ความคืบหน้าการคลี่คลายคดีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เผยหลัง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) ผู้กำกับดูแลคดีนี้ เข้าพบว่า ยังคงมีอุปสรรคในการทำคดี โดยเป็นผู้ที่อยู่ในราชการ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ขอเวลาหารือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงก่อน ท่ามกลางข่าวลือว่าจะมีการปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.เนื่องจากเป็นอุปสรรคในการคลี่คลายคดี ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่งสัญญาณอุ้ม พล.ต.อ.พัชรวาท โดยบอกว่า ไม่ทราบจะเปลี่ยนทำไม เพราะไม่เคยได้ยินว่า ผบ.ตร.เป็นอุปสรรคในการทำงานนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค.นายอภิสิทธิ์ ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า อาจมีการปลด พล.ต.อ.พัชรวาท โดยบอกว่า “จะคุยกับนายสุเทพเกี่ยวกับคดีนี้ และคงจะมีข้อยุติ ต้องดูว่าสิ่งที่จะทำ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง” เมื่อถามว่า นายสุเทพยืนยันว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่มีปัญหา นายอภิสิทธิ์ บอกว่า “ผมอ่านข่าวว่าท่านบอกว่าอยู่ที่ผม” ด้านนายสุเทพ พูดถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ขอหารือก่อนตัดสินใจว่าจะโยกย้าย พล.ต.อ.พัชรวาทหรือไม่(28 ก.ค.)ว่า ยังไม่ได้เจอนายกฯ แต่ถ้าจะปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ผบ.ตร.เป็นอำนาจของนายกฯ อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ ยืนยันอีกครั้งว่า “ข้อมูลที่ตนได้จากผู้เกี่ยวข้องกับคดีทุกคน ไม่มีข้อมูลตรงไหนบ่งชี้ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทเป็นอุปสรรคในการทำคดี” เมื่อถามว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ พล.ต.อ.พัชรวาท จะไม่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลใช่หรือไม่ นายสุเทพ บอกว่า “ไม่คิดว่ามีปัญหาอะไร ทำเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง” เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอภิสิทธิ์ได้ปิดห้องหารือกับนายสุเทพระหว่างเข้าอวยพรวันเกิดครบรอบ 71 ปีของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 28 ก.ค. แต่นายอภิสิทธิ์ อ้างว่า ยังไม่ได้หารือ และว่า จะคุยกับนายสุเทพบนรถระหว่างเดินทางไปพัทยา วันต่อมา(29 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เผยว่า “ได้คุยกับนายสุเทพเรียบร้อยแล้ว มีแนวทางที่ต้องทำเพื่อให้คนที่จะทำหน้าที่มีความมั่นใจว่า จะสามารถเดินต่อไป” และว่า คิดว่าไม่เกินวันที่ 31 ก.ค.ทุกอย่างจะชัดเจน ด้านนายสุเทพ เผยในวันเดียวกันว่า คุยกับนายอภิสิทธิ์แล้ว ยืนยันความเห็นเดิมว่า ไม่ควรปลด พล.ต.อ.พัชรวาท เพราะไม่มีความผิดอะไร แต่นายกฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะปลด ผบ.ตร.หรือไม่ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม พี่ชาย พล.ต.อ.พัชรวาท พูดถึงข่าวอาจมีการปลด พล.ต.อ.พัชรวาทว่า “ต้องไปถามนายกฯ และนายสุเทพ แต่อยากเรียนว่า พล.ต.อ.พัชรวาทผิดอะไร” ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เปิดแถลง(29 ก.ค.)กรณีถูกลอบสังหารว่า “ขบวนการที่ยิงผม เท่าที่ทราบมี 14 คน เป็นทหาร 13 คน ตำรวจ 1 คน และทหารมีพื้นเพมาจากป่าหวายทั้งหมด บางคนบอกว่า คนในดีเอสไอเป็นคนวางแผนฆ่าผม แต่ผมก็บอกว่าคนในดีเอสไอคงจะไปสั่งทหารป่าหวายไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นน่าจะเป็นกฐินสามัคคี ผมไม่ติดใจอะไร จับได้ก็ได้ จับไม่ได้ก็ต้องถือเป็นโชคร้ายบ้านเมือง คนอย่างผมถูกลอบสังหารได้ อย่างนายอภิสิทธิ์หรือสูงกว่านายกฯ ก็ต้องถูกสังหารได้โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น” นายสนธิ ยังยืนยันด้วยว่า “คนที่ลอบสังหารผมไม่ใช่มือปืนรับจ้าง แต่เป็นทหารอาชีพอยู่หน่วยเฉพาะกิจ(ฉก.) 90 ...