xs
xsm
sm
md
lg

“สุขุมพันธุ์”กวาดเรียบ46เขต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ผ่าผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบ “สุขุมพันธุ์” กวาดเรียบ 46 เขต ขณะที่ “แซม-เสื้อแดง” เฉือนหวิวไปได้แค่ 4 เขตจากดอนเมือง-ลาดกระบัง-สายไหม-ดุสิต” ด้าน ปธ.กกต.กทม.เผยยังไม่เสนอ กกต.กลาง ประกาศรับรองคุณชายนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ขอดูเรื่องร้องเรียนใน 3 วัน พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนกรณีนับคะแนนเขตพญาไท ชี้หากพบผู้สมัครเกี่ยวข้องเสนอสอยทีหลังได้ ขณะที่ว่าที่พ่อเมืองคนใหม่เอาฤกษ์เอาชัยเข้าทำบุญสังฆทานฉลองตำแหน่ง

วานนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานผลการนับคะแนนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) อย่างไม่เป็นทางการในทั้ง 50 เขต โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยดังต่อไปนี้ อันดับ 1. ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมายเลข 2 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 934,602 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 45.412. นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หมายเลข 10 พรรคเพื่อไทย ได้ 611,669 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 29.72 3.ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หมายเลข 8 สังกัดอิสระ ได้ 334,846 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 16.27 4.นายแก้วสรร อติโพธิ หมายเลข 12 กลุ่มกรุงเทพฯใหม่ ได้ 144,779 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 7.03 5.นางลีนา จังจรรจา หมายเลข 3 อิสระ ได้ 9,043 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.44 6.นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล หมายเลข หมายเลข 1 ทีมกรุงเทพฯ พัฒนา ได้ 6,017 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.29 7.นายเอธัส มนต์เสรีนุสรรณ์ หมายเลข 14 พรรคสุวรรณภูมิ ได้ 4,117 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.20
8.นายวิทยา จังกอบพัฒนา หมาเลข 9 อิสระ ได้ 3,582 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.18 9.นายกงจักร ใจดี หมายเลข 5 อิสระ ได้ 2,400 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.12 10.นายธรรณม์ชัย รุ่งจิรโรจน์ หมาเลข 11 อิสระ ได้ 2,222 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.11 11.นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ หมายเลข 4 อิสระ ได้ 1,875 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.09 12.ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หมายเลข 6 กลุ่มเมตาธรรม ได้ 1,431 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.07 13.นายอิสระ อมรเวช หมายเลข 7 อิสระ ได้ 922 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.04 และ 14.นายอุดม วิบูลเทพาชาติ อิสระ ได้ 656 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.03

**สุขุมพันธุ์กวาดเรียบ 46 เขต
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์คะแนนของผู้สมัครแต่ละคนแยกตามรายเขตปรากฏว่า ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 2 จากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) สามารถคว้าคะแนนอันดับ 1 มาได้ถึง 46 เขต ขณะที่ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 10 พรรคเพื่อไทย(พท.) ได้คะแนนอันดับ 1 เพียง 4 เขตเท่านั้น โดยเขตที่ได้เป็นเขตที่มีฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยหนาแน่น ได้แก่ เขตดอนเมือง ลาดกระบัง และเขตสายไหม ส่วนอีกเขตที่ได้คือเขตดุสิต แต่ก็มีคะแนนค่อนข้างสูสีซึ่งนายยุรนันท์ เอาชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เพียง 345 คะแนนเท่านั้น โดยนายยุรนันท์ ได้คะแนน 13,676 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ 13,331 คะแนน (อ่านรายละเอียดหน้า 14)

