่จะตั้งนายกอร์ปศักดิ์เป็นเลขาธิการนายกฯ และนายไตรรงค์เป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ว่า นายกอร์ปศักดิ์ได้ตอบรับที่จะมารับตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ แล้ว แต่ตนขอให้นายกอร์ปศักดิ์อยู่ในตำแหน่งรองนายกฯ ไปก่อน เพราะยังมีงานสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จ คือเรื่องการวางระบบการประกันรายได้เกษตรกรที่ยังดูแลอยู่ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม นายกอร์ปศักดิ์ก็จะลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ส่วนคนที่จะมาแทน ตนจะเสนอให้ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคพิจารณาในสัปดาห์หน้าขึ้นมารอไว้ก่อน โดยจะเสนอชื่อนายไตรรงค์ เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสม”

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่นายกฯ จะเสนอชื่อนายไตรรงค์เป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจว่า นายไตรรงค์มีประสบการณ์สูง เป็นนักการเมืองและ ส.ส.มานาน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เชื่อว่าจะช่วยนายกฯ ทำงานได้ และที่ผ่านมาก็ติดตามงานด้านเศรษฐกิจอยู่ตลอด ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งนายกอร์ปศักดิ์เป็นเลขาธิการนายกฯ เพื่อหนีปัญหาทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงหรือไม่ นายชวน บอกว่า “ผมไม่คิดไปไกลขนาดนั้น”

5. รถไฟด่วนตรัง-กรุงเทพฯ ตกรางที่หัวหิน –ตาย 7 เจ็บ 70 ด้านพนักงานขับรถ อ้าง กินยาแล้ววูบ!

รถไฟขบวนรถด่วนกันตัง-กรุงเทพฯ ประสบอุบัติเหตุตกรางบริเวณสถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์( 5 ต.ค.)
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.เวลา 04.42น. ได้เกิดอุบัติเหตุรถไฟขบวนรถด่วนที่ 84 (ตรัง-กรุงเทพฯ) ซึ่งกำลังมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เกิดตกรางบริเวณสถานีเขาเต่า ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และได้รับบาดเจ็บ 70 ราย ทั้งนี้ นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ โดยให้รายงานผลภายใน 5 วัน อย่างไรก็ตาม นายยุทธนา บอกว่า เบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจากพนักงานขับรถไฟหลับใน เพราะมีหลักฐานว่าพนักงานขับรถไฟ ซึ่งจะต้องแวะจอดเพื่อรอรับเอกสารใบสับหลีกขบวนรถที่สถานีวังก์พง ได้ฝ่าไฟแดงตรงไปยังสถานีเขาเต่าด้วยความเร็วสูงถึง 105 กม./ชม.โดยมีขบวนรถสินค้าขาล่องจอดรถสับหลีกอยู่ พนักงานสถานีจึงได้สับหลีกรางเพื่อไม่ให้ขบวนรถชนกัน เรื่องนี้คงต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง

ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท. ออกแถลงการณ์ว่า แม้สาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้จะอยู่ระหว่างสอบสวน แต่สิ่งที่เกี่ยวเนื่องก็คือ การที่พนักงาน ร.ฟ.ท.ต้องตรากตรำทำงาน เพราะมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2541 กำหนดให้ลดจำนวนพนักงาน ส่งผลให้ ร.ฟ.ท.ขาดอัตรากำลังเป็นจำนวนมาก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท. จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้บริหาร ร.ฟ.ท.เร่งแก้ปัญหาโดยด่วน พร้อมกันนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท.ยังจี้ให้ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.แสดงความรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นด้วย เพราะตั้งแต่เข้ามาบริหารงานมีแต่ปัญหา และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุด

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ พูดถึงการดูแลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตว่า ได้ขอให้ ร.ฟ.ท.ดูแลผู้เสียชีวิตเป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากระเบียบที่กำหนดไว้ โดยขอให้เพิ่มวงเงินชดเชยจากเดิมที่จะมอบให้ผู้เสียชีวิตรายละ 80,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าน้อยเกินไป ส่วนผู้บาดเจ็บทราบว่า ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ขณะที่นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.แถลงถึงการเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารรถไฟว่า นอกจากต้องทบทวนเรื่องการทำประกันภัยบุคคลที่ 3 เพื่อให้ความคุ้มครองผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟ โดยจะเก็บค่าบริการเพิ่มจากค่าโดยสาร 1 บาทต่อเที่ยวแล้ว ยังได้เตรียมเสนอให้มีการทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2541 เพื่อขอบรรจุพนักงานฝ่ายเดินรถเพิ่มอีก 171 ตำแหน่ง เนื่องจากมติ ครม.ดังกล่าวได้จำกัดอัตรากำลังพลภาครัฐ ส่งผลให้พนักงานขับรถและฝ่ายช่างกลขณะนี้มีอยู่ฝ่ายละ 1,000 อัตรา ไม่เพียงพอต่อความต้องการจริงที่ต้องมีอย่างละ 1,300 อัตรา ทำให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องทำงานล่วงเวลา บางรายต้องทำงานควบกะ ดังนั้นในระยะเร่งด่วน ร.ฟ.ท.จะกำหนดระเบียบเพื่อระบุชั่วโมงในการพักผ่อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ด้านนายเริงศักดิ์ พันธ์เทพ พนักงานขับรถไฟ(พขร.) ขบวนที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมีข่าวว่าหลบหนีไปหลังเกิดเหตุ ได้เข้ามอบตัวที่ สภ.หัวหิน เมื่อวันที่ 9 ต.ค. โดยยืนยันว่า ตนไม่ได้หนี พร้อมอ้างว่า ก่อนเกิดเหตุ ตนมีอาการวูบไป เนื่องจากวันดังกล่าวมีไข้เล็กน้อย จึงรับประทานยาแก้ไข้ ขณะปฏิบัติหน้าที่มีอาการง่วงซึม ประกอบกับในหัวรถจักรมีควันรบกวน จึงอ่อนเพลีย เมื่อตื่นขึ้นมาก็พบว่าไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ ยอมรับว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง อยากกราบขออภัยผู้โดยสารทุกคน โดยเฉพาะผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ด้าน พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม ผบก.ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า กรณีที่นายเริงศักดิ์ระบุว่ามีอาการวูบขณะปฏิบัติหน้าที่ ถ้าเป็นการอ้างลอยๆ ก็ฟังไม่ขึ้น แต่อาจเป็นความจริง ซึ่งอาการเจ็บป่วยถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ตำรวจต้องให้แพทย์ตรวจยืนยัน เพราะมาตรฐานการทำงานของพนักงานขับรถ ควรมีความพร้อมในด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ บอกว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหานายเริงศักดิ์กระทำการโดยประมาท และทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บ ส่วนการประกันตัวคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะผู้ต้องหาเข้ามอบตัว

ด้านนายปลื้ม เพชรทองเกลี้ยง สารวัตรงานรถจักร บางซื่อ กทม. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของนายเริงศักดิ์ บอกว่า ขณะนี้พบกล่องบันทึกการทำงานหรือกล่องดำแล้ว ได้ส่งไปให้เจ้าหน้าที่ทำการถอดข้อมูลออกมา เพื่อหาข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่ชัดเจนต่อไปแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น