ไปดูเว็บไซต์ได้ ฉก.90 ว่าใครสั่ง ฉก.90 คนเดียวเท่านั้น ขึ้นตรงกับคนคนเดียว แล้วคนที่ลอบสังหารผมจะโยกย้ายไปอยู่ที่ไหนเพื่อกลบเกลื่อนก็เป็น ฉก.90 เป็นทหารป่าหวาย ก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าใครเป็นคนยิงผม ...ฉะนั้น คุณอภิสิทธิ์จะไม่ย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท เพียงเพราะต้องการประสานประนีประนอมกับฝ่ายทหารหรือทางการเมือง ก็เป็นเรื่องของเขา อนาคตทางการเมืองต้องถูกตัดสินด้วยการตัดสินใจของเขา” นายสนธิ ยังแฉด้วยว่า “มีความพยายามส่งเจ้าหน้าที่มาพูดคุยกับคนของผม พยายามชี้ให้เห็นว่าผิดเป้าหรือไม่ น่าจะเป็นทีมงานดีเอสไอ ผมว่าไม่ผิดเป้าหรอก เป็นการร่วมมือระหว่างดีเอสไอกับทหาร เป็นกฐินสามัคคี คนจ่ายเงินอยู่ที่เมืองนอก โยงมาถึงสายสัมพันธ์ต่างๆ และมาร่วมจับมือกัน เพราะผมเป็นอันตรายต่อพวกเขา” ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กรณีที่นายสนธิระบุว่า ฉก.90 เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารตน โดย พล.อ.อนุพงษ์รีบขึ้นรถประจำตำแหน่งด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ขณะที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก บอกว่า “ที่นายสนธิออกมาพูดว่า ขบวนการลอบสังหารเป็นทหารจากป่าหวายนั้น เป็นเพียงกระแสข่าวจากการวิพากษ์วิจารณ์ของคนบางกลุ่ม กองทัพจึงไม่ต้องดำเนินการตรวจสอบ” พ.อ.สรรเสริญ เผยก่อนหน้านี้ด้วยว่า ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 ได้มีคำสั่งปลด จ.ส.อ.ปัญญา ศรีเหรา ทหารสังกัดหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ 1 ในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดีลอบสังหารนายสนธิแล้วเมื่อวันที่ 16 ก.ค.เนื่องจากเข้าข่ายผิดกฎหมายทหาร 2 ข้อ คือ ลาราชการเกิน 3 วัน และหนีหมายจับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ตระกูล “วงษ์สุวรรณ”ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาทเป็น ผบ.ตร.และมี พล.อ.ประวิตรเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ได้ออกมาเปิดศึกกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล โดย พล.อ.นพดล อินทปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีกลาโหม บอกว่า ครอบครัว “วงษ์สุวรรณ”ทนไม่ไหวแล้ว เพราะถูกเล่นงานฝ่ายเดียว พล.อ.ประวิตรจึงให้ พล.ต.อ.พัชรวาท น้องชาย ไปฟ้องเอเอสทีวีและพวกที่กล่าวหา ตอนนี้ไม่ยอมแล้ว จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะถือว่ายอมมามากแล้ว จะเดินหน้าฟ้องตามกฎหมายทุกอย่าง หรือนอกกฎหมายก็จะทำ” ทั้งนี้ มีข่าวว่า หาก พล.ต.อ.พัชรวาท ถูกปลด พล.อ.ประวิตรจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อถึงกำหนดที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ บอกว่า จะให้ความชัดเจนเรื่องการคลี่คลายคดีลอบสังหารนายสนธิ รวมทั้งเรื่องการโยกย้าย พล.ต.อ.พัชรวาทในวันที่ 31 ก.ค. ปรากฏว่า ในช่วงเช้า นายอภิสิทธิ์ได้พยายามหลบผู้สื่อข่าว จากนั้นในช่วงสาย นายอภิสิทธิ์ได้ปิดห้องคุยกับ พล.ต.อ.พัชรวาท และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ ที่บ้านพิษณุโลก โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ก่อนเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ กระทั่งช่วงเย็น หลังเป็นประธานเปิดตัวโครงการลดภาวะโลกร้อน ที่ห้างสรรพสินค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม นายอภิสิทธิ์ จึงได้ให้สัมภาษณ์ถึงการคลี่คลายอุปสรรคในการสอบสวนคดียิงนายสนธิ โดยไม่มีการปลด พล.ต.อ.พัชรวาทตามที่นายอภิสิทธิ์ได้เคยส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ แต่ออกมาในลักษณะว่า พล.ต.อ.พัชรวาทขอลาหยุดเพื่อไปปฏิบัติราชการในต่างประเทศแทน โดยนายอภิสิทธิ์ บอกว่า “ผบ.ตร.ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเข้ามาให้แล้ววันนี้(31 ก.ค.) ว่า มี 2 สิ่งที่จะช่วยให้บรรยากาศต่างๆ เดินไปข้างหน้าได้ 1.