xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 12-18 ก.ค.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “กกต.” ฟัน “13 ส.ส. ปชป.” ถือหุ้นขัด รธน. ด้าน “สุเทพ” ชิงลาออกจาก ส.ส. แต่ยังเกาะเก้าอี้รองนายกฯ แน่น!
สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นอดีต ส.ส.แล้ว
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประชุมพิจารณาผลการสอบสวนของคณะกรรมการไต่สวนกรณีนายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย เมื่อครั้งเป็นรองโฆษกพรรคพลังประชาชน ได้ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) 28 คน ว่ากระทำการต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 48 ที่ห้ามถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ และมาตรา 265 ที่ห้ามถือครองหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐหรือไม่ ซึ่งหากเข้าข่ายกระทำการต้องห้ามดังกล่าว จะเป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงตามมาตรา 106(6) ทั้งนี้ กกต.เสียงข้างมากมีมติว่า ส.ส.13 คนถือครองหุ้นในบริษัทที่เข้าลักษณะต้องห้าม ส่วน ส.ส.อีก 14 คน กกต.ยกคำร้อง เพราะเห็นว่าถือหุ้นที่ไม่เข้าข่ายต้องห้าม ขณะที่ ส.ส.อีก 1 คน กกต.ไม่ได้พิจารณา เพราะลาออกจากการเป็น ส.ส.แล้ว คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สำหรับ ส.ส.13 คนที่ กกต.เห็นว่าต้องพ้นสมาชิกภาพ เพราะถือหุ้นเข้าข่ายต้องห้าม ประกอบด้วย 1.น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธุ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้นบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 2.นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้นบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 3.นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม. ถือหุ้นบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 4.นายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ส.ส.สงขลา โดยนางสุไหม ลาภาโรจน์กิจ ภรรยา ถือหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 5.นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 8 โดยนางนงนุช สุวรรณคีรี ภรรยา ถือหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 6.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ถือหุ้นบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 7.นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก และนางสมานจิตต์ ไกรฤกษ์ ภรรยา ถือหุ้นบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) 8.นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา โดย นางสมผิว ราชสีห์ ภรรยา ถือหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 9.น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 8 ถือหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) 10.นายอนุชา บูรพชัยศรี ส.ส.กทม.ถือหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 11.นายสราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร ถือหุ้นบริษัท โทเทิล แอคแซสคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 12.นายเทียนชัย สุวรรณเพ็ญ ส.ส.ตราด ถือหุ้นบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 13.นางนิภา พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี โดย นพ.กำธร พริ้งศุลกะ สามี ถือหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำหรับ กกต.เสียงข้างน้อยที่เห็นว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 13 คนดังกล่าวถือหุ้นไม่เข้าข่ายต้องห้าม คือ นายประพันธ์ นัยโกวิท ซึ่งเป็น กกต.เสียงข้างน้อยก่อนหน้านี้ที่เห็นว่า ส.ว.16 คนถือหุ้นไม่เข้าข่ายต้องห้ามเช่นกัน ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.เผยว่า กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั้น ถือว่าแค่พ้นจากเป็นการ ส.ส. ไม่ต้องหลุดจากรัฐมนตรี “กรณีนายสุเทพถูกร้องตั้งแต่เดือน ก.ค.2551 เมื่อถูกร้องก็ขายหุ้น ต่อมาเดือน ธ.ค.ปีเดียวกัน ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกฯ ดังนั้น จึงถือว่าสิ้นสภาพการเป็น ส.ส.เท่านั้น เพราะผู้ร้องระบุเพียงให้ กกต.ตรวจสอบเฉพาะการสิ้นสภาพการเป็น ส.ส.เท่านั้น ตำแหน่งรัฐมนตรีจึงไม่ได้สิ้นสุดลงด้วย” และว่า หลังจากนี้ กกต.จะร่างคำวินิจฉัยเพื่อยื่นให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.ทั้ง 13 คนต่อไป ทั้งนี้ นอกจากที่ประชุม กกต.จะพิจารณาเรื่องการถือหุ้นของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 28 คนแล้ว ยังได้พิจารณากรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ว่ากระทำการต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 267 ประกอบมาตรา 265 วรรค 2 และวรรค 3 หรือไม่ เนื่องจากนางจินตนา ภรรยานายกษิต ถือหุ้นบริษัท ทางด่วน กรุงเทพ จำกัด จำนวน 100 หุ้น เป็นเงิน 1 แสนบาท ซึ่ง กกต.