xs
xsm
sm
md
lg

"หวนอาลัย พูนศุข พนมยงค์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังสือที่ระลึก หวนอาลัย พูนศุข พนมยงค์
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข

นับจากสิ้นท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสไปแล้ว 24 ปี ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ ขณะอายุ 95 ปี 4 เดือน 1 วัน ได้ถึงแก่มรณกรรมไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดท่านปรีดี พนมยงค์ พอดี !!

จวบจนเมื่อวานนี้ 14 ธันวาคม 2551 ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเดิมชื่อ"วัดประชาธิปไตย"จัดสร้างขึ้นในปี 2483 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้มีการจัดงานพิธีปลงศพท่านผู้หญิงพูนศุข อย่างเรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ในใจผู้ร่วมไว้อาลัยที่มาชุมนุมกันคับคั่ง โดยทุกอย่างเป็นไปตามความตั้งใจของท่าน ที่ได้สั่งเสียลูกๆไว้ล่วงหน้าสิบปีที่บ้านสาธรว่า

"เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

๑.นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแน่แล้ว
๒.ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆทั้งสิ้น
๓.ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
๔.ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรทีต้องมาร่วมงาน
๕.มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกัยที่จัดให้ปาล-บุตรผู้วายชนม์) และทำบัตรสำหรับหนังสือที่ระลึก
๖.ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือเงินช่วยทำบุญ
๗.เมื่อโรงพยาบาลคืนศพก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
๘.ให้นำอัฐิและอังตารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสถานที่ๆแม่เกิด
๙.หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทานแก่มูลนิธิต่างๆที่ทำสาธารณกุศล
๑๐. ขอให้ลูกๆทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆที่ปฏิบัติตามคำสั่งแจงมีความสุข ความเจริญ"

เมื่อโรงพยาบาลได้คืนศพมาแล้ว บุตรธิดาของท่าน ได้แก่ น.ส.ลลิตา และ น.ส.สุดา พนมยงค์ นายศุขปรีดา นางดุษฎี บุญทัศนกุล และนางวาณี สายประดิษฐ์ ได้ดำเนินการตามความตั้งใจของแม่ ด้วยพิธีกรรมเรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ และทำหนังสือระลึกชื่อ "หวนอาลัย พูนศุข พนมยงค์"เป็นบรรณาการแก่ผู้ร่วมในงานปลงศพท่านจำนวนมาก

เนื้อหาหนังสือ"หวนอาลัย"เล่มพิเศษนี้ทั้งหนาและหนักด้วยสาระอันมีค่าตั้งแต่หน้าแรกจวบจนถึงหน้าสุดท้าย ล้วนมีธรรมนำหน้า จากเปิดหน้าแรกด้วย" ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม"....ถึงหน้าสุดท้ายที่กล่าวว่า"ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่ศูนย์หาย" พร้อมทั้งที่ปกหลังหนังสือได้แนบ CD เพลง ทรงคุณค่า 3 เพลง ได้แก่ เพลง หวนอาลัย เพลงแม่จ๋า เพลงคนดีมีค่า ซึ่งขับร้องโดยคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู อำนวยเพลงโดย ไกวัล กุลวัฒโนทัย

โดยเฉพาะเพลง"หวนอาลัย" ซึ่งเนื้อร้องแต่งโดย เวศ สุนทรจามร ส่วนทำนองเป็นของแก้ว อัจฉริยะกุล เป็นบทประพันธ์ขึ้นหลังจากท่านปรีดี พนมยงค์ต้องลี้ภัยการเมืองหลังรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 ถือเป็นเพลงที่ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อหนังสือไว้อาลัยท่านผู้หญิงพูนศุข

หนังสือ"หวนอาลัย พูนศุข พนมยงค์" เป็นหนังสือที่มีค่าลำดับที่ 3 นับจากเล่มแรก"ธรรมาลัย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์" ได้จัดพิมพ์เพื่อบรรณาการแก่ผู้ร่วมพิธีไว้อาลัยแด่ท่านเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 เป็นธรรมกถาของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)

ส่วนหนังสือลำดับที่สองคือ "ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น" เป็นการรวบรวมผลงานเขียนของท่านผู้หญิงพูนศุข เช่น สุนทรพจน์ ข้อเขียน ความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์การบ้านการเมืองที่มีผลกระทบรุนแรงต่อท่านและครอบครัว โดยหนังสือเล่มนี้ได้จัดจำหน่ายเพื่อสมทบกองทุนท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เพื่อสาธารณกุศล