ปัญหาการโยกย้ายแต่งตั้งทั้งหมด(นายพล 152 คน) และการแต่งตั้งโยกย้ายที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างใหม่ ควรถูกระงับและทบทวนและเปิดโอกาสให้ ผบ.ตร.คนใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ต่อในวันที่ 1 ต.ค.เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแต่งตั้งโยกย้าย 2.ผบ.ตร.รายงานให้ทราบว่า มีภารกิจที่ต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ...จึงถือโอกาสขอลาหยุด...คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 กว่าวัน และอาจจะมีการลาเพิ่มเติม โดยจะเริ่มต้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งตนคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เพียงพอที่จะทำให้คดีต่างๆ มีความคืบหน้า โดยไม่มีใครสามารถครหาได้ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทเข้ามาเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงอะไร ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เรายังไม่พบหลักฐานอะไรที่บอกว่า พล.ต.อ.พัชรวาทเป็นอุปสรรคหรือปัญหา” ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในช่วงค่ำ โดยพูดแบบไม่ไว้หน้านายอภิสิทธิ์ว่า “การลาพักงาน ไม่มีอยู่แล้ว เรื่องที่นายกฯ ออกมาพูด ตนไม่ได้ฟัง และไม่ได้ทำหนังสือเสนอทางออกอะไร เป็นเพียงการหารือกัน และไม่มีการยื่นหนังสือเพื่อขอลาพักไปราชการที่ต่างประเทศแต่อย่างใด แต่มีทริปต้องเดินทางไปราชการที่ประเทศจีนในฐานะ ผบ.ตร. ตามการแลกเปลี่ยนเชื่อมสัมพันธ์ ปีละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 วัน ซึ่งตนต้องไป 1 ครั้ง ครั้งนี้เป็นจังหวะที่ต้องไปพอดี ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าไปเมื่อไหร่ วันที่ 3 ส.ค.จะมาปฏิบัติราชการปกติ” พล.ต.อ.พัชรวาท ยังเตือนนายอภิสิทธิ์ที่บอกว่า เรื่องแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจควรระงับและทบทวนด้วยว่า อาจถูกฟ้องได้ “การแต่งตั้งนายพล 152 ตำแหน่งนั้น ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ไปแล้ว ซึ่งถ้ามีการปรับเปลี่ยนผู้ที่มีชื่อในการแต่งตั้งแล้ว อาจมีปัญหาฟ้องร้องกันได้ ตรงนี้ก็ต้องดูให้ดี” เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากการแก้ปมอุปสรรคในการคลี่คลายคดียิงนายสนธิ จะจบลงด้วยการที่นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า พล.ต.อ.พัชรวาทไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อคดีแล้ว ปรากฏว่า ทางนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ยังได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการกล่าวหาว่า พล.ต.อ.พัชรวาทเป็นอุปสรรคหรือเป็นตอในคดีนี้ด้วย โดยคณะกรรมการได้เรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ประกอบด้วย พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วย ผบ.ตร.และ พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผกก.6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ซึ่งอยู่ในชุดคลี่คลายคดียิงนายสนธิ แต่ถูก พล.ต.อ.พัชรวาทสั่งกลับต้นสังกัด และนายอภิสิทธิ์ได้สั่งให้อยู่ช่วยคดียิงนายสนธิต่อ ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดถึงการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์กรณีไม่ปลด พล.ต.อ.พัชรวาทว่า ดูแล้วยังอึมครึมและเป็นการแก้ปัญหาภายในรัฐบาลมากกว่าที่จะแก้ปัญหาที่สังคมคลางแคลงใจ ดังนั้น นายกฯ ต้องตอบคำถามให้ชัด 3 ข้อ 1.จะตั้งใครเป็นรักษาการ ผบ.ตร. 2.ที่บอกว่าระหว่างนี้จะไม่ทำโผโยกย้ายจนกว่าจะมี ผบ.ตร.คนใหม่นั้นจริงหรือไม่ 3.ความชัดเจนเรื่อง “ตอ”ยังไม่มี เป็นแค่การสร้างบรรยากาศให้ทีมสอบสวน โดยที่ยังไม่แน่ใจว่าทีมสอบสวนจะมีจิตใจที่จะสอบสวนต่อหรือเปล่า เพราะด้านหนึ่งถูกสอบสวนโดยกรรมการฐานให้ร้ายผู้บังคับบัญชาที่ออกมาพูดเรื่องตอ
2. “เสื้อแดง”คุย ได้ 4 ล้านชื่อร่วมถวายฎีกา ขณะที่ “ทักษิณ”ลั่น พร้อมตอบแทนบุญคุณ ด้าน “26 อธิการบดี”เคลื่อนคัดค้าน!