**กกต.กทม.ขอ 3 วันก่อนรับรองผล
เมื่อเวลา 13.00 น. คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ได้ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับรอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. หรือไม่ และพิจารณากรณีนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคเพื่อไทย ร้องคัดค้านการนับคะแนนของเขตพญาไท เนื่องจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรก่อนขนย้ายไปยังสถานที่นับคะแนน และไม่มีการปิดผนึกหีบเลือกตั้ง ทั้งนี้ที่ประชุมใช้เวลาประชุมกว่า 3 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น
นายพิงค์ รุ่งสมัย ประธาน กกต.กทม. เปิดเผยภายหลังว่า ที่ประชุมมีมติยังไม่รับรอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากมีระเบียบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง (กกต.) ให้เวลา กกต.กทม.พิจารณาเรื่องได้ภายใน 3 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.กทม. จึงจะรอให้ครบ 3 วันก่อน เพื่อตรวจสอบให้ชัดเจนว่าจะไม่มีคำร้องเรียนในตัวผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน หาก กกต.กทม.รีบรายงานให้ กกต.กลาง พิจารณาประกาศรับรองผู้สมัครก็เกรงว่าภาพจะไม่ดีนัก ซึ่งหากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเพิ่มเติมจะได้ไม่ต้องแก้ไขในภายหลัง เนื่องจากยังอยู่ในห้วงเวลาที่ให้โอกาส กกต.กทม. ทำงานอยู่ ทั้งนี้จะไม่กระทบกับห้วงระยะเวลาที่ต้องมีการประกาศรับรองผู้ว่าฯ กทม.ภายใน 7 วัน
ส่วนกรณีคำร้องคัดค้านการนับคะแนนเขตพญาไท กกต.กทม.ได้ข้อสรุปที่จะตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนจำนวน 3 วัน ลงไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเรื่องนี้ต้องสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายราย ทั้งนี้ตนได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้รีบดำเนินการโดยละเอียดรอบคอบและเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ โดยเบื้องต้นให้กรอบระยะเวลาในการสืบสวนสอบสวนเป็นเวลา 7 วัน แต่หากข้อมูลยังไม่ครบถ้วนอาจขยายเวลาต่อไปได้อีก อย่างไรก็ตามคำร้องคัดค้านดังกล่าวนี้ไม่มีผลกระทบกับตัวผู้สมัคร เนื่องจากเป็นการร้องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แต่หากสุดท้ายแล้วการสืบสวนสอบสวนพบว่าผู้สมัครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดขั้นตอนกฎหมายครั้งนี้ก็อาจดำเนินการสอยทีหลังได้ ซึ่งกกต.กทม.ต้องเสนอเรื่องไปยัง กกต.กลางพิจารณา และสุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของ กกต.กทม.

**ว่าที่ผู้ว่าฯ ทำบุญฉลองชัย
วานนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางนมัสการพระนิภากรกิตติพิลาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ พร้อมกับทำบุญถวายสังฆทาน ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ปฏิบัติเช่นนี้ทุกครั้งหลังจากผ่านพ้นการสู้ศึกเลือกตั้ง
จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า คะแนนที่ได้ยิ่งกว่าพอใจ ต้องขอขอบคุณประชาชนที่ได้ให้คะแนนเสียงท่วมท้น ยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่อย่างมุ่งมั่นเสียสละ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยจะใช้เวลา 4 ปี ให้เป็นประโยชน์เท่าที่จะทำได้มากที่สุด ใช้เม็ดเงินภาษีของประชาชนให้คุ้มค่า สำหรับโครงการที่เคยเป็นนโยบายหาเสียงที่จะทำได้ทันที คือ ระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยาย จากสะพานตากสิน ไปวงเวียนใหญ่ เสร็จทันก่อนเปิดเทอม 15 พฤษภาคมนี้ เส้นทางจากวงเวียนใหญ่ ไปบางหว้า และอ่อนนุช ไปแบริ่ง ภายใน 2 ปี รวมทั้งจะวางแผนระดมทุนระบบขนส่งมวลชนขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เชื่อมโยงกันภายใน 4 ปี
“คิดว่าหลายปัจจัยที่ได้คะแนนมาก ซึ่งการมีทีมงานที่ชัดเจน และความเกี่ยวโยงของผมกับพรรคประชาธิปัตย์ เกือบแยกไม่ออก ทุกคนสบายใจว่า เลือกพรรคประชาธิปัตย์ แล้วจะได้ผม หรือเลือกผมแล้วจะได้พรรคประชาธิปัตย์”
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวถึงคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.ว่า จะขอหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาว่าสามารถฟ้องยกเลิกสัญญาได้หรือไม่ ถ้าฟ้องได้ก็จะเดินหน้า
นอกจากนี้ การยกร่างปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการ กทม. เป็นอีกสิ่งที่อยากจะทำ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา โดยให้นักวิชาการยกร่างกฎหมายเป็นตุ๊กตา แล้วทำประชาพิจารณ์ให้คนกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น หลักใหญ่ของโครงสร้างที่ต้องปรับปรุงคือ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าฯ เนื่องจากหน้าที่มีมากกว่าอำนาจ โดยเฉพาะหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามภารกิจรับถ่ายโอนจากรัฐบาลส่วนกลาง นอกจากนี้ ตนอยากให้มีการกระจายอำนาจการบริหารงาน กทม. คล้ายกับกรุงมะนิลา คือ มีผู้ว่าฯ หลายคน เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ กว้างขวางมาก ดูแลไม่ทั่วถึง

**ปลัด กทม.จัดห้องรับนายใหม่
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) นายพงศ์ศักดิฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม.ได้ตรวจดูความเรียบร้อยห้องทำงานผู้ว่าฯกทม.และห้องที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. โดยกำชับกับเจ้าหน้าที่ให้ดูแลเรื่องความสะอาด เพื่อเตรียมไว้ต้อนรับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และคณะทำงาน
นายพงศ์ศักดิฐ์กล่าวว่า การนับผลคะแนนการเลือกตั้งที่กทม.ในคืนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี ไม่มีประชาชนเข้ามาร้องเรียนเรื่องทุจริตการเลืองตั้งแต่อย่างใด มีเพียงมาร้องเรียนเรื่องการดื่มสุราเท่านั้น ซึ่งทางกทม.ได้ส่งผลคะแนนรวมทั้งหมดไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แล้วเพื่อให้ประกาศรับรองภายใน 7 วัน ส่วนกรณีร้องเรียนที่เขตพญาไทตนได้ชี้แจงไปเมื่อวานแล้ว ซึ่งกกต.กทม.เองได้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าว และได้แถลงว่าบันทึกและรับเป็นเรื่องร้องเรียนเอาไว้จึงให้นับคะแนนในเขตพญาไท
นายพงศ์ศักดิฐ์กล่าวอีกว่า กทม.ได้รณรงค์อย่างหนักที่จะให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิแต่ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 51.10 % โดยเหตุผลน่าจะมาจากประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายทางการเมือง เศรษฐกิจสังคม และความเหน็ดเหนื่อยช่วงหลังปีใหม่ ส่วนประชาชนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิต้องไปแจ้งต่อสำนักงานเขตถึงเหตุผลที่ไม่ออกไปลงคะแนนเสียง โดยแจ้งได้ 3 ทางคือ ไปแจ้งด้วยตัวเอง ฝากผู้อื่นไปแจ้งแทน หรือแจ้งทางไปรษณีย์ หากไม่ไปแจ้งจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 6 ประการ เช่น สิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้าน สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นต้น

