xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-14 ก.พ.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

1. “เพื่อไทย”เตรียมเสนอ กม.นิรโทษกรรม “แม้ว-111 ทรท.”อ้าง เพื่อความปรองดอง!

นอกจากพรรคเพื่อไทย จะเตรียมเสนอ กม.นิรโทษกรรมฯ แล้ว ยังเตรียมขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รบ.โดยเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นนายกฯ แทน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

สถานการณ์การเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เริ่มจากเมื่อวันที่ 8 ก.พ. มีข่าวสะพัดว่า มีรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศ เนื่องจากประกอบธุรกิจที่ไร้จริยธรรม ส่งผลให้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมโชว์วีซ่าเข้าสหรัฐฯ ที่ตนได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2550 โดยมีอายุ 10 ปีถึงวันที่ 8 มี.ค.2560 นางพรทิวา ยังชี้ด้วยว่า ข่าวดังกล่าวน่าจะเป็นการดิสเครดิตทางการเมืองมากกว่า ทั้งนี้ มีข่าวด้วยว่า สหรัฐฯ จะถอนวีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ให้เข้าประเทศเช่นกัน หลังมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า ญี่ปุ่นและจีนได้ถอนวีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่นักการเมืองที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณหลายคน(เช่น นพดล ปัทมะ ,จักรภพ เพ็ญแข ,ยงยุทธ ติยะไพรัช ฯลฯ)ต่างไม่เชื่อข่าวดังกล่าวและออกมาปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ โดยนายยงยุทธ บอกว่า วันนี้มีข่าวปล่อยข่าวเท็จมาก เช่น ข่าวที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณถูกยึดเงิน 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เป็นความจริง และว่า ไม่ทราบว่าประเทศจีนและสหรัฐฯ รวมถึงประเทศในเอเชียบางประเทศจะไม่ให้วีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณจริงหรือไม่ แต่เห็นว่าสหภาพยุโรปยังให้เกียรติและดูแล พ.ต.ท.ทักษิณ แม้อังกฤษจะไม่ออกวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณก็ตาม ด้านนายเอริค จี.จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้ออกมาดับข่าวลือเกี่ยวกับการถอนวีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณและการขึ้นบัญชีดำนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีพาณิชย์ หลังเข้าพบนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์(10 ก.พ.)ว่า นางพรทิวามีวีซ่าถูกต้อง สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ เมื่อใดก็ได้ ส่วนกรณี พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ทูตสหรัฐฯ ยืนยันว่า สหรัฐฯ ยังไม่มีแผนที่จะถอนหรือยกเลิกวีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด นอกจากเรื่องถอนวีซ่าแล้ว ยังมีกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย โดยพรรคเพื่อไทยได้มีการประชุม ส.ส.ของพรรคเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ซึ่งมีแกนนำพรรคเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง รวมทั้งบุคคลในตระกูลชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นนายพายัพ ชินวัตร ,นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ,น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนางเยาวเรศ ชินวัตร โดยตอนแรกมีข่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่เป็น ส.ส. เพื่อให้สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ สำหรับแคนดิเดตหัวหน้าพรรคคนใหม่ ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ,พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ,นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แต่เมื่อประชุมแล้วเสร็จ กลับยังไม่มีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่แต่อย่างใด โดยมีเพียงการหยั่งเสียง ส.ส.พรรคว่าควรจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งเปิดประเด็นโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ที่ยืนยันว่า ตนมีหลักฐานพร้อมสมบูรณ์ที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างปรบมือตอบรับแนวคิด ร.ต.อ.เฉลิมอย่างกึกก้อง แต่ในที่สุด ความจริงก็ฟ้องต่อสังคมว่า เกิดการเสียงแตกในพรรคเพื่อไทย เมื่อนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค แถลงหลังประชุมพรรคว่า พรรคจะยังไม่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เนื่องจากยังไม่มีความเสียหายในการบริหารราชการแผ่นดินมากพอที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กลับออกมาแถลงว่า ที่ประชุมพรรคมีมติเอกฉันท์ให้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลัง ร.ต.อ.เฉลิมนำหลักฐานบางอย่างมาแสดง ทำให้ ส.ส.ทุกคนเห็นว่าเป็นหลักฐานที่มีมูล โดย ร.ต.อ.เฉลิมเสนอให้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ในวันที่ 11 มี.ค.และอยากให้กำหนดวันอภิปรายในวันที่ 25-26 มี.ค. พร้อมกันนี้จะยื่นอภิปรายรัฐมนตรีหลายคน แต่ยังไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นใครบ้าง ด้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาฯ และ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาสำทับความไม่เป็นเอกภาพในพรรคเพื่อไทยเช่นกัน(11 ก.พ.) โดยบอกว่า ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่วางใจรัฐบาลในช่วงกลางเดือน มี.ค.ตามที่ ร.ต.อ.เฉลิมระบุ เพราะเร็วเกินไป และฝ่ายค้านควรมีเวลาเก็บข้อมูลนานกว่านี้ ส่วนกรณีที่การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องเสนอชื่อนายกฯ ด้วยนั้น พ.อ.อภิวันท์ บอกว่า ตนยังมองว่านายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ มีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(12 ก.พ.) นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้ออกมายืนยันว่า พรรคไม่ได้เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นเพียงความคลาดเคลื่อนที่พูดคุยกันไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้เข้าใจกันแล้ว โดยพรรคมีมติยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ คาดว่าจะยื่นในวันที่ 11-12 มี.ค. และว่า จะอภิปรายรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ,นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ,นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายอิสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยพรรคจะเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นนายกฯ ซึ่งแกนนำพรรคเห็นชอบแล้ว ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงาน(วิป)พรรคร่วมรัฐบาล บอกว่า เป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือน มี.ค. เพราะเป็นเดือนสุดท้ายในการประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป พร้อมยืนยัน รัฐบาลมีความพร้อม ไม่ต้องเตรียมตัว และได้ตรวจสอบแล้ว ไม่มีประเด็นที่น่ากังวล รัฐบาลชี้แจงได้หมด ทั้งนี้ นอกจากเรื่องเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว พรรคเพื่อไทยยังได้เตรียมเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรค โดยคาดว่าจะเสนอต่อประธานสภาฯ ในวันที่ 17-18 ก.พ.นี้ โดยพรรคเพื่อไทยให้ชื่อร่างกฎหมายดังกล่าวว่า “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...” พร้อมให้เหตุผลที่ต้องมีร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงของชาติ สมควรสร้างความปรองดองโดยการนิรโทษกรรมให้บุคคลใดใดที่ได้กระทำผิดก่อนวันที่ 12 ก.พ.2552 ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่ทำผิดฐานต่อต้านการยึดอำนาจ ต่อต้านการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นที่น่าสังเกตว่า การนิรโทษกรรมตามร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่เพียงนิรโทษกรรมแก่ตัวผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงผู้บงการ ผู้สนับสนุนหรือใช้ให้กระทำผิดด้วย และว่า หากการกระทำผิดนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งในทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง และถ้าผู้กระทำผิดดังกล่าวถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ก็ให้ปล่อยตัวไปโดยเร็ว สำหรับปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยนั้น ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย มีเพียง ส.ส.พรรคเพื่อไทยและแนวร่วมที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เช่น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา 1 ใน 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ออกมายกตัวอย่างว่า หลายประเทศที่มีความขัดแย้ง เช่น แอฟริกา ก็ใช้แนวทางนิรโทษกรรม โดยให้ทุกฝ่ายลืมอดีต แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ไม่เช่นนั้นคนติดชนักก็จะไม่คิดถึงการทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ แต่จะหาทางทำให้ตนหลุดพ้นจากปัญหาในอดีต ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า จุดยืนของพรรคฯ ก็คือ จะไม่ทำกฎหมายเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะกฎหมายเป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศที่ต้องถือเป็นหลักมาตรฐาน พร้อมเชื่อว่า เรื่องนี้จะไม่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน และไม่คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะถูกโดดเดี่ยวจากพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องนี้ ขณะที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยคนใหม่ จากกลุ่มเพื่อนเนวิน แสดงความเห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย โดยอ้างว่า ตอนนี้นักการเมืองอาชีพน้อยลงทุกวัน รุ่นใหม่ที่ขึ้นมาก็ผลิตไม่ทัน ดังนั้นการนิรโทษกรรมนักการเมืองจึงเป็นเรื่องจำเป็นในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตามแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินคนอื่นๆ ในพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว เช่น นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย บอกว่า เรื่องนี้ต้องฟังความเห็นของประชาชนด้วย เพราะเป็นกฎหมายที่ทำให้สิ่งที่ผิดเป็นถูก และว่า ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 แต่ละคนก็อยู่ได้อย่างปกติสุข จึงยังไม่ต้องรีบร้อนนิรโทษกรรม ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน โดยบอกว่า “การเมืองขณะนี้กำลังนิ่ง ไม่ควรเสนออะไรเข้ามาเพื่อทำให้เกิดภาระต่อรัฐบาลอีก เฉพาะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็แย่อยู่แล้ว” ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ชี้ว่า ถ้ามีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอจริง เท่ากับว่าไม่ให้ความสำคัญต่อสถาบันศาล เพราะการตรากฎหมายลักษณะนี้ถือเป็นการเอื้ออำนวยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอาจสร้างความแตกแยกตามมาได้ จึงอยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทบทวนเรื่องนี้ ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเช่นกัน โดยชี้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงแผนลับ ลวง พราง ของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการฟอกผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณและเครือข่าย และว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา จะส่งผลให้ระบบยุติธรรมของประเทศขาดความหมายและพังทลายในที่สุด เพราะในอนาคตคนก็พร้อมทำผิดได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะคนมีอำนาจทางการเมือง เพราะเมื่อทำผิดแล้ว มีคำพิพากษาลงโทษแล้ว ก็สามารถใช้อำนาจทางการเมืองในรัฐสภาฟอกผิดให้ตัวเองได้

2. ผู้ว่าฯ อุดรฯ สั่งปิด “หนองประจักษ์ฯ” สกัด “เสื้อแดง”ปะทะ “พันธมิตรฯ” ขณะที่ ส.ส.เพื่อไทย สวมบทปลุกระดม!

นายวิเชียร ขาวขำ และนายอนันต์ ศรีพันธุ์ 2 ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย นำม็อบเสื้อแดงบุกสนามบินอุดรฯ หวังขวางแกนนำพันธมิตรฯ ไม่ให้ไปขึ้นเวทีที่หนองประจักษ์ฯ(14 ก.พ.)
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ทั้งตำรวจและทหาร ต่างจับตาและเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ปะทะระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศจัดงาน “คาราวานการเมืองใหม่ ให้รักเราท่วมท้นประเทศไทย” ในวันที่ 14 ก.พ.ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ตั้งแต่เวลา 16.00น.-04.00น. ซึ่งพันธมิตรฯ ได้ประกาศตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วว่าจะจัดงานดังกล่าว และคาดว่าจะมีพันธมิตรฯ จากทั่วประเทศมาร่วมงาน ขณะที่หลายฝ่ายหวั่นว่า จะเกิดเหตุกลุ่มเสื้อแดงของ นปช.ในจังหวัดอุดรฯ บุกมาทำร้ายพันธมิตรฯ ซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2551 หรือไม่ หลังกลุ่มเสื้อแดงประกาศจะออกมาต่อต้านพันธมิตรฯ ส่งผลให้นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ต้องเชิญแกนนำทั้งสองฝ่ายมาประชุมเพื่อประนีประนอมถอยคนละก้าว เพื่อลดการเผชิญหน้า แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายยืนยันทำตามกำหนดการเดิม ผู้ว่าฯ อุดรธานี จึงขอให้ทั้งสองฝ่ายชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ และเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ อุดรธานี ได้มีคำสั่งให้ปิดสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม สถานที่จัดงานของพันธมิตรฯ ตั้งแต่เวลา 10.00น.วันที่ 13 ก.พ.-10.00น.วันที่ 15 ก.พ.ด้วย เพื่อรักษาความปลอดภัย ไม่ให้เกิดการปะทะระหว่าง นปช.กับพันธมิตรฯ โดยปกติมีประตูทางเข้าสวนสาธารณะหนองประจักษ์ฯ 3 ทาง แต่ระหว่างที่พันธมิตรฯ จัดงาน จะเปิดประตูทางเข้าแค่ทางเดียว คือทางด้าน รพ.ศูนย์อุดรธานี ด้าน พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี เผย(12 ก.พ.)ว่า ได้จัดกำลัง 2,000 นายไว้ที่หนองประจักษ์ฯ และสถานีวิทยุชุมชนคนรักอุดร(ของนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร แกนนำคนเสื้อแดง) ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์(13 ก.พ.)ถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมพร้อมรับมือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช.ในวันที่ 14 ก.พ. โดยแถลงการณ์ระบุว่า มีข้อมูลด้านการข่าวว่า จะมีกลุ่มชมรมคนรักอุดรและกลุ่มที่มีแนวคิดตรงข้ามกับพันธมิตรฯ รวมตัวกันเพื่อต่อต้านพันธมิตรฯ ที่อุดรฯ ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น จึงให้ทุกหน่วยเตรียมพร้อมและซักซ้อมการปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนทางยุทธวิธีตามหลักสากล ให้สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองเรื่องการใช้กำลังเข้าดำเนินการกับผู้ชุมนุม พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตามขั้นตอนแผนรักษาความสงบ(กรกฏ 48) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเคร่งครัด ด้าน พล.ต.ท.สถาพร หลาวทอง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยหลังประชุมร่วมกับตำรวจพื้นที่และผู้ว่าฯ อุดรธานี(13 ก.พ.) โดยเชื่อว่า จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงระหว่างการจัดงานของพันธมิตรฯ แต่กลัวว่าจะมีมือที่สามทำให้เกิดเหตุขึ้น จึงต้องระวังอย่างเต็มที่ ตั้งจุดตรวจทั้งตัวเมืองอุดรฯ และรอบนอก และให้ตำรวจวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ด้านนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ได้นัดรวมพลคนเสื้อแดงจัดงานเลี้ยงฉลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พร้อมตั้งเต็นท์กว่า 30 เต็นท์ และเก้าอี้กว่า 2,000 ตัว โดยเตรียมการตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นายขวัญชัย ยังพูดถึงการจัดงานของพันธมิตรฯ ที่อุดรฯ ด้วยว่า ตนได้ทำหนังสือถึงนายกฯ และตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พร้อมลงบันทึกประจำวันที่ สภ.อุดรธานีว่า ไม่ต้องการให้พันธมิตรฯ เข้ามาในพื้นที่ เพราะสมาชิกชมรมฯ 2 แสนกว่าคน ไม่สามารถควบคุมได้หมด คนที่ไม่พอใจก็มีมาก นายขวัญชัย ยังบอกด้วยว่า หากพันธมิตรฯ เคลื่อนเข้ามาใกล้รัศรีสถานีวิทยุชุมชนคนรักอุดร จะเกิดการตีกันแน่นอน โดยเตรียมไม้คมแฝกเอาไว้หลายร้อนอัน เพราะไข่เป็นอาวุธ จึงใช้ไม้ จะใช้ไม้คมแฝกแทน ถ้าเข้ามาก็เจอกัน นายขวัญชัย ยังพูดถึงท่าทีของกลุ่มชมรมคนรักอุดรของตนอีกครั้งในวันนี้(14 ก.พ.) โดยปฏิเสธข่าวที่ว่า ตนได้รับเงินจากนายเนวิน ชิดชอบ เพื่อดึงคนเสื้อแดงในสังกัดไว้ที่สถานีวิทยุฯ ไม่ให้ไปร่วมต่อต้านพันธมิตรฯ ที่กำลังจัดงาน ซึ่งถือเป็นการปล่อยข่าวที่สกปรกของกลุ่มนักการเมือง ทั้งนี้ นายขวัญชัย ยืนยันว่า กลุ่มตนจะไม่ไปยุ่งกับการจัดงานของพันธมิตรฯ เด็ดขาด เพราะวันนี้เราเข้าใจจังหวัดอุดรฯ และว่า นี่คือความอดทนที่สุดแล้วของกลุ่มชมรมคนรักอุดร อย่างไรก็ตาม แม้นายขวัญชัยจะประกาศว่าไม่เคลื่อนไหว แต่ทางด้าน พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ส.ส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการระดมพลคนเสื้อแดงจากทุกอำเภอในจังหวัด โดยใช้รถแห่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนเสื้อแดงและกลุ่มแกนนำไปรวมตัวกันที่โรงเรียนเทศบาล 6 ซึ่งอยู่ห่างจากสวนสาธารณะหนองประจักษ์ฯ สถานที่จัดงานของพันธมิตรฯ ประมาณ 800 เมตร เพื่อขับไล่กลุ่มพันธมิตรฯ ส่วนความเคลื่อนไหวของ นปช.ส่วนกลางที่ กทม.ได้มีการจัดงานระดมทุนเพื่อต่อสู้อย่างยืดเยื้อในวันนี้(14 ก.พ.)เช่นกัน โดยจัดโต๊ะจีนราคาโต๊ะละ 10,000 บาท ที่วัดไผ่เขียว ย่านดอนเมือง ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ยืนยันว่าเมื่อกินโต๊ะจีนเสร็จแล้ว จะแยกย้ายกลับบ้าน ไม่เคลื่อนขบวนไปไหน และว่า วันนี้จะมีการประกาศจุดยืนและแนวทางการเคลื่อนไหวหลังยื่นข้อเรียกร้องรัฐบาลครบ 15 วัน โดยคาดว่ากลุ่ม นปช.และคนเสื้อแดงจะรวมพลไปปิดล้อมทำเนียบฯ อีกครั้งเพื่อทวงคำตอบเรื่องข้อเรียกร้องในวันที่ 17 ก.พ.นี้(ล่าสุด แกนนำ นปช.ประกาศจะชุมนุมทวงคำตอบวันที่ 24 ก.พ.) ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุม ครม.ที่ทำเนียบฯ ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยกรณีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงทั้งในวันที่ 14 และ 17 ก.พ. ขณะเดียวกันก็ให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ,2 ,3 ,4 ,7 และ ตชด.เตรียมพร้อมกำลัง ณ ที่ตั้ง เพื่อรับคำสั่งและเรียกใช้ได้ทันที ขณะที่ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ออกประกาศเตือนว่า ไม่ว่าม็อบไหนก็แล้วแต่ ห้ามปิดกั้นและบุกรุกสถานที่ราชการ หากฝ่าฝืน ถือเป็นการชุมนุมไม่สงบ ตำรวจมีอำนาจหน้าที่สลายการชุมนุมได้ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยืนยัน การชุมนุมเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย พร้อมย้ำ การใช้แก๊สน้ำตาจะเป็นมาตรการสุดท้าย ซึ่งต้องทำตามมาตรฐานสากล คือ ประกาศเตือนก่อน การยิงต้องให้ถูกต้องตามหลัก ไม่ให้ใครบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และต้องตรวจสอบคุณภาพของแก๊สน้ำตาให้ดีด้วย

3. “ป.ป.ช.”เปิดทรัพย์สิน “ครม.อภิสิทธิ์” พบ “กรณ์”รวยสุด ขณะที่ “ระนองรักษ์”จนสุด-หนี้อ่วม!

ร.ต.(หญิง)ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที เป็น รมต.ที่จนที่สุดใน ครม.อภิสิทธิ์ เพราะมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 107 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. สำนักตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2551 จำนวน 36 คน โดยพบว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ มีทรัพย์สินกว่า 37 ล้านบาท มีหนี้สินกว่า 1 ล้านบาท ขณะที่นางพิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ ภริยา มีทรัพย์สินกว่า 15 ล้านบาท ส่วนบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ(น.ส.ปราง วัย 18 ปี และนายปัณณสิทธิ์ วัย 15 ปี)มีเงินในบัญชีเงินฝากกว่า 4 แสนบาท รวมแล้วครอบครัวนายอภิสิทธิ์มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 51 ล้านบาท ส่วนตัวเลขทรัพย์สินของรัฐมนตรีคนอื่นๆ ได้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ มีทรัพย์สินกว่า 98 ล้านบาท มีหนี้สินกว่า 58 ล้านบาท รวมแล้วมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 39 ล้านบาท , พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม แจ้งสถานะโสด โดยมีทรัพย์สินกว่า 56 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน , นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีพาณิชย์ มีทรัพย์สินกว่า 96 ล้านบาท , นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม มีทรัพย์สินเกือบ 12 ล้านบาท , นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีอุตสาหกรรม มีทรัพย์สินกว่า 26 ล้านบาท , นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มีทรัพย์สินกว่า 443 ล้านบาท , นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข มีทรัพย์สินกว่า 255 ล้านบาท , นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง มีทรัพย์สินกว่า 807 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นรัฐมนตรีที่มีทรัพย์สินมากสุดใน ครม.นายอภิสิทธิ์ รองลงมาคือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม มีทรัพย์สินกว่า 710 ล้านบาท ตามด้วยนายชาติชาย พุคยาภรณ์ รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ มีทรัพย์สินกว่า 518 ล้านบาท ส่วนรัฐมนตรีที่จนที่สุด ซึ่งมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ก็คือ ร.ต.(หญิง)ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินประมาณ 107 ล้านบาท เป็นที่น่าสังเกตว่า มีรัฐมนตรีที่เข้าข่ายถือหุ้นเกิน 5% อยู่ 3 คน คือ นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ , นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และ นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ซึ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช. รัฐมนตรีที่ถือหุ้นเกิน 5% ต้องแจ้งให้ประธาน ป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วันหลังเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งหากรัฐมนตรีต้องการถือครองหุ้นดังกล่าวต่อไป ต้องโอนหุ้นให้บริษัทนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนภายใน 90 วัน เมื่อจัดการเสร็จแล้ว ต้องแจ้งให้ประธาน ป.ป.ช.ทราบภายใน 10 วัน โดย ป.ป.ช.จะเริ่มตรวจสอบเรื่องนี้ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป หากพบว่ารัฐมนตรีรายใดไม่ดำเนินการตามกฎหมาย จะทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีทันที ด้านรัฐมนตรีทั้งสามที่ถือหุ้นเกิน 5% เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว

4. “ใจ”ไม่กล้าสู้คดีหมิ่นสถาบัน-ตามรอย “แม้ว”หนีไปอยู่อังกฤษ!

ม็อบเสื้อแดงถือป้ายโจมตี กม.หมิ่นสถาบัน ม.112 ขณะให้กำลังใจนายใจ อึ๊งภากรณ์ ที่เข้ารับทราบข้อหาหมิ่นสถาบันที่ สน.ปทุมวัน(20 ม.ค.)
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ รายงานว่า นายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถือพาสปอร์ตทั้งไทยและอังกฤษ ได้เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาไปถึงประเทศอังกฤษแล้ว เพื่อหลบเลี่ยงการถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี” ทั้งนี้ ก่อนหนีไปอังกฤษ นายใจเพิ่งเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ สน.ปทุมวันเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา จากกรณีเขียนหนังสือชื่อ “A Coup for the Rich”พาดพิงสถาบัน โดยในวันดังกล่าว นายใจได้ให้สัมภาษณ์โจมตีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออก พร้อมอ้างว่า ประเทศอื่นๆ ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ยังไม่ใช้กฎหมายแบบนี้เลย ไม่เท่านั้น นายใจยังได้ประกาศจะล่ารายชื่อประชาชนให้ยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย พร้อมเผยว่า มี ส.ส.จากประเทศนิวซีแลนด์ และอังกฤษ รวมทั้งนักวิชาการจากทั่วโลกกว่า 128 คนจะลงนามเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องตนในคดีหมิ่นสถาบันด้วย หลังจากนั้นได้มีการล่าชื่อเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นสถาบันมาตรา 112 โดยมีนักวิชาการที่ถูกมองว่าอยู่สายเสื้อแดงหลายคนร่วมลงชื่อ เช่น นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ,นายสมเกียรติ ตั้งนโม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ที่พยายามใช้ตำแหน่ง “ซี 8”ของตนขอประกันตัว “ดา ตอร์ปิโต”ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันก่อนหน้านี้) , นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายจอน อึ๊งภากรณ์ พี่ชายนายใจ เป็นต้น ด้านหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน รายงานด้วยว่า เมื่อนายใจเดินทางถึงอังกฤษ เขาได้ให้สัมภาษณ์โจมตีกระบวนการยุติธรรมของไทยว่า “ผมไม่คิดว่าคดีของผมจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม” และว่า ปมของการดำเนินคดีตนนั้น เกิดจากการตีความว่า เนื้อหาในย่อหน้าที่ 8 ในบทแรกของหนังสือของตนดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ชัดเจนว่า การดำเนินคดีนี้มีเป้าประสงค์ที่จะไม่ให้เกิดการถกเถียงใดใดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคณะทหารที่ทำการปฏิวัติและราชวงศ์” นายใจ ยังไม่วายให้ร้ายทหารและสถาบันเบื้องสูงของไทยด้วย โดยอ้างว่า “สภาพการณ์ในเมืองไทยนั้น ผู้คนกำลังตกอยู่ในสภาวะแห่งความหวาดกลัว” เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ระบุในช่วงท้ายของรายงานข่าวเกี่ยวกับนายใจด้วยว่า นายใจถือเป็นนักเขียนคนที่ 2 ของนิตยสารนิว สเตทส์แมน(นิตยสารการเมืองหัวเอียงซ้ายของอังกฤษ) ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย ต่อจากนายแฮรี่ นิโคลายส์ นักเขียนชาวออสเตรเลีย ที่ถูกศาลไทยตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปีจากกรณีหมิ่นสถาบันเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ด้านนายสมเกียรติ ตั้งนโม คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็น 1 ในแนวร่วมของนายใจ ที่ร่วมลงชื่อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจที่นายใจหนีคดีไปอยู่อังกฤษ โดยชี้ว่า การหนีไปของนายใจไม่แฟร์ เป็นการหนีเอาตัวรอดไปคนเดียว ขณะที่คนที่ร่วมลงชื่อกลับไม่มีโอกาสหนีไปต่างประเทศเช่นนายใจ นายสมเกียรติ ยังยอมรับด้วยว่า เหมือนถูกนายใจหลอก เพราะนายใจบอกในแถลงการณ์เองว่า “เราทุกคนต้องปราศจากความกลัว” แต่นายใจกลับหนีไป ถือว่าเป็นการกลืนน้ำลายตัวเอง และว่า จากนี้ไปความสัมพันธ์ระหว่างนักวิชาการกับนายใจได้ขาดสะบั้นลงแล้ว “คุณให้นักวิชาการที่บริสุทธิ์ลงชื่อ แต่คุณกลับหนีไป มันเสียความรู้สึก ...ตนคิดว่าความร่วมมือทางวิชาการครั้งต่อไปจะขาดสะบั้นลง ระหว่างนักวิชาการกับคนที่ชื่อ ใจ” ขณะที่นายไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงกรณีที่นายใจเดินทางไปอังกฤษหลังต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า นายใจได้ทำเรื่องถึงคณบดีคณะรัฐศาสตร์ขอลาหยุดไปธุระหรือสัมมนาที่อังกฤษ แต่กระบวนการทำเรื่องขอลาหยุดยังไม่เรียบร้อย จึงยังไม่ได้รับอนุมัติ และว่า โดยปกติแล้ว หากเป็นเรื่องเร่งด่วน แม้จะยังไม่ได้รับอนุมัติ เมื่อกลับมาก็น่าจะทำเรื่องขออนุมัติย้อนหลังได้ แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ก็ไม่น่าจะอนุมัติย้อนหลัง ด้าน พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล พูดถึงการติดตามตัวนายใจกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยว่า เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด

5. “สกอ.”ได้ข้อยุติปัญหา “เอเน็ต”แล้ว-คืนสิทธิเด็ก 12 ราย อีกกว่า 500 ไม่เข้าข่าย!


ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหากับนักเรียนที่สมัครทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสูง(เอเน็ต) ที่นักเรียนสมัครผ่านทางอินเตอร์เน็ต เพื่อนำผลการทดสอบไปประกอบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2552 เนื่องจากมีนักเรียนจำนวนหนึ่งไม่ได้ชำระเงินค่าสมัครสอบเอเน็ตตามเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)กำหนด ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีสิทธิสอบเอเน็ตในวันที่ 28 ก.พ.นี้ นักเรียนที่ประสบปัญหาจึงได้ยื่นคำร้องให้ สกอ.เปิดรับชำระเงินค่าสมัครสอบเอเน็ตรอบ 2 โดยนักเรียนบางคนอ้างว่า ที่บ้านไม่มีอินเตอร์เน็ต จึงให้เพื่อนสมัครสอบเอเน็ตแทน และไม่ทราบวันหมดเขตชำระเงิน เพราะในใบ pay in ไม่ได้ระบุวันหมดเขตชำระเงิน จึงเข้าใจว่า สามารถชำระเงินได้ตลอดเวลา แต่เมื่อไปชำระเงินที่ธนาคาร กลับได้รับคำตอบว่าหมดเขตแล้ว ด้าน น.ส.ศุภรัตน์ หล่ายกลาง นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมัธยมศึกษาวัดบางทองหลาง บอกว่า ได้ยื่นคำร้องกับ สกอ.แล้ว และว่า ถ้าไม่ได้รับการคืนสิทธิให้สอบเอเน็ต ตนจะฟ้องศาลปกครอง ศาลแพ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ เรียกร้องให้ สกอ.แก้ไขปัญหาให้เด็กทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากระบบหรือเกิดจากตัวเด็กเอง โดยผู้ปกครองรายหนึ่ง บอกว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากข้อมูลวันหมดเขตชำระเงินที่ระบุอยู่ในขั้นตอนการสมัครในอินเตอร์เน็ต ตัวอักษรเล็ก ดูไม่ชัดเจน ที่สำคัญเมื่อพิมพ์ใบ pay in ออกมาแล้วก็ไม่ระบุวันชำระเงิน จึงอาจทำให้เด็กหลงลืมหรือเข้าใจได้ว่า สามารถไปชำระเงินได้ตลอดเวลา ด้าน สกอ.ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ยังไม่ได้ชำระค่าสมัครสอบเอเน็ตทั่วประเทศร้องเรียนถึงสาเหตุที่ไม่ได้ชำระระหว่างวันที่ 8-13 ก.พ. ขณะที่นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) พูดถึงการแก้ปัญหาเด็กพลาดจ่ายเงินค่าสมัครสอบเอเน็ตว่า รัฐบาลต้องตัดสินใจสั่งการ ซึ่ง สกอ.พร้อมจะดำเนินการ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงเรื่องนี้ว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน จึงให้กระทรวงศึกษาธิการรับไปดูแล และว่า รัฐบาลและรัฐมนตรีศึกษาธิการจะไปสั่งทันทีว่า ต้องคืนสิทธิให้คงไม่ได้ เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็บอกว่าต้องยึดตามระเบียบก่อน ซึ่งเราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเด็กอีก 2 แสนคนที่สามารถดำเนินการตามเกณฑ์ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ บอกว่า หากปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากความบกพร่องของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เช่น เว็บไซต์ไม่ทำงาน หรือเป็นความบกพร่องในการบริหารจัดการ ก็จะคืนสิทธิในการเข้าสอบให้เด็กแน่นอน แต่ถ้าปัญหาไม่ได้เกิดจาก ศธ.ก็ได้มอบนโยบายไปว่า ให้พยายามหาช่องทางช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่เด็กบางส่วนมีปัญหายังไม่ได้ชำระเงินค่าสมัครสอบเอเน็ต และกำลังเรียกร้องให้ สกอ.เปิดรับชำระเงินรอบ 2 นั้น ปรากฏว่า มีเด็กที่สมัครสอบเอเน็ตและชำระเงินค่าสมัครตามกำหนด ได้แสดงความเห็นคัดค้านการเปิดให้ชำระค่าสมัครสอบเอเน็ตรอบ 2 แก่เด็กที่ยังไม่ได้ชำระผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมาก โดยชี้ว่า ไม่ควรให้สิทธิแก่คนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อตัวเองพร้อมยืนยันว่า การสมัครจนได้ใบสมัครสอบเอเน็ตนั้น สะท้อนว่า ระบบและขั้นตอนการสมัครตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของ สกอ.ไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาเพราะผู้สมัครไม่ใส่ใจที่จะไปชำระเงินให้ทันตามกำหนด ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า ถ้าปัญหาเกิดจากความผิดพลาดของกระทรวงฯ ต้องรับผิดชอบคืนสิทธิให้เด็กเหล่านั้นมีโอกาสสอบเอเน็ต แต่ถ้าเกิดจากปัญหาอื่นๆ ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของกระทรวงฯ ก็จะพิจารณาเป็นกรณีไป ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการอำนวยการสอบ ประกอบด้วย อธิการบดี 21 สถาบันที่เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาจะดำเนินการ ขณะที่เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขต กทม.จำนวน 1,084 คน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.2 เห็นด้วยว่าควรมีการคืนสิทธิให้กับนักเรียนที่มีปัญหาในการสมัครสอบเอเน็ตครั้งนี้ ขณะที่ร้อยละ 24.8 ไม่เห็นด้วย ด้านที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ กกอ.เป็นประธาน ได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาเด็กไม่ได้ชำระค่าสมัครสอบเอเน็ตแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.พ. โดยนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงผลประชุมว่า จากการพิจารณาข้อมูลของนักเรียนที่ร้องทุกข์ระหว่างวันที่ 8-13 ก.พ.จำนวน 572 คนไม่พบว่าปัญหาเกิดจากระบบการคัดเลือกทางอินเตอร์เน็ต แต่มีกลุ่มที่อ้างว่ามีปัญหาเรื่องบาร์โค้ดจำนวน 12 คน ดังนั้นนักเรียน 12 คนดังกล่าวเข้าข่ายที่จะคืนสิทธิให้ได้ แต่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากบาร์โค้ดจริง และว่า หลังจากนี้จะเชิญเด็กทั้ง 12 คนมาตรวจสอบเป็นรายกรณี ส่วนในรายที่เหลือ ถ้ามีปัญหาที่เกิดจากบาร์โค้ดเช่นเดียวกัน ก็สามารถนำมาพิสูจน์เพื่อรับคืนสิทธิได้ คาดว่า การตรวจสอบหลักฐานบาร์โค้ดจะได้ข้อยุติภายในวันที่ 16 ก.พ.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น