การเคลื่อนขบวนของ การเมืองภาคประชาชนในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่ตบเท้าออกมาต่อต้านและขับไล่นักการเมืองคอร์รัปชั่นภายใต้เงาระบอบทักษิณ และ ระบอบการเมืองเก่า ตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2551 ความเหนื่อยล้าตลอด 193 วันแห่งการต่อสู้ในปี 2551 ที่ว่ากันว่าเป็นการชุมนุมของประชาชนที่ยาวนานที่สุดเป็นสถิติโลก ดูจะยังไม่บรรลุผล แม้การชุมนุมจะยุติลงแต่ไฟศรัทธาต่อการสร้าง “การเมืองใหม่” หาได้มอดดับตามไปด้วยไม่ หากแต่ยังคงแสวงหาช่องทางในการส่องแสง และ ส่องสว่างเพื่อนำพาประชาชนและบ้านเมืองไปสู่แนวทางที่พวกเขาคิดว่า “ถูกต้อง”
ล่าสุดดูเหมือนว่า สถานการณ์ความวุ่นวายและการจลาจลในบ้านเมืองและสังคมได้บีบให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน-นอกระบบต้องกลับเข้ามาเป็นการต่อสู้ในระบบ ฟาดฟันในรัฐสภา อย่างน้อยๆ ก็ในช่วงหลายปีข้างหน้านี้
ขณะที่คู่ปรับของพันธมิตรฯ อย่าง “ระบอบทักษิณ” มีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน และ มีพรรคพลังประชาชนที่กลายร่างมาเป็นพรรคเพื่อไทย เป็นหัวหอกในการต่อสู้ในระบบรัฐสภา
ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่จะเชื่อมไปสู่อนาคต ดูเหมือนว่า พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองที่เคยอิงแอบอยู่กับ “ระบอบทักษิณ” ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย หรือ พรรคชาติไทยพัฒนา กลับไม่สามารถสร้างความแน่ใจ และไว้วางใจให้กับบรรดาพันธมิตรฯทั่วประเทศ ได้ว่าจะไม่มีการเกี้ยเซี้ยะหรือเพลี่ยงพล้ำให้กับพรรคระบอบทักษิณ และอดีตแนวร่วมอย่างพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้
เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์ “การเมืองใหม่” ดูเหมือนว่าภายใต้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากเดินเข้าสู่สนามการต่อสู้ในระบบรัฐสภา ...
ทว่า “พรรคการเมือง” ที่มีรากฐานมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ จะมีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ และมีโอกาสที่จะเปลี่ยน “การเมืองเก่า” ไปสู่ “การเมืองใหม่” มากน้อยเพียงใด นี่ยังเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย
สร้างการเมืองใหม่ ด้วยไฟศรัทธา
ทันทีที่แนวคิดดังกล่าวแพร่สะพัดออกไปก็เกิดเสียงติฉินค่อนแคะว่าเจตจำนงในการจัดตั้งพรรคของมวลชนชาวพันธมิตรฯก็มิต่างจากแนวคิดของนักกินเมืองที่วิ่งกรูเข้าสู่สภาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และแม้ว่าจะมีเจตนาดีเมื่อเริ่มต้นแต่ก็คงไม่พ้นต้องถูกความโลภแห่งวิสัยการเมืองกลืนกินจนกลายร่าง “จากเทวาเป็นซาตาน” ในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการหลายท่านจากหลายสำนักก็มีมุมมองต่างกันออกไป
รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ แสดงทัศนะว่า การตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถือเป็นพัฒนาการของการเมืองภาคประชาชน เนื่องเพราะมวลชนเหล่านี้มองว่าการเคลื่อนไหวบนท้องถนนนั้นไม่อาจนำไปสู่เป้าหมายได้ ประชาชนทั่วไปก็เริ่มไม่ยอมรับกระบวนการเมืองข้างถนน เพราะที่ผ่านมานั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ความรุนแรงของกลุ่มเสื้อแดงในการชุมนุมชนิดเผาบ้านเผาเมือง รวมถึงการบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินแห่งชาติทั้ง 2 แห่ง ของพันธมิตรฯ นั้นทำให้ประชาชนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการประท้วงบนท้องถนน พันธมิตรฯ จึงต้องมองหาหนทางใหม่ในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ทางการเมือง
“ต้องยอมรับว่าการเมืองภาคประชาชนมีผลต่อการเมืองในสภามาก เพราะถ้านักการเมืองไม่ฟังเสียงประชาชน เขาก็อยู่ไม่ได้ แต่ในทางกลับกันถ้าประชาชนออกมาเรียกร้องแล้วนักการเมืองไม่สนใจ ประชาชนก็จะอาจจะรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปผลักดันข้อเรียกร้องของตนเองในสภา ซึ่งตรงนี้อาจทำให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ที่เคยบอกว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองต้องเปลี่ยนท่าที แม้แต่คุณจำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ที่เคยปฏิเสธว่าจะไม่เข้าสู่วงการการเมือง วันนี้ก็ยังบอกว่าถ้าจำเป็นต้องตั้งพรรค ก็ต้องพยายามเต็มที่เพื่อให้พันธมิตรฯ เป็นรัฐบาลให้ได้
ผมมองว่าพรรคที่มีฐานการเมืองโดยภาคประชาชนกว้างขวางมากอย่างพรรคของพันธมิตรฯจะเป็นพรรคที่มั่นคงกว่าพรรคการเมืองในระบบเดิม จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาพันธมิตรฯเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ มีฐานสนับสนุนของมวลชนจำนวนมาก ชัดเจนทั้งประเด็นและท่าทีในการเคลื่อนไหว ตอนนี้ท่าทีของพันธมิตรฯก็ชัดเจนว่าในเมื่อสิ่งที่เรียกร้องนอกสภามันไม่เกิดขึ้น เขาก็ต้องเข้าไปผลักดันในสภาเอง ที่สำคัญการเคลื่อนของพรรคพันธมิตรฯ เป็นกระบวนทัศน์ที่มีกรอบความคิดทางการเมืองต่างไปจากพรรคการเมืองเดิมๆ ซึ่งเป็นไปในลักษณะจับมือกันเพื่อเข้าไปแสวงประโยชน์ และมองว่าประชาชนเป็นเพียงฐานคะแนนเสียงของพรรค เป็นคนที่ลงคะแนนให้พรรค ขณะที่พรรคของพันธมิตรฯนั้นประชาชนไม่ใช่แค่เป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง แต่เป็นคนจัดตั้งพรรคเอง ร่างนโยบายเอง และดำเนินกิจกรรมการเมืองต่างๆ กันเอง”
ดร.จรัส หนุน “น้ำดี ไล่น้ำเสีย”
ขณะที่นักรัฐศาสตร์จากรั้วจามจุรีอย่าง ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า แนวคิดในการจัดตั้งพรรคของพันธมิตรฯนั้นถือเป็นทางเลือกทางการเมืองทางหนึ่ง
“ที่ผ่านมาก็มีคนพยายามเปลี่ยนผ่านจากยุคนี้ไปสู่ยุคใหม่ หรือที่เราเรียกว่าสร้าง ‘การเมืองใหม่’ อย่างการเปลี่ยนการเมืองใหม่ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อป้องกันปัญหาการคอร์รัปชั่น และการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้ยาแรงในการป้องกันการซื้อเสียง แต่แม้จะวางกฎระเบียบไว้แข็งมากก็ยังมีคนอาศัยช่องว่างซิกแซกเพื่อกระทำความผิด และเราจะเห็นว่ายังมีคนสนับสนุนระบบและวงจรนี้ เช่น ให้เงินเพื่อให้คนมาประท้วงคัดค้านรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะเขาเห็นว่าน่าจะยังมีระบบการเมืองที่มีการคอร์รัปชั่นแบบเดิมอยู่ เพราะเขาสามารถอยู่ได้ในระบบแบบนั้น แต่ระบบใหม่ที่ปลอดการซื้อเสียงเขาอยู่ยาก
ส่วนการที่พันธมิตรฯ มีความคิดว่าจะตั้งพรรคนั้นก็ถือว่าเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง เพราะคนอาจรู้สึกว่าพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่นั้นพึ่งไม่ได้ ผมว่าก็น่าจะลองดูนะ เพราะการจะหาพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่แล้วคนยอมรับนั้นค่อนข้างยาก แต่พันธมิตรฯเขามีเครือข่ายอยู่พอสมควรแม้จะยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ก็ตาม แต่ทั้งนี้การจะสร้างการเมืองใหม่อาจไม่ใช่แค่การตั้งพรรคเท่านั้นแต่ต้องดำเนินการหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน เพราะปัญหาการเมืองของประเทศไทยนั้นมีรากเหง้ามาจากแนวคิดและวัฒนธรรม นอกจากนั้นการเมืองก็มีทั้งในระดับท้องถิ่นซึ่งอยู่ในส่วนฐานของปิรามิดการเมืองและการเมืองระดับชาติซึ่งอยู่ในส่วนยอดของแท่งปิรามิด
การจะสร้างการเมืองใหม่ได้อย่างแท้จริงต้องอาศัยการเปลี่ยนองค์ประกอบทั้งข้างบนและข้างล่าง ซึ่งวิธีหนึ่งก็คือพยายามเปลี่ยนพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วให้เป็นพรรคที่ดีขึ้น ถ้าถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ดีหรือยัง ก็ยังไม่ดี วิธีการคัดเลือกนักการเมืองเข้าพรรคของประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ต่างจากพรรคอื่น ผมไม่จะอยากบอกว่าคุณภาพ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ดีกว่าพรรคชาติไทย พรรคไทยรักไทย หรือพรรคความหวังใหม่ซึ่งปิดตัวไปหมดแล้ว ... คุณภาพก็พอกันแหละ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งความรู้ความสามารถก็ไม่ต่างกัน ล้วนเป็นกลุ่มที่อยู่ในการเมืองยุคเก่าทั้งนั้น ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็คือตั้งพรรคการเมืองพรรคใหม่ขึ้นมาแล้วสรรหานักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่มีอุดมการณ์เข้ามาทำงานซึ่งเท่ากับเป็นการผลักนักการเมืองน้ำดีเข้าไปในสภา แทนที่จะปล่อยให้มีแต่นักการเมืองน้ำเน่าอย่างเดียว”
การตั้งพรรคเป็นสิทธิของประชาชน
ด้าน ผศ.ดร.ชวนะ ภวกานันท์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปทำงานในสภานั้นไม่ควรถูกจำกัดสิทธิอยู่เฉพาะในแวดวงการเมืองกลุ่มเดิมๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของคนไทยทุกคนที่สามารถเดินเข้าสู่สภาหินอ่อนโดยผ่านขั้นตอนของการเลือกตั้ง
“นักวิชาการบางคนเอาอคติส่วนตัวมาเล่นกัน เราต้องมองว่าสีบางสีขึ้นมาบริหารประเทศ เขาขึ้นมาเพื่อประโยชน์อะไร อย่างนักวิชาเกินนักวิชาขาดบอกว่าสีเขียว (ทหาร)ขึ้นมาไม่ดี แต่คุณลองหันกลับไปมองว่าสมัยที่สีเขียวขึ้นมาบริหารประเทศเนี่ยมีการโกงกินน้อยหรือมากกว่านักการเมืองที่มาจากพลเรือน มันต้องพูดกันให้ชัด นักวิชาการก็บอกว่าสีเขียวอย่าปฏิวัตินะเดี๋ยวจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในบางช่วงเวลามันก็จำเป็นที่เขาจะต้องร่วมรับผิดชอบบ้านเมือง นอกเสียจากว่าเขาขึ้นมาแล้วเขาทำไม่ดี ไม่ใช่สีเขียวขึ้นมาบริหารประเทศปุ๊บคุณก็ตั้งแง่ เพราะอะไร เพราะคุณไม่ได้ประโยชน์ สุดท้ายคุณก็เข้าไปรับใช้เขา พอเขาเลิกใช้งานคุณ คุณก็ออกมาด่าเขา
หรืออย่างตอนนี้บางกลุ่มจะตั้งพรรคการเมือง มันก็เป็นสิทธิของเขา มันเป็นการแสดงออกทางการเมือง คุณจะไปวิจารณ์ว่าเขาจะตั้งพรรคเพื่อเข้าไปแสวงประโยชน์อย่างนี้อย่างนั้น ผมว่าตรงนี้คนที่ตัดสินใจคือประชาชน เดี๋ยวมันมีคำตอบออกมาเอง คนไทยตอนนี้ไม่โง่นะ ไม่อย่างนั้นแต่ละสีเสื้อคงไม่สามารถระดมคนที่มีความแตกต่างกันให้มารวมกันได้ตั้งเยอะแยะ แล้วผู้ที่บริหารบ้านเมืองก็ต้องมองว่าตัวเองมีลักษณะเป็นนักวิชาเกิน-นักวิชาขาดหรือเปล่า เอาทฤษฎีมาใช้มากเกินไปไหม หรือบางทีดีแต่สร้างภาพโดยแทบไม่ได้แก้ปัญหาเลย ผมว่าการจะแก้ปัญหาการเมืองได้ต้องทำให้ปากท้องคนอิ่มก่อน นี่คือจุดสำคัญ ไม่ว่าจะการเมืองเก่าการเมืองใหม่ ถ้าคุณทำให้ปากท้องประชาชนอิ่มไม่ได้ก็จะมีอีกหลายสีเสื้อออกมาแน่นอน”
โอกาสของ “พรรคพันธมิตรฯ” ในสนามเลือกตั้ง
นอกจากข้อครหาเรื่องเป้าหมายในการจัดตั้งพรรคแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งมวลชนพันธมิตรฯ ที่มีแนวคิดที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองมิอาจหลีกเลี่ยงก็คือคำปรามาสในทำนองที่ว่า “ภาพดี แต่ไม่มีคะแนน” และแม้ได้รับเลือกตั้งก็คงต้องนั่งเฝ้าห้องประชุมสภาในฐานะฝ่ายค้าน แล้วจะเกิดประโยชน์อันใดในเมื่อไม่มีเสียงมากพอจะเข้าไปมีอำนาจเปลี่ยนทิศทางของประเทศในฐานะของฝ่ายบริหาร
ในประเด็นนี้ รศ.ดร.ปกรณ์ มีความเห็นว่า “ การที่บางคนประเมินว่าถ้าตั้งพรรคแล้วพันธมิตรฯจะมีเสียงสนับสนุนน้อยนั้น ผมกลับไม่คิดอย่างนั้น เพราะถ้าดูจากยอดเงินบริจาคที่มีมาตลอดการชุมนุมจนถึงปัจจุบันนั้นเยอะมาก มวลชนของเขานั้นแทบจะเรียกได้ว่ากินภาคใต้ทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีภาค 3 จังหวัดในภาคตะวันออกและในเขตเมืองเกือบทุกจังหวัด ที่สำคัญมวลชนเหล่านี้เป็นมวลชนที่เหนียวแน่นและชัดเจนมาก ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่มีฐานมวลชนแบบนี้ และที่พันธมิตรฯ หนุนประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็เพราะว่าเขายังไม่มีพรรคของตัวเองจึงต้องเลือกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีโอกาสที่จะสนับสนุนความคิดของเขามากที่สุด แต่ถ้าพันธมิตรฯมีพรรคของตัวเองเขาก็คงไม่เลือกพรรคอื่น คิดว่าสิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือการที่เขายืนหยัดต่อสู้กับอำนาจของระบอบทักษิณมายาวนานตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันทำให้มวลชนของพันธมิตรฯ เป็นพลังที่เข้มแข็งมาก ซึ่งอาจจะไม่ถึงขั้นเป็นแกนนำจัดตังรัฐบาล แต่ก็เป็นเสียงที่ประมาทไม่ได้”
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ปกรณ์ ระบุ ขณะนี้ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าหากลงเลือกตั้งแล้วพรรคของพันธมิตรฯ จะได้คะแนนเสียงจำนวนเท่าไหร่ เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้ายังอีกยาวไกล ประชาธิปัตย์อาจเป็นรัฐบาลจนหมดวาระก็เป็นได้ และที่สำคัญตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าพันธมิตรฯ จะตั้งพรรคหรือเปล่า ถ้าตั้งพรรคแล้วใครจะเป็นกรรมการบริหารพรรคบ้าง นโยบายพรรคจะเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ว่ากระแสสังคมและสถานการณ์ในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งเป็นอย่างไร การจะวิเคราะห์ในขณะที่ยังไม่เห็นองค์ประกอบรอบด้านนั้นคงไม่ได้ ตอนนี้หลายคนยังวิเคราะห์โดยอาศัยสูตรการเมืองเดิม และวิเคราะห์จากสถานการณ์เดิมๆ แต่ตนไม่รู้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตจะเป็นเช่นไร
แนะจับมือ ปชป.สู้ศึกเลือกตั้ง
ส่วนทางด้าน ศ.ดร.จรัส มองว่า หากพรรคของพันธมิตรฯต้องการเข้าไปเป็นตัวแทนประชาชนในฐานะรัฐบาลที่มีอำนาจผลักดันนโยบายต่างๆให้บรรลุตามเป้าหมายก็ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ทุกก้าวย่างอย่างแหลมคม และการจับมือกับพรรคแม่พระธรณีบีบมวยผมซึ่งมีฐานเสียงในพื้นที่ภาคใต้เฉกเดียวกับพันธมิตรฯ ตามแนวคิด “แสวงแนวร่วม สงวนจุดต่าง” ก็ดูจะเป็นหนทางหนึ่งที่ปูลาดไปสู่การเป็นฝ่ายรัฐบาลได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
“ ต้องยอมรับว่าหนทางของพรรคพันธมิตรฯนั้นไม่ง่าย ตั้งแต่การหาตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการสร้างคะแนนเสียง เพราะชาวบ้านยังมีแนวคิดเดิมๆ พันธมิตรฯ ก็มีฐานเสียงอยู่บ้างโดยเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งถ้าพันธมิตรฯจะใช้ฐานเสียงที่มีอยู่เป็นตัวสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมาก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ เหมือนกับเขามีที่ดินอยู่บ้างแล้ว การจะหว่านเมล็ดพันธุ์ปลูกพืชขึ้นมาก็ง่ายขึ้น ซึ่งการประท้วงยาวนานถึง 193 วันของพันธมิตรฯในคราวนี้ก็มีผลดีตรงที่คนเข้าใจแนวทางทางการเมืองของพันธมิตรฯ ดีขึ้น และได้รู้เห็นว่าการเมืองยุคเก่ามันเน่าขนาดไหน แต่การตั้งพรรคของพันธมิตรฯก็อาจจะยังไม่สามารถทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดได้ ประชากร 60 ล้านคน จะมีคนเมืองที่ติดตามรับฟังข่าวสารอยู่ประมาณ 10 ล้านคน ถ้าจำนวนประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 40 ล้านคน คนที่เลือกพันธมิตรฯก็น่าจะมีประมาณ 6-7 ล้านเสียง ที่เหลือก็ยังคงอยู่ในวงจรเก่า ดังนั้นถ้าเข้าไปในสภาก็อาจจะเป็นพรรคเล็ก แล้วพรรคเล็กที่มีอุดมการณ์ก็อยู่ยาก
เพราะฉะนั้นถ้าจะให้พรรคพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นพรรคเล็กอยู่รอดก็คือต้องเข้าไปเป็นฝั่งรัฐบาล ซึ่งถ้าพันธมิตรฯ มองว่าพรรคการเมืองที่พอจะร่วมงานด้วยได้คือประชาธิปัตย์ ก็ต้องลุ้นว่าประชาธิปัตย์จะได้เสียงส่วนใหญ่หรือเปล่า และถ้ามองในช่วง 6-7 ปีข้างหน้านี้เชื่อว่าระบบการเมืองเก่ายังครองเสียงข้างมากอยู่ การที่จะเป็นรัฐบาลได้เสียงของประชาธิปัตย์รวมกับพันธมิตรก็ต้องเกินกึ่งหนึ่งของสภา ในแง่ของการเมืองระดับชาติเขาก็ต้องวางยุทธวิธีในการรบ อย่าให้ ‘ชนะเลือกตั้ง แต่พ่ายแพ้สงคราม’ คือถ้าพรรคพันธมิตรฯ เป็นพรรคเสียงส่วนน้อย ได้คะแนนสัก 30-40 เสียง พันธมิตรฯก็ต้องไปจับกับพรรคการเมืองที่ใหญ่กว่าเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคที่พอจะร่วมกันได้ก็คือประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งถ้าพันธมิตรฯไปกินพื้นที่ของประชาธิปัตย์จนประชาธิปัตย์ไม่สามารถเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องเป็นฝ่ายค้านทั้งคู่ และการที่พันธมิตรฯจะช่วงชิงเสียงจากคนที่เคยหนุนประชาธิปัตย์จนสามารถขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ดูจะเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าเสียงที่เลือกประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งคือพันธมิตรฯ ถ้าพันธมิตรฯ ตั้งพรรค ทั้ง 2 พรรคนี้ก็จำเป็นที่ต้องเกื้อกูลกัน
ผมเชื่อว่าถ้าตั้งพรรคลงสู้ในสนามเลือกตั้งจริงๆ แกนนำพันธมิตรฯจะต้องมีกลยุทธ์เพื่อทำสงครามให้ชนะ ไม่ได้คิดแค่การสู้ศึกเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว การตั้งพรรคก็เป็นหนึ่งในอาวุธที่หยิบขึ้นมาใช้ ส่วนการทำงานการเมืองภาคประชาสังคมก็คงต้องเดินหน้าต่อไป แล้วเวลาจะลงเลือกตั้งผู้หลักผู้ใหญ่ก็คงต้องประเมินว่าควรจะส่งใครลง จะชนะได้อย่างไร สมมุติว่าประชาธิปัตย์สามารถคุมเสียงในเขตไหนได้ พันธมิตรฯ ก็หลีกเสีย ส่วนเขตที่พันธมิตรฯ มีเสียงดีกว่า ประชาธิปัตย์ก็ไม่ส่งลงแข่ง ส่วนพื้นใดที่ 50 : 50 ก็มาตกลงกัน เพื่อที่เมื่อรวมกันจะได้เสียงข้างมากในสภา การเลือกตั้งครั้งแรกๆ ก็คงเป็นในรูปนี้ไปก่อน หลังจากประชาชนยอมรับในผลงานของพันธมิตรฯ แล้วก็ค่อยมาปรับยุทธวิธีกันใหม่ ผมว่าครั้งนี้พันธมิตรฯกับประชาธิปัตย์คงจะรวมกันสู้มากกว่าแยกกันสู้ เพราะประชาธิปัตย์ก็รู้ดีว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าเขาต้องสู้กับศึกใหญ่เพราะพรรคการเมืองแบบเก่าก็มีแนวคิดที่จะรวมพรรคกันเพื่อให้ตัวเองได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นประชาธิปัตย์ไม่มีแนวร่วมไม่ได้ และพันธมิตรฯก็มีสิ่งที่ประชาธิปัตย์ไม่มี คือมีมวลชนที่เข้มแข็งและเหนียวแน่น แล้วการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ประชาธิปัตย์ได้เสียงเพิ่มขึ้นก็มาจากเสียงของพันธมิตรฯ ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และในเขตเมือง” ศ.ดร.จรัส กล่าว
ขับเคลื่อนพร้อมกัน ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี ศ.ดร.จรัส มองว่าการจะสร้างการเมืองใหม่ให้บรรลุผลนั้นควรจะดำเนินการทั้งในส่วนของการเมืองระดับท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติคู่ขนานกันไป เพื่อหยั่งรากคุณธรรมให้แผ่ขยายไปทุกตารางนิ้วของสังคม อันจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ “นักกินเมือง” มีโอกาสเติบโตและขยายเผ่าพันธุ์ได้อีกต่อไป
“ระบบการเมืองนี่ถ้าเราไม่ตัดวงจรที่เลว นักการเมืองดีก็อยู่ไม่ได้หรือกลายเป็นนักการเมืองเลวในที่สุด มันต้องสร้างนักการเมืองพันธุ์ใหม่และมีกำลังพอให้เขาคงความเป็นนักการเมืองที่ดีอยู่ได้ โดยเราต้องตัดตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการการเมืองเลย ทั้งการเมืองในระดับท้องถิ่นและระดับชาติต้องทำไปพร้อมกัน แต่ระดับท้องถิ่นทำได้ง่ายกว่าเพราะขนาดเล็กกว่า ไม่มีระบบพรรคเหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ ถ้าพันธมิตรฯ มีความพร้อมก็อาจจะส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นด้วยเพื่อเอานักการเมืองน้ำดีไปแทนน้ำเน่า ผมคิดว่าถ้าเราสร้างนักการเมืองท้องถิ่นที่ดีๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีตัวเลือก เขาอาจจะเลือกนักการเมืองที่สุจริตแทนที่จะเลือกนักการเมืองคอร์รัปชั่น ที่ผ่านมาชาวบ้านเขาไม่มีตัวเลือก เราขาดแคลนนักการเมือง แต่ไม่ได้ขาดแคลนนักการเมืองแบบที่ถูกยุบพรรคนะ คนพวกนี้ส่วนใหญ่จะเลว ไม่ต้องกลับเข้ามาใหม่ก็ได้ แต่ที่เรากำลังขาดแคลนคือนักการเมืองที่ดี ซึ่งถ้าเราไม่สร้างขึ้นประชาชนก็ไม่รู้จะไปเลือกใคร” ศ.ดร.จรัส ระบุ
การเมืองใหม่ในต่างแดน
ความฟอนเฟะ เละเทะ ของแวดวงการเมืองนั้นหาใช่จะมีแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในหลายประเทศก็ประสบปัญหาไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ขณะที่มวลชนผู้รักชาติเฉกเดียวกับพันธมิตรฯ ต่างก็เดินหน้าขับเคลื่อนการเมืองใหม่เพื่อสกัดการเมืองน้ำเน่าออกจากสภาในประเทศของเขาเช่นกัน
ศ.ดร.จรัส ได้หยิบยกตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้จนกลายเป็นตำนานแห่งการสร้างการเมืองใหม่ มาเล่าให้ฟัง ว่า
“ที่เกาหลีเขาก็มีปัญหาคอร์รัปชั่นพอๆ กับบ้านเราเหมือนกัน แล้วเขาก็มีกลุ่มองค์กรที่ลุกขึ้นรณรงค์ขับไล่นักการเมืองพวกนี้เหมือนที่พันธมิตรฯ ทำ แต่ต่างกันที่วิธีการคือที่เกาหลีเขาใช้วิธีกดดันให้พรรคการเมืองต่างๆ เลิกส่งผู้สมัครที่มีพฤติกรรมทุจริตลงเลือกตั้ง โดยมูลนิธิที่ชื่อ Beautiful Foundation เขารณรงค์การสร้างการเมืองใหม่ด้วยการไล่บี้ ส.ส. คือนักการเมืองคนไหนมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นมูลนิธินี้ก็จะนำข้อมูลไปเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ เช่น ส.ส.คนนี้ร่วมทำธุรกิจกับใคร ให้อภิสิทธิ์ใคร มีสายสัมพันธ์กับใคร ลิสต์รายชื่อออกมาหมด คือพูดง่ายๆว่าทำ เป็น‘บัญชีหนังหมา’
แต่เขาก็แบ่ง ส.ส.เป็นหลายเกรดนะ ส.ส.คนนี้ดีพอใช้ คนนี้แย่ในระดับปานกลาง แต่ไอ้ที่แย่ถึงแย่ที่สุดเนี่ยเขาเอามาขึ้นลิสต์ ก็ได้ ส.ส.ที่แย่กับแย่มากๆประมาณ 100 กว่าคนแล้วก็ส่งรายชื่อไปยังพรรคการเมืองว่าอย่าส่งคนพวกนี้ลงสมัครนะ แล้วก็มีการทำแคมเปญต่อโดยประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ว่า ส.ส.คนนั้นคนนี้ไม่ดีนะ แล้วก็มีการปฏิสัมพันธ์ทำให้เกิดสื่อสาร 2 ทาง บางคนเข้ามาโพสต์ให้ข้อมูลในเว็บไซต์ของมูลนิธิ บางคนก็มาให้ข้อมูลว่าที่กล่าวหาว่าคนนี้ทุจริตน่ะไม่เป็นความจริงนะ ก็เอาหลักฐานมายืนยันกัน แล้วเขาก็มีกระบวนการในการคัดออก จาก 100 กว่าคน เหลือ 60-70 คน เขาก็แจ้งไปยังพรรคการเมืองว่าอย่าเอาคนพวกนี้ลงนะไม่งั้นประชาชนจะไม่เลือกคุณทั้งพรรค ขณะที่ชาวบ้านในแต่ละชุมชนก็ร่วมมือแข็งขันมาก พอพรรคขึ้นป้ายหาเสียง ชาวบ้านก็ไปดึงป้ายออก แล้วจริงๆการเมืองเกาหลีเขาแรงกว่าบ้านเราอีกนะ มีการสั่งเก็บกันเลย แต่เขาก็ต่อสู้กันด้วยกฎหมาย
ความจริงมูลนิธินี้เป็นองค์กรเล็กๆ แต่มีพาวเวอร์มาก ปัจจุบันมีคนอยู่แค่ 50-60 คน แต่ก่อนก็เป็นองค์กรใต้ดินนะเพราะทำอย่างนี้มันผิดกฎหมาย แล้วก็เป็นงานที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิต ก็เหมือนกับพวกพันธมิตรฯ น่ะแหล่ะ คือคนที่เป็นเจ้าของมูลนิธินี้เป็นลูกมหาเศรษฐีในเกาหลี เขาจบปริญญาตรี โท เอก ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เป็นคนที่ทั้งเก่ง ทั้งมีความรู้ ทั้งมีเงิน เรียบจบกลับมาเกาหลีเขาไม่ทำอะไรเลย เขาบอกว่าเขาอยากกลับมาจัดการกับการคอร์รัปชั่นในเกาหลีให้ได้ ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เล่าขานกันไปทั่วโลก ปัจจุบันมูลนิธินี้ก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง เขาสามารถทำให้พรรคการเมืองเปลี่ยนได้ด้วยการผลักดันให้ตัดชื่อ ส.ส.เลวๆ ไม่ให้พรรคส่งลงสมัคร แต่หลังจากเขารณรงค์แล้วก็ยังเหลือ ส.ส.น้ำเน่าที่ทางพรรคส่งลงสมัครแล้วได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก 6-7 คน ซึ่งมูลนิธินี้ก็ยังตามต่อโดยตามไปดูว่าได้รับตำแหน่งอะไร ไปทำงานอะไรในสภา เขาตามดูพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา แล้วถ่ายรูปมาฟ้องประชาชน ในที่สุดทางพรรคก็เลยไม่กล้าให้ไปทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ ให้เป็นแค่ ส.ส.ธรรมดา เขาทำอย่างนี้มาตั้งแต่ปี 2540 แล้วนอกจากกิจกรรมที่ว่าเขาก็มีแคมเปญอื่นๆ ด้วย มีการประท้วงเรียกร้องต่างๆ เพราะเครือข่ายภาคประชาชนเขาขยายออกไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าหลังจากทำแคมเปญดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบันมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น 2 ครั้ง เขาสามารถขจัด ส.ส.น้ำเน่าออกไปได้เกินครึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก”
เมืองไทยไม่สิ้นหวัง
แม้หนทางการสร้างการเมืองใหม่ของประเทศไทยจะช่างยาวไกลและเต็มไปด้วยขวากหนาม แต่มวลชนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สิ้นหวังโดย ผศ.ดร.ชวนะ ให้ทัศนะต่อประเด็นนี้ว่า
“ การสร้างชาติไม่จำเป็นต้องมีแนวคิดเดียว และไม่ควรผูกขาดว่าต้องมาจากแนวคิดของนักวิชาการเพียงหรือนักการเมืองเพียงกลุ่มเดียว ทำไมเราไม่รับฟังหลายๆความเห็น โครงสร้างการเมืองไทยที่ผ่านมานั้นมันมาจากความคิดของคนไม่กี่กลุ่มที่พยายามคิดแทนคน 60 กว่าล้านคน แล้วก็มาจากนักการเมืองที่เขามีอาชีพเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว มันก็เกิดการผูกขาดอยู่เฉพาะในกลุ่มนั้น ผมว่าการเมืองไทยไม่ใช่ทำเพื่อให้เราเป็นประชาธิปไตยที่มีรัฐบาล 200-300 เสียง แต่เราทำเพื่อปกป้องรักษาความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การเมืองไทยต้องระบุเลยว่าประชาธิปไตยภายใต้องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพระองค์ท่านอยู่เหนือการเมืองอยู่แล้ว แต่ตอนนี้บางฝ่ายก็พยายามดึงฟ้าลงต่ำ ถามว่าบังควรไหม
ปัญหาของการเมืองไทยต้องแก้จากรากเหง้า ต้องมาปรับโครงสร้างระบบความคิด ประชาชน ต้องสร้างทายาททางการเมืองที่ดี ปลูกฝังตั้งแต่เด็กอนุบาลเลยให้เห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ รู้ว่าระบบการเมืองที่มีมาจนถึงทุกวันนี้นั้นมาคู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ทรงได้ใช้วิธีการอะไรในการบริหารประเทศ พระองค์ดำเนินงานการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศจนสามารถรักษาประเทศมาได้ถึงทุกวันนี้ มันไม่ใช่ตัดฉับมาเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี 2475”
ขณะที่ ศ.ดร.จรัส กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “ ผมไม่อยากให้ประชาชนหมดกำลังใจนะ ต้องบอกว่าวันนี้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งมาก การชุมนุมของพันธมิตรฯ ในช่วงที่ผ่านมาวิธีการอาจถูกบ้างผิดบ้างแต่ว่าพลังนั้นเข้มแข็งถึงขั้นรัฐบาลที่ไม่มีคุณธรรมเอาไม่อยู่ แม้จะยังไม่สามารถผลักดันนักการเมืองเลวออกจากสภาได้แต่ก็สามารถอัดกับเขาได้และยังคงยืนหยัดสู้มาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเชื่อว่าอนาคตการเมืองไทยต้องดีขึ้นแน่”
* * * * * * * * * * *
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ – มานพ ชูแสง / กิตติ บุปผาชาติ