ภายหลังจากเหตุการณ์ การใช้อาวุธสงครามลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือเอเอสทีวี-ผู้จัดการ อย่างอุกอาจใจกลางเมืองกรุง บริเวณสี่แยกบางขุนพรหม เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2552 ทั้งๆ ที่บ้านเมืองยังอยู่ในสภาวะของการประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยในช่วงแรกได้มีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. ขึ้นมาดูแลคดี ซึ่งก่อความไม่สบายใจให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝั่งนายสนธิ เนื่องจากนายสนธิและสื่อในเครือได้เปิดโปงและวิพากษ์วิจารณ์ พฤติกรรมและการทำงานของ พล.ต.อ.จงรัก มาตลอด
กระทั่ง ทันทีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นหัวหน้าชุดคลี่คลายคดีลอบสังหาร นายสนธิ สายตาของคนในสังคมและสื่อมวลชนต่างก็จับจ้อง ราวกับสปอตไลท์ที่ฉายมายัง “นายพลโลว์โปรไฟล์” ผู้นี้
ด้วยบุคลิกการทำงานที่ตรงไปตรงมา เดินหน้าท้าชน แบบไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นตอเล็ก ตอใหญ่ ตอในแวดวงการเมืองหรือตอในเครือข่ายสีกากีด้วยกัน คดีนี้จึงไม่ใช่ภารกิจแรกที่ พล.ต.อ.ธานี ได้รับความไว้วางใจจากนายกฯอภิสิทธิ์ให้เข้าไปคลีคลายสะสาง เพราะ ก่อนหน้านี้เขาได้รับมอบหมายให้ทำคดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายต่อหลายคดี ไม่ว่าจะเป็น คดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีฆ่าโหดชิปปิ้งหมู คดีฆ่าอุปทูตซาอุดิอาระเบีย คดีการหายตัวไปของนักธุรกิจชาวซาอุฯ หรือคดียิงสามีภรรยาชาวอังกฤษซึ่งทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด หัวหิน
จากวันนี้ถึง 30 กันยายน 2552 แม้ว่าเหลืออีกเพียงเดือนเดียวก็จะถึงเวลาที่จะเกษียณอายุ แต่ พล.ต.อ.ธานียังคงทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ ด้วยมองว่า “ชีวิตนี้ขอเพียงได้เป็นตำรวจที่ดี” ก็พอใจแล้ว ตลอด 36 ปีในชีวิตการทำงาน นายตำรวจผู้นี้ยังคงซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ สมดั่งที่บรรดานักข่าวตั้งฉายาให้เขาว่า “นายพลไม้บรรทัด”
เป็นตำรวจเพื่อ “แม่”
แม้จะไม่ได้ผ่านรั้วสามพรานเหมือนกับนักเรียนนายร้อยตำรวจทั่วไปแต่ก็มิใช่อุปสรรคต่อการที่จะดำรงตนเป็นตำรวจน้ำดี หลังจากจบนิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “ธานี” หรือ “ไอ้ล้าน” ของเพื่อนๆนิติ มธ. 2511 ก็ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นนายตำรวจ ทั้งๆ ที่ใจหนึ่งยอมรับว่าไม่ปลื้มกับอาชีพนี้ แต่ด้วยแรงผลักดันจากคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกชายรับราชการเพราะครอบครัวซึ่งทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง และมีกิจการโรงน้ำตาลและโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งมักจะถูกข่มเหงรังแกและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอ
“ ผมยอมรับว่าจริงๆ แล้วไม่อยากเป็นตำรวจ และตำรวจก็เป็นอาชีพที่แม่ผมจัดอันดับให้เป็นอาชีพไม่ดีอันดับแรก แต่แม่ก็อยากให้มารับราชการตำรวจเพราะมองว่าที่ผ่านมาครอบครัวเราได้รับความไม่เป็นธรรมจากระบบราชการ ซึ่งแม่ย้ำว่าผมต้องเป็นตำรวจที่ดี และสั่งนักสั่งหนาว่าไม่ให้รับผลประโยชน์ เพราะที่ผ่านมามีตำรวจมาขอเงินแม่ใช่บ่อยๆ ดังนั้นผมจึงตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อรับใช้ประเทศชาติ ไม่ได้เข้ามาเพราะอยากมียศถาบรรดาศักดิ์