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังประกาศจัดพิธีทำบุญวันคล้ายวันเกิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีจำคุก 2 ปี ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดในวันที่ 26 ก.ค.โดยศูนย์กลางการจัดงานอยู่ที่วัดแก้วฟ้า จ.นนทบุรี พร้อมคุยว่า ในงานจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอาจมีการใช้เทคโนโลยีระดับสูงหรือไฮโลแกรม เพื่อให้ภาพ 3 มิติเสมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณมาร่วมงานด้วยตัวเองนั้น ปรากฏว่า เมื่องานมีขึ้นจริง กลับไม่มีไฮโลแกรมแต่อย่างใด มีเพียงภาพ พ.ต.ท.ทักษิณขนาดเท่าตัวจริงมาใช้ประกอบพิธีกรรมเท่านั้น โดยมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นประธานในพิธี ซึ่งมีทั้งพิธีตัดกรรม และพิธีคว่ำบาตร-หงายบาตร เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณหมดกรรมและมีชัยชนะเหนือศัตรู นอกจากนี้ยังมีการเปิดวีซีดี พ.ต.ท.ทักษิณ ครวญเพลง “ฉันจะกลับมา” รวมทั้งการต่อสัญญาณให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้พูดคุยกับคนเสื้อแดง ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณได้ประกาศจะทำทีวีนับ 100 ช่อง เพื่อขายสินค้าโอท็อปไปทั่วโลก รวมทั้งจะถ่ายทำชีวิตคนจนในไทยแบบเรียลิตี้ และทีวีเพื่อการศึกษา เป็นที่น่าสังเกตว่า ในงานบุญวันคล้ายวันเกิด พ.ต.ท.ทักษิณ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พูดกับคนเสื้อแดงในลักษณะที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นเบื้องสูง โดยบอกว่า “บิ๊กเซอร์ไพรส์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณทำวันนี้ ยังไม่เท่ากับเสียงประชาชนคนรักทักษิณที่มีมากขนาดนี้ หลังจากนี้จะเดินตามมติประชาธิปไตย โดยมติประชาชนต้องการนำคนที่ทำความดีกลับมาสู่ประเทศอีกครั้ง เอาอำนาจที่บดบังประชาชนออกไป ครอบครัวชินวัตรและ พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ลืมบุญคุณ เราจะรวบรวมเสียงทั่วประเทศเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราต้องการปกครองโดยมติของประชาชน ไม่ลดละเอาระบอบประชาธิปไตยคืนมา เราต้องการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่อย่าให้อำนาจที่เหนือกว่าประชาชนเข้ามาบดบัง” ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ก็พูดกับคนเสื้อแดงถึงการล่าชื่อถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในลักษณะที่หมิ่นเหม่เช่นกัน “หากมีจำนวนรายชื่อมาก จะทำให้มีบางคนแอบอิจฉา หัวใจของคนบางคนจะเต้นเร็ว เผลอๆ คนคนนั้นจะไปก่อนทักษิณ ซึ่งเราจะถวายฎีกาข้ามหัว พล.อ.เปรมไปเลย” นายจตุพร ยังประกาศด้วยว่า “มั่นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะสามารถเดินทางกลับประเทศไทยในฐานะผู้บริสุทธิ์ได้ภายในปีนี้ เมื่อวันที่กลับมา จะเป็นวันที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศชัยชนะอย่างเป็นทางการ และเป็นวันที่ไทยหลุดพ้นจากระบอบอำมาตยาธิปไตย” ขณะที่กระแสห่วงกังวลและคัดค้านการล่าชื่อถวายฎีกาของกลุ่มเสื้อแดงยังปรากฏอย่างต่อเนื่อง โดยนายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า การเมืองควรแก้ปัญหาด้วยการเมือง ไม่ควรให้สถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ในหลายเรื่อง ด้านคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ได้รายงานผลการศึกษาในช่วง 6 เดือนให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีคนกลุ่มหนึ่งประสานแนวรบทุกด้าน ทั้งมวลชน สภา และสื่อสารมวลชนรูปแบบต่างๆ โดยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น ทั้งการถวายฎีกา ,การจัดงานวันเกิด ,การจัดกิจกรรมใกล้พระราชวังไกลกังวล ซึ่งรัฐบาลต้องตระหนักว่าไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นสถานการณ์ของสงคราม ดังนั้น รัฐบาลต้องใช้หลักนิติรัฐบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ขณะที่แกนนำพรรคภูมิใจไทย ได้แถลงจุดยืนคัดค้านการล่าชื่อถวายฎีกาของกลุ่มเสื้อแดง พร้อมขึ้นป้ายขนาดใหญ่หลายจุดใน กทม.