xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ติง “เน็ต” ทำภาษาไทยเพี้ยน “ชวน” ฉะช่อง 11 ตั้งชื่อรายการไทยปนอังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานวันภาษาไทยแห่งชาติ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
“อภิสิทธิ์” มอบรางวัลบุคคลใช้ภาษาดีเด่นในวันภาษาไทยแห่งชาติ “ชวน” รับปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย นายกฯ ติงสื่ออินเทอร์เน็ตเหตุทำภาษาไทยเพี้ยน ด้าน “ชวน” ห่วงเด็กใต้แหลงกลางสำเนียงใต้ไม่เหลือคำดั้งเดิม วอนผู้เกี่ยวข้องดูแลภาษาถิ่น แนะสื่อรัฐเป็นตัวอย่างใช้ภาษาถูกต้อง ขณะที่ราชบัณฑิตชี้ต้นตอภาษาไทยวิกฤตเพราะคนอ่านหนังสือน้อยลง ฟังโดยขาดสติ ทำให้พูดไม่คิด



วันนี้ (29 ก.ค.) ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น จำนวน 22 คน เช่น พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต), นาย ชวน หลีกภัย, นายกิตติ สิงหาปัด, นายเจริญ มาลาโรจน์ (มาลา คำจันทร์) นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัล “เพชรในเพลง” ให้แก่นักร้องที่ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน 28 คน เช่น นายธงไชย แมคอินไตย์, นายสุกฤษณ์ วิเศษแก้ว (บี้ เดอะสตาร์) น.ส.วิชญาณี เปียกลิ่น (แก้ม เดอะสตาร์) น.ส.อรทัย ดาบคำ (ต่าย อรทัย) และน.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) เป็นต้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวภายหลังมอบรางวัลตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการติดต่อข้ามโลกได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ภาษาไทย ซึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการสื่อสารผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตที่ต้องใช้ความรวดเร็วทำให้มีการใช้คำที่สั้นกระชับแต่อาจผิดบ้างถูกบ้าง โดยเฉพาะการสนทนาบนเว็บบอร์ด และการแชทในโปรแกรมต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องท้าทายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลภาษาไทยจะต้องจริงจังในการอนุรักษ์และส่งเสริมภาษาไทยแก่เด็กและเยาวชนให้สามารถใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนได้อย่างถูกต้อง


“ผมไม่ได้บอกว่าการสืบทอดภาษาไทยจะต้องตายตัว เพราะภาษาที่เราใช้พูดวันนี้ก็เปลี่ยนไปจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล ระหว่างการอนุรักษ์ให้คงไว้ กับวิวัฒนาการของภาษาให้คงความเป็นไทย ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือ ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานราชการทีต้องเป็นแบบอย่างให้เยาวชน” นายกฯ กล่าว

ด้านนาย ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย กล่าวว่า ตนมีความเป็นห่วงการอนุรักษ์ภาษาถิ่นที่ถูกมองข้ามในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคใต้ โดยสังเกตว่าเด็กสมัยใหม่จะพูดภาษาถิ่นดั้งเดิมน้อยลง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เกรงว่าอีกไม่กี่ปีภาษาถิ่นอาจจะหมดไป โดยจากที่ตนได้สัมผัสพบว่าเด็กใต้ในยุคนี้จะพูดภาษากลางสำเนียงใต้ มีความสับสนคำบางคำ ใช้ถูกใช้ผิด ไม่เพียงเท่านี้ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเองก็ไม่ใช้ภาษาท้องถิ่นเช่นเดียวกัน

“ผมมองว่าสื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญในการเป็นแบบอย่างการใช้ภาษาไทยสำหรับสื่อความหมาย ไม่ว่าจะผ่านวิธีการเขียนหรือพูด แม้กระทั่งการตั้งชื่อสถานีโทรทัศน์เช่น โมเดิร์นไนน์ ทีวี หรือชื่อรายการโทรทัศน์ในสื่อของรัฐอย่างช่อง 11 ที่ปัจจุบันนิยมใช้ภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ ซึ่งเรื่องนี้ผมได้แนะไปยังนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสื่อของรัฐ ให้เข้มงวดในเรื่องนี้ด้วย” นายชวน กล่าวและว่า ไม่อยากให้การรณรงค์การใช้ภาษาไทยเกิดขึ้นเฉพาะวันที่ 29 กรกฎาคม เท่านั้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน จะต้องช่วยกันปูพื้นฐานที่ดีให้กับประชาชน เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง

ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิต และผู้ได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย กล่าวว่า การใช้ภาษาไทยของบุคคลในปัจจุบันมีปัญหาที่คนอ่านหนังสือน้อยลง พูดไม่คิดมากขึ้น ประกอบกับฟังไม่แตกฉาน ทำให้การสื่อสารขาดสติ ภาษาที่ใช้จึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ที่มีการโทษวัยรุ่น ดารานักร้อง และสื่อว่าเป็นตัวการในการทำให้ภาษาไทยผิดเพี้ยนนั้น ตนมองว่าไม่ได้เป็นสาเหตุหลักสาเหตุเดียว แต่อีกส่วนหนึ่งเพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่มีชีวิตสามารถพัฒนาการได้ความนิยม การใช้จึงเป็นไปตามยุคสมัย ดังนั้นการแก้วิกฤตภาษาไทยจึงควรปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนหรือผู้ใช้ภาษา คิดควบคู่ไปกับการฟังอย่างมีสติจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาการสื่อสารภาษาไทยได้




นายชวน หลีกภัย


สุกฤษณ์ วิเศษแก้ว (บี้ เดอะสตาร์)
ธงไชย แมคอินไตย์

และน.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร)
น.ส.วิชญาณี เปียกลิ่น (แก้ม เดอะสตาร์)

น.ส.เตือนใจ ศรีสุนทร  (ฝน ธนสุนทร)
น.ส.อรทัย ดาบคำ (ต่าย อรทัย)

กำลังโหลดความคิดเห็น