ความสำคัญของหนังสือ"หวนอาลัย พูนศุข พนมยงค์"เล่มนี้ มีความต่อเนื่องมาจากหนังสือ "มิตรกำสรวล"ซึ่งจัดพิมพ์เนื่องในวาระที่ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ซึ่งเนื้อหาแสดงคำไว้อาลัยของบุคคลผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ปาฐกถาธรรมของพระอริยสงฆ์หลายรูป รวมทั้งข่าวอสัญกรรมของท่านปรีดีที่ตีพิมพ์ในสื่อมวลชนต่างๆ

บทแรกของหนังสือ"หวนอาลัย" เริ่มต้นด้วยเรื่อง"สตรีในประวัติศาสตร์ การอภิวัฒน์ไทย พูนศุข พนมยงค์"และตามด้วยภาพหาชมยากของท่านเป็นชุดใหญ่ในชื่อว่า "ชีวิตในภาพ"ตั้งแต่หน้า 49 จนถึง 129 โดยเฉพาะภาพหน้าสุดท้ายเป็นภาพวาดประวัติศาสตร์ของท่านผู้หญิงพูนศุข ขณะที่ตำรวจนำไปศาลอาญาเพื่อฝากขังในข้อหาขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร โดยจิตรกรผู้วาดคือ ลาวัณย์ อุปอินทร์ ซึ่งเขียนขี้นจากต้นแบบภาพถ่ายของหนังสือพิมพ์ในปี 2495

84 วันในห้องขัง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ รักษาจิตใจให้ตั้งมั่นด้วยหลักธรรมที่ว่า "ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม" ซึ่งเป็นคำจารึกที่ปรากฏในหน้าแรกของหนังสือ"หวนอาลัย"เล่มนี้ด้วย

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เคยเขียนจดหมายถึงความดีของท่านผู้หญิงพูนศุขไว้เนื่องในวาระครบรอบสมรสครั้งหนึ่งว่า

"ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเป็นภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตน เสียสละทุกอย่างเพื่อพี่และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบาก เนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องจะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย"

ท่านผู้หญิงพูนศุขดำเนินชีวิตอย่างสตรีผู้มีเกียรติเป็นอาภรณ์ล้ำค่า เป็นสตรีผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO)ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระครบรอบชาตกาล 100 ปี ปรีดี พนมยงค์ ปี 2543

"กว่า 90 ปีของชีวิตฉันที่ผ่านมา เหตุการณ์มากมายหลายอย่างได้เข้ามาสู่ชีวิตของฉัน ล้วนสอนให้ฉันได้เข้าใจใน"สัจจะ"ของโลกอย่างแจ่มชัด แม้ในอดีตจะมีความแปรผันที่ทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป และต้องผจญกับความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่โหมกระหน่ำเข้ามา

หากฉันตั้งอยู่ในเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต อโหสิกรรมกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ถือโกรธเคืองแค้นใดๆ อีก ตลอดเวลาฉันไม่เคยลืมตัว หรือรู้สึกว่าต้องสวมหัวโขน จึงไม่เคยคิดว่าชีวิตมีความแปรเปลี่ยนแต่อย่างใด"

สำหรับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งนักสู้ผู้ทรนงในธรรม เฉกเช่น ท่านผู้หญิง พูนศุข ถือเป็นต้นแบบสตรีผู้อภิวัฒน์ประเทศไทยในการเมืองยุคใหม่คุณธรรมครองเมืองที่ต้องสร้างสรรค์ให้ได้ดังคำของท่านที่บันทึกไว้ว่า

"แต่ทั้งนี้ผู้หญิงไทยก็ต้องยกระดับตนเองทุกๆ ด้าน พร้อมที่จะรับตำแหน่งรับผิดชอบบ้านเมือง ผู้หญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน แต่ก็เข้มแข็ง สามารถผนึกกำลังกันตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองของทุกกลุ่ม ที่เข้ามาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ เป็นประตูขวางกั้นมิให้เกิดการคอร์รัปชั่น หรือทุจริตในตำแหน่งหน้าที่การงานของสามี และบุคคลต่างๆ ที่จะแทรกแซงเข้ามาในครอบครัวของผู้บริหาร สิ่งนี้ฉันคิดว่าสำคัญมากที่จะทำให้การเมืองของบ้านเรา ก้าวไปสู่ยุคของคุณธรรมครองเมือง"

สิ้นเสียงก็สิ้นสั่ง แว่วเสียงเพลง"หวนอาลัย" ขับลำนำชีวิตในสัมปรายภพ....


รูปประวัติศาสตร์ พูนศุข พนมยงค์
รูปหน้าเมรุปลงศพพูนศุข พนมยงค์
รูปเขียนในงาน

กำลังโหลดความคิดเห็น