ข้อความว่า “หยุดดึงฟ้าต่ำ หยุดทำหินแตก หยุดแยกประชาชน หยุดล่ารายชื่อถวายฎีกา” รวมทั้งรณรงค์แจกจ่ายสติ๊กเกอร์ข้อความดังกล่าว ทั้งนี้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดตั้งโต๊ะเพื่อบริการประชาชนที่ต้องการถอนชื่อออกจากการร่วมถวายฎีกากับกลุ่มเสื้อแดงด้วย ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ได้ออกมาโต้ว่า พรรคภูมิใจไทยควรจะทำสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความว่า “หยุดทำมาหาแดก หยุดแลกคดี หยุดรับใช้ขันที หยุดเกมล้มฎีกา” เอาไว้ดูกันภายในพรรคบ้าง ขณะที่อีกหลายภาคส่วนในสังคมได้แถลงคัดค้านการล่าชื่อถวายฎีกาของกลุ่มเสื้อแดงเช่นกัน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ,สหพันธ์ครูแห่งประเทศไทย ,ชมรมรักในหลวง ,สมาคมแท็กซี่มิเตอร์ ,ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ ด้านที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ที่มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ 26 แห่งเข้าร่วม(31 ก.ค.)ก็มีมติคัดค้านการเข้าชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเช่นกัน โดยได้รวบรวมรายชื่ออธิการบดีและจัดทำหนังสือส่งถึงราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ขอให้ยับยั้งการนำฎีกาขึ้นถวาย ทั้งนี้ ทปอ.ให้เหตุผลที่คัดค้านการถวายฎีกาครั้งนี้ว่า ฎีกาดังกล่าวมิใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามประมวลกฎหมายอาญา และขัดต่อพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ,ฎีกาดังกล่าวมิใช่ฎีการ้องทุกข์ขอความเป็นธรรม แต่เป็นฎีกาที่มุ่งหมายให้พระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมิใช่ผู้ขอถวายฎีกา ,ฎีกาดังกล่าว มุ่งประสงค์ให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจก้าวล่วงองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย โดยขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งเด็ดขาดแล้วให้จำคุก และยังคงมีคดีค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาอีกหลายคดี นอกจากนี้ฎีกาดังกล่าวยังมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองชัดเจน และการนำเอาข้อขัดแย้งในทางการเมืองที่มีผู้เห็นแตกต่างกันอยู่หลายฝ่าย ขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรงลงพระราชวินิจฉัย เป็นเรื่องไม่บังควรอย่างยิ่ง เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาสู่ความขัดแย้งเป็นการฝักฝ่ายทางการเมืองโดยตรง ฯลฯ ด้านที่ประชุมองคมนตรี ก็ยืนยันเช่นกันว่า การล่าชื่อถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น เป็นเรื่องที่ไม่บังควร ไม่ถูกต้องและข้ามขั้นตอน โดย พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี เผย(29 ก.ค.)ว่า ที่ประชุมองคมนตรี สรุปว่า การที่กลุ่มเสื้อแดงเดินหน้าล่ารายชื่อเพื่อยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ผู้ที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดต้องรับโทษไปตามคำพิพากษา จะข้ามขั้นตอนโดยการยื่นถวายฎีกาก่อนรับโทษไม่ได้ อีกทั้งยังถือเป็นการกดดันพระราชวินิจฉัย ซึ่งเป็นการไม่บังควร ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ได้ออกมาประกาศแบบไม่ไว้หน้าองคมนตรีและประธานองคมนตรีว่า “วันนี้ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.เปรม พล.อ.สุรยุทธ์ พล.อ.พิจิตร หรือใครก็ตาม เขาไม่มีทางมาหยุดยั้งคนเสื้อแดงได้” นายจตุพร ยังยืนยันด้วยว่า การกำหนดยื่นรายชื่อถวายฎีกาในวันที่ 7 ส.ค.ไม่ใช่เพราะวันดังกล่าวตรงกับวันเสียงปืนแตกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่เป็นวันศาสตราจารย์รพี บิดาแห่งนักกฎหมายไทย ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นกรณีที่องคมนตรีระบุว่า การเข้าชื่อถวายฎีกาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยบอกว่า ไม่ขอแสดงความเห็นและไม่ได้แจ้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณทราบ แต่ขอบคุณประชาชนที่อยากช่วยเหลือ พร้อมยืนยัน คนตระกูลชินวัตรจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างแน่นอน ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ย้ำกับหัวหน้าส่วนราชการ(30 ก.ค.)