1. “รบ.”ชนะเลือกตั้งซ่อม –เสียง ส.ส.ปึ้ก ด้าน “เพื่อไทย”เตรียมดึง “แม้ว”นั่งที่ปรึกษา ขณะที่ “กกต.”ฮึ่ม ส่อโดนยุบ!
ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยสำหรับการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.29 คน ใน 26 เขต 22 จังหวัดเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ซึ่งผลปรากฏว่า พรรคฝ่ายรัฐบาลชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น 20 คน ขณะที่ฝ่ายค้านได้แค่ 9 คน โดยแบ่งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 7 ที่นั่ง ,พรรคชาติไทยพัฒนา(ชาติไทยเดิม) 10 ที่นั่ง พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยได้ 5 ที่นั่ง พรรคประชาราช 4 ที่นั่ง ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยืนยัน(12 ม.ค.) จะไม่เหลิงกับผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ทำให้รัฐบาลครองเสียงข้างมากเพิ่มขึ้นจาก 235 เสียง เป็น 255 เสียง พร้อมชี้ ผลเลือกตั้งที่ออกมาสะท้อนว่า ประชาชนต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ต้องการเห็นความแตกแยกลดลง และต้องการให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ เดินไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น นายอภิสิทธิ์ ยังยืนยันด้วยว่า แม้เสียง ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลจะเปลี่ยนไป ก็ไม่จำเป็นต้องปรับ ครม. เพราะได้ประเมินผลการเลือกตั้งไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ตอนจัดตั้ง ครม.แล้ว หากจะมีการปรับเปลี่ยน ครม. คงเป็นเหตุผลในการทำงาน ไม่เกี่ยวกับตัวเลข ส.ส. ด้านนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยัน การที่พรรคได้ ส.ส.น้อยกว่าที่ประเมินไว้ ไม่เกี่ยวกับที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสื่อมมนต์ขลัง หรือเนื่องจากฝ่ายค้านมีข้อบกพร่อง แต่สาเหตุหลักมาจากคนที่มีความสามารถของพรรคเพื่อไทยติดปัญหาเรื่องการสังกัดพรรค 90 วัน จึงแทบไม่มีตัวที่จะส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง นายยงยุทธ ยังยอมรับด้วยว่า “ที่มีการพูดกันตามสื่อว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีหัว ทำให้เกิดปัญหานั้น ยอมรับว่าใช่ เพราะพรรคนี้ศีรษะหาย แค่เดินได้และมีชีวิตอยู่รักษาตัวเองได้ ก็ถือเป็นสิ่งดีมากแล้ว...” ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาท้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า “ถ้าพรรคประชาธิปัตย์คิดว่ากระแสพรรคดีจริง หรือคิดว่ากระแสความนิยม พ.ต.ท.ทักษิณลดลง ขอท้าให้ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่” ด้านแกนนำ นปช.(เช่น นพ.เหวง โตจิราการ ,นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ,นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ฯลฯ) รวมทั้งนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร และตัวแทนสมาชิก นปช.ประมาณ 70 คน จาก 15 จังหวัด ได้จัดประชุมกำหนดยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่โรงแรมมิโด้ โดยมีมติให้มียุทธศาสตร์ในการเรียกร้อง 3 ประเด็น คือ 1.ให้รัฐบาลแก้ไข รธน.โดยนำ รธน. 2540 กลับมา 2.รัฐบาลต้องดำเนินคดีโดยเร็วในการจับกุมแกนนำพันธมิตรฯ ที่ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ 3.รัฐบาลต้องปลดนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เพราะได้สนับสนุนการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ แกนนำ นปช.ยังมีมติด้วยว่า จะยื่นหนังสือถึงรัฐบาลอาเซียน 10 ประเทศผ่านสถานทูตไทย และจะจัดชุมนุมโดยสงบสันติที่สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่รัฐบาลอาเซียนเดินทางมาประชุม พร้อมยืนยัน จะไม่ไปชุมนุมที่หัวหิน(สถานที่จัดประชุมอาเซียน ซัมมิท) เพราะจะไม่ยอมเป็นเครื่องมือให้พรรคประชาธิปัตย์ แต่จะชุมนุมคู่ขนานในจังหวัดใกล้เคียงแทน ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ออกมาขู่ว่า หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนตัวนายกษิต กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเป้าหมายแรกที่กลุ่ม นปช.อาจจะไปปิดล้อม จากนั้นอาจจะไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลด้วย ถ้านายกฯ ไม่ดำเนินการ จะยกระดับการต่อสู้ให้เข้มข้นขึ้น แต่จะไม่ยึดสนามบินและทำเนียบรัฐบาล นายจตุพร ยังตอบโต้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ขอให้คนไทยเลิกทะเลาะกันด้วยว่า “คนที่ร้องขอความสงบสุขนั้น อยู่ในสถานะที่ต้องทำตัวให้เป็นกลาง ก็ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีกับคนอื่นก่อน หากตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่ต้องดำรงสถานะเป็นกลางทางการเมือง แต่กลับเลือกข้าง ความสามัคคีจะไม่มีทางเกิดขึ้น” ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ได้ออกมาปรามท่าทีของแกนนำ นปช.ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่าไปดึงผู้ใหญ่ที่สังคมเคารพมาทำให้ไม่สบายใจ นายสุเทพ ยังกล่าวถึงกรณีที่แกนนำ นปช.เรียกร้องให้ปลดนายกษิตด้วยว่า “ผมพร้อมเจรจากับทุกคนและพร้อมรับเงื่อนไข แต่ไม่รับเงื่อนไขที่ให้ปลดนายกษิต เพราะเหตุผลที่ให้ปลดไม่เพียงพอ ผมไม่คิดว่านายกษิตเป็นผู้ก่อการร้าย แต่เป็นนักการทูตธรรมดาที่สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศได้” ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้มีการประชุมแกนนำพรรค โดยมีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ เป็นประธานเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ทั้งนี้ มีรายงานว่า การประชุมดังกล่าวเพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ หลังพรรคเพื่อไทยพ่ายการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ได้เสียงมาน้อยเกินกว่าจะเพิ่มอำนาจการต่อรองกับฝ่ายรัฐบาลได้ โดยรายงานแจ้งว่า ที่ประชุมเห็นว่า แนวทางการต่อสู้นั้น จะใช้การเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดงเป็นหลัก โดยแกนนำกลุ่มความจริงวันนี้(จตุพร พรหมพันธุ์-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-วีระ มุสิกพงศ์)จะเป็นผู้จัดระบบการเคลื่อนไหวตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป และดูในพื้นที่ กทม. ส่วนในภูมิภาค จะให้ ส.ส.ของพรรคในพื้นที่ไปสร้างมวลชนเสื้อแดง โดยมีสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่ยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง ,นายอดิศร เพียงเกษ ,นายภูมิธรรม เวชยชัย ,นายสุธรรม แสงประทุม ร่วมกับอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน เช่น นายยงยุทธ ติยะไพรัช ให้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงดูแล ส.ส.ในการสร้างมวลชนด้วย ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเริ่มเดินหน้าสร้างมวลชนคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ แล้ว สังเกตได้จากนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาอ้าง(14 ม.ค.)ว่า ผู้นำและประชาชนในพื้นที่ อ.จุน ทุกตำบล มีมติจะสวมเสื้อแดงทุกวันจันทร์ และหลังจากนี้จะกระจายแนวคิดออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ ใน จ.พะเยาต่อไป ขณะที่แกนนำ นปช.และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย(จตุพร พรหมพันธุ์ ,ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ,จักรภพ เพ็ญแข ,อดิศร เพียงเกษ ,นภดล ปัทมะ ,สุนัย จุลพงศธร) ได้แถลงเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “ดี สเตชั่น สถานีประชาธิปไตย”เพื่อเป็นศัตรูกับรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 ม.ค. พร้อมยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลังสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณจะโฟนอินเข้ามายังรายการ เมื่อมีประเด็นที่ต้องชี้แจง โดยดี สเตชั่น จะเริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.นี้ ส่วนความเคลื่อนไหวของ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่จะต้องหาพรรคสังกัดใน 60 วันหลังพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคนั้น ในที่สุด ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน(เช่น นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ,นายโสภณ ซารัมย์ ฯลฯ) ก็ได้ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย พรรคใหม่ของพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค โดย ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินและแกนนำพรรคภูมิใจไทยได้แถลงเปิดตัวการเข้าร่วมงานกันเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่โรงแรมสยามซิตี โดยมีแกนนำกลุ่มมัชฌิมาอย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินอย่างนายเนวิน ชิดชอบ มาร่วมงานด้วย พร้อมกันนี้ ยังมีแกนนำพรรคอื่นๆ มาร่วมแสดงความยินดีด้วยหลายคน เช่น นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แกนนำพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ,นายไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ,นายสุชาติ ตันเจริญ หัวหน้ากลุ่มบ้านริมน้ำ พรรคเพื่อแผ่นดิน ฯลฯ เป็นที่น่าสังเกตว่า มี ส.ส.ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย มาร่วมแสดงความยินดีครั้งนี้ด้วย ได้แก่ นายชูวิทย์ (กุ่ย)พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี ,นางบุญรื่น ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ ,นายพีระเพชร ศิริกุล ส.ส.กาฬสินธุ์ ,นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 3 ฯลฯ ทั้งนี้ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ออกตัวว่า มาร่วมแสดงความยินดีเท่านั้น เพราะไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ และว่า ตัวเองตั้งใจไว้ว่าจะเว้นวรรคการเมืองอีก 8 ปีครึ่ง คือ 3 ปีครึ่งที่จะต้องอยู่ในโทษเว้นวรรคทางการเมืองจากคดียุบพรรคไทยรักไทย และตัวเองจะเว้นวรรคการเมืองเองอีก 5 ปี และคงไม่เอาตำแหน่งนายกฯ อะไรทั้งนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า การร่วมงานกันระหว่างกลุ่มเพื่อนเนวินกับกลุ่มมัชฌิมาในนามพรรคภูมิใจไทย ส่งผลให้พรรคนี้มี ส.ส.ในมือไม่ต่ำกว่า 30 คน โดยเบื้องต้นเป็น ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน 23 คน ขณะที่กลุ่มมัชฌิมามีประมาณ 8-10 คน ซึ่งจะส่งผลให้พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.มากเป็นอันดับ 2 ในพรรคร่วมรัฐบาลรองจากพรรคประชาธิปัตย์ ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน เผยว่า พรรคภูมิใจไทยจะดึง 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย(ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากกรณียุบพรรค)ที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยงาน แต่พรรคไม่มีนโยบายขอนิรโทษกรรมให้อดีต กก.บห.เหล่านี้ แม้จะเป็นสิ่งที่พวกเราคิดกันอยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ทั้งนี้ มีรายงานว่า มี ส.ส.ภาคอีสานและภาคกลางของพรรคเพื่อไทยประมาณ 20 คน อยากย้ายพรรคมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย แต่ กกต.ส่งสัญญาณว่าไม่สามารถย้ายพรรคได้ หากนายทะเบียนสมาชิกพรรคเพื่อไทยอนุมัติการเป็นสมาชิกของ ส.ส.เหล่านั้นแล้ว ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจกระแสข่าว 20 ส.ส.ของพรรคอยากย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย โดยบอกว่า “ถ้าเป็นเรื่องจริง ส.ส.กลุ่มนั้นควรย้ายออกจากพรรคเพื่อไทยไปเลย อยู่ไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร” และว่า “ถ้าเป็นผม ลาออกไปแล้ว ไม่มาหน้าด้านอยู่หรอก” ขณะที่แกนนำบางคนในพรรคเพื่อไทย(ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ)ได้ออกมาอ้างว่า พรรคภูมิใจไทยพยายามใช้เงินดูด ส.ส.ของพรรคให้ย้ายไปอยู่ด้วย ร้อนถึงแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินในพรรคภูมิใจไทย(นายศุภชัย ใจสมุทร) ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว พร้อมแฉกลับพรรคเพื่อไทยที่อ้างว่าพรรคภูมิใจไทยใช้เงินดูด ส.ส.เข้าพรรคว่า “การคิดแบบนี้ สะท้อนให้เห็นลักษณะนิสัยของพรรคเพื่อไทยที่ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ หากมีปัญหาเกิดขึ้นในพรรค จะไม่เคยคิดว่าตัวเองคือผู้ที่บกพร่องจนทำให้เกิดปัญหา แต่จะหาหนทางในการโทษคนอื่นอยู่เสมอ” ด้านพรรคเพื่อไทยเตรียมจัดสัมมนาปรับโครงสร้างให้มั่นคงภายในเดือน ม.ค.นี้ โดยนายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า พรรคได้เตรียมเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็นที่ปรึกษาพรรคด้วย ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ชี้ว่า หากพรรคเพื่อไทยตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง และถูกศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก เป็นที่ปรึกษาพรรค เป็นเรื่องไม่เหมาะสม และจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน โดยหากมีผู้ร้องให้ กกต.วินิจฉัย และ กกต.เห็นว่า ผู้ที่ถูกแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา มีความผิดหรือส่อว่ากระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ขัดต่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง กกต.ก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคทันที
2. “สุขุมพันธุ์”คว้าชัย ได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ด้าน “เพื่อไทย”ร้องระงับนับคะแนนเขตพญาไท!
ในที่สุด ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ก็เป็นไปตามโพลล์ของหลายๆ สำนักที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ คว้าชัยได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.โดยได้รับเลือกด้วยคะแนน 934,602 คะแนน ทิ้งห่างนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ที่ได้ 611,669 คะแนน ตามด้วย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ที่ได้ 334,846 คะแนน ส่วนอันดับ 4 คือ นายแก้วสรร อติโพธิ ได้ 144,779 คะแนน ,อันดับ 5 นางลีนา จังจรรจา ได้ 9,043 คะแนน ,อันดับ 6 นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล ได้ 6,017 คะแนน ,อันดับ 7 นายเอธัส มนต์เสรีนุสรณ์ ได้ 4,117 คะแนน ,อันดับ 8 นายวิทยา จังกอบพัฒนา ได้ 3,582 คะแนน ,อันดับ 9 นายกงจักร ใจดี ได้ 2,400 คะแนน ,อันดับ 10 นายธรรณม์ชัย รุ่งจิรโรจน์ ได้ 2,222 คะแนน ,อันดับ 11 นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ ได้ 1,875 คะแนน ,อันดับ 12 ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ ได้ 1,431 คะแนน ,อันดับ 13 นายอิสระ อมรเวช ได้ 922 คะแนน ,อันดับ 14 นายอุดม วิบูลเทพาชาติ ได้ 656 คะแนน ทั้งนี้ มีรายงานว่า ใน 50 เขตของ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ถึง 46 เขต ขณะที่นายยุรนันท์ ได้คะแนนอันดับ 1 เพียง 4 เขต คือ ดอนเมือง ,ลาดกระบัง ,สายไหม และดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 2,120,803 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4,150,103 คน หรือร้อยละ 51.10 ซึ่งน้อยกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2551 ที่มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 54.18 ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้เปิดแถลงที่พรรคประชาธิปัตย์หลังทราบว่าตนมีคะแนนนำผู้สมัครรายอื่น โดยขอบคุณประชาชนที่ให้การสนับสนุน พร้อมเชื่อว่า เหตุที่ทำให้ตนได้คะแนนกว่า 9 แสนคะแนน เนื่องจากตนเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเลือกตนก็เท่ากับเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บอกด้วยว่า พร้อมทำงานและพลิกฟื้นเศรษฐกิจกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอันดับแรกที่ต้องรีบเดินหน้า รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ระบบขนส่งมวลชน ,การจราจร ,ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ,การศึกษา ,สาธารณสุข ,พื้นที่สีเขียวและมลภาวะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังยืนยันด้วยว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซื่อสัตย์สุจริต เป็นผู้ว่าฯ ของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสี ขณะที่นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เปิดแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ ยืนยัน ไม่รู้สึกเสียใจ แต่เสียดายมากกว่า และว่า อยากให้คนที่เป็นผู้ว่าฯ มีกำลังใจทำงานต่อไป ส่วนตนจะทำงานการเมืองต่อไป อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ส่อมีปัญหาที่หน่วยเลือกตั้งที่ 70 เขตพญาไท เนื่องจากนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ผอ.การเลือกตั้ง กทม.ของพรรคเพื่อไทย ได้ร้องเรียนว่า หลับปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 15.00น.คณะกรรมการในหน่วยเลือกตั้งได้เปิดหีบบัตรออกมาดู ทำให้ประชาชนเข้าใจว่ามีการทุจริต ขณะที่ผู้อำนวยการเขตพญาไท ชี้แจงประชาชนว่า เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรเพื่อนับจำนวนบัตรว่าตรงกับต้นขั้วหรือไม่ ก่อนส่งหีบบัตรไปยังสถานที่นับคะแนน โดยยอมรับว่าเป็นความผิดพลาด ผิดขั้นตอน เพราะต้องขนหีบบัตรไปเทรวมที่สถานที่นับคะแนน แล้วเริ่มนับพร้อมกับหน่วยเลือกตั้งอื่น แต่ไม่มีเจตนาทุจริต ด้านนายพิงค์ รุ่งสมัย ประธาน กกต.กทม.ได้สั่งระงับการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งดังกล่าว พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และว่า คำร้องคัดค้านเรื่องนี้ ไม่กระทบต่อตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เนื่องจากเป็นการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แต่หากสืบสวนพบว่าผู้สมัครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดขั้นตอนของกฎหมายครั้งนี้ ก็อาจดำเนินการตัดสิทธิในภายหลังได้ ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการสอบข้อเท็จจริงกรณีเปิดหีบเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 70 (13 ม.ค.)ว่า ทางผู้เกี่ยวข้องได้นำเข้าสู่การพิจารณาแล้ว และต่อมา ได้ให้นับคะแนนต่อไป จากนั้น ได้รายงานผลคะแนนมายัง กกต.กทม. ส่วนเรื่องร้องเรียนที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ อาจส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตนั้น ได้แยกเป็นเรื่องร้องเรียนต่างหากแล้ว และว่า จากรายงานเบื้องต้นพบว่า เจ้าหน้าที่เกิดความสับสน และยอมรับว่า เรื่องนี้มีการฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนจะเจตนาทุจริตหรือช่วยผู้สมัครหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่กำลังสืบสวน ซึ่งหากข้อเท็จจริงออกมาว่าจงใจ ก็มีโทษจำคุก และหากผลออกมาพบว่า ผู้สมัครไม่มีส่วนรู้เห็น หรือไม่มีผลต่อการได้มาซึ่งคะแนนเสียงของผู้สมัคร ก็อยู่ที่ดุลพินิจของ กกต.ที่สามารถพิจารณายกคำร้องได้ เลขาธิการ กกต.ยังบอกด้วยว่า กกต.สามารถประกาศรับรองการเป็นผู้ว่าฯ กทม.โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผลสอบในหน่วยเลือกตั้งที่ 70 เสร็จสิ้นก่อนก็ได้ ซึ่งในที่สุด ที่ประชุม กกต.เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ก็มีมติให้รับรอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ตามที่ กกต.กทม.เสนอมา เพราะถือว่าไม่มีเรื่องร้องคัดค้านตัวผู้สมัคร ส่วนเรื่องเปิดหีบบัตรเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ 70 นั้น เป็นการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ทั้งนี้ หลัง กกต.ประกาศรับรองให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เข้าทำงานที่ศาลาว่าการ กทม.เมื่อวันที่ 16 ม.ค.เป็นวันแรก โดยถือฤกษ์ 09.09น.นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. จากนั้นได้มอบนโยบายให้ข้าราชการ กทม.กว่า 500 คน พร้อมยืนยันอีกครั้งว่า จะทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ ยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเรื่องแรกที่จะเร่งทำงาน คือ ปัญหาปากท้องประชาชน เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เป็นที่น่าสังเกตว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังไม่เปิดตัวทีมบริหารฝ่ายการเมืองของผู้ว่าฯ กทม.โดยบอกว่า โดยมารยาท ต้องรายงานให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รับทราบก่อน ซึ่งจะหารือกันในเย็นวันที่ 18 ม.ค.นี้ รวมทั้งต้องนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะต้นสังกัดด้วย และว่า เวลาช่วงนี้จะให้ทีมรองผู้ว่าฯ กทม.และทีมที่ปรึกษาได้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ก่อนจะแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ม.ค.
3. “ครม.”ไฟเขียว แผนใช้งบแสนล.กระตุ้น ศก.-แจกคนเงินเดือนต่ำกว่า 1.5 หมื่นหัวละ 2 พัน ด้าน “เพื่อไทย”ซัด ซื้อเสียงล่วงหน้า!
ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ได้มีมติอนุมัติกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2552 วงเงิน 115,000 ล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ แถลงถึงรายละเอียดงบฯ 1.15 แสนล้านบาทว่า แบ่งเป็นมาตรการเพิ่มรายได้ และมาตรการลดรายจ่าย สำหรับมาตรการเพิ่มรายได้ ได้แก่ 1.การช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนและบุคลากรภาครัฐที่มีรายได้ต่ำจำนวน 19,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวนประมาณ 8 แสนราย(ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท) และข้าราชการ ลูกจ้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบลเกือบ 1.5 ล้านราย โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือค่าครองชีพให้รายละ 2,000 บาท 2.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจำนวน 9,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการลดรายจ่าย ได้แก่ 1.การต่ออายุ 6 มาตรการของรัฐบาลชุดที่แล้วออกไปอีก 6 เดือน ยกเว้นมาตรการภาษีน้ำมันจำนวน 11,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการปรับมาตรการเดิมให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และอยู่บนหลักการของการใช้และบริโภคอย่างประหยัด เช่น ปรับจำนวนการใช้น้ำประปาฟรีเหลือ 30 ลูกบาศก์เมตร/เดือน และการใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน 2.กระทรวงพาณิชย์จะนำงบไปช่วยลดค่าครองชีพประชาชนจำนวน 1,000 ล้านบาท 3.เรียนฟรี 19,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการช่วยเหลือผู้ว่างงาน ,ผู้เสี่ยงต่อการว่างงาน และบัณฑิตจบใหม่ 6,900 ล้านบาท ตลอดจนโครงการที่สนับสนุนภาคการผลิต แต่เป็นจำนวนเงินไม่มากนัก ยกเว้นกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงที่จะใช้เงิน 15,200 ล้านบาท นายอภิสิทธิ์ บอกด้วยว่า เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ กลางปี จะเข้า ครม.อีกครั้งวันที่ 20 ม.ค. ก่อนนำเข้าสภาวันที่ 28 ม.ค. คาดว่า เม็ดเงินจะถึงมือประชาชนตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.เป็นต้นไป ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง และการธนาคาร สภาผู้แทนราษฎร ประกาศ จะตรวจสอบกรณีที่ ครม.อนุมัติงบ 1.15 แสนล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบในโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐที่มีการจ่ายให้หัวละ 2 พันบาท เพราะอาจเข้าข่ายการใช้เงินซื้อเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า ขณะที่นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราพิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านของรัฐบาล เป็นมาตรการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และว่า การให้เงินผู้มีรายได้น้อยคนละ 2,000 บาท เป็นมาตรการที่ไร้ประโยชน์ และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลทำไปเพื่ออะไร มุ่งเน้นหาเสียงมากกว่า นายแล ยังแนะด้วยว่า มาตรการที่รัฐบาลควรทำก็คือ ใส่เงินเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยตรง เพราะผู้ถูกเลิกจ้างจะนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยทันที ไม่นำไปเก็บออมหรือซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ด้านนายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ก็เห็นว่า การแจกค่าครองชีพให้ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทรายละ 2,000 บาท ถือเป็นผู้มีรายได้ประจำ และไม่น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมาก ดังนั้นคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คงเก็บเงินเอาไว้ ไม่ได้นำไปใช้จ่าย ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการนำเงินไปจ่ายให้ลูกจ้างคนละ 2,000 บาทว่า แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่ยืนยันว่า ได้ติดตามการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก และติดตามข่าวสารการวิเคราะห์ ซึ่งทุกแห่งมองตรงกันว่า ไม่มีอะไรจะดีกว่าการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน เพราะเป็นวิธีช่วยภาคธุรกิจโดยไม่ต้องบิดเบือนกลไกของตลาด ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ก็ยืนยันเช่นกันว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่น่าห่วงขณะนี้ก็คือ กำลังซื้อของประชาชน การให้ความช่วยเหลือ 2,000 บาท จึงเน้นให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ประจำไม่เกิน 14,999 บาท ที่เป็นกลุ่มการออมต่ำ ซึ่งเมื่อได้เงินช่วยเหลือ ก็จะนำเงินไปใช้จ่ายทันที ทำให้เกิดการหมุนเวียน แต่หากกระตุ้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็จะเข้ากระบวนการงบประมาณปี 2553 ต่อไป ด้าน น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย แถลงเมื่อวานนี้(16 ม.ค.)โดยเห็นว่า มาตรการของรัฐบาลที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทคนละ 2,000 บาทนั้น ไม่เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือสูญเปล่าแต่อย่างใด ถือว่าอย่างน้อยก็เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยจริง และเงินดังกล่าวก็จะหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจได้
4. “ศาล ปค.สูงสุด”ยืนคำสั่งให้ ธ.ไทยพาณิชย์ระงับส่งเงิน “โอ๊ค-เอม”1.2 หมื่นล.ให้กรมสรรพากร!
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ศาลปกครองกลาง ได้นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ยื่นฟ้องกรมสรรพากร ว่าเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยมิชอบ กรณีที่กรมสรรพากรมีหนังสือคำสั่งลงวันที่ 22 ส.ค.2551 แจ้งให้ธนาคารไทยพาณิชย์นำส่งเงินในบัญชีเงินฝากของนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท ที่ คตส.มีคำสั่งอายัดเงินของครอบครัว บุตร บริวาร ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก เพื่อนำมาชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ โดยคดีนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 ต.ค.กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ธนาคารไทยพาณิชย์ระงับการส่งเงินในบัญชีเงินฝากของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาให้กรมสรรพากรไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่กรมสรรพากรได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คตส.ตรวจสอบและมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งประพฤติมิชอบ ร่ำรวยผิดปกติ จึงมีคำสั่งให้อายัดเงินทุกบัญชีในธนาคารและสถาบันการเงินรวม 21 รายการ โดยเป็นเงินในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ 15 รายการ ต่อมา กรมสรรพากรมีคำสั่งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ส่งเงินค่าภาษีอากรของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา 1.2 หมื่นล้านบาท ที่ต้องชำระจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก แต่ธนาคารไทยพาณิชย์เห็นว่า คตส.ได้มีคำสั่งอายัดเงินทุกบัญชีไว้แล้ว จึงไม่อาจนำส่งเงินให้กรมสรรพากรได้จนกว่า คตส.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางที่กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ด้วยการให้ธนาคารไทยพาณิชย์ระงับการส่งเงินของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา 1.2 หมื่นล้านบาทให้กรมสรรพากร เนื่องจากเห็นว่า อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ฐานร่ำรวยผิดปกติ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว โดยขอให้ทรัพย์สินของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณที่ คตส.อายัดไว้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ และยังไม่มีการเพิกถอนคำสั่งอายัดของ คตส. ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ก็ยังคงรักษาเงินในบัญชีเงินฝากของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาจำนวน 3 หมื่นล้านบาทไว้ ศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นว่า เมื่อคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ หากธนาคารไทยพาณิชย์ส่งเงินในบัญชีของบุคคลทั้งสองให้กรมสรรพากร แล้วภายหลังศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ก็จะทำให้เกิดความเสียหายและมีผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากต่อการแก้ไขเยียวยาในภายหลัง ดังนั้น หากศาลปกครองมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา จะเกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานทางปกครองทั้งสองมากกว่าและไม่น่าจะมีอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับการบริหารงานของรัฐ ส่วนที่กรมสรรพากรอุทธรณ์ว่า ตนมีอำนาจบังคับชำระหนี้หรือบังคับคดีได้ตามกฎหมาย พร้อมเชื่อว่า หากธนาคารไทยพาณิชย์นำส่งเงินของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาให้กรมฯ ธนาคารก็ย่อมจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นกันนั้น ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า ขณะนี้คำสั่งของ คตส.ที่ให้อายัดเงินของบุคคลทั้งสอง ยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง จึงผูกพันให้ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดนั้น และแม้กรมสรรพากรจะมีคำสั่งอายัดเงินดังกล่าวอีกตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 แล้วเรียกให้ธนาคารไทยพาณิชย์ส่งเงินของบุคคลทั้งสองให้กรมฯ ก็ตาม แต่คำสั่งอายัดของกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากรฯ ก็ไม่มีผลที่จะยกเลิก เพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งอายัดของ คตส. ประกอบกับการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ยังคงเก็บรักษาเงินในบัญชีของบุคคลทั้งสองไว้ ก็ไม่มีผลกระทบต่อการบังคับชำระหนี้ของกรมสรรพากรในฐานะเจ้าหน้าที่ภาษีอากรแต่อย่างใด คำอุทธรณ์ของกรมสรรพากรจึงไม่อาจรับฟังได้ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางให้ธนาคารไทยพาณิชย์ระงับการนำส่งเงินของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาให้กรมสรรพากรไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการนัดอ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดคดีนี้ มีกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 80 คนเข้าฟังในห้องพิจารณาคดีด้วยจนเต็มห้อง ขณะที่คนเสื้อแดงบางส่วนต้องยืนและมีการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์คดีนี้กัน หลังจากนั้น มีชายโพกผ้าแดงคนหนึ่งเข้าไปต่อว่าผู้สื่อข่าวที่กำลังนั่งรอฟังคำสั่งศาลฯ ว่าทำหน้าที่เอนเอียง และมาแย่งที่นั่ง พร้อมผลักหลังและไล่ให้ออกไปจากห้อง จนเกิดการโต้เถียงกัน ในที่สุด เจ้าหน้าที่ศาลต้องเชิญผู้ที่ไม่มีที่นั่งให้ออกจากห้องพิจารณา แต่ชายคนดังกล่าวก็ยังท้าทายผู้สื่อข่าวให้ออกไปต่อยกัน อย่างไรก็ตาม คนเสื้อแดงอีกส่วนได้เข้ามาห้ามปรามพร้อมตำหนิการกระทำของชายดังกล่าว และขอโทษผู้สื่อข่าว เหตุการณ์จึงคลี่คลายในที่สุด
5. “ป.ป.ช.”ฟัน อดีตเลขาฯ ก.พ.พร้อมอดีตบิ๊กคลัง “สมใจนึก-สมหมาย-ทิพาวดี” ขณะที่ “ปลัดคลัง”โดนด้วย ทั้งวินัย-อาญา!
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้แถลงผลประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เกี่ยวกับการพิจารณาสำนวนคดีที่กล่าวหาคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กรณีที่ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และขั้นตอนการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญ ไม่เป็นไปตามมติ ครม. นอกจากนี้คดีนี้ยังมีการกล่าวหานายสมใจนึก เองตระกูล สมัยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนนักบริหาร 9 ในการคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากรจำนวน 4 คนโดยมิชอบด้วย โดย ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่า คุณหญิงทิพาวดี ขณะเป็นเลขาธิการ ก.พ.ได้นำเสนอเรื่องระบบนักบริหารระดับสูงต่อ ครม.เมื่อปี 2543 เพื่อขอความเห็นชอบให้นำระบบดังกล่าวมาใช้ โดย ก.พ.จะจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงกลุ่มที่ 1(นักบริหาร 9) จากผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมนักบริหารระดับสูง และผ่านการประเมินสมรรถนะของนักบริหาร ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2543 ให้นำระบบดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2544 แต่เมื่อคุณหญิงทิพาวดีทำหนังสือแจ้งเวียนส่วนราชการต่างๆ เพื่อดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2544 คุณหญิงทิพาวดีกลับกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ 9 เพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ ส่งผลให้ส่วนราชการที่มีตำแหน่งว่าง สามารถเสนอชื่อข้าราชการให้สมัครเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูง(ผู้บริหาร 9)ได้ด้วย ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ ครม.เห็นชอบ ซึ่งหลักเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมา ทำให้มีผู้ที่ได้รับความเสียหาย คือ นายไพรัช สหเมธาพัฒน์ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร โดยได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง และในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า การกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังกล่าวไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหาร ดังนั้นหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของคุณหญิงทิพาวดีสร้างความเสียหายแก่ ครม.และระบบราชการในการบริหารงานบุคคลอย่างร้ายแรง ส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงในด้านข้อกฎหมาย ทำให้เกิดการยกเลิกเพิกถอนหลักเกณฑ์ตามหนังสือ ก.พ.ว.9 และคำสั่งทางปกครอง(คำสั่งกระทรวงการคลัง) ที่ออกโดยอาศัยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้สถานภาพของข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรง ถือว่าการกระทำของคุณหญิงทิพาวดีเป็นความผิดทางวินัยร้ายแรง ฐานปฏิบัติราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติ ครม. และนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคสอง ส่วนการกระทำของนายสมใจนึก เองตระกูล และคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนคนอื่นๆ ประกอบด้วย นายสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้น ,นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะอธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น และนายวีระ ไชยธรรม ที่ปรึกษาระบบราชการ ก.พ.ใน อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง ป.ป.ช.เห็นว่า มีมูลความผิดทางอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 สำหรับนายศุภรัตน์นั้น ป.ป.ช.ชี้ว่า นอกจากมีความผิดทางอาญาแล้ว ยังมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการด้วย ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะส่งรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีทางอาญากับผู้ถูกกล่าวหาต่อไป ด้านนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะประธานคณะกรรมการไต่สวนคดีนี้ บอกว่า แม้นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง จะถูกชี้มูลว่าผิดวินัยร้ายแรงในคดีดังกล่าวด้วย แต่ก็ไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 55 เนื่องจากไม่ใช่คดีถอดถอน แต่นายศุภรัตน์ต้องถูกผู้บังคับบัญชา คือ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลังลงโทษภายใน 30 วันตามกฎหมาย ซึ่งโทษของการผิดวินัยร้ายแรงมีอยู่ 3 อย่าง คือ เชิญออก ไล่ออก หรือให้ออกเท่านั้น โดยนายศุภรัตน์เป็นคนเดียวในบรรดาผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ที่ยังรับราชการอยู่.