xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “บรรหาร” ชวนไปดู “อสูรถล่มโลก”

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายบรรหาร ศิลปอาชาได้กล่าวชักชวนผู้สื่อข่าวแบบยิ้มๆ ว่า ‘วันนี้ไม่มีอะไรนะ มีอะไรไหม ไปดูอสูรถล่มโลกดีกว่า (ภาพยนตร์) อสูรถล่มโลกจะเข้าวันที่ 17 นี้’ โดยนายบรรหาร ได้กล่าวย้ำอยู่หลายครั้งเสมือนกับส่อให้มีนัยทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง

ถ้าไม่ได้คิดอะไรมากก็อาจจะเข้าใจไปได้ว่านายบรรหาร ศิลปอาชา ต้องการผ่อนคลายบรรยากาศกับแรงกดดันทางการเมืองจึงต้องเอ่ยปากเบี่ยงเบนประเด็นไปเรื่องอื่น และชักชวนไปดูภาพยนตร์ที่น่าสนใจที่กำลังจะเข้าโรงภาพยนตร์ในช่วงระยะเวลานี้พอดี

แต่การพูดชื่อภาพยนตร์ “อสูรถล่มโลก” และพูดย้ำหลายครั้งที่อาจทำให้หลายคนคิดไปเป็นประเด็นทางการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจไปว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา กำลังกระทบกระเทียบกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับวันที่ 17 มกราคม 2551 ซึ่งอยู่ที่ว่าการหยิบยกคำว่า “อสูร” “ถล่ม” และ “โลก” หมายถึงใครและอะไร?

“อสูรถล่มโลก” สำหรับการกระทบกระเทียบในทางการเมืองอาจหมายถึงจะเกิดเหตุร้ายในทางการเมืองในประเทศไทย ในมุมมองของนายบรรหาร ศิลปอาชา

“อสูรถล่มโลก” สำหรับการกระทบกระเทียบในทางการเมืองอาจหมายถึงจะเกิดเหตุร้ายที่มาถล่มนายบรรหาร ศิลปอาชา หรือพรรคชาติไทย

แต่สำหรับนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่เป็นคนตระบัดสัตย์และสัตว์นิยมแล้ว อาจทำให้หลายคนอาจจะสงสัยได้ว่ามุมมองของนายบรรหารที่กระทบกระเทียบในทางการเมืองนั้น น่าจะเป็นการมองผลประโยชน์ของตัวเอง และพรรคการเมืองตัวเองเป็นหลักสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือไม่?

“อสูร” จึงอาจถูกแปลความไปเป็นสื่อสารมวลชนและประชาชนที่ถล่มโจมตีด้วยการประณามด่าทอ การตระบัดสัตย์ของนายบรรหาร ศิลปอาชา และพรรคชาติไทย ในการเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน ใช่หรือไม่?

“อสูร” จึงอาจถูกแปลความไปเป็น “ผู้ใหญ่ที่นายบรรหารเคารพมาก 30 ปี” หรือกระบวนการที่มีความเสี่ยงทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หรือทำให้พรรคนอมินีของพรรคไทยรักไทยล่มสลาย จนทำให้พรรคชาติไทยหรือนายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่สามารถเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน ใช่หรือไม่?

เมื่อไปตรวจดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ “อสูรถล่มโลก” ที่จะเข้าโรงภาพยนตร์ในวันที่ 17 มกราคม 2551 ก็ทำให้เชื่อได้ว่านายบรรหาร ศิลปอาชา น่าจะตกหล่นในชื่อเต็มของภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องนี้ที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์พร้อมกันทั่วโลกที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Cloverfield” และใช้ชื่อภาษาไทยว่า “วันวิบัติอสุรกายถล่มโลก”

ในสื่อโฆษณาภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องนี้ได้ลงข้อความว่า“วันวิบัติอสุรกายถล่มโลก” พฤหัสฯ นี้! เตรียมรับมือ... มหาวิบัติของมวลมนุษยชาติ กำลังคืบคลานเข้ามา!! สุดระทึกกับหายนะครั้งยิ่งใหญ่ ผลงานสร้างจากผู้กำกับ Mission Impossible III

เฉพาะชื่อภาพยนตร์ที่ปรากฏข้างต้นพร้อมกับคำโฆษณาที่น่าตื่นเต้นเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่นายบรรหาร ศิลปอาชาจะต้องหยิบยกมาเป็นประเด็นเพื่อมาชักชวนนักข่าวหลายครั้งให้ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของ “ความมหาวิบัติของมวลมนุษยชาติ” ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่เป็นสิริมงคลนักสำหรับชาวโลกในภาพยนตร์เรื่องนี้

ไม่เป็นสิริมงคลเหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นกับนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ตกน้ำคลำในระหว่างการหาเสียง แม้แต่รูปปั้นมังกรที่นายบรรหารสร้างก็ถูกไฟไหม้ ลางร้ายที่ไม่เป็นสิริมงคลเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็น่าจะเตือนสติให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ให้เห็นแก่ชาติบ้านเมืองในบั้นปลายชีวิตได้ แต่นายบรรหารจะคิดได้หรือไม่ ก็สุดที่จะคาดเดาได้

บางทีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทยก็ยากที่จะหาคำภาษาไทยแปลให้ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษ และแม้จะตรงความหมายก็ดูจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะทำให้เกิดความน่าสนใจในคราวเดียวกัน แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ใช้ชื่อว่า “วันวิบัติอสุรกายถล่มโลก”

แต่ทว่าคำว่า “อสุรกาย” นั้นได้ปรากฏอยู่ในหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่ให้ความหมายของคำ “อสุร” นั้นมีความหมายว่า อมนุษย์พวกหนึ่งเป็นศัตรูต่อเทวดา, แทตย์, ยักษ์มาร, ผี. และ “อสุรกาย” หมายถึง สัตว์เกิดใน “อบายภูมิ” พวกหนึ่ง ชอบเที่ยวหลอกหลอนคน, คู่กับเปรต

เมื่อพูดถึง “อบายภูมิ” จึงต้องทำให้ไปค้นหาต่อในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมเขียนและรวบรวมโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้แจกแจงอธิบายอบายภูมิว่า

อบายภูมิ 4 หมายถึง ภูมิที่ปราศจากความเจริญ - planes of loss and woe; unhappy planes) ประกอบไปด้วย 1. นิรยะ (นรก-woeful state; hell) 2. ติรัจฉานโยนิ (กำเนิดดิรัจฉาน-animal kingdom) 3. ปิตติวิสัย (แดนเปรต- ghost-sphere) 4. อสุรกาย (พวกอสูร-host of demons)

แต่ถ้าจะสนใจเฉพาะอสุรกายภูมิแล้วก็น่าจะไปศึกษาในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นวรรณคดีพุทธศาสนาที่แต่งในสมัยสุโขทัย ประมาณปี 1982 โดย พระยาลิไทย ซึ่งรวบรวมจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกสัณฐานที่แบ่งเป็น 3 ส่วน หรือ ไตรภูมิ ได้แต่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ

ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้อธิบายถึง อสุรกายภูมิ เอาไว้ว่า อสูร แปลตรงตัวว่า ผู้ไม่ใช่สุระหรือไม่ใช่พวกเทวดาที่มีพระอินทร์เป็นหัวหน้า เดิมพวกอสูรมีเมืองอยู่บนเขาพระสุเมรุหรือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่นเอง ภายหลังพวกเทวดาคิดอุบายมอมเหล้าพวกอสูรเมาจนไม่ได้สติ แล้วพวกเทวดาก็ช่วยกันถีบอสูรให้ตกเขาพระสุเมรุดิ่งจมลงใต้ดิน เมื่ออสูรสร่างเมาได้สติแล้วก็สำนึกตัวได้ว่า เป็นเพราะกินเหล้ามากจนเมามายจึงต้องเสียบ้านเมืองให้กับพวกเทวดาจึงเลิกกินเหล้าแล้วไปสร้างเมืองใหม่ใต้บาดาลเรียกว่า อสูรภพ

พวก “อสุรกาย” มีบ้านเมืองเป็นของตนเอง เรียกว่าอสูรภพ อยู่ลึกใต้ดินไป 84,000 โยชน์ เป็นบ้านเมืองงดงามมากเต็มไปด้วยแผ่นทองคำ คือบ้านเมืองของอสูรนี้จะมีเหมือนสวรรค์ของเทวดา เช่น กลางสวรรค์มีต้นปาริชาติ กลางเมืองอสูรก็มีต้นแคฝอย เมืองอสูรมีเมืองใหญ่อยู่ 4 เมืองโดยมีพระยาอสูรปกครองอยู่ทุกเมือง

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหน “อสุรกาย” ตามความหมายแบบไทย ก็ไม่น่าจะตรงกับ “อสุรกาย” ในความหมายของภาพยนตร์เรื่อง “วันวิบัติอสูรกายถล่มโลก” แต่ประการใด

แต่ถ้านายบรรหาร ศิลปอาชา ต้องการที่จะหยิบยกประเด็นในวันเปิดภาพยนตร์ซึ่งตรงกับวันที่ 17 มกราคม 2551 มาเป็นประเด็นกระทบกระเทียบต่อสถานการณ์ทางการเมืองก็น่าจะมีเหตุที่ต้องมองสถานการณ์ในวันสำคัญในวันที่ 18 มกราคม 2551

18 มกราคม 2551 เวลา 15.00 น. จะเป็นวันที่ศาลฎีกาจะพิพากษาในคดีที่ผู้สมัครพรรคความหวังใหม่ฟ้องร้องให้การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เพราะมีการปล่อยการเลือกตั้งล่วงหน้าให้เกิดขึ้นเสมือนมีการเลือกตั้งถึง 3 วัน นอกจากนี้ในวันเดียวกันในเวลา 16.00 น.ก็จะเป็นวันที่ศาลฎีกาจะพิพากษาในคดีที่ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ฟ้องร้องต่อศาลฎีกาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในประเด็นเดียวกัน แต่มีประเด็นเพิ่มเติมในการฟ้องว่าพรรคพลังประชาชนมีพฤติกรรมเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทยเป็นประเด็นสำคัญอีกด้วย

เป็นคำพิพากษาที่จะเกิดขึ้นในวันเดียวกัน และเกิดขึ้นก่อนวันเปิดประชุมสภาครั้งแรกในวันที่ 21 มกราคม 2551

ในช่วงเวลาเย็นๆ ของวันที่ 18 มกราคม 2551 จึงน่ากำหนดที่พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินก็น่าจะแถลงข่าวประกาศอย่างเป็นทางการในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชาชน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำร้องทั้งสองคดี

ถ้าศาลฎีกาพิพากษาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การเปิดประชุมสภาในวันที่ 21 มกรคม 2551 ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ คณะกรรมการการเลือกตั้งนอกจากอาจจะต้องลาออกแสดงความรับผิดชอบแล้วอาจจะต้องถูกดำเนินคดีความตามมาอีกเพียบ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะต้องมีคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่เกิดขึ้นมา ซึ่งได้แต่หวังว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่จะสามารถทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ถ้าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ประชาชนก็จะได้มีโอกาสเลือกตั้งอีกครั้ง พรรคการเมืองที่โกหก ตอแหล และตระบัดสัตย์หลังการเลือกตั้ง ก็คงได้ถูกประชาชนที่หลงลงคะแนนให้ได้ถล่มสั่งสอนเป็นแน่

ถ้าศาลฎีกาพิพากษาให้พรรคพลังประชาชนยุติการส่งตัวผู้สมัคร ส.ส. เพราะมีพฤติกรรมเป็น “นอมินี” ของพรรคไทยรักไทย การเมืองก็อาจจะมีการเปลี่ยนขั้วครั้งใหญ่

สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาถือเป็นที่สิ้นสุด และไม่สามารถโต้แย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทั้งประเด็นการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ หรือพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีให้พรรคไทยรักไทยหรือไม่ ทุกฝ่ายก็ควรจะเคารพน้อมรับคำพิพากษาและยุติการเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านี้ได้แล้ว เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

18 มกราคม 2551 จึงเป็นวันชี้ชะตาอนาคตของชาติ ความขัดแย้งในรอบหลายปีที่ผ่านมากำลังจะมีบทสรุปและปิดฉากในบริบทสำคัญ

ส่วนจะมีภาพยนตร์เรื่อง อสุรกายถล่มโลก เปรตถล่มประเทศชาติ หรือจะเป็น ประชาชนถล่มพรรคการเมือง หรือไม่ ก็ขอให้ติดตามผลงานของ Mission Impossible ในโอกาสต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น