ผมว่าครอบครัวมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผมเป็นตำรวจที่ซื่อสัตย์ ไม่ต้องรับเงินรับทองเหมือนตำรวจบางคน แม่รู้ว่าตำรวจเงินเดือนน้อย สะตุ้งสตางค์ไม่พอ ทางบ้านผมจึงให้การสนับสนุนตลอด คือผมได้เงินจากทางบ้านมากกว่าเงินเดือนหลายเท่า แม้กระทั่งรถยนต์ที่ใช้ออกตรวจตอนอยู่โรงพักก็เป็นรถของที่บ้าน ผมมองว่าคนไหนที่ชอบพูดว่าตำรวจไม่ดี ก็อย่าสักแต่พูด ถ้ารู้ว่าไม่ดี คุณต้องมาทำให้ดี โดยมาเป็นตำรวจเสียเองเพื่อทำให้มันดี แต่บางคนตอนยังไม่เป็นตำรวจก็วิจารณ์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอมาเป็นตำรวจแล้วก็ทำตัวไม่ดีเสียเอง ” พล.ต.อ.ธานีเล่าถึงปูมหลังของการเข้ามาสวมชุดสีกากี
ฉายานายพลไม้บรรทัด
พล.ต.อ.ธานีเริ่มอาชีพตำรวจเมื่อปี 2516 ในตำแหน่งรองสารวัตร แผนก 3 กองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม (รอง สว.ผ.3กก 6 ป.) ด้วยฝีมือและความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงานทำให้เขาเติบโตในเส้นทางผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เรื่อยมา กระทั่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผู้ช่วย ผบช.น.) และขยับขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ก่อนที่จะได้รับความไว้วางใจให้นั่งในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในปี 2546
ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิบางนายในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่วิตกว่าความตงฉินของ พล.ต.อ.ธานีจะส่งผลกระทบต่อรายได้มหาศาลจากการเก็บส่วยในนครบาล เพราะในช่วงที่เขาเป็น รอง ผบช.น.นั้น พล.ต.อ.ธานีได้เสนอไม่ต่อใบอนุญาตให้สถานบริการอาบอบนวดของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ถึง 4 แห่ง จนเป็นเหตุให้เกิดการแฉส่วยตำรวจนครบาล ยังผลให้นายตำรวจหลายนายถูก พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้นสั่งเด้งออกนอกพื้นที่แบบไม่ทันตั้งตัว แต่เขาก็ฝ่าด่านอรหันต์มาได้ด้วยแรงหนุนจาก พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ นิลคูหา ผบช.น. คนก่อนหน้า ที่ถึงกับเอ่ยปากรับรองและชื่นชมว่า พล.ต.อ.ธานีเป็นคนดีและเหมาะสมกับตำแหน่ง ผบช.น.
เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว พล.ต.อ.ธานีก็ให้นโยบายกับผู้ใต้บังคับบัญชาทันทีว่า “ห้ามรับส่วยทุกประเภท” จนเป็นที่มาของฉายา “นายพลไม้บรรทัด” ซึ่งผู้สื่อข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาลขนานนามให้ ซึ่งว่ากันว่าในช่วงที่ พล.ต.อ.ธานีเป็น ผบช.น.นั้นสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพฯต่างพร้อมใจกันปิดให้บริการตามเวลาที่กำหนด และแม้กระทั่งบ่อนการพนันใหญ่ๆ ใน กทม.ก็ไม่กล้าต่อกรด้วย
จากนั้น พล.ต.อ.ธานีได้ย้ายไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) และขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ก่อนที่จะได้เลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) โดยมีนายตำรวจชื่อดังอย่าง พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ ซึ่งขณะนั้นรั้งตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร.เช่นกัน เป็นแคนดิเดตคนสำคัญ แต่สุดท้าย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช ผบ.ตร.ในขณะนั้นก็ตัดสินใจเลือก พล.ต.อ.ธานี ด้วยเล็งเห็นถึงฝีมือและความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
งานด้านการปราบปรามดูจะเป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.ธานีทุ่มแรงเทใจให้เต็มที่ ด้วยมองว่าการทำหน้าที่ตรงนี้จะนำมาซึ่งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้เป็นเจ้าของภาษี และถือเป็นนายตัวจริงของตำรวจทุกคน อีกทั้งเขายังเห็นต่างไปจากตำรวจทั่วไปที่ส่วนใหญ่คนที่ติดตามทำคดีจริงๆ มักเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย ส่วนตำรวจในระดับหัวหน้ามักนั่งอยู่ในสำนักงานเพื่อรอรายงานสรุปเท่านั้น
พล.อ.ธานีเล่าถึงการทำงานปราบรามเมื่อครั้งอดีตอย่างออกรสออกชาติว่า “ สมัยผมเป็นสารวัตรใหญ่โรงพักพระโขนง เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเนี่ย หลักปฏิบัติของตำรวจนครบาลเมื่อเกิดคดีอุกฉกรรจ์คือต้องสืบสวนจับกุมให้ได้ภายใน 7 วัน ถ้าไม่ได้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลจะมีการประชุมทุกสัปดาห์ สารวัตรใหญ่ต้องไปยืนหน้าห้องประชุมเพื่อให้ผู้ช่วย ผบช.น. รอง ผบช.น. บี้ถามความคืบหน้าว่าทำอะไรไปบ้าง ทำไมถึงยังจับตัวคนร้ายไม่ได้ สมัยนั้นนายแต่ละคนมีความรู้ความสามารถ เป็นครูของลูกน้องได้ เพราะเก่งและมีประสบการณ์ ผลจากตรงนั้นทำให้ทุกคนต้องขวนขวาย ต้องรีบสืบสวนติดตามคนร้ายมาให้ได้ เพราะไม่มีใครอยากไปยืนหน้าห้องประชุมให้ผู้บังคับบัญชาไล่จี้
พอผมขึ้นมาเป็น ผบช.น. ผมก็นำแนวทางการทำงานเล่านี้มาใช้ ก็ลงไปติดตามการทำงานของลูกน้อง ถ้ายังไม่ได้ตัวคนร้ายภายใน 7-10 วัน ก็ต้องบี้กันว่าทำงานคืบหน้าไปถึงไหน จะตอบแบบลอยๆ ว่ายังไม่รู้ตัวคนร้ายไม่ได้ อีกมาตรการหนึ่งก็คือเวลาเกิดคดีสะเทือนขวัญ หัวหน้าสถานีต้องโทรศัพท์รายงานทางวาจาทันที เพื่อที่จะตรวจสอบว่าหัวหน้าสถานีอยู่ในพื้นที่หรือเปล่า เพราะถ้าหัวหน้ายังไม่อยู่ แล้วลูกน้องจะทำงานหรือ ถ้านายทำงาน ลูกน้องก็ต้องทำตาม ไม่ทำไม่ได้”
“ผมเป็นแกะขาว คุณนั่นแหล่ะแกะดำ”
พล.ต.อ.ธานี กล่าวต่อว่า แม้จะทุ่มเททำงานสักเพียงใด แต่ความตงฉินของเขาก็ทำให้เขาถูกมองว่าเป็น “แกะดำ” และ ต้องสู้กับปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ในแวดวงสีกากีมาตั้งแต่รับราชการในระดับสถานี ระดับกองบังคับการ กองบัญชาการ จนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งครั้งที่นับว่าเป็นศึกใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นตอนที่เขาดำรงตำแหน่งสารวัตรใหญ่เมืองสิงห์บุรี ในช่วงปี 2527 โดยสาเหตุก็มีประการเดียวคือเพราะเขาไม่รับผลประโยชน์เหมือนกับตำรวจคนอื่นๆ
“ ผมไม่รับส่วย ไม่ส่งส่วย ผมเป็นตำรวจ ใครทำผิดกฎหมายผมจับหมด เพราะผมไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง แต่ตำรวจด้วยกันนี่สิ เมืองสิงห์บุรีตอนนั้นหวยใต้ดินระบาดทั้งเมือง อยู่ได้ด้วยหวยใต้ดิน แต่สุดท้ายก็ถูกย้ายหมด ผู้กำกับการจังหวัดก็ถูกย้าย ผมซึ่งตอนนั้นเป็นสารวัตรก็ถูกย้าย ถึงแม้ผมจะยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง ชั่วชีวิตการทำงานของผมไม่เคยมีนอกมีใน สมัยอายุ 20-30 ปี เนี่ยผมเข้มมาก ถ้ามีคนมาให้ผลประโยชน์ นอกจากไม่รับแล้วยังถูกผมดำเนินคดีในข้อหาให้สินบนเจ้าพนักงานด้วย ตอนหลังๆ ก็เริ่มเข้าใจคนพวกนี้ เพราะแทบไม่มีใครเชื่อหรอกว่ายังตำรวจที่ไม่รับตังค์