พิจารณาผลการไต่สวนของอนุกรรมการแล้ว เห็นว่า นางจินตนาถือหุ้นบริษัทดังกล่าวประเภทหุ้นกู้ ซึ่งถือว่าบริษัทเป็นผู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้น โดยมีผลตอบแทนอยู่ในรูปแบบดอกเบี้ยและมีกำหนดการถอนที่แน่นอน “ถือว่าผู้ถือหุ้นมีลักษณะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ไม่มีอำนาจก้าวก่ายแทรกแซงกิจการหรือเข้าไปจัดการในบริษัท ดังนั้น จึงไม่เข้าข่ายต้องสิ้นสมาชิกภาพการเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 182(7) กกต.จึงมีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง” ทั้งนี้ ในวันที่ 23 ก.ค. กกต.จะพิจารณาการถือหุ้นของ ส.ส.44 คน ซึ่งมีทั้ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน(ส.ส.พรรคเพื่อไทย 23 คน ,พรรคประชาราช 3 คน ,พรรคเพื่อแผ่นดิน 8 คน ,พรรคภูมิใจไทย 3 คน ,พรรคชาติไทยพัฒนา 3 คน ,พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 2 คน และพรรคกิจสังคม 1 คน) โดยเป็น ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีด้วย 6 คน(นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ,พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ,นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ,นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ,นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข และ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน)ว่าขัด รธน.หรือไม่ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง กกต.วินิจฉัยให้ 13 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์พ้นสมาชิกภาพเนื่องจากเห็นว่าถือหุ้นเข้าข่ายต้องห้ามตาม รธน. ปรากฏว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากการเป็น ส.ส.ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. พร้อมชี้แจงว่า ตนซื้อหุ้นตั้งแต่ปี 2538 ก่อนจะมีกฎหมายห้าม ส.ส.ถือครองหุ้นในปี 2550 และซื้อในตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนคนที่ซื้อหุ้นทั้งหลาย และไม่ได้คิดจะไปเป็นเจ้าของหรือมีส่วนบริหารจัดการบริษัทเหล่านั้น โดยตนได้แสดงบัญชีต่อ ป.ป.ช.ทั้งหมด 12 ครั้ง ซึ่งเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ นายสุเทพ ยังบอกถึงเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกจาก ส.ส.ด้วยว่า “คนที่โดนเรื่องแบบผมต้องไปต่อสู้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ การต่อสู้คดีก็ต้องเสียเวลา ต้องรวบรวมพยานหลักฐานไปสู้คดี ผมมีภาระหน้าที่เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ทุกวันทำงานก็ไม่ได้ลืมหูลืมตาอยู่แล้ว ผมไม่อยากไปเสียสมาธิในการเตรียมคดีและไปเสียเวลาในเรื่องนี้ ผมอยากให้เรื่องมันจบเฉพาะกรณีผม จึงตัดสินใจลาออกจาก ส.ส.” นายสุเทพ บอกด้วยว่า อยากให้เพื่อน ส.ส.คนอีก 12 คนอยู่ต่อสู้ในศาลรัฐธรรมนูญ เพราะทั้ง 12 คนไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ต้องรับภาระในงานบริหาร คงมีเวลาเตรียมตัวต่อสู้คดี ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อผู้จัดการรัฐบาลลาออก จะส่งผลต่อการคุมเกมในสภาหรือไม่ นายสุเทพ บอกว่า “ผมยังเป็นผู้จัดการรัฐบาลอยู่ ไม่มีผลอะไรในสภาเลย ยังทำงานเป็นรองนายกฯ อยู่ แล้วถ้าใครจะมาเรียกร้องให้ผมลาออก ก็ไม่ลาออก” เมื่อถามว่า หากในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตรงกันข้ามกับคำวินิจฉัยของ กกต.จะทำอย่างไร นายสุเทพ บอกว่า “กกต.ก็ลาออก ถึงรอบ กกต.บ้างแล้วตอนนั้น” ส่วนความเคลื่อนไหวกรณีที่ กกต.วินิจฉัยว่า 16 ส.ว.ต้องพ้นสมาชิกภาพ เนื่องจากเห็นว่าถือหุ้นต้องห้ามตาม รธน.นั้น ปรากฏว่า นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็น 1 ใน 16 ส.ว.ได้ออกมาแฉว่า จากการได้คัดสำเนาคำวินิจฉัยของ กกต. เห็นข้อบกพร่องหลายประการ เช่น ไม่ระบุรายละเอียดคำร้องคำวินิจฉัยของ ส.ว.ทั้ง 16 คนเป็นรายบุคคลว่า แต่ละคนผิดอย่างไร หุ้นบริษัทไหนเป็นหุ้นที่ได้สัมปทานจากรัฐ และผูกขาดตัดตอนอย่างไร นายสมชาย ยังยืนยันด้วยว่า หุ้นบริษัท โรงไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง ที่ตนถืออยู่ เป็นบริษัทลงทุนไม่ได้รับสัมปทานจากรัฐโดยตรงและไม่ได้มีการผูกขาด มีการเปิดเสรีให้รายเล็ก-รายใหญ่แข่งขันกัน จึงไม่น่าจะเข้าข่ายต้องห้าม “กระบวนการวินิจฉัยของ กกต.ไม่ใช่แค่ 2 มาตรฐาน แต่เป็นมาตรฐานที่หลากหลาย ไม่อยากใช้คำว่ามั่ว เมื่อเห็นข้อบกพร่องเหล่านี้ พวกเราต้องขอความเป็นธรรมจากศาลปกครอง เพื่อขอให้ถอนคำวินิจฉัยของ กกต.”

