1. “ในหลวง”เสด็จฯ รพ.ศิริราช ตรวจเช็คพระวรกาย ด้าน “พสกนิกร”ห่วงใย รอเฝ้าฯ เนืองแน่น!
เมื่อวันที่ 11 มี.ค.เวลา 20.54น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินด้วยธารพระกร(ไม้เท้า) พร้อมโบกพระหัตถ์ให้ประชาชนที่มารอเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก ทั้งนี้ สำนักพระราชวัง แจ้งว่า พระองค์เสด็จฯ เพื่อทรงตรวจเช็คพระวรกายตามหมายกำหนดเวลา และตามที่คณะแพทย์ได้กราบบังคมทูลเชิญ โดยพระองค์ได้ประทับแรม ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อทรงเข้าตรวจพระวรกายในวันที่ 12 มี.ค. เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนที่เฝ้ารอรับเสด็จ ต่างพากันมาจับจองพื้นที่บริเวณห้องโถงด้านข้างอาคารเฉลิมพระเกียรติตั้งแต่ช่วงเที่ยง หลังทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ มายังโรงพยาบาลศิริราช โดยทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกเป็นห่วงพระองค์ จึงอยากมาเฝ้ารับเสด็จ เพื่อติดตามพระอาการของพระองค์ ซึ่งผู้ที่มารอรับเสด็จส่วนใหญ่ได้เตรียมข้าวของเครื่องใช้มาไว้เพื่อพักค้างคืนด้วย วันต่อมา( 12 มี.ค.) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างทยอยเสด็จฯ มายังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อติดตามพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่ามกลางประชาชนที่ยังคงเฝ้าติดตามพระอาการของพระองค์เช่นกัน ขณะที่บุคคลสำคัญในบ้านเมืองที่ได้เดินทางมายังโรงพยาบาลศิริราชเพื่อติดตามพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.และคณะผู้บริหารของ กทม. ส่วนที่ จ.ปัตตานี นายฮายียะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ได้เป็นผู้นำพิธีละหมาดฮายัด เพื่อขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง โดยมีชาวไทยมุสลิมเข้าร่วมละหมาดจำนวนมาก ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประทับแรมที่โรงพยาบาลศิริราชต่ออีก 1 คืนกับอีก 1 วัน โดยเสด็จฯ กลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในวันที่ 13 มี.ค.เวลา 03.33น.ท่ามกลางประชาชนที่มารอเฝ้าส่งเสด็จ เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างที่รถไฟฟ้าพระที่นั่งของพระองค์แล่นผ่านประชาชนที่รอเฝ้าส่งเสด็จ พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ทักทายด้วยสีพระพักตร์ที่แจ่มใส ขณะที่ประชาชนต่างพร้อมใจกันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” พร้อมก้มลงกราบ
2. “ทักษิณ” เหิมหนัก กดดันพระราชทานอภัยโทษ แต่ยังพลิกลิ้น เปล่าถวายฎีกา!