ว่า การเข้าชื่อเพื่อถวายฎีกาที่เคลื่อนไหวกันอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่การขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะการขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องทำโดยเจ้าตัวหรือครอบครัว หากเป็นฎีกาเรื่องการเมือง ก็ต้องคิดว่าเหมาะสมหรือไม่ขอให้ทุกส่วนราชการให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแก่ประชาชนผ่านเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งสื่อของภาคราชการด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดรายการพิเศษให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนเกี่ยวกับการถวายฎีกา โดยให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ออกรายการสดพร้อมเชิญนักวิชาการมาร่วมให้ความรู้ด้วยเมื่อคืนวันที่ 31 ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มเสื้อแดงจัดชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ร่วมถวายฎีกาเป็นวันสุดท้าย โดยแกนนำ นปช.ประกาศบนเวทีว่า มีผู้ร่วมลงชื่อถวายฎีกากว่า 4.1 ล้านคน ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินเข้ามาพูดคุยกับคนเสื้อแดงว่า “รู้สึกตื้นตันใจและสำนึกในบุญคุณประชาชน อยากจะเข้าไปตอบแทนบุญคุณด้วยการทำงานให้ประชาชน ก็ยังไม่ได้เข้าไป เมื่อไหร่ได้เข้าไป จะทำงานตอบแทนบุญคุณ เพราะถ้าไม่ทำ คงนอนตายตาไม่หลับ”
3. “ป.ป.ช.” มีมติเพิ่มข้อหาคดี 7 ตุลาฯ “พัชรวาท” ผิดทั้งวินัยร้ายแรงและอาญา!
ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้เคยมีมติตั้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องกรณีใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ไปแล้วนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีดังกล่าว ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนเป็นคณะทำงานไต่สวนแล้ว จึงสรุปสำนวนการไต่สวนพร้อมมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับนายตำรวจ 3 คน โดยเป็นระดับรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 2 คน และตำรวจระดับสูงอีก 1 คน สำหรับตำรวจระดับสูงดังกล่าว เคยถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว แต่จะเพิ่มเติมจากผิดวินัยไม่ร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อ มาเป็นผิดวินัยร้ายแรงและผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นายกล้านรงค์ บอกด้วยว่า จะทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลทั้งสาม เพื่อให้มาแก้ข้อกล่าวหาภายในวันที่ 3 ส.ค. และคาดว่าจะชี้มูลความผิดได้ในกลางเดือน ส.ค.นี้ ทั้งนี้ แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.เผยว่า ตำรวจระดับสูงที่ถูก ป.ป.ช.เพิ่มข้อกล่าวหา ก็คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนสาเหตุที่ ป.ป.ช.เปลี่ยนข้อหา พล.ต.อ.พัชรวาท จากผิดวินัยไม่ร้ายแรง เป็นผิดวินัยร้ายแรงและผิดทางอาญาด้วย เนื่องจากมีหลักฐานและพยานหลักฐานซัดทอดว่า พล.ต.อ.พัชรวาทอยู่ในที่เกิดเหตุ พร้อมสั่งการให้สลายการชุมนุมด้วย ส่วนรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาอีก 2 คน คือ พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ และ พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา ส่วนสาเหตุที่ ป.ป.ช.ไม่อยากเปิดเผยชื่อนายตำรวจทั้งสาม เนื่องจากเกรงประชาชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นการชี้มูลความผิด ซึ่งไม่ใช่ ขณะนี้เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเท่านั้น เมื่อบุคคลทั้งสามมาแก้ข้อกล่าวหาแล้ว อาจจะไม่มีความผิดก็ได้ ด้านนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะผู้รับผิดชอบคดี 7 ตุลาฯ ยืนยันว่า การแจ้งข้อหาผิดวินัยร้ายแรงและผิดทางอาญาแก่ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้พิจารณาไปตามพยานหลักฐานที่มีเหตุให้ต้องแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ไม่ใช่ใบสั่งทางการเมือง และไม่มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า ป.ป.ช.ไม่เล่นการเมืองอยู่แล้ว เป็นผู้พิพากษามา 30 กว่าปี ไม่คิดนำชื่อเสียงมาทิ้ง
4. “อัยการสูงสุด”เห็นตาม “ผบ.ตร.”สั่งฟ้อง 15 “นปช.”คดีก่อจลาจลหน้าบ้านป๋าเปรม!
ความคืบหน้าคดีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ก่อความไม่สงบหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 ที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งฟ้องแกนนำ นปช.15 คนต่ออัยการ ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ ,นายจักรภพ เพ็ญแข ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ,นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ,นพ.เหวง โตจิราการ ,พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ,นายจรัญ ดิษฐาอภิชัย ,นายมานิต จิตต์จันทร์กลับ ,นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล ,นายบรรธง สมคำ ,นายวีระยุทธ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ,นายศราวุธ หลงเส็ง ,นายวีระศักดิ์ เหมธุริน และนายวันชัย นาพุทธา โดยส่งฟ้องใน 2 ข้อหา คือ มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกกระทำดังกล่าวแล้วไม่เลิก โดยมีโทษจำคุก 3 ปี และข้อหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มีโทษจำคุก 5 ปี แต่ทางอัยการ โดยนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในระดับแกนนำถึง 13 คน ทำให้ต้องส่งเรื่องกลับไปให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่าจะเห็นแย้งคำสั่งของอัยการหรือไม่ ในที่สุด พล.ต.อ.พัชรวาทเห็นแย้ง โดยเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด จึงได้ส่งเรื่องให้นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้ขาดว่าจะเห็นตาม ผบ.ตร.หรือเห็นแย้งนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายสุวิทย์ ดิษฐแพ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอัยการสูงสุด เผยว่า อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นแย้งของ ผบ.ตร. และว่า “เมื่ออัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง ขั้นตอนต่อไปจะส่งสำนวนและความเห็นของอัยการสูงสุดกลับไปให้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาผู้รับผิดชอบ เพื่อร่างคำฟ้อง และเรียกตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหา ก่อนนำตัวยื่นฟ้องศาลต่อไป” ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงมีการสั่งฟ้องพวกตนในวันที่เสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่(31 ก.ค.)เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนถวายฎีกา ทั้งที่ก่อนหน้านี้อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง “แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะกระบวนการถวายฎีกาจะไม่มีใครมาหยุดได้ ถึงแม้ว่าจะมีการจับกุม คุมขัง แกนนำคนเสื้อแดงหรือแม้กระทั่งเอาไปฆ่าให้ตาย ก็จะมีผู้เข้ามาขับเคลื่อนกระบวนการถวายฎีกาต่อ” ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย บอกว่า ฝากไปถึง พล.อ.เปรม และนายอภิสิทธิ์ว่า หากยังไม่ยุติการขัดขวางการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อถวายฎีกา รวมทั้งคดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ คนเสื้อแดงอาจจะต้องไปย้อนรำลึกคดีนี้กันที่บ้านสี่เสาฯ อีกครั้ง
5. ไทย พบหวัดใหญ่ 2009 แพร่เชื้อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ คาด รายแรกของโลก ด้าน “สธ.”เตรียมกระจายยาต้านฯ ให้คลินิกทั่ว ปท.!
