xs
xsm
sm
md
lg

วงสัมมนาเตือนสื่อหยุดกระพือข่าวใต้รุนแรง แนะดึง ปชช.ในพื้นที่-สื่อท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วงสัมมนาสมาคมรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ชี้ชัดสื่อกระแสหลักอีกต้นเหตุกระพือความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาตใต้ หวั่นทำไทยเสียดินแดน แนะเปิดพื้นที่ให้ประชาชน สื่อท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหา “รมต.สาทิตย์” เตรียมจัดสัมมนาสื่อส่วนกลาง-ท้องถิ่น ร่วมดับไฟใต้ เดือนกันยายนนี้

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 29 ส.ค.2552 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ สนามหลวง สมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.ปัตตานี) จัดเสวนา หัวข้อ “บทบาทสื่อมวลชนกับการแก้ปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้” มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมว.สำนักนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ผอ.หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐศาสนศาสตร์ นายปกรณ์ พึ่งเนตร หัวหน้าศูนย์ข่าวอิศรา นางอังคณา นีละไพจิตร อดีต ส.ส.ร.และประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และนายราญาอี ธนชยางกูร บรรณาธิการข่าว พับบลิค (สื่อยุวมุสลิม)ร่วมเสวนา

รศ.ดร.ไชยา กล่าวว่า การจะพูดถึงบทบาทสื่อมวลชนกับการเคยเดินทางไปทำรายการโทรทัศน์ว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับโต๊ะอีหม่ามที่เทือกเขาบูโด เมื่อปี 2537 ผ่านมาแล้ว 10 กว่าปี ถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ เพราะมีเหตุเผารถบด วางระเบิดสถานีรถไฟ ซึ่งตนได้รับคำตอบจากหลายท่านว่า เกิดจากเด็กวัยรุ่น เมายา เมาเหล้า เผารถบด แต่สถานการณ์ในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก จากการติดตามข่าวสาร ทำให้ทราบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย เมื่อปรากฏเป็นภาพข่าวเสนอออกมา ทำให้เขามองเหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ว่ามีความรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ตะวันออกกลาง ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการแก่งแย่งผลประโยชน์จากกลุ่มต่างๆ ทั้งข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล ทั้งน้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบด้วย ในกรณีของครูจูหลิง การฆ่านาวิกโยธิน และเมื่อสื่อมวลชนเสนอข่าว ก็จะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่ จะรู้สึกว่าคนร้ายเกิดจากชาวไทยมุสลิม ทั้งนี้สื่อมวลชน มี 3 ส่วน ส่วนหนึ่งสื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ส่วนที่สอง คอลัมนิสต์ จะต้องวิเคราะห์ วิจารณ์ให้หลากหลายรอบด้านและเป็นธรรม และส่วนที่สาม สื่อที่รับจ็อบหรืออามิสสินจ้าง ซึ่งเป็นอันตรายมาก และสิ่งที่สื่อมวลชนต้องระวังมากที่สุดคือจะทำอย่างไรให้พี่น้องคนไทย ไม่มองชาวไทยมุสลิมไปในทางลบ

นายสาทิตย์กล่าวว่า ตนเป็นศิษย์เก่าเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี เมื่อปี 2522 ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างจากสมัยนั้นมาก ว่ากันตามจริงเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อประมาณ ปี 2545-2546 ทั้งนี้เมื่อตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ดูแลสื่อของรัฐและปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ โดยได้เป็นประธานเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาชายแดนภาคใต้ เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้นั้นจะเกี่ยวพันกับมุมมองและทัศนคติ ซึ่งการรับรู้ผ่านสื่อมวลชน คนในพื้นที่รับรู้แบบหนึ่ง คนนอกพื้นที่รับรู้ส่วนหนึ่ง การรับรู้ผ่านสื่อมวลชนถือว่าสำคัญ ทั้งนี้ทัศนคติของประชาชนต่อพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาจากสื่อมวลชน
 
นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีหลายหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวปัญหาที่ประชาชนกังวลมากที่สุด อันดับหนึ่งคือ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัจจุบันอยู่อันดับ 10 เพราะสิ่งที่ประชาชนกังวลอันดับแรกเปลี่ยนไปเป็นปัญหาปากท้อง ส่วนหนึ่งเพราะคนเริ่มรู้สึกชินชาหรือไม่ คนไทย อยู่ร่วมกันด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างมาอย่างยาวนาน โดยงบที่ทุ่มเทลงไปในพื้นที่ภายใน 3 ปี มีจำนวน 6 หมื่นกว่าบาท บทบาทสื่อมวลชนสำคัญมากกับการรับรู้ของคนในและนอกพื้นที่ ซึ่งคนที่อยู่ในพื้นที่จะรับรู้ข่าวจากสื่อของไทยและสื่อมวลชนของมาเลเซีย สื่อกระแสหลักมีหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ที่ประชาชนสนใจมากที่สุด ที่ผ่านมาได้ลงไปพบปะสื่อมวลชนในสามจังหวัดภาคใต้ พบว่าเขามีความเสี่ยงอันตรายในการเข้าไปทำข่าว ทำให้เป็นข้อจำกัดในการทำงานนำข่าวมานำเสนอ ซึ่งสื่อในส่วนกลางจะคัดเลือกข่าวในการนำเสนอ ซึ่งจะแข่งกันนำเสนอข่าว บ่อยครั้งที่การทำข่าวมีลักษณะเหมือนการทำจิตวิทยา มีความพยายามบิดเบือนความจริง เหมือนเหตุการณ์ที่ตากใบ

สื่อมวลชน มี 3 แบบ คือ 1.สื่อเพื่อทำความเข้าในสถานการณ์ซึ่งจะต้องทำงานเชิงลึก อธิบายให้คนภายนอกเข้าใจ 2.สื่อเพื่อเสนอข้อเท็จจริง รัฐบาลจะตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อนำเสนอให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ และ3.กำลังเดินหน้าทำความเข้าใจกับนานาชาติที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยหลัก นอกจากนี้รัฐต้องยอมรับบทบาทภาคประชาชน เช่น การเยียวยาประชาชนในพื้นที่ 2-3 ปีที่ผ่านมามีจำนวนสองพันกว่าล้านบาท เช่น เพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าสองพันกว่าคน ซึ่งกองทุนเยียวยาจะต้องเข้าไปดูแล ส่วนในเชิงโครงสร้างก็ต้องใช้การเมืองนำการทหาร และในเดือนกันยายนนี้รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมานาสื่อท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้และสื่อส่วนกลางที่ทำเนียบรัฐบาล

นายราญาอี กล่าวว่า สาเหตุที่ตนเข้ามาทำสื่อ เพราะสื่อกระแสหลักไม่ได้รายงานข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน ตนเคยจัดอบรมเยาวชนมีพี่เลี้ยงเป็นตำรวจชายแดนและทหาร แต่สื่อกระแสหลักบางแห่งนำเสนอไปว่าฝึกอาวุธ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ปัญหาของสื่อกระแสหลักที่พยายามใส่ร้ายชาวไทยมุสลิม เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งชำระประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดที่กลุ่มก่อความไม่สงบใช้กล่าวอ้างชักจูงเยาวชนไปทำสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ตำนานเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว ที่พบว่าเป็นเพียงตำนานเรื่องเล่า ที่ไม่เป็นความจริง แต่คนมุสลิมรู้สึกไม่เห็นด้วย ประวัติการเกณฑ์คนมุสลิมมาขุดคลองแสนแสบ ซึ่งความจริงสมัยนั้นใช้แรงงานชาวจีนมาขุดคลองไม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาวไทยมุสลิม และการเมืองควรหยุดเล่นกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ได้แล้ว

นายปกรณ์กล่าวว่ายอมรับว่าสื่อให้ความสำคัญกับเหตุความรุนแรง เหตุระเบิด ซึ่งเป็นทฤษฎีข่าวแบบเก่า ที่ข่าวที่มีคนตายเยอะๆ จะขึ้นหน้าหนึ่ง ซึ่งถูกต้องส่วนหนึ่งแต่ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดซึ่งมีความอ่อนไหวนั้นไม่สามารถใช้ทฤษฎีนี้สำหรับเหตุการณ์ในพื้นที่ บางครั้งไม่ใช้การก่อความไม่สงบ แต่เป็นคดีอาชญากรรมและความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น จึงเป็นปัญหาว่าทำไมสื่อสร้างทำความเข้าใจ ซึ่งการนำเสนอข่าวอย่างไม่ถูกต้องจะทำให้ชาวไทยมุสลิมถูกมองในแง่ลบ และสิ่งที่ไม่ถูกต้องคือการที่ทหารเสียชีวิต ถูกส่งกลับบ้านเมื่อสื่อนำเสนอ ก็จะทำให้ญาติทหารในจังหวัดอื่นๆ เกลียดชังชาวไทยมุสลิมมากขึ้น และประเด็นที่สื่อมักใช้คำว่าโจรใต้ ซึ่งเห็นว่าอาจจะไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ได้เชิญ บก.นสพ.ต่างๆ ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเมื่อปี 2548 ได้ตั้งศูนย์ข่าวอิสราเพื่อนำเสนอข่าวในด้านดี เกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

นางอังคณา กล่าวว่า วงการสื่อพูดกันว่า “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์” จึงเห็นว่าสะท้อนอะไรบางอย่าง ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่มีอัตลักษณ์ ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่เคยเชื่อโดยเด็ดขาดว่าจะสามารถแบ่งแยกดินแดนได้โดยการไม่ได้ยอมรับจากประชาชน แต่ปัจจุบันการแบ่งแยกในจิตใจของประชาชนถูกแบ่งแยกไปเรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาความยากจนการศึกษายาเสพติดยังไม่ได้รับการแก้ไข

การแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ล้มเหลวล้มเหลวเพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมเมื่อพูดถึงความรุนแรง ขณะนี้สังคมไทยรู้สึกชินชากับคนไทยที่เสียชีวิต 4-5 พันคนในช่วงการดำเนินนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ซึ่งพิสูจน์ว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง คนในพื้นที่พอมีพอกิน เรียบง่ายต่อการใช้ชีวิต แต่ไม่เพียงพอต่อการส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย อีกเรื่องคือ ความจริงคนละชุดที่ต้องแก้ปัญหา คือความจริงของประชาชน กับความจริงของรัฐ เมื่อเหตุการณ์ที่ตันหยงลิมอ มีทหารพรานเข้าไปตรวจค้นยาเสพติด และมีการยิงชาวบ้านบาดเจ็บ ซึ่งต่อมาทหารยอมรับว่ากระทำเกินกว่าเหตุ แต่วันต่อมาหน่วยงานรัฐกลับแถลงข่าวว่าเป็นเหตุการณ์ปะทะระหว่างคนร้ายกับชาวบ้าน และยืนยันว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งเป็นความจริงคนละชุด ที่อาจจะทำให้ชาวบ้านไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่เชื่อมั่นไม่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ ทำให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้เป็นเหตุในชักจูงชาวบ้านไปในทางไม่ถูกต้อง



กำลังโหลดความคิดเห็น