คือผมถือว่าเมื่อผมไม่รับผลประโยชน์ ผมก็ไม่มีข้อผูกมัด ถูกก็ว่ากันไปตามถูก ผิดก็ว่ากันไปตามผิด ผมทำตามหน้าที่ ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร ผมอาจไม่เหมือนตำรวจคนอื่น คนชอบหาว่าผมเป็นแกะดำ ผมก็บอกผมเป็นแกะขาว คุณนั่นแหละแกะดำ (ยิ้ม) ผมเป็นแบบนี้ไม่เห็นจะเป็นอะไร คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ก็อยู่มาจนถึงเดี๋ยวนี้ ” พล.ต.อ.ธานี กล่าวด้วยแววตาที่มุ่งมั่น
ตำรวจไม่ทำหน้าที่ตำรวจ บ้านเมืองจึงวุ่นวาย
พล.ต.อ.ธานี ยังแสดงทัศนะถึงการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในขณะนี้ ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนับว่าเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งประเด็นหลักๆก็อยู่ที่ความไม่ชอบมาพากลในการพิจารณา และการแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสมกับงาน
“ ปัญหาการทำงานของตำรวจแต่ละพื้นที่ ถ้าไล่ไปไล่มาก็ต้องยอมรับว่างานต่างๆ ในสถานีตำรวจที่ล้มเหลวก็เพราะบริหารบุคลากรไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย นี่คือปัญหาขององค์กรตำรวจ ก็พูดกันว่ามันมีการซื้อตำแหน่ง แต่ใครจะสมัครใจกล้าไปให้ปากคำเพื่อเป็นหลักฐาน จะได้จัดการให้รู้เรื่องกันไป แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าไปให้ปากคำ ได้แต่พูดกันไป ถ้าบริหารงานบุคคลดี จัดคนให้เหมาะสมกับงาน งานของตำรวจจะดีขึ้นกว่านี้อีกเยอะ
อย่างเมื่อปีที่แล้วผมรับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน ได้ไปให้แนวทางการทำงานที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่ก่อนไปได้ดูรายชื่อและประวัติ รองผู้กำกับสืบสวน สารวัตรสืบสวน พบว่าบางคนทั้งชีวิตไม่เคยทำงานด้านสืบสวนมาก่อนเลย แล้วอย่างนี้งานสืบสวนของนครบาลจะล้มเหลวหรือไม่ ถ้าย้อนไปดูนครบาลยุคเก่า สารวัตรใหญ่ยศพันตำรวจโท ใครเป็นสารวัตรใหญ่ต้องเก่ง รอบรู้ เป็นครูของรุ่นน้องๆได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ หรืออย่างตอนที่ผมเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบงานสืบสวน เวลามีปัญหาสำนวนค้างมากๆ ผมก็เรียกหัวหน้าสถานีมาคุย ปรากฏว่าหัวหน้าสถานีบางคนยังตอบผมไม่ได้เลยว่าจะแก้ปัญหายังไง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของตัวเอง แสดงว่ากลวงกันหมด ” นายพลมือปราบมากประสบการณ์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นายพลไม้บรรทัดยังพูดถึงการสะสางคดีสำคัญๆที่เขาได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะคดีที่มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น คดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร และคดียิงถล่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล ว่า ยอมรับว่าการทำคดีที่มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นค่อนข้างลำบาก แต่ตนก็ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
“ ผมยอมรับว่าคดีใดที่มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง มันไม่สะดวกทั้งนั้น แต่เราก็ต้องทำให้หายแคลงใจ จะเกี่ยวพันถึงใครก็ต้องสาวออกมาให้หมด แต่เราพูดกันด้วยหลักฐาน ไม่ใช่จับก่อนแล้วว่ากันทีหลัง และที่สำคัญผมไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เข้าข้างใคร ผมถือว่าผมเป็นตำรวจ เมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายผมก็ต้องจับกุมดำเนินคดีตามหน้าที่ เปรียบเทียบง่ายๆ เวลาคนทำผิด 2 คน เราจับคนหนึ่ง แต่อีกคนไม่จับ คนถูกจับจะรู้สึกอย่างไร มันใช้ไม่ได้ มันไม่เป็นธรรม