**โนโหวตเกือบ 50,000 เสียง
นายยศศักดิ์ คงมาก ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน(สปท.) กทม. เปิดเผยถึงสถิติคน กทม.ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.11 มกราคม ว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 2,210,803 คน จากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4,150,103 คน คิดเป็นร้อยละ 51.10 ทั้งนี้เขตที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. เขตทวีวัฒนา มีผู้ใช้สิทธิ 31,221 คน คิดเป็นร้อยละ 58.51 2. เขตพญาไท มีผู้มาใช้สิทธิ 30,984 คน คิดเป็นร้อยละ 56.03 3. เขตบางรัก มีผู้มาใช้สิทธิ 19,106 คน คิดเป็นร้อยละ 59.95 4. เขตลาดพร้าว มีผู้มาใช้สิทธิ50,424 คน คิดเป็นร้อยละ 55..36 และ 5.เขตสะพานสูง มีผู้มาใช้สิทธิ 34,631 คน คิดเป็นร้อยละ 55.14 นอกจากนั้นแล้วมีเขตที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยที่สุด 5 อันดับ คือ 1. เขตดุสิต มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 38,869 คน คิดเป็นร้อยละ 45.94 2. เขตคลองเตย มีผู้มาใช้สิทธิ 37,628 คิดเป็นร้อยละ 46.48 3. เขตราชเทวี มีผู้มาใช้สิทธิ 25,422 คน คิดเป็นร้อยละ 47.33 4.เขตบางนา มีผู้มาใช้สิทธิ 34,819 คน คิดเป็นร้อยละ 47.59 และ 5. เขตจอมทอง มีผู้มาใช้สิทธิ 59,445 คน คิดเป็นร้อยละ 48.82
โดยแยกเป็นบัตรดี 2,058,219 บัตร คิดเป็นร้อยละ 97.05 บัตรเสีย16,107 บัตร คิดเป็นร้อยละ 0.76 ไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ โนโหวต (No Vote) 46,395 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.19 ซึ่งมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ที่มีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนเพียง 37,345 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.69 หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 9,050 คน

**เขตดุสิตแจงทหารไม่ใช้สิทธิเลยบ๊วย
นายสมชาย เลี่ยวชวลิต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตดุสิต กล่าวถึงกรณีที่ผู้มีสิทธิในพื้นออกมาใช้สิทธิเป็นอันดับสุดท้ายว่า สาเหตุหนึ่งเพราะเป็นพื้นที่ทหาร ซึ่งช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้มีสิทธิที่เป็นทหารออกไปปฏิบัติราชการนอกพื้นที่ และไม่สามารถกลับมาลงคะแนนเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ในพื้นที่เขตดุสิตมีทหารที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนถึงร้อยละ 10 นอกจากนั้นแล้วผู้สมัครก็ยังเป็นที่น่าสนใจน้อย ประชาชนในพื้นที่จึงออกมาใช้สิทธิน้อยตามไปด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551ที่ผ่านมา เขตดุสิต มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากเป็นอันดับที่ 49 หรือรองบ๊วย คิดเป็นร้อยละ 49.05 ส่วนเขตที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุดขณะนั้น คือ เขตคลองเตย คิดเป็นร้อยละ 48.82

**เลขาฯ กกต.เผยพญาไทเข้าใจผิด
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีปัญหาการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่เขตพญาไทว่า เบื้องต้นทราบว่าเป็นความเข้าใจผิด และกระทำผิดขั้นตอนในการนับคะแนน เพราะการนับคะแนนผู้ว่าฯกทม. และ ส.ส. ต่างกัน ซึ่งสอบถามเบื้องต้นทราบว่าผู้ปฏิบัติงานเข้าใจผิด โดยเปิดหีบเพื่อเช็คจำนวนบัตรก่อนที่จะส่งไปนับรวมที่เขตพญาไท ไม่ได้มีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมกกต. เพื่อให้วินิจฉัยอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งหากไม่กระทบกับคะแนน กกต.ก็จะไม่สั่งนับคะแนน หรือเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ ก็ต้องให้ กกต.กทม. สรุปรายงานเข้าสู่ที่ประชุม เพราะหากเป็นการทุจริต กกต.ก็อาจมีดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นก็ได้
นายสุทธิพลกล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหีบบัตรที่พญาไท หรือความสับสนในการเลือกตั้งส.ส. และ ผู้ว่าฯกทม. เกิดจากกฎหมายที่ระบุขั้นตอนวิธีการที่ต่างกัน เช่นการนับคะแนน ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นจะนับรวม แต่เลือกตั้งส.ส.นับที่หน่วย โดยในอนาคตน่าจะปรับแก้ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานจะได้ไม่สับสน.
กำลังโหลดความคิดเห็น