สัปดาห์ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีซื้อที่รัชดาฯ ที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี ได้เคลื่อนไหวผ่านหลายเวที ทั้งเวทีสื่อต่างประเทศ และการโฟนอินเข้ามายังเวทีคนเสื้อแดงที่กลุ่ม นปช.ทยอยจัดขึ้นในจังหวัดต่างๆ แต่ไฮไลต์อยู่ที่การเคลื่อนไหวในต่างประเทศมากกว่า โดยเมื่อวันที่ 9 มี.ค.นิตยสารฟาร์อีสเทิร์น อีโคโนมิค รีวิว ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณที่นอกจากจะแสดงความเชื่อมั่นว่า เขาจะสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ภายในปลายปีนี้แล้ว เขายังย้ำถึงความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย โดยเปรียบตนเองเป็น “สุนัขเลี้ยงที่เชื่องอยู่เสมอ” ต่อมาวันที่ 12 มี.ค. พ.ต.ท.ทักษิณได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วิกฤตเศรษฐกิจโลก : ทำไมจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่วิกฤตการเงิน แต่เป็นวิกฤตทางปัญญา” โดยเป็นการปาฐกถาผ่านระบบวิดีโอลิงค์ จากเมืองดูไบ ประเทศสาธารณรัฐสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มายังสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฮ่องกง(เอฟซีซี) ซึ่งการปาฐกถาดังกล่าวถูกเลื่อนมาจากวันที่ 2 มี.ค. เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณแจ้งยกเลิกการเดินทางไปกล่าวปาฐกถา เพราะเกรงว่าจะถูกจับตัวส่งกลับไทยหลังรัฐบาลไทยประสานทางการจีนและฮ่องกงขอให้ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาดำเนินคดีในไทย ส่งผลให้ทางเอฟซีซีต้องเปลี่ยนรูปแบบให้ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวปาฐกถาผ่านระบบวีดีโอลิงค์แทน ทั้งนี้ นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณจะกล่าวปาฐกถาดังกล่าวไปยังเวทีเอฟซีซีที่ฮ่องกงแล้ว ยังมีการถ่ายทอดภาพและเสียงมายังสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย(ที่อาคารรมณียา)ด้วย โดยมีการแจกเอกสารปาฐกถาของ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ท้ายคำแปลภาษาไทย มีข้อความว่า “ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประธานมูลนิธิสร้างอนาคตที่ดีกว่า และอดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของประเทศไทย” สำหรับเนื้อหาของปาฐกถาดังกล่าว นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณจะพยายามสอนมวยการแก้วิกฤตเศรษฐกิจแก่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนแล้ว ยังดิสเครดิตรัฐบาลไทยว่า การใช้เงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ และว่า การรีไซเคิลนโยบายของพรรคไทยรักไทยทั้งหมดไม่สามารถแก้ปัญหาในขณะนี้ได้ พร้อมกันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังประชดด้วยการขอบคุณ คมช.ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจตนด้วย เพราะทำให้ทรัพย์สินของตนที่ถูกอายัดยังคงอยู่ ไม่เช่นนั้นตนอาจจะลงทุนในตลาดหุ้นและสูญเงินไปแล้วก็ได้ ผู้สื่อข่าวถาม พ.ต.ท.ทักษิณว่า ตั้งใจจะกลับไทยเพื่อรับโทษและขออภัยโทษหรือไม่ เขาตอบแบบเลี่ยงๆ โดยยืนยันว่า “พร้อมจะสู้เพื่อความยุติธรรม ไม่ว่าในนรกหรือสวรรค์ ก็จะสู้ เพราะผมเป็นนักสู้ และผมจะไม่ยอมแพ้” และว่า “ผมอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายฝังอดีต ให้อภัย และกลับมาร่วมมือกัน การเผชิญหน้าทำให้ต่างต่อสู้จนคุณอ่อนแอ” ทั้งนี้ วันเดียวกัน(12 มี.ค.) หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ เจแปน ไทมส์ ของญี่ปุ่น รายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ให้สัมภาษณ์เจแปน ไทมส์ ว่า เขาได้ขอพระราชทานอภัยโทษในความผิดข้อกล่าวหาคอร์รัปชั่นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว “ผมได้ส่งจดหมายถวายฎีกาถึงพระองค์แล้ว 3 ฉบับ เพราะผมเชื่อในพระมหากรุณาธิคุณและพระราชวินิจฉัยในพระองค์ หากได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ผมรู้ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนผมจะต้องดีใจและจะไม่ต้องต่อสู้ รวมทั้งไม่ต้องมีการพิสูจน์สิ่งใดอีก ขึ้นอยู่กับพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์” พ.ต.ท.ทักษิณ ยังบอกอีกว่า พร้อมที่จะรอการได้รับพระราชทานอภัยโทษ “รู้ดีว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะได้รับทราบผล แต่ยืนยันได้ว่าตนเต็มใจที่จะรอ ตราบเท่าที่การพระราชทานอภัยโทษสามารถลบข้อครหาต่อตนเองได้ ...ที่เมืองไทยเราพูดกันว่า บางทีเราก็จำเป็นต้องกัดลิ้นตัวเองแล้วก็ยอมกลืนเลือดลงคอไปเงียบๆ ผมอดทนพอ ผมรอได้” พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญาณด้วยว่า ตนพร้อมจะกลับมาเล่นการเมืองในไทยอีกครั้ง “ผมต้องกลับไป ผมยังคงติดค้างอยู่กับกลุ่มผู้สนับสนุนผมและกำลังใจจากพวกเขา หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นวันนี้ ผมชนะแน่นอน” ทั้งนี้ หลังหนังสือพิมพ์เจแปน ไทมส์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยอมรับว่าได้ทำหนังสือถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ 3 ฉบับ ปรากฏว่า บรรดาคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวเป็นการใหญ่ โดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่า ได้รับการยืนยันจาก พ.ต.ท.ทักษิณแล้วว่า ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เจแปน ไทมส์ จริง แต่ไม่ได้พูดเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ พร้อมอ้างว่า มีเพียงการทำหนังสือเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น 3 ครั้ง โดยทำก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาฯ ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ก็อ้างว่า ข่าวที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนของสื่อมวลชนต่างประเทศหรือในประเทศก็ได้ ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ทำหนังสือถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่การที่ พ.ต.ท.ทักษิณออกมาพูดเป็นเรื่องไม่บังควร เพราะการอภัยโทษถือเป็นพระราชวินิจฉัย การทำเช่นนี้เหมือนกับกดดันพระราชอำนาจ สำหรับความคืบหน้าการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาดำเนินคดีในไทยนั้น นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ เผย(13 มี.ค.)ว่า ได้รับมอบหมายจากนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานอัยการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปฮ่องกงเพื่อเจรจาเกี่ยวกับการร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันในวันที่ 17 มี.ค.นี้ คาดว่าจะใช้เวลาเจรจาประมาณ 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม นายศิริศักดิ์ บอกว่า ไม่แน่ใจว่าจะต้องเจรจากันอีกกี่รอบ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายว่า จะยอมรับในเงื่อนไขกันได้มากน้อยแค่ไหน และหากได้ข้อสรุปเบื้องต้นอย่างไร จะนำกลับมารายงานให้อัยการสูงสุดทราบ เพื่อเสนอ ครม.และรัฐสภาต่อไป
3. “เพื่อไทย”ได้ฤกษ์ ยื่นซักฟอก “นายกฯ + 5 รมต.”แล้ว ด้าน “ปชป.”สงสัย “แม้ว”คนเขียนญัตติ!
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พ้นตำแหน่ง ตาม รธน.มาตรา 274 ทั้งนี้ หนังสือถอดถอนนายกฯ ดังกล่าว มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมลงชื่อ 158 คน จากทั้งหมด 187 คน โดยระบุพฤติการณ์ของนายกฯ ที่ทำให้ต้องยื่นถอดถอน 7 ข้อ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า บางข้อเป็นพฤติการณ์ของนายอภิสิทธิ์ตั้งแต่ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ เช่น การอ้างว่านายอภิสิทธิ์เคยเสนอเรื่องนายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 ของ รธน.2540 ,การอ้างว่านายอภิสิทธิ์ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องขอคืนพระราชอำนาจ นอกจากนี้ยังระบุว่า การเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ของนายอภิสิทธิ์ไม่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย แต่อยู่ภายใต้การชี้นำของคณะบุคคลชั้นสูงบางกลุ่มบางคน ผลักดันพรรคการเมืองเสียงข้างน้อยเข้ามาบริหารประเทศ พร้อมกันนี้ ยังกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์มีพฤติกรรมเป็นตัวการ หรือเป็นผู้ให้ หรือผู้สนับสนุน หรือสั่งการกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งที่รู้ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ กระทำการขัดต่อกฎหมายและขัดขวางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ มั่นใจ สามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ 7 ประเด็นที่ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนนายกฯ ล้วนเป็นประเด็นเก่าที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช.เคยวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง และบางประเด็นศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ผิด เช่น การที่พรรคฯ ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังพรรคเพื่อไทยยื่นถอดถอนนายกฯ ต่อประธานวุฒิสภาได้ 1 วัน วันต่อมา(12 มี.ค.) พรรคเพื่อไทยก็เข้ายื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภาเพื่อถอดถอนรัฐมนตรีอีก 5 คนออกจากตำแหน่ง ประกอบด้วย 1.นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง 2.นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยคลัง 3.นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ 4.นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย 5.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย โดยมี ส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมลงชื่อเพื่อยื่นถอดถอน 5 รัฐมนตรี จำนวน 172 คน จากทั้งหมด 187 คน พร้อมระบุเหตุผลที่ยื่นถอดถอนรัฐมนตรีดังกล่าว เช่น ระบุว่า นายกรณ์ ร่วมกับนายอภิสิทธิ์ร้องขอบริษัทเอกชนที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ให้ส่งข้อความสั้น(เอสเอ็มเอส)ถึงผู้ใช้บริการเมื่อครั้งนายอภิสิทธิ์เข้ารับตำแหน่งนายกฯ โดยการดำเนินการดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาท แต่เอกชนไม่คิดเงิน เท่ากับนายกรณ์และนายอภิสิทธิ์ได้รับ “ประโยชน์อื่นใด”ตามประกาศของ ป.ป.ช. และเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เป็นต้น ทั้งนี้ เดิมมีรายงานว่า พรรคเพื่อไทยจะยื่นถอดถอนรัฐมนตรี 8 คน แต่เมื่อยื่นจริง กลับเหลือ 5 คน โดย 3 คนที่หลุดโผไปก็คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ,นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีพาณิชย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีศึกษาธิการ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ยื่นหนังสือเพื่อถอดถอน 5 รัฐมนตรีต่อประธานวุฒิสภาแล้ว ได้เดินทางไปยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ตาม รธน.มาตรา 158 และญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ตาม รธน.มาตรา 159 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุมูลเหตุที่ต้องเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ 9 ข้อ เช่น นายอภิสิทธิ์เป็นชายไทย แต่กลับหลีกเลี่ยงการเข้ารับราชการทหาร 2.การเข้ารับตำแหน่งของนายอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย แต่อยู่ภายใต้การชี้นำของคณะบุคคลชั้นสูงบางกลุ่ม 3.นายอภิสิทธิ์ขาดจริยธรรมและคุณธรรม เนื่องจากจงใจบิดเบือนความจริงและนำความเท็จมากล่าวในสภาฯ สร้างความแตกแยกของคนในชาติ และขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ บอก ได้หารือกับวิปรัฐบาลแล้ว คิดว่าช่วงเวลาที่น่าจะเหมาะสมต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจน่าจะเป็นวันที่ 26-27 มี.ค. พร้อมมั่นใจว่าจะชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้ ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลง(12 มี.ค.)ว่า ทั้ง 7 ประเด็นที่ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนนายกฯ นั้น ไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยเขียนขึ้นมาเอง หรือได้รับแฟ็กซ์มาจากไหน เพราะมีคนบอกว่า มีแฟ็กซ์จากประเทศแถบอาหรับ จึงขอให้ฉายาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เป็นญัตติตัดแปะและตัดปะ เพราะนำประเด็นจากหนังสือพิมพ์มาตัดแปะ ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยอาจต้องส่งตีความว่าขัดต่อ รธน.หรือไม่ เนื่องจากนักกฎหมายได้ตั้งข้อสังเกตว่า ส.ส.1 คนจะเสนอ 2 ญัตติรวมกันได้หรือไม่ เพราะ รธน.เขียนก้ำกึ่ง ดังนั้นต้องรอบคอบ หากมีปัญหาจริง อาจต้องเสนอให้ตีความในข้อกฎหมาย และว่า ความจริงฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องเสนอญัตติมา 2 ญัตติ เพราะเมื่อเสนอญัตติให้มีการอภิปรายนายกฯ แล้ว เมื่อนายกฯ ถูกถอดถอน คณะรัฐมนตรีก็จะหลุดไปทั้งคณะ อย่างไรก็ตาม นายชัย บอกว่า เรื่องนี้สภามีเวลาพิจารณา 7 วัน หลังจากนั้นจะแจ้งให้ฝ่ายค้านทราบภายในวันที่ 19 มี.ค. หากพบว่าญัตติมีปัญหาไม่ถูกต้อง ก็จะส่งให้แก้ไข แล้วให้ฝ่ายค้านเสนอญัตติเข้ามาใหม่ แต่หากญัตติเรียบร้อย ก็จะแจ้งให้รัฐบาลทราบเพื่อเตรียมตัวภายใน 15 วัน นายชัย ยังชี้ด้วยว่า “การอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นญัตติธรรมดา ทุกอย่างมันอยู่ที่มือและเสียงโหวตว่า มีเสียงถึง 234 เสียงหรือไม่ หากเสียงเกินก็ได้เป็นนายกฯ ต่อ หากเสียงต่ำกว่า 234 ก็ถูกปลดออก ก็เท่านั้น” ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาสวนกลับนายชัย โดยยืนยันว่า พรรคฯ ได้ยื่นญัตติทุกอย่างถูกต้องตาม รธน.เพราะ รธน.ไม่ได้บัญญัติห้ามว่า เมื่อ ส.ส.ได้ลงชื่อในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แล้ว จะลงชื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลมิได้ และว่า กรณีแบบนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อครั้งยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ และรัฐมนตรีอื่นๆ อีก 7 คน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2551 ซึ่งมีนายชัยเป็นประธานสภาฯ ขณะที่นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร ก็ออกมายืนยันด้วยท่วงทำนองที่สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยว่า การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยนั้น เป็นการยื่นญัตติคนละมาตรา ซึ่งสามารถทำได้ เพราะไม่มีอะไรห้าม ส.ส.ที่ลงชื่อยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ไม่ให้ลงชื่อยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ซึ่งในอดีตก็เคยมีการยื่นแบบนี้มาแล้ว ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาปรามาสญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยว่า ข้อมูลไม่ถึงขั้นที่จะเป็นญัตติได้ เป็นแค่กระทู้ถามธรรมดาที่ไม่จำเป็นต้องตอบในสภาก็ได้ นายเทพไท ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ข้อมูลที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายรัฐมนตรีทั้ง 5 คน แสดงให้เห็นว่าฝ่ายค้านไม่มีความพร้อม ลุกลี้ลุกลน และยื่นแบบขอไปที หรือขอแก้บนเท่านั้น เห็นได้จากการพิมพ์ญัตติที่แม้แต่นามสกุลและตำแหน่งของรัฐมนตรี ก็ยังพิมพ์ผิด
4. “สถาบันพระปกเกล้า”รับเป็นเจ้าภาพศึกษาปฏิรูปการเมือง ด้าน “เพื่อไทย”ขู่แฉคลิปลับ!
ความคืบหน้าหลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ทำหนังสือขอให้สถาบันพระปกเกล้ารับเป็นเจ้าภาพศึกษาการปฏิรูปการเมือง ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ประชุมสถาบันพระปกเกล้าที่มีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธาน ได้มีมติให้สถาบันพระปกเกล้ารับทำการศึกษาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย พร้อมมีมติแต่งตั้งนายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษาพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แถลงว่า คณะกรรมการอิสระจะประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนไม่เกิน 50 คน ใช้เวลาศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน แยกเป็น 3 ระยะ 1.ศึกษาข้อเสนอแนะและรับฟังความเห็นจากผู้นำการเมือง ทั้งจากนายกฯ ,ประธานวุฒิสภา ,สภาผู้แทนราษฎร ,ผู้นำฝ่ายค้าน ,ผู้แทนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ,ผู้แทนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ฯลฯ 2.นำมาจัดทำเป็นข้อเสนอเบื้องต้น จากนั้นนำไปรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ และประชาชน 76 จังหวัด 3.นำข้อเสนอต่างๆ มาจัดทำข้อสรุปสุดท้าย ปรับปรุงข้อเสนอ และจัดส่งให้คณะรัฐมนตรี ,สภาผู้แทนราษฎร ,วุฒิสภา และพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชน ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. รีบดักคอรัฐบาลและสถาบันพระปกเกล้าว่า การจะใช้เวลา 8 เดือนศึกษาการปฏิรูปการเมือง เป็นเพียงการซื้อเวลาของรัฐบาลให้ยาวนานออกไป เพราะเมื่อศึกษาออกมาแล้ว ก็เป็นแค่กระดาษปึกหนึ่ง ยังไม่มีการปฏิรูปการเมืองใดใด ไม่เหมือนกรณีคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ(คปพร.-ของ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.)ที่ได้ทำการศึกษาช่องว่างของ รธน.2550 และการเมือง แล้วนำเสนอเป็นร่างแก้ไข รธน.และยื่นให้ประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าสู่การพิจารณาแล้ว แต่กลับได้รับการเพิกเฉย นายจตุพร ยังชี้ด้วยว่า ผู้ที่ร่าง รธน.2550 ก็คือบุคคลที่มาจากสถาบันพระปกเกล้าแทบทั้งสิ้น ขณะที่นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ก็ออกมายืนยันว่า ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับการมอบอำนาจให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดำเนินการศึกษาการปฏิรูปการเมือง เพราะมีปัญหาเรื่องความกลาง รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการตั้งนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปการเมือง เพราะเป็นบุคคลที่อยู่ในยุค คมช. ด้านนายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่าง รธน.2550 กลัวถูกทาบทามเป็นคณะกรรมการอิสระศึกษาการปฏิรูปการเมือง จึงรีบออกตัวว่า ถ้าจะเชิญเข้าไปร่วมเป็นกรรมการ คงไม่รับ เพราะเหนื่อยมามากแล้ว ถ้าจะให้เป็นที่ปรึกษาเป็นครั้งคราว สามารถทำได้ เนื่องจากเคยร่าง รธน.2550 มาแล้ว ถ้ากลับเข้าไปอีก อาจจะมีคนกล่าวหาว่ากลับมาปกป้อง รธน.จะโดนด่าฟรี ขณะที่นายสุจิต บุญบงการ ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษา รับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง บอก ถ้ารัฐบาลตอบรับมติของสถาบันพระปกเกล้า ผมก็ต้องเดินหน้า ผมไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะดลบันดาลให้ทุกคนยอมรับได้ ผมเป็นนักวิชาการคนหนึ่ง มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ยืนยันว่า ตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง พร้อมย้ำ ผมไม่อยู่ใต้อาณัติใคร แต่ผลการศึกษาที่ออกมาจะไปเข้าทางใครก็ช่วยไม่ได้ และไม่ได้หมายความว่าผมอยู่ใต้อาณัติของกลุ่มนั้น ด้านนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ไม่เห็นด้วยกับการตั้งกรรมการอิสระเพื่อศึกษาการปฏิรูปการเมือง โดยบอกว่า ไม่รู้จะศึกษาปัญหาอะไร เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้มาจาก รธน.เพียงไม่กี่มาตรา ดังนั้นแนวทางที่ถูกต้องก็ต้องแก้ไข รธน.จึงจะแก้ปัญหาการเมืองได้ โดยควรนำ รธน.2540 มาปรับแก้ ไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาให้เสียเวลา ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เปิดแถลง(10 มี.ค.)โจมตีการที่รัฐบาลให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพศึกษาการปฏิรูปการเมือง โดยชี้ว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ เป็นการปฏิรูปการเมืองแบบลับลวงพราง เพราะทราบว่ามีบุคคล 3 กลุ่มไปพบกันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง หลังการหารือจึงออกมาเป็นกรรมการชุดนี้ที่มีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน โดยบุคคล 3 กลุ่มดังกล่าวก็คือ 1.กลุ่มคนใหญ่คนโตในรัฐบาล 2.กลุ่มคนสีเขียวที่โอบอุ้มรัฐบาล และ 3.คนใหญ่คนโตในสถาบันพระปกเกล้า นายพร้อมพงศ์ ยังขู่จะนำคลิปลับการพบหารือของ 3 กลุ่มดังกล่าวมาเปิดเผยด้วยหลังมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปการเมือง นอกจากนี้ นายพร้อมพงศ์ยังเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์หยุดแสดงละครเพื่อยืดเวลาและแสดงความจริงใจในการปฏิรูปการเมือง และเรียกร้องให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่าคิดแต่รับใช้อย่างเดียว รวมทั้งให้รัฐบาลทบทวนการตั้งกรรมการศึกษาการปฏิรูปการเมือง เพราะแม้แต่นายบรรหาร ศิลปอาชา ก็ไม่เห็นด้วย ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ได้เรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้านที่แสดงจุดยืนไม่ยอมรับคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปการเมือง หันมาร่วมมือกับคณะกรรมการ เพื่อร่วมเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาบ้านเมือง เพราะหากยังคงมีอคติหรือตั้งป้อมคัดค้าน ทั้งที่คณะกรรมการยังไม่ได้ลงมือทำงาน ก็คงจะไม่สามารถหาจุดร่วมระหว่างกันในการแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน นายชัย ยังยืนยันด้วยว่า ตนจะไม่ร่วมเป็น 1 ใน 50 กรรมการอิสระศึกษาการปฏิรูปการเมือง เพราะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
5. ผลสอบ “ซานติก้า” พบ 5 ขรก.ผิดวินัย!
เมื่อวันที่ 9 มี.ค.นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ ว่า หลังจาก กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 2 ชุด ชุดแรกเป็นการตรวจสอบด้านโยธา ชุดที่ 2 เป็นการตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีของซานติก้า ผับ โดยสำนักการคลัง เบื้องต้นผลการตรวจสอบพบว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าข่ายทำผิดวินัยร้ายแรง 3 ราย และผิดวินัยไม่ร้ายแรง 2 ราย สำหรับผู้เข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย 1.นายอรุณ ตัณฑ์กุลรัตน์ อดีตหัวหน้าฝ่ายโยธา เขตวัฒนา (ปัจจุบันเกษียณแล้ว) 2.นายสถิต พระวิวงศ์ อดีตหัวหน้ากลุ่มงานอาคาร เขตวัฒนา (ปัจจุบันเกษียณแล้ว) 3.ส.ต.ฉัตรชัย ไชยฤทธิ์ อดีตนายตรวจอาคาร ปัจจุบันอยู่เขตพระโขนง ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เข้าข่ายผิดวินัยไม่ร้ายแรงจำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. นายสุรเกียรติ ลิ้มเจริญ ผอ.เขตวัฒนาในขณะนั้น ปัจจุบันเป็น ผอ.เขตปทุมวัน ขณะนี้ช่วยราชการอยู่ที่สำนักปลัด กทม. 2.นายบรรเจิด สุวรรณชาติ นายช่างโยธา เขตวัฒนา ซึ่งทำแบบแปลนอาคารซานติก้า ผับ หาย นายพงศ์ศักติฐ์ เผยด้วยว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ ตนจะรายงานเรื่องนี้ให้ผู้ว่าฯ กทม.ทราบ พร้อมทั้งจะส่งเรื่องให้กองการเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสำนวนข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า เพียงพอต่อการดำเนินการตามวินัยตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบหรือไม่ หรือจะต้องสอบเพิ่มเติม หรือควรจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องมากไปกว่าผู้ที่ถูกระบุในสำนวนนี้
6. ศาล สั่งจำคุก “เกริกเกียรติ”อีก 130 ปี คดียักยอกทรัพย์บีบีซี แถมปรับอีกกว่า 3 พันล้าน!
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ(บีบีซี) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี กับพวก เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์บีบีซี ตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ทั้งนี้ ศาลพิพากษาว่า นายเกริกเกียรติกระทำผิดรวม 13 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 10 ปี รวม 130 ปี แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำคุกสูงสุดได้เพียง 20 ปี นอกจากโทษจำคุกแล้ว ศาลยังสั่งให้ปรับเป็นเงินกว่า 3,100 ล้านบาท ส่วนบริษัท อเมริกัน สแตนดาร์ด แอ๊พเพรซิลวา จำกัด จำเลยที่ 4 ศาลสั่งลงโทษปรับ 2,000 ล้านบาท , นายไพโรจน์ ซึ่งศิลป์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อเมริกัน สแตนดาร์ดฯ จำเลยที่ 5 ศาลสั่งลงโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 2,000 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 2-3 คือ นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบีบีซี และนายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชธนกิจ บีบีซี นั้น ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยทั้งสองได้รับประโยชน์ใดจากการอนุมัติสินเชื่อ สำหรับคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 6 ต.ค.2537-4 มี.ค.2539 จำเลยที่ 1-3(นายเกริกเกียรติ-นายเอกชัย-นายวันชัย) ได้ร่วมกับนายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษาด้านการให้สินเชื่อของจำเลยที่ 1 อนุมัติสินเชื่อ 1,000 ล้านบาทแก่บริษัท ฟอร์ฟิฟ ออเรนจ์ จำกัด บริษัทในเครือของนายราเกซ ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000 บาท โดยใช้ที่ดินใน จ.สระแก้ว 19 แปลง เนื้อที่ 462 ไร่เศษ ซึ่งจำเลยที่ 4-5 ที่เป็นบริษัทและผู้ประเมินราคา ได้ตีราคา 832 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาปกติ 10 เท่า อันเป็นการทุจริตมีเจตนาให้บริษัทดังกล่าวใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ ทำให้บีบีซีได้รับความเสียหายจำนวนกว่า 1,500 ล้านบาท อนึ่ง คดียักยอกทรัพย์บีบีซีคดีนี้ เป็นสำนวนที่ 8 แล้ว จากที่ก่อนหน้านี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาให้จำคุกนายเกริกเกียรติรวม 3 สำนวนเป็นเวลา 30 ปี และปรับเป็นเงินกว่า 3,200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีคดีที่ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกนายเกริกเกียรติอีก 4 สำนวน เป็นเวลา 80 ปี ปรับเป็นเงินกว่า 470 ล้านเหรียญสหรัฐ และปรับเป็นเงินอีกกว่า 4,290 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมโทษจำคุกนายเกริกเกียรติทั้ง 8 สำนวน 2 ศาล เท่ากับว่านายเกริกเกียรติจะต้องได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 130 ปี ปรับเป็นเงินกว่า 7,500 ล้านบาท และปรับเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอีกกว่า 470 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งต้องชดใช้เงินแก่บีบีซีอีกกว่า 2,300 ล้านบาท ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา ญาติของนายเกริกเกียรติ ได้ใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินใน จ.เชียงใหม่ ราคาประเมิน 4 ล้านบาท ยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ขณะที่ญาตินายไพโรจน์ จำเลยที่ 5 ใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินใน กทม.ราคาประเมิน 2 ล้านบาท ยื่นขอประกันตัว ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาต โดยตีราคาประกันนายเกริกเกียรติ 4 ล้านบาท และนายไพโรจน์ 2 ล้านบาท.