ผมว่าเรื่องวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองไม่ต้องโทษใคร นอกจากโทษตำรวจ คุณต้องรู้ว่าคุณเป็นใคร มีหน้าที่อะไร ที่ผมโทษคุณเพราะคุณไม่ทำตามหน้าที่ ไม่ทำตัวให้เป็นตำรวจของประชาชน กลับเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความวุ่นวาย เวลาผมไปมอบแนวทางในการทำงานกับหน่วยต่างๆผมก็พูดแบบนี้ ตำรวจต้องไม่เลือกสีโน้นสีนี้ หรือขึ้นกับว่าเป็นพวกใคร คุณต้องทำตามหน้าที่ คุณต้องเป็นตำรวจของประชาชน ใครผิดใครถูกก็ว่ากันไปตามผิดตามถูก อย่าไปสนใจอย่างอื่น มันจะเกิดความเป็นธรรม ประชาชนก็จะเชื่อถือคุณ หากคุณทำตัวไม่ดี ประชาชนไม่เชื่อถือคุณ คุณก็ทำงานลำบาก ” พล.ต.อ.ธานี กล่าว
ตั้งใจบวชหลังเกษียณ
สำหรับชีวิตหลังเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2552 ของนายตำรวจมือปราบผู้นี้นั้น เขาบอกว่าตั้งใจจะอุปสมบทเพื่อเอาบุญให้คุณพ่อคุณแม่ และแสวงหาความสงบทางใจ โดยคิดไว้ว่าจะบวชที่วัดในจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นบ้านเกิด เป็นเวลา 1 เดือน ส่วนหลังจากลาสิกขาแล้วเขาจะทำอะไรต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้คิด
“ ถ้าถามว่าการทำงานที่ผ่านมาถูกการเมืองกดดันเยอะ เครียดไหม ผมก็ไม่เครียดนะ อาจเป็นเพราะผมชอบนั่งสมาธิเลยไม่ยึดกับอะไร คือทั้งชีวิตไม่เคยคิดว่าจะก้าวมาเป็นนายพล เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หรือเป็น รอง ผบ.ตร. เพราะการได้ตำแหน่งแต่ละครั้งต้องคิดแล้วคิดอีก ที่คิดมากคือจะเอาเงินที่ไหนมาทำงาน ต้องควักกระเป๋าอีกแล้วหรือ ตอนจะเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนี่ พูดแบบไม่อายเลยว่าต้องไปถามลูกเมียก่อน ถ้าเป็นแล้วต้องใช้จ่ายเงินอีกเท่าไร เพราะเราเป็นหัวหน้าครอบครัว แล้วทรัพย์สินทั้งหมดทุกคนในครอบครัวมีส่วนเป็นเจ้าของ พอลูกตอบว่าถ้าย่ายังอยู่ ย่าก็ต้องให้พ่อเป็น ผมก็เลยตกลงรับตำแหน่ง
ตอนนี้ก็ใกล้จะเกษียณแล้ว หลังเกษียณก็คิดว่าจะไปบวชสักเดือนหนึ่ง ไปหาความสงบทางใจ (หัวเราะ) ส่วนสึกออกมาแล้วจะทำอะไรก็ค่อยว่ากัน ” พล.ต.อ.ธานี กล่าวตบท้ายถึงอนาคตที่วางไว้หลังเกษียณอายุราชการ
* * * * * * * * * * *
ประวัติ
ชื่อ - พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์
ตำแหน่ง - รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
วัน เดือน ปีเกิด - 24 ธ.ค. 2491
สถานภาพ - สมรส
ภรรยา - นางชัชชมา สมบูรณ์ทรัพย์ อายุ 50 ปี
บุตร - น.ส.สดีธรณ์ สมบูรณ์ทรัพย์ อายุ 24 ปี ศึกษาระดับปริญญาโท
คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ภูมิลำเนา - จ.ชลบุรี
วันบรรจุเป็นสัญญาบัตร - 1 เม.ย. 2516
วันรับยศ พล.ต.ต. - 1 ต.ค. 2538
คุณวุฒิแต่งตั้ง - นิติศาสตร์บัณฑิต (นิติ 11) ม.ธรรมศาสตร์
คุณวุฒิเพิ่มเติม
- ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา
- หลักสูตรฝ่ายอำนวยการ รุ่นที่ 4 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
- หลักสูตรการบริหารตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 12
- สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ
* * * * * * * * * * *
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน