1. “ในหลวง”ทรงย้ำให้ “ผู้พิพากษาศาลฎีกา”รักษาความยุติธรรม เพื่อนำประเทศสงบสุข!
เมื่อวันที่ 9 ม.ค.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรมจำนวน 160 คน เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง ณ ท้องพระโรงศาลาเริง วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โอกาสนี้ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท สรุปความว่า ถ้าผู้พิพากษา โดยเฉพาะผู้พิพากษาศาลสูงสุด ทำตามคำปฏิญาณที่ว่า จะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ สุจริต ก็มีความหวังว่า ประเทศจะอยู่ได้อย่างสงบสุข เพราะประเทศต้องมีกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดและปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ ทรงย้ำว่า ศาลเป็นองค์กรที่ประกันความอยู่เย็นเป็นสุขของประเทศชาติ ถ้าไม่มีความยุติธรรมในประเทศ คนก็จะอยู่ไม่ได้ ถ้าคนอยู่ไม่ได้ ก็ไม่มีประเทศชาติเหลืออยู่ ผู้พิพากษาจึงเป็นประกันของความสงบสุข ความสงบสุขเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นอาชีพใด ต้องมีความสงบสุข ถ้าไม่มีความสงบสุขก็ทำงานไม่ได้ ฉะนั้น ผู้พิพากษาเป็นประกันของความสบาย ความสงบสุขของประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความหมายของคำว่า “ความยุติธรรม”ที่ผู้พิพากษาจะต้องทำหน้าที่ประกันความยุติธรรมด้วยว่า ยุติ ก็คือ หยุดในธรรมะ คือหยุดสิ่งที่ดี ไม่เฉไฉไปทางซ้าย ทางขวา ตรงไปตรงมา ดังนั้นสำคัญที่สุดที่ผู้พิพากษาต้องมีความรู้และตั้งใจจะใช้ความยุติธรรมใช้กฎเกณฑ์และกฎหมาย ถ้าทำได้ดี ท่านก็ทำสำเร็จในงานที่ตั้งใจจะทำตามที่ท่านได้ปฏิญาณ เชื่อว่าท่านจะมีส่วนสร้างให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข แต่ละคนจะมีความสุข มีความเรียบร้อยของบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะด้วยว่า ผู้พิพากษาไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะในโรงศาลเท่านั้น แต่มีหน้าที่เป็นบุคคลของประเทศชาติ เป็นตัวอย่างคนตั้งใจดี ถ้าตั้งใจดี ท่านก็จะมีความพอใจที่ได้เป็นคนดี จะช่วยให้คนอื่นอยู่เย็นเป็นสุขได้ ...ถ้าทำไม่ได้ จะทำลายส่วนรวมได้
2. “ม็อบเสื้อแดง”ตามราวี “ปชป.”-เหิมหนักถึงขั้นปาไข่ใส่ “ชวน” ด้าน “นปช.”กรรมตามสนอง-โดนปาคืนเช่นกัน!
หลังม็อบเสื้อแดงของกลุ่ม นปช.บุกไปปิดล้อมรัฐสภาเพื่อขัดขวางไม่ให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าแถลงนโยบายเมื่อวันที่ 29-30 ธ.ค. และรัฐบาลเลือกที่จะไม่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม โดยเปลี่ยนสถานที่แถลงนโยบายไปเป็นที่กระทรวงการต่างประเทศแทน ส่งผลให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่พอใจ ประกาศจะซักฟอกนโยบายรัฐบาลนอกสภาที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ในวันที่ 5 ม.ค.นั้น ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด บรรยากาศการอภิปรายนโยบายรัฐบาลของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยค่อนข้างกร่อย โดยมี ส.ส.ของพรรคมาลงทะเบียนเพื่อร่วมประชุมแค่ 50 คน ขณะที่นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ไม่ได้มาร่วมอภิปรายแต่อย่างใด โดยนายเสนาะ อ้างว่า มีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ส่วน พล.ต.อ.ประชา อ้างว่า ติดภารกิจที่ จ.อุดรธานี ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อภิปรายโจมตีว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ลอกนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากถึง 99% ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านความมั่นคง หรือนโยบาย 6 เดือน 6 มาตรการ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยืนยัน รัฐบาลไม่ได้ลอกนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมชี้ นโยบายของรัฐบาล 3 ชุดหลังนี้เป็นไปตาม รธน.ปี 2550 ที่กำหนดว่าทุกรัฐบาลจะต้องมีแนวโนบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนนโยบายด้านอื่นๆ ที่เป็นนโยบายเร่งด่วน ก็ไม่ได้ตรงกับนโยบายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด เช่น การจัดให้เรียนฟรี 15 ปี หรือเบี้ยยังชีพคนชรา รวมถึงนโยบายด้านยาเสพติด ก็เขียนไว้ในนโยบายเช่นกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียง ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะซักฟอกนโยบายรัฐบาลนอกสภา แต่ยังได้ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อถอดถอนนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา โดยอ้างว่า นายชัยสมคบกับรัฐบาลในการย้ายสถานที่แถลงนโยบายไปเป็นที่กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกันนี้ ยังได้ยื่นให้ศาลฎีกาไต่สวนนายชัย รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ ฐานย้ายสถานที่แถลงนโยบายโดยไม่ชอบ ทั้งนี้ ไม่เพียง ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเดินเกมให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลเป็นโมฆะ แต่ม็อบเสื้อแดงของ นปช.ในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน ต่างพยายามกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้อยู่ไม่ได้เช่นกัน โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.29 คนใน 26 เขต 22 จังหวัดก่อนที่การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 11 ม.ค.นี้ แกนนำแต่ละพรรคได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครของพรรคในจังหวัดต่างๆ โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาของพรรค ก็ได้เดินสายไปช่วยลูกพรรคหาเสียงในจังหวัดภาคเหนือ คือ ลำปาง และลำพูนเมื่อวันที่ 6 ม.ค. แต่ก็ได้ถูกม็อบเสื้อแดงตามขับไล่ตั้งแต่ที่สนามบิน จ.เชียงใหม่ ยัน จ.ลำปางและลำพูน โดยที่เชียงใหม่ เป็นม็อบเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 นำโดย น.ส.กัญญาภัค มณีจักร ส่วนที่ลำปาง เป็นม็อบเสื้อแดงกลุ่มฮักลำปาง 51 นำโดยนายณัฐชัย อินทราย ที่ใช้วิทยุชุมชน “สถาบันโล่เงิน”ความถี่ 90.25 เมกะเฮิร์ตซ์เป็นเครื่องมือปลุกระดมให้ชาวบ้านไปขับไล่นายชวน โดยม็อบเหล่านี้ไม่เพียงไปดักรอพร้อมตีนตบ แต่ยังตะโกนด่าทอนายชวนและผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่เท่านั้น ยังได้ขว้างปาไข่ไก่ใส่หน้านายชวนและคนที่อยู่บนรถหาเสียง ส่วนที่ลำพูน ไม่เพียงม็อบเสื้อแดงจะส่งเสียงขับไล่ พร้อมปาไข่และถุงเลือดเข้าใส่ แต่ยังได้รุมทุบรถหาเสียงของนายชวนและพรรคประชาธิปัตย์ด้วย อย่างไรก็ตาม นายชวน ได้กล่าวในเวลาต่อมาว่า ไม่รู้สึกหนักใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมบอกให้ลูกพรรคทุกคนเข้มแข็ง และตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน นายชวน ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ม็อบเสื้อแดงที่ออกมาต่อต้านนั้น เป็นกลุ่มคนหน้าเดิมที่เคยชุมนุมบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่สนามบินเชียงใหม่ ลำปาง หรือที่ลำพูนก็ตาม ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ บอกว่า การชุมนุมสามารถทำได้ แต่การขว้างปาถือเป็นการละเมิดสิทธิ และว่า หากเชื่อในกระบวนการประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง น่าจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถไปรณรงค์ในส่วนของตัวเองได้ ฉะนั้น ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ก็ควรมีโอกาสไปรณรงค์กับประชาชนได้เช่นกัน ด้าน พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้ การปาไข่ไก่ใส่ ถือเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท ขณะที่นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวถึงกรณีที่ม็อบเสื้อแดงปาไข่และพยายามขัดขวางการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ว่า อาจเข้าข่ายกฎหมายอาญาได้ คือเข้าข่ายการข่มขู่ เพราะเคยมีการวินิจฉัยว่า การข่มขู่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังม็อบเสื้อแดงในบางจังหวัดพยายามขับไล่และปาไข่ใส่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่ไปช่วยหาเสียงให้ลูกพรรค ปรากฏว่า กรรมเริ่มตามสนองแกนนำ นปช.และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยบ้างแล้ว โดยระหว่างที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ไปขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครของพรรคที่ จ.บุรีรัมย์เมื่อค่ำวันที่ 7 ม.ค. ปรากฏว่า ได้ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนใน จ.บุรีรัมย์ขว้างขวดน้ำ ก้อนหิน และไข่เข้าใส่ ทำให้นายณัฐวุฒิและนายจตุพรต้องรีบหลบกันจ้าละหวั่น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางแกนนำ นปช.พยายามยืนยันว่า ม็อบเสื้อแดงไม่ได้เสียงแตก แต่คนเสื้อแดงที่ต่อต้านพวกตน ไม่ใช่เสื้อแดงตัวจริง แต่อยู่สายนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ทั้งนี้ ไม่เพียงม็อบเสื้อแดงสาย นปช.ในจังหวัดต่างๆ จะตามขับไล่และปาไข่ใส่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์เพื่อไม่ให้หาเสียงช่วยลูกพรรคในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. แต่ยังพยายามขัดขวางไม่ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เดินทางไปเยี่ยมยายเนียม พันธ์มณี ที่เคยมอบแหวนให้นายอภิสิทธิ์(เมื่อครั้งยังเป็นผู้นำฝ่ายค้าน) ซึ่งป่วยหนักเป็นมะเร็งในท่อน้ำดีอยู่ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานีด้วย โดยม็อบเสื้อแดงได้ไปปิดล้อมโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 7 ม.ค.หลังมีข่าวว่านายอภิสิทธิ์จะเดินทางไปเยี่ยมยายเนียม ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ไปเยี่ยม และยายเนียมได้เสียชีวิตลงในวันต่อมา(8 ม.ค.) ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ พยายามเคลียร์ภารกิจเพื่อไปร่วมพิธีศพยายเนียมที่จะมีการฌาปนกิจในวันที่ 11 ม.ค.นี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าที่ยายเนียมจะเสียชีวิต 1 วัน ได้มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย(นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.)ออกมาส่งสัญญาณว่า ส.ส.ของพรรคจะร้องต่อ กกต.ว่า พรรคประชาธิปัตย์เจตนาทำผิดกฎหมายเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เพราะได้นำสิ่งของไปมอบให้นางเนียมก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นการจูงใจให้เกิดภาพลักษณ์ที่มีผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งเขตพื้นที่ จ.อุบลราชธานีที่นางเนียมพักอาศัยอยู่ ก็เป็นเขตพื้นที่เลือกตั้งซ่อมด้วย ด้านนายวิฑูรย์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ออกมาสวนกลับพรรคเพื่อไทยว่า การที่นายอภิสิทธิ์มอบสิ่งของให้ยายเนียม ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายตอนที่ยายเนียมมอบแหวนให้นายอภิสิทธิ์ หรือกระเช้าผลไม้ที่นำไปเยี่ยม นอกจากจะราคาไม่ถึง 3 พันบาทตามที่กฎหมายกำหนดห้ามแล้ว วัตถุประสงค์การให้ยังเป็นไปเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณผู้ใหญ่ที่นายอภิสิทธิ์ให้ความเคารพและผูกพันตั้งแต่ก่อนมาเป็นนายกฯ อีกทั้งพื้นที่ที่ยายเนียมพักอาศัยก็ไม่ใช่พื้นที่ที่จะมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แต่อย่างใด สำหรับแนวโน้มการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 29 คนใน 26 เขต วันที่ 11 ม.ค.นี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประเมินผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ครั้งนี้ โดยนำผลการประเมินออกมาเผยแพร่เมื่อ 8 ม.ค.ว่า ในจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 83 คน พบว่า ผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา(ชาติไทยเดิม)จะได้จำนวนที่นั่งมากสุด 12 ที่นั่ง รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยได้พรรคละ 6 ที่นั่ง ส่วนที่เหลือเป็นของพรรคประชาราช 2 ที่นั่ง ,พรรคเพื่อแผ่นดิน 2 ที่นั่ง และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 1 ที่นั่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ครั้งนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย มีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้ด้วยในหลายจังหวัด
3. กองวินัย เสนอ “ผบ.ตร.”ถอดยศ “แม้ว”แล้ว ด้าน “เพื่อไทย”ขู่ ระวัง “คนรักทักษิณ”ลุกฮือ!
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. พล.ต.ต.ปัญญา เอ่งฉ้วน ผู้บังคับการกองวินัย ออกมาเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีที่ดินรัชดาฯ ว่า กองวินัยได้ตรวจสอบแล้วพบว่า กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าเงื่อนไของค์ประกอบตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 เนื่องจากถูกศาลพิพากษาจำคุก และคดีถึงที่สุดแล้ว จึงได้ส่งเรื่องไปยังกองกำลังพลเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ขั้นตอนต่อไป ทางกองกำลังพลจะต้องประมวลเรื่องเพื่อเสนอไปยัง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณต่อไป ด้าน พล.ต.ต.ชนาภัทร เชยสมบัติ ผู้บังคับการกองกำลังพล บอกว่า ได้รับเรื่องจากกองวินัยแล้วเมื่อวันที่ 7 ม.ค. และว่า กองกำลังพลต้องนำมาพิจารณาประมวลว่ากรณีดังกล่าวเข้าระเบียบเกี่ยวกับกำลังพลหรือไม่ โดยกองกำลังพลจะทำไปตามขั้นตอน ยืนยันว่าจะไม่มีการยื้อหรือประวิงเวลา แต่ขอเวลาประมวลเรื่อง 1-2 วัน จากนั้นจะเสนอ พล.ต.อ.พัชรวาทเพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หลังมีข่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติเตรียมพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ปรากฏว่า ทีมทนายและโฆษกส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างออกมาโวยวายแทน พ.ต.ท.ทักษิณเป็นการใหญ่ โดยนายวิชิต ปลั่งศรีสกุล อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ปัจจุบันเป็นทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ รีบออกมาบอกว่า การจะถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนเป็นการจองเวร พ.ต.ท.ทักษิณไม่เลิก และว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ จะปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่องหรืออ้างว่าฝ่ายการเมืองไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ตรวจสอบ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติและระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว พบว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายเรื่องการถอดยศนายตำรวจนั้น เพื่อใช้ดำเนินการกับตำรวจที่ได้สร้างความเสียหาย เสื่อมเสียแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยสร้างความเสียหายให้ สตช. ซ้ำยังสร้างความดีงามให้ สตช.มากมาย ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ออกมาปกป้องนายเช่นกัน โดยข้องใจว่า ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรื่องการถอดยศ มีการบังคับใช้อย่างเสมอภาคหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ไม่เห็นเคยมีข่าวการถอดยศตำรวจ ทั้งที่บางคนกระทำผิดร้ายแรงกว่า พ.ต.ท.ทักษิณอีก ขณะที่นายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็รีบออกมาชี้เช่นกันว่า การที่ตำรวจจะพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นชัดเจนว่าต้องการไล่บดขยี้ พ.ต.ท.ทักษิณให้หมดหนทางต่อสู้ ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นถึงอดีตนายกฯ เคยทำคุณประโยชน์มากมายให้บ้านเมือง นายนพดล ยังฝากถึงตำรวจและผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในขณะนี้ด้วยว่า “คนล้มอย่าข้าม” ด้าน ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ก็ได้เตรียมยื่นกระทู้ถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในการประชุมสภาสมัยสามัญที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 ม.ค.นี้ โดย 1 ใน 3 ประเด็นที่ ร.ต.ท.เชาวรินจะถามก็คือ รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร หากการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณส่งผลให้ประชาชนที่ยังรักและศรัทธาต่อผลงานของอดีตนายกฯ ทักษิณ ออกมาประท้วงหรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยืนยัน การพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องของฝ่ายที่ต้องดำเนินการตามระเบียบ ไม่ได้มีการส่งสัญญาณใดใดทั้งสิ้น และไม่ทราบว่าเรื่องนี้จะได้ข้อยุติอย่างไร ส่วนความเป็นไปได้ในการขอคืนเครื่องราชฯ จาก พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ยังไม่เห็นเรื่อง แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบ ระเบียบว่าอย่างไรก็เอาตามนั้น ไม่มีการละเว้นและกลั่นแกล้ง ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณว่า ยังไม่เห็นเรื่องนี้เสนอขึ้นมา และว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องให้เจ้าหน้าที่ไปพิจารณาทุกแง่ทุกมุมให้เกิดความชัดเจน ต้องดูเจตนาของระเบียบ และรายละเอียดของระเบียบว่าเขียนไว้อย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด
4. “รบ.”ย้ายที่ประชุมอาเซียน ซัมมิท ไป “หัวหิน” ด้าน “เสื้อแดง”ลั่น ตามขวางทุกที่!
จากกรณีที่รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน(อาเซียน ซัมมิท)ในเดือน ก.พ.นี้ ปรากฏว่า ทางแกนนำ นปช.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ออกมาเผยผลการประชุมแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ว่า ยังยืนยันจุดยืนเดิมคือการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ส่วนรูปแบบการชุมนุมเคลื่อนไหว แกนนำจะกำหนดอีกครั้ง และว่า หากรัฐบาลยังดึงดันจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน การชุมนุมจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะคนเสื้อแดงไม่อาจยอมรับรัฐบาลที่มาโดยไม่ชอบ และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีส่วนในการยึดสนามบินแห่งชาติ ดังนั้นคนเสื้อแดงจะแสดงให้อาเซียนทุกประเทศเห็นว่า คนไทยไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาล ซึ่งผู้นำบางประเทศอาจถอนตัวออกจากการประชุมเลยก็ได้ ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย บอกว่า สัปดาห์หน้า นายจักรภพ เพ็ญแข และนายนพดล ปัทมะ จะไปชี้แจงและยื่นเอกสารต่อประเทศอาเซียน 9 ประเทศว่า อย่ามาร่วมประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่ไทย เนื่องจากรัฐบาลไทยมีผู้ก่อการร้ายมาเป็นรัฐมนตรี หากขืนจะประชุมอาเซียน คนไทยจะมาปิดล้อม ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยืนยัน ยังเชื่อมั่นว่ามิตรประเทศในอาเซียนต้องการให้ไทยเป็นประธานและเป็นเจ้าภาพจัดงาน และอยากบอกว่า งานนี้ไม่ใช่งานของรัฐบาล แต่เป็นงานของคนไทยทั้งประเทศ และการรักษาสถานภาพของการเป็นประธานและเจ้าภาพที่ดีน่าจะเป็นเป้าหมายของคนไทยทั้งประเทศ เพราะทั้งหมดเป็นประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ส่วนสถานที่จัดการประชุมอาเซียน ซัมมิท ซึ่งเดิมจะประชุมใน กทม.แต่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้สั่งเปลี่ยนสถานที่จัดไปเป็นที่เชียงใหม่ เพื่อเลี่ยงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น ปรากฏว่า ล่าสุด รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้ตัดสินใจให้ย้ายไปจัดประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์แทน โดยนายอภิสิทธิ์ เผยเหตุผลที่ย้ายสถานที่ประชุมว่า คิดว่าอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้การประชุมเป็นไปด้วยความราบรื่นที่สุด ทั้งนี้ รัฐบาลมีมติด้วยว่า จะแยกจัดประชุมอาเซียนเป็น 2 รอบ รอบแรกเฉพาะสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ โดยจะจัดในวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. ส่วนรอบที่สองจะเป็นการประชุมกับกลุ่มประเทศคู่เจรจาของอาเซียน คาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือน เม.ย. ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ได้กำชับให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดูแลความปลอดภัยช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียน ซัมมิท ด้วยตนเอง เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าตาของประเทศ ส่วนเหตุผลที่เลือกจัดประชุมที่หัวหินนั้น นายสุเทพ บอกว่า นอกจากเป็นเมืองตากอากาศแล้ว ยังเป็นการหลีกเลี่ยงเงื่อนไขที่อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงหรือการเผชิญหน้าด้วย ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ประกาศว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะย้ายไปประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่ไหน คนเสื้อแดงพร้อมที่จะเดินทางไปทุกที่ของประเทศไทย ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.อีกคน ก็บอกว่า การต่อต้านของกลุ่มคนเสื้อแดงจะมากขึ้นและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ นายณัฐวุฒิ ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้กำลังเร่งก่อสร้างห้องส่งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งใหม่ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารกับคนเสื้อแดง โดยจะออกอากาศให้ทันช่วงกลาง ม.ค.นี้ ส่วนชื่อสถานีนั้น กำลังพิจารณาคัดเลือก ระหว่าง “ดีทีวี”ที่มาจาก เดโมเครซี่ เทเลวิชั่น และ “เรดทีวี” หรือทีวีของคนเสื้อแดง ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ยืนยัน แม้กลุ่มเสื้อแดงจะตามไปชุมนุมที่หัวหิน แต่จะไม่สามารถเคลื่อนขบวนไป อ.หัวหินได้ โดยถ้ามาจากทางใต้ ก็จะไม่ยอมให้ผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี หากจะเคลื่อนจาก กทม.ก็จะไปติดที่ จ.เพชรบุรี ขณะที่นายกิจ ผ่องภักดิ์ แกนนำกลุ่มเพื่อนชาวนา ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เผยว่า การประชุมอาเซียน ซัมมิท ครั้งนี้ เป็นเรื่องเกียรติยศของชาติ เป็นหน้าตาของคนไทย ดังนั้น พันธมิตรฯ ทั้ง 8 อำเภอใน จ.เพชรบุรี ได้พูดคุยกันคร่าวๆ ว่า จะจัดกำลังป้องกันเหตุวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงประชุม และว่า พวกเสื้อสีแดงหรือสีอะไรก็แล้วแต่ไม่ควรเข้ามาวุ่นวายในพื้นที่แถวนี้ ด้านสำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงพนมเปญของกัมพูชาเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ได้แสดงความไม่พอใจที่ไทยแยกจัดประชุมอาเซียน ซัมมิท ออกจากการประชุมกับกลุ่มประเทศคู่เจรจาของอาเซียน พร้อมเรียกร้องให้ไทยกำหนดวันประชุมอาเซียน ซัมมิท กับประเทศคู่เจรจาใหม่ โดยอ้างว่า ตนและผู้นำอีกหลายประเทศไม่สะดวกที่จะเดินทางมาร่วมประชุมตามเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ สมเด็จฯ ฮุน เซน พูดทำนองประชดว่า “ผมไม่สามารถเดินทางไปไทยถึง 3 ครั้งใน 1 ปี เพื่อร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ผมมีงานอื่นที่ต้องทำเหมือนกัน และคิดว่าผู้นำคนอื่นก็คงไม่ต่างกัน...” ด้านนายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พูดถึงข่าวสมเด็จฯ ฮุน เซนไม่พอใจการจัดวันประชุมอาเซียน ซัมมิท ของไทยว่า เท่าที่ทราบเป็นเพียงการรายงานข่าวเท่านั้น เพราะในการติดต่อกันตามช่องทางทางการทูต ฝ่ายกัมพูชาก็บอกว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ออกมาพูดถึงข่าวสมเด็จฯ ฮุน เซน ขู่ว่าอาจจะไม่เข้าร่วมประชุมอาเซียน ซัมมิท ในวันนี้(10 ม.ค.)ว่า ขณะนี้ไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างน่าจะเรียบร้อย สัปดาห์หน้าอธิบดีประเทศสมาชิกอาเซียนจะมาร่วมประชุมกัน ดังนั้นน่าจะเรียบร้อย
5. “สุขุมพันธุ์” เปิดตัวคณะทำงาน-คนดังเพียบ ด้าน “แซม”ดึงซาก “ทรท.-พปช.”ร่วมงาน!
บรรยากาศการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 11 ม.ค. ปรากฏว่า ยังคงเป็นไปด้วยความคึกคัก โดยในส่วนของแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้เปิดแถลงข่าวให้กำลังใจนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ที่พรรคส่งลงสมัครเมื่อวันที่ 4 ม.ค. พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนภาคต่างๆ ในกรุงเทพฯ เลือกนายยุรนันท์เป็นผู้ว่าฯ กทม. อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนแรกพรรคเพื่อไทยแจ้งผู้สื่อข่าวว่า ทางพรรคจะแถลงเปิดตัวทีมงานผู้ว่าฯ กทม.ของนายยุรนันท์ แต่เมื่อถึงเวลา กลับไม่มีการเปิดตัวทีมงานแต่อย่างใด ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงเปิดตัวคณะทำงานผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 7 ม.ค. โดยเป็นคณะทำงานด้านต่างๆ 24 คน เช่น ด้านสังคมและการแพทย์ ได้แก่ พญ.ชนิกา ตู้จินดา ,พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ ,นายวิทิต มันตาภรณ์ ฯลฯ ด้านศิลปะวัฒนธรรม ได้แก่ นายปรีชา เถาทอง ,นายวรากรณ์ สามโกเศศ ,ร.ต.ท.เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ฯลฯ ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ นายเกียรติ สิทธีอมร ,นายสุกิจ ก้องธรนินทร์ ,นายมานพ พงศทัต ,นายปรีชา สุวรรณทัต ฯลฯ นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังมีคณะทำงานคนรุ่นใหม่อีก 18 คน ได้แก่ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล ,นายถนอม อ่อนเกตุพล ฯลฯ ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เปิดปราศรัยใหญ่ที่สวนเบญจสิริ เมื่อเย็นวานนี้(9 ม.ค.) ส่วนนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ตอนแรกบอกว่าจะเปิดปราศรัยใหญ่ที่สนามหลวงในวันที่ 9 ม.ค. แต่สุดท้ายยกเลิก โดยอ้างว่า เห็นว่าเป็นการเสียเวลาเปล่า และเสี่ยงที่จะทำให้มวลชนมาปะทะกัน ขณะที่นายแก้วสรร อติโพธิ ผู้สมัครอิสระ ตอนแรกก็ประกาศว่าจะเปิดปราศรัยที่สนามหลวงในช่วงเช้าวันที่ 10 ม.ค.โดยจะเชิญนักวิชาการหลายคนมาขึ้นเวที แต่สุดท้ายก็ยกเลิก โดยบอกว่า เป็นการนัดฉุกเฉิน กลุ่มเพื่อนนักวิชาการจึงไม่พร้อมที่จะร่วมขึ้นเวทีด้วย ด้าน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครอิสระ แม้จะไม่ได้เปิดตัวที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ของตนอย่างเป็นทางการ แต่ก็เผยว่า มีบุคคลที่ตอบรับเป็นที่ปรึกษาให้ตนแล้ว เช่น ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ และนายปราโมทย์ ไม้กลัด ทั้งนี้ 4 ตัวเต็งผู้ว่าฯ กทม.ได้มีโอกาสประชันวิสัยทัศน์ที่สำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้(9 ม.ค.) โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หาเสียงด้วยการชู 11 โครงการที่จะประสานความร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินการ เช่น จะเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายหลายสาย ,จะแก้หนี้ภาคประชาชน ,จะแก้ปัญหาบ้านมั่นคงที่กู้เงินมาแล้วไม่ได้สร้าง ,จะปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสถานบันเทิง ,จะมีโครงการธนาคารที่ดิน ฯลฯ ด้านนายยุรนันท์ ภมรมนตรี หาเสียงด้วยการนำอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน 37 คนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรค มาเป็นทีมที่ปรึกษา โดยอ้างว่า ตนรับรู้ถึงความรู้สึกของประชาชนที่ยังรักและให้การสนับสนุนบุคคลเหล่านั้นอยู่ ขณะที่ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล บอกว่า หากตนได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. แสดงว่า คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องการการเมืองจาก 2 พรรค อย่างไรก็ตาม ม.ล.ณัฏฐกรณ์ บอกว่า ตนพร้อมจะทำงานร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หากมีความคิดที่จะพัฒนาประเทศ ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ บอกว่า มีแนวคิดที่จะจัดตั้งมูลนิธิกีฬา เพื่อแก้ปัญหาการทารุณกรรมเด็ก และผลักดันธนาคารเพื่อที่อยู่อาศัย และว่า ปัญหาการพัฒนาเมืองเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายความสามารถของผู้ว่าฯ กทม. เมื่อได้ข้อสรุปก็นำเสนอรัฐบาลร่วมกัน แต่หากรัฐบาลยังทำอะไรไม่ได้หรือมัววิ่งหลบไข่เน่า ก็น่าสงสาร นายแก้วสรร ยังยืนยันด้วยว่า ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้เยาะรัฐบาล แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ด้านนายพงษ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม.ได้นำข้าราชการและลูกจ้าง กทม.กว่า 8,000 คน ร่วมกิจกรรม “คนรักกรุงเทพฯ รวมพลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.”เมื่อวันที่ 8 ม.ค. เพื่อรณรงค์ให้คนกรุงเทพฯ ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในวันที่ 11 ม.ค.นี้ โดยบอกว่า ขณะนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.4.2 ล้านคน ซึ่ง กกต.กทม.ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ออกไปใช้สิทธิร้อยละ 60-70 มากกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งก่อนเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2551 ที่มีผู้ไปใช้สิทธิแค่ร้อยละ 54.18