2. ตามคาด “คนมีสี”พันคดียิงสนธิ หมายจับ “ทหารรบพิเศษ-ตร.ปส.” ด้าน “ธานี”แฉ คดีอืด เพราะ ตร.เป็นไส้ศึก!
ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ ผู้ต้องหาคดีลอบสังหารนายสนธิที่ถูกตำรวจออกหมายจับ
ความคืบหน้าการติดตามตัวคนร้ายที่ยิงถล่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หลังเหตุการณ์ผ่านมา 3 เดือน ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดีที่มี พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) กำกับดูแล ได้เสนอศาลขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา 2 รายเมื่อวันที่ 14 ก.ค. โดยเป็นทหาร 1 นาย และตำรวจ 1 นาย คือ จ.ส.อ.ปัญญา ศรีเหรา ทหารสังกัดหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ(นสศ.) จ.ลพบุรี ช่วยราชการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)ภาค 4 และ ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ ตำรวจสังกัดศูนย์ข่าว กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด(บช.ปส.) ในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหามีและพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต วันเดียวกัน(14 ก.ค.) ตำรวจนครบาลและตำรวจ จ.ลพบุรีได้นำกำลังพร้อมหมายศาลเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 304 ซอยวัดไก่ 3 หมู่ 5 ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นบ้านของ น.ส.รัศมี เมฆชัย อายุ 27 ปี รับราชการสังกัดกองพลาธิการส่งกำลังทางอากาศ ศูนย์สงครามพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี และเป็นเจ้าของรถกระบะโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีเปลือกมังคุด ทะเบียน บธ 1474 ลพบุรี ซึ่งเป็นรถต้องสงสัยก่อเหตุยิงนายสนธิ หลังตรวจค้น ได้เชิญ น.ส.รัศมีไปสอบปากคำ พร้อมยึดรถกระบะดังกล่าวไปตรวจสอบ วันต่อมา(15 ก.ค.) พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. เผยว่า นอกจากขอศาลออกหมายจับ จ.ส.อ.ปัญญา และ ส.ต.ท.วรวุฒิแล้ว จะมีการออกหมายจับเพิ่มอีกนับ 10 คน ทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ ซึ่งต้องรอการจับกุม 2 คนแรกก่อน โดยได้ประสาน พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.ปส.เพื่อติดตามตัว ส.ต.ท.วรวุฒิแล้ว แต่ยังไม่พบตัว และประสานกับกองทัพเพื่อติดตาม จ.ส.อ.ปัญญาเช่นกัน รวมทั้งให้ฝ่ายสืบสวนติดตามตัวผู้ต้องหาทั้งสองด้วย ส่วนการสอบสวน น.ส.รัศมี เจ้าของรถกระบะโตโยต้า วีโก้ รถต้องสงสัยใช้ก่อเหตุลอบสังหารนายสนธินั้น พล.ต.อ.ธานี บอกว่า จากการสอบสวนพบว่า น.ส.รัศมีไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี อาจมีคนอื่นนำรถไปใช้ก่อเหตุ ส่วนรถกระบะมาสด้า ซึ่งเป็นรถอีกคันที่คนร้ายขับประกบรถของนายสนธิมาจากบ้านพักนั้น พบว่า ในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 800 คัน ตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าข่ายเพียง 5 คัน อยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม ส่วนหลักฐานอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุยังไม่พบ แต่ไม่มีผลกับการดำเนินคดี เนื่องจากมีพยานแวดล้อมและหลักฐานอื่นอีก พล.ต.อ.ธานี ยังแฉด้วยว่า เหตุที่คดีนี้ไม่คืบหน้าในช่วงที่ผ่านมา เพราะมีตำรวจบางคนเป็นไส้ศึก “ที่ผ่านมา การทำคดีไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากตำรวจบางคนไม่มีจิตวิญญาณของการทำหน้าที่ตำรวจ บางคนทำตัวเป็นไส้ศึก ทำให้ข้อมูลบางอย่างรั่วไหล บางคนถูกข่มขู่ คนทำงานจึงเหลือน้อย ทำให้ผมซึ่งที่จริงแล้วมีหน้าที่เพียงกำกับดูแลคดี ส่วนเรื่องสำนวนคดีเป็นของกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ต้องลงมารับผิดชอบดูแลเพื่อให้คดีคืบหน้าแทนรอง ผบช.น.(พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์)ที่เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีนี้แทน สำหรับผม การทำคดีนี้ไม่ได้กดดัน ไม่มีใครมาข่มขู่ ต้องรู้จักวางตัวรู้หน้าที่” ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยืนยันว่า หลังจากได้ดูความคืบหน้าของคดีแล้ว น่าจะยืนยันได้ว่าทำจริง จะไม่มีการจับแพะหรือเป็นมวยล้ม ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อวิจารณ์ว่าคนที่จะเป็นอุปสรรคของคดีคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) นายอภิสิทธิ์ บอกว่า “ถ้า ผบ.ตร.เป็นอุปสรรคหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นอุปสรรค ผมก็บอกไปแล้วว่าสามารถที่จะบอกผมมาได้ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการ ขณะนี้ พล.ต.อ.ธานีก็ยืนยันว่าท่านทำงานได้” ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์หลังเข้าพบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง(17 ก.ค.) โดยยืนยันว่า ไม่เคยเข้าไปยุ่งหรือสั่งการในคดีลอบสังหารนายสนธิ เพราะมอบหมายให้ พล.ต.อ.ธานีเข้าไปรับผิดชอบคดีและทำหน้าที่ได้ดีมาก ผู้สื่อข่าวถามว่า จะตรวจสอบว่าใครเป็นไส้ศึกในชุดสอบสวนคลี่คลายคดีดังกล่าวหรือไม่ พล.ต.อ.พัชรวาท บอกว่า ต้องรอรายงานจาก พล.ต.อ.ธานีก่อน ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม พี่ชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. พูดถึงกรณีที่พนักงานสอบสวนออกหมายจับ จ.ส.อ.ปัญญาในคดีลอบสังหารนายสนธิ โดยรีบปัดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกองทัพ “เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับกองทัพ จะให้ผมไปดูแลกำลังพลทั้ง 2 แสนคนคงไม่ได้ แต่พยายามทำให้ดีที่สุด มีกฎระเบียบและกฎหมายบ้านเมืองในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง” ด้าน พล.ต.ต.อดิเทพ ปัญจมานนท์ รอง ผบช.ปส. พูดถึงกรณีที่ ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ ถูกพนักงานสอบสวนออกหมายจับว่า ส.ต.ท.วรวุฒิ ขอโอนไปช่วยราชการที่ดีเอสไอเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2551 แต่ต้นสังกัดยังอยู่ที่ บช.ปส. อย่างไรก็ตามได้รับรายงานจากดีเอสไอว่า ส.ต.ท.วรวุฒิขาดราชการตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.แล้ว ติดต่อโทรศัพท์มือถือไม่มีคนรับสาย ล่าสุด ปิดเครื่องไปแล้ว ด้าน พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.ปส.เผยเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ว่า ได้ลงนามคำสั่งให้ ส.ต.ท.วรวุฒิออกจากราชการแล้ว เนื่องจากผิดวินัยร้ายแรงจากการขาดราชการเกิน 15 วัน และว่า ส.ต.ท.วรวุฒิไม่ได้ประสานมาทาง บช.ปส.เพื่อเข้ามอบตัวแต่อย่างใด ส่วนความพยายามติดตามตัว จ.ส.อ.ปัญญา ศรีเหรา นั้น ตำรวจชุดคลี่คลายคดีลอบสังหารนายสนธิ นำโดย พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ รอง ผบช.น.ได้ประสานกับทางกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 นำกำลังเข้าตรวจค้นโรงงานน้ำหอม บริษัท กฤษณาฟ้าสยาม จำกัด เลขที่ 2/1 หมู่ 10 ต.ประณีต อ.เขาสมิง จ.ตราด เพื่อจับกุม จ.ส.อ.ปัญญา แต่ไม่พบตัว เนื่องจากหลบหนีไปก่อน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าว มีนางอรทัย ฐานะจาโร ลูกสะใภ้ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เป็นกรรมการบริษัทเพียงคนเดียว ด้าน พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หรือบิ๊กเหวียง ยอมรับว่า จ.ส.อ.ปัญญา เคยเป็นทหารติดตามสมัยเป็นรัฐมนตรีกลาโหม หลังจากนั้นก็ไปมาหาสู่กันตลอด ในฐานะผู้บังคับบัญชาและผู้มาช่วยงาน แต่หลังจากเป็นข่าว ไม่ได้เจอกันอีกเลย ส่วน จ.ส.อ.ปัญญาจะไปทำอะไรที่ไหนอย่างไร ตนไม่เกี่ยว พล.อ.เชษฐา ยืนยันด้วยว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล “ผมยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างผมกับ คุณสนธิ ไม่มีอะไรบาดหมางกัน เคยกินก๋วยเตี๋ยวด้วยกันบ่อยครั้ง เพราะความจริงก็คือความจริง ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรในการลอบสังหารและผมก็หลุดจากตำแหน่งมานานแล้ว ไม่สามารถไปสั่งการอะไรได้ ถือว่าเป็นคนอยู่นอกราชการและไม่จำเป็นต้องเปิดแถลงข่าวชี้แจงอะไร”

3. “พันธมิตรฯ” ใช้สิทธิโต้แย้ง-ไม่รับข้อหาก่อการร้าย ด้าน ทนายฯ “กษิต”จี้ “ผบ.ตร.”ยกเลิกข้อกล่าวหา!
แนวร่วมพันธมิตรฯ ไปให้กำลังใจแกนนำที่สโมสรตำรวจอย่างล้นหลาม(16 ก.ค.)
ความคืบหน้ากรณีพนักงานสอบสวนคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งมี พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ได้ออกหมายเรียกให้ 36 แกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ เข้ารายงานตัวในหลายข้อหา รวมทั้งข้อหาก่อการร้าย ในวันที่ 16 ก.ค.ที่สโมสรตำรวจ ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด แกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ ได้เดินทางไปตามนัดหมาย แต่ไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากเห็นว่าตำรวจตั้งข้อกล่าวหาเกินจริงและเป็นข้อกล่าวหาเท็จ ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ได้เปิดปราศรัยโจมตีพนักงานสอบสวนบริเวณหน้าสโมสรตำรวจ ท่ามกลางแนวร่วมพันธมิตรฯ ที่ไปชุมนุมให้กำลังใจอย่างล้นหลาม โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ปราศรัยโดยยืนยันว่า จะไม่เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน เนื่องจากการตั้งข้อหาก่อการร้ายเป็นข้อหาที่เกินความจริง ดังนั้นจะให้ทนายพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน ด้านนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ เผยว่า จะยื่นหนังสือโต้แย้งใน 2 ประเด็น 1.พันธมิตรฯ ไม่ได้บุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง โดยสามารถเปิดให้พนักงานและผู้โดยสารใช้บริการได้ตามปกติ แต่นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานไทย เป็นผู้สั่งปิดสนามบินเอง แสดงให้เห็นว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา 2.หลังจากกลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุมแล้ว นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีคมนาคม ได้รายงานต่อนายกฯ ว่า ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการชุมนุม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าใช้สิทธิชุมนุมตาม รธน. ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายอย่างที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหา นายสุวัตร เผยด้วยว่า จะยื่นข้อโต้แย้งต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ด้วย ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) และหากตำรวจยังออกหมายจับพันธมิตรฯ อยู่ จะยื่นเรื่องฟ้องนายกฯ ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อศาลต่อไป ด้าน พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีพันธมิตรฯ บอกว่า จะรับข้อโต้แย้งของพันธมิตรฯ ไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และว่า เป็นสิทธิของแกนนำพันธมิตรฯ ที่จะไม่เซ็นรับทราบข้อกล่าวหาได้ และจะทำให้เป็นตำราว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ จะทำอย่างไรต่อไป เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ต.ท.วุฒิ เริ่มเสียงอ่อยลงกรณีที่ได้ตั้งข้อกล่าวหาพันธมิตรฯ ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย โดยบอกว่า “ผมเห็นว่า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมเขียนป้ายว่าเป็นผู้ก่อการดี ผมก็มีความเห็นคล้อยตามนั้น ผมขอแสดงความเห็นส่วนตัวว่า ในความจริงแล้วผมเห็นด้วย เพียงแต่สำนวนการสอบสวนกับความเห็นของการทำสำนวนการสอบสวนนั้น เป็นความเห็นร่วมกัน เรามีพยานหลักฐานเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งจะต้องสอบพยานต่อไป” พล.ต.ท.วุฒิ ยังขึ้นกล่าวบนเวทีปราศรัยของพันธมิตรฯ ด้วย โดยบอกว่า จะนำข้อมูลที่พันธมิตรฯ ให้มาเพิ่มเติม มาประกอบพยานหลักฐานและจะนำคำให้การของแกนนำทั้ง 36 คนมาประกอบสำนวนคดีเพื่อให้เกิดความยุติธรรม รวมทั้งจะให้รองหัวหน้าพนักงานสอบสวนระดับนายพล 3 นาย ไปพิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เมื่อได้ข้อยุติแล้ว จะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมหารือด้วย พล.ต.ท.วุฒิ ยืนยันด้วยว่า การที่พันธมิตรฯ ไม่เข้ารายงานตัว ไม่ถือว่าตำรวจเสียหน้าแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจี้ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ปลดนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ หลังตกเป็น 1 ใน 25 พันธมิตรฯ ที่ถูกตำรวจตั้งข้อหาก่อการร้าย แต่นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า ควรให้โอกาสนายกษิตได้ต่อสู้ในขั้นตอนนี้ก่อนนั้น ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ ได้ออกมาย้ำอีกครั้ง(12 ก.ค.)ว่า “กรณีที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ตำรวจออกหมายเรียก แล้วแปลว่าไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ ผมคิดว่าก็ดูจะเกินเลยของมาตรฐานที่มีการปฏิบัติกันทั่วไป ในชั้นการถูกออกหมายเรียก ไม่มีความจำเป็นใดใดที่จะต้องปรับนายกษิตออกจากตำแหน่ง” ด้านนายกษิต กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ยืนยันจะไม่ปรับออกจากตำแหน่งว่า “มีความมั่นใจและประทับใจในความโอบอ้อมอารีของนายกฯ มีความเคารพอย่างสูงต่อนายกฯ หัวหน้าพรรคเป็นปูชนียบุคคลของประเทศไทย เพราะฉะนั้นไม่มีข้อสงสัยแต่อย่างใดเลยในคุณความดีและในสติปัญญาการที่จะดูแลลูกพรรคและลูกทีมในคณะรัฐมนตรี ดีใจที่มีนายกฯ มีหัวหน้าพรรคคนนี้ ที่ผมได้มีโอกาสทำงานร่วม” ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความของนายกษิต ได้เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.เมื่อวันที่ 14 ก.ค. เพื่อให้พนักงานสอบสวนทบทวนและยกเลิกเพิกถอนข้อกล่าวหาทั้งหมด เนื่องจากดูพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ปรากฏว่ามีหลายส่วนคลาดเคลื่อน และทุกข้อหาไม่เป็นธรรม การรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาแต่ละคนร่วมกันทำความผิดด้วยวิธีการใด แต่ละคนได้รับมอบหมายให้กระทำการใด เมื่อใด ใครเป็นผู้มอบหมายสั่งการหรือประชุมกันที่ไหน

4. “เสื้อแดงเชียงใหม่” เถื่อน พกอาวุธทั้งปืน-ระเบิด ต้อนรับ “กรณ์” ด้าน ตร.เจ็บ 13 นายหลังใช้กำลังสลาย!
กลุ่มเสื้อแดงเชียงใหม่ เผชิญหน้าเจ้าหน้าที่ที่รักษาความปลอดภัยให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มจากเรื่องการล่าชื่อ 1 ล้านรายชื่อเพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีจำคุก 2 ปี ที่แม้หลายฝ่ายจะท้วงติงว่าไม่เหมาะสมและเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ แต่แกนนำ นปช.(นายวีระ มุสิกพงศ์ ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) ก็ยังยืนยันจะเดินหน้าล่าชื่อดังกล่าว พร้อมประกาศว่าจะเผยจำนวนรายชื่อที่รวบรวมได้เป็นระยะๆ โดยรอบแรกวันที่ 15 ก.ค.นั้น ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด นายณัฐวุฒิ ได้ออกมาบอกว่า ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดว่ารวบรวมได้เท่าไหร่แล้ว เพราะรายชื่อจากทั่วประเทศยังไม่ได้ส่งมา และว่า มีความพยายามสกัดการรวบรวมรายชื่อทุกรูปแบบ ทั้งจากกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานความมั่นคง ดังนั้นแกนนำคนเสื้อแดงจะจัดงานในจังหวัดต่างๆ เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนจากภาคต่างๆ ระหว่างวันที่ 17-22 ก.ค. เพื่อป้องกันเล่ห์เหลี่ยมขบวนการที่จะขัดขวางการถวายฎีกา จากนั้นจะกำหนดรูปแบบของ 10 วันรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อถวายฎีกา โดยคนเสื้อแดงทุกจังหวัดจะจัดจุดรวบรวมรายชื่อเพื่อนำมาส่งพร้อมกันที่ท้องสนามหลวงวันที่ 31 ก.ค.ซึ่งจะมีการชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงตั้งแต่เวลา 15.00น.-24.00น.โดยในวันนั้นแกนนำคนเสื้อแดงจะประกาศจำนวนรายชื่ออย่างไม่เป็นทางการอีกครั้ง ขณะที่นักวิชาการ ยังคงยืนยันว่า คนเสื้อแดงไม่สามารถเข้าชื่อถวายฎีกาให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า คนที่มีสิทธิยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ คือผู้ต้องคำพิพากษา ซึ่งหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณเอง หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง คือบุพการี บุตร และคู่สมรสเท่านั้น ส่วนพี่น้องหรือหลานไม่มีสิทธิยื่นขอพระราชทานอภัยโทษแทนได้ หรือจะรวบรวมรายชื่อ 1 ล้านชื่อ เพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก็ไม่สามารถทำได้ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้มอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ออกรายการพิเศษทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 16 ก.ค. เพื่อชี้แจงระเบียบเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนหรือเข้าใจผิดในพระราชอำนาจ โดยนายพีระพันธุ์ บอกว่า การขอพระราชทานอภัยโทษ ผู้ที่ยื่นต้องสำนึกในความผิดที่ได้ทำไปเป็นอันดับแรก เพราะเป็นการขอลดหย่อนผ่อนโทษหรือให้พ้นโทษ ไม่ใช่บอกว่าไม่ผิด ถ้าบอกว่าไม่ผิดแล้วขออภัยโทษ จะกลายเป็นเรื่องของการขอให้กลับคำพิพากษา ซึ่งไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้ทำได้ แม้แต่ใน รธน.ก็ไม่มีบัญญัติการกลับการกระทำผิด เป็นไม่ผิด และว่า ขั้นตอนการขออภัยโทษนั้น หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมได้รับเรื่องแล้ว จะส่งเรื่องไปยังสำนักนายกฯ แล้วส่งต่อไปที่สำนักราชเลขาธิการ แล้วจึงอยู่ที่ว่า จะทรงใช้พระราชอำนาจตรงนี้แบบไหน นายพีระพันธุ์ ยังข้องใจด้วยว่า คนที่เคลื่อนไหวล่าชื่อเพื่อถวายฎีกา มีวัตถุประสงค์ใดแน่ ทั้งที่น่าจะทราบหลักเกณฑ์การขออภัยโทษดีอยู่แล้ว และทราบว่าดำเนินการไปก็ไม่มีประโยชน์ แถมทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในพระราชอำนาจ “ประชาชนบางส่วนที่เข้าใจผิดในรายละเอียดขั้นตอนของกฎหมาย หรือถูกชักนำให้เข้าใจในทางอื่น จะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายและเข้าใจผิดในพระราชอำนาจ ซึ่งไม่ควรจะปล่อยให้เกิดขึ้น และถ้าไม่ต้องการให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น ก็ควรที่จะยุติได้แล้ว” ทั้งนี้ นอกจากความเคลื่อนไหวเรื่องล่าชื่อเพื่อถวายฎีกาให้มีการพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ทางกลุ่มเสื้อแดงที่ จ.เชียงใหม่ ยังก่อเหตุรุนแรงสร้างความวุ่นวายและพกปืนไปยังสนามบินเชียงใหม่เมื่อคืนวันที่ 16 ก.ค.หลังทราบว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง และนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีพาณิชย์ จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่เชียงใหม่ โดยกลุ่มเสื้อแดงในนามกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ประมาณ 300 คน ได้เดินทางไปปิดล้อมทางเข้า-ออกสนามบินเชียงใหม่เพื่อไม่ให้รัฐมนตรีเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ ได้จับกุมนายนิยม เหลืองเจริญ หรือดีเจแหล่ สามีนางกัญญาภักดิ์ มณีจักร แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 พร้อมของกลางอาวุธปืนพกสั้น ขนาด 11 มม. และกระสุน ขณะขับรถตู้โตโยต้า สีดำ เลขทะเบียน ทง 299 เชียงใหม่ วนเวียนในสนามบินเชียงใหม่ ช่วงที่นางพรทิวา และนายกรณ์ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่เชียงใหม่ ด้านกลุ่มเสื้อแดง หลังทราบว่านายนิยมถูกตำรวจนำตัวไปสอบสวน ก็ไม่พอใจ จึงไปชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(ล้านนา) ติด สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ เรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวนายนิยม พร้อมตะโกนด่าและขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจ ต่อมา พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้สั่งการให้ตำรวจชุดปราบจลาจล พร้อมโล่และกระบองกว่า 400 นาย เข้าผลักดัน ซึ่งผู้ชุมนุมบางส่วนยอมเดินทางกลับ แต่บางคนไม่ยอมกลับและปาก้อนหินใส่ตำรวจ รวมทั้งมีเสียงปืนดังขึ้น 5 นัด และขว้างระเบิดปิงปองหลายลูกเข้าใส่ตำรวจ ทำให้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่จึงพยายามผลักดันกลุ่มเสื้อแดง จนถอยไปตั้งหลักที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ เหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มเสื้อแดง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 13 นาย จากอาวุธที่กลุ่มเสื้อแดงนำมาใช้ ทั้งก้อนอิฐ ไม้ และระเบิดปิงปอง ขณะที่รถปฏิบัติการของตำรวจถูกกลุ่มเสื้อแดงทุบพังเสียหาย 5 คัน ต่อมาช่วงเที่ยงวันที่ 17 ก.ค. กลุ่มเสื้อแดงเชียงใหม่ ยังคงใช้วิทยุปลุกระดมมวลชนให้ไปรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อต่อต้านนายกรณ์ที่นัดประชุมร่วมกับภาคเอกชนเพื่อรับฟังปัญหาและชี้แจงงบประมาณที่จะมาลงทุนตามโครงการไทยเข้มแข็ง โดยกลุ่มเสื้อแดงที่มารวมตัวได้ตะโกนด่าทอตำรวจชุดปราบจลาจลที่ตรึงกำลังอยู่ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ขณะที่ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงโดยยื่นคำขาดว่า หากไม่เดินทางกลับใน 5 นาที จะทำการสลายการชุมนุม กลุ่มเสื้อแดงไม่พอใจจึงขว้างประทัดยักษ์เข้าใส่ตำรวจ 4-5 ลูก เจ้าหน้าที่จึงเคลื่อนรถดับเพลิงและรถผู้ต้องขังเข้าหา จนกลุ่มเสื้อแดงสลายตัวไปในที่สุด ด้านนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงที่เชียงใหม่ โดยบอกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกิดจากรัฐบาลเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ดังนั้นนับจากนี้ประชาชนจะลุกขึ้นสู้กับรัฐบาล “สิ่งที่เกิดขึ้นขอบอกว่า นับจากนี้เป็นต้นไปประชาชนทุกพื้นที่มีความชอบธรรมที่จะลุกขึ้นสู้กับรัฐบาล เพราะรัฐบาลเลือกที่จะทำให้เกิดความรุนแรงจากกองกำลังในมือ โดยไม่มีเหตุผล ดังนั้น เท่ากับวันนี้รัฐบาลได้ประกาศสงครามกับประชาชนครั้งใหม่ ที่รัฐบาลเป็นคนเริ่มต้น” ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า พฤติกรรมของกลุ่มเสื้อแดงที่เชียงใหม่ เป็นพฤติกรรมที่ควรประณาม เพราะทำลายภาพลักษณ์จังหวัด เป็นการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูการออกอากาศของวิทยุชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ และคลื่น 99.25 ของคนรักเชียงใหม่ว่า พฤติกรรมเช่นนี้เข้าข่ายผิดต่อกฎหมายความมั่นคงหรือไม่

5. “ครม.” ไฟเขียว “ขรก.-นร.”หยุดได้ 7 วันหากเป็นหวัด ด้าน “กทม.”สั่งปิด ร.ร. 435 แห่ง 5 วัน!
นักเรียน ร.ร.วัดเสมียนนารี ยืนมุงอ่านป้ายประกาศปิดการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 15-19 ก.ค.หลังจากกทม.มีคำสั่งให้ ร.ร.ในสังกัดทั้งหมด 435 แห่ง ปิดเรียน เพื่อทำความสะอาด
การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในไทย ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค. กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 247 ราย รวมเป็น 3,555 ราย อาการหนัก 6 ราย ขณะเดียวกันก็พบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 18 ราย ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เผยว่า ประเทศอังกฤษมีประชากรใกล้เคียงกับไทย โดยมีรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อกว่า 7,000 คน ของไทยอยู่ที่ 3,000 คน แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า คนที่ติดเชื้อมีมากกว่านั้นมาก โดยในเดือน ส.ค.อาจมีชาวอังกฤษติดเชื้อหลักแสนคน ขณะที่ของไทยก็คงใกล้เคียงหลักแสนคนเช่นกัน วันต่อมา(13 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 328 ราย รวมเป็น 3,883 ราย และพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 21 ราย ด้าน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 บอก(13 ก.ค.)ว่า จะเสนอที่ประชุม ครม.วันที่ 14 ก.ค.อนุมัติงบกลางปี 2552 จำนวน 70 ล้านบาท เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 พล.ต.สนั่น ยังเสนอด้วยว่า ส่วนตัวคิดว่าควรปิดโรงเรียนทั่วประเทศ 2-4 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาดครั้งใหญ่ โดยให้เลื่อนวันปิดภาคเรียนในภาคเรียนที่ 1 ขึ้นมาก่อน พอถึงวันเปิดภาคเรียนค่อยไปเรียนชดเชยเอา หากทำได้ น่าจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ ขณะที่ที่ประชุม ครม.วันที่ 14 ก.ค.ได้อนุมัติงบประมาณ 850 ล้านบาทเพื่อสั่งซื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ 10 ล้านเม็ด วงเงิน 250 ล้านบาท และสั่งจองวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ล้านโดส วงเงิน 600 ล้านบาท โดยกำหนดส่งมอบวัคซีนประมาณเดือน พ.ย.นี้ พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.ยังได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตนของผู้ป่วยที่เป็นหวัด เจ็บคอ แต่ไม่มีไข้ ขอให้พักรักษาตัวที่บ้านได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา และไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ โดยมาตรการนี้ให้มีผลทันทีกับหน่วยราชการและโรงเรียนของรัฐบาล ส่วนภาคเอกชนจะใช้วิธีขอความร่วมมือ ด้านนายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม.ได้สั่งให้โรงเรียนในสังกัด กทม. 435 แห่ง รวมทั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก 200 แห่ง และศูนย์ฝึกอาชีพ 13 แห่ง ปิดทำการระหว่างวันที่ 15-19 ก.ค. เพื่อทำความสะอาดให้ปลอดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย(14 ก.ค.)ว่า พบผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 24 ราย วันต่อมา(15 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 412 ราย รวมเป็น 4,469 ราย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะยุติการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตแบบรายวันตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.เป็นต้นไป โดยจะเปลี่ยนเป็นรายงานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทุกวันพุธ เริ่มวันพุธที่ 22 ก.ค.เป็นต้นไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น