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในไทย ยังคงมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อวันที่ 29 ก.ค. นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงว่า ตั้งแต่วันที่ 22-28 ก.ค. มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2,103 ราย เป็น 8,879 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 21 ราย เป็น 65 ราย และว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิต มี 21 รายที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากที่สุด มีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรค ส่วนอีก 24 ราย ไม่มีโรคประจำตัว แต่เข้ารับการรักษาช้าหลังป่วยแล้ว 6 วัน ทำให้ยาต้านไวรัสไม่ได้ผล นอกจากนี้มีการตัดยอดผู้ป่วยที่เสียชีวิตจาก 66 ราย เหลือ 65 ราย เนื่องจากโรงพยาบาลรามาธิบดีแจ้งผลการชันสูตรศพพบว่า ผู้ป่วย 1 ราย เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ไม่ใช่จากไข้หวัดใหญ่ 2009 ด้าน นพ.อดิศร ภัทราดูรย์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แถลง(26 ก.ค.)ว่า ทางโรงพยาบาลได้รับตัวหญิง อายุ 26 ปี ชาว จ.ราชบุรี เข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยส่งต่อมาจากโรงพยาบาลราชบุรี หลังจากโรงพยาบาลราชบุรีได้ผ่าตัดทำคลอดให้หญิงดังกล่าว เพื่อช่วยชีวิตทารกที่อายุครรภ์เพียง 7 เดือน เนื่องจากพบว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้แพร่ไปสู่ทารกในครรภ์ด้วย คาดว่า ทารกติดเชื้อจากน้ำคร่ำของมารดา โดยล่าสุด หญิงดังกล่าวได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ก.ค.เนื่องจากปอดถูกทำลาย ด้าน นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก(WHO) ประจำประเทศไทย บอกว่า ไม่ทราบว่ากรณีที่เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แพร่จากแม่สู่ลูกในครรภ์รายนี้นับเป็นรายแรกของโลกหรือไม่ เพราะโรคนี้เป็นโรคใหม่ แต่เชื่อว่า เร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลกจะออกมาแสดงคิดเห็นถึงกรณีนี้ว่า แต่ละประเทศควรจะรับมืออย่างไร ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค(ซีดีซี)ของสหรัฐฯ เผยผลวิจัยว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 มีโอกาสที่โรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข เผยว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยกว่าร้อยละ 30 เสียชีวิต เนื่องจากได้รับยาช้า บางคนป่วยอยู่กับบ้านนาน แล้วเพิ่งไปพบแพทย์ ส่งผลให้เชื้อแพร่ลงถึงปอด ทำให้ยุ่งยากในการรักษา โดยพบว่าผู้เสียชีวิตหลายรายเริ่มต้นจากการรักษาที่คลินิกมาก่อน ดังนั้น จึงได้กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ไปยังคลินิกด้วย โดยเริ่มนำร่องแห่งแรกที่ จ.ราชบุรี ด้านที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน มีมติเห็นด้วยที่จะให้คลินิกเอกชนสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและสงสัยว่าจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่คลินิกที่เข้าโครงการจะต้องกระทำภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการกำหนด 8 ข้อ เช่น ต้องเป็นคลินิกที่มีแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น ,คลินิกต้องส่งรายงานหลักฐานการจ่ายยาและอาการไม่พึงประสงค์ให้สาธารณสุขจังหวัดหรือกระทรวงสาธารณสุขทุกวัน ,คลินิกจะต้องมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ฯลฯ ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข บอกว่า จะเร่งกระจายยาต้านไวรัสลงคลินิกให้รวดเร็วที่สุดตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.เป็นต้นไป โดยจะกำหนดให้คลินิกละ 5 ชุด และจะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไม่อนุญาตให้คลินิกเอกชนซื้อยาต้านไวรัสจากบริษัทเอกชนรายอื่น เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณการใช้ยาได้ และห้ามคลินิกคิดค่ายาต้านไวรัสกับประชาชนที่ไปใช้บริการ เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ลงทุน ด้านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ได้อนุมัติงบฯ กลางให้กระทรวงสาธารณสุข 450 ล้านบาท จากที่ขอไป 756 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 รวมทั้งจัดซื้อยาซานามีเวียร์ 20,000 ชุด ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสใช้สำรองกรณีที่ผู้ติดเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ,ซื้อเครื่องช่วยหายใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ 2009 นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า เหตุที่ต้องตัดวงเงินงบฯ จาก 756 ล้าน เหลือ 450 ล้าน เนื่องจากสำนักงบประมาณเห็นว่า ยอดเงิน 450 ล้านน่าจะเพียงพอต่อการใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว.