xs
xsm
sm
md
lg

ประโคมเพลง บรรเลงถวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โหมโรงประโคมเพลงคลาสสิก รวมสุดยอดนักประพันธ์ชั้นนำของไทย ร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย เพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ต่อวงการดนตรีคลาสสิกไทย

ในแวดวงดนตรีคลาสสิก เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษต่อดนตรีคลาสสิก ตั้งแต่เรียนอยู่มัธยมที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งดนตรีคลาสสิกในสมัยนั้นถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงของการประพันธ์เพลงโดยคีตกวีเอกของโลก

เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย พระองค์ท่านก็ทรงสนับสนุนและทรงอุปถัมภ์แวดวงดนตรีคลาสสิกมาโดยตลอด ทรงอุปถัมภ์วงดนตรีคลาสสิกหลายวง ตลอดจนพระราชทานทุนทรัพย์ ให้แก่นักดนตรีเยาวชน ให้ได้พัฒนาศักยภาพทางดนตรี จัดตั้ง "ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก" เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมดนตรีคลาสสิกทั้งในประเทศและต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสายใยผูกพันของพระองค์ท่านต่อคนในแวดวงนี้

คนในวงการดนตรีคลาสสิกต่างซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณ เมื่อพระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ ทุกคนต่างอาลัยต่อพระองค์ท่าน จึงเกิดการรวมกันเฉพาะกิจของนักประพันธ์ชั้นนำของไทย โดยมีสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM 101.5 เป็นแม่งานใหญ่ของการรวมกันเฉพาะกิจขึ้นในครั้งนี้

สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้จัดการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ในฐานะสถานีวิทยุจุฬาฯ จัดรายการดนตรีคลาสสิกมา มาเป็นเวลา 40 ปี ออกอากาศทุกวัน เวลา 21.30-24.00 น. หลังจากที่พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ นักจัดรายการเพลงคลาสสิก คือ สีส้ม เอี่ยมสรรพางค์ และ สดับพิณ รัตนเรือง ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ประพันธ์เพลงคลาสสิกหลายท่าน ทราบว่านักประพันธ์เหล่านี้ได้พระพันธ์บทเพลงขึ้น เพื่อแสดงความอาลัยที่นักประพันธ์มีต่อพระองค์ท่าน

“ทางสถานีคิดว่าถ้าเอามาออกอากาศเฉพาะรายการดนตรีคลาสสิกก็จะมีคนฟังเพียงกลุ่มเดียว เราควรรวบรวมบทเพลงเพื่อนำเผยแพร่ออกสู่สาธารณะให้กว้างขวางขึ้น เพื่อเผยแพร่พระกรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านต่อแวดวงดนตรีคลาสสิก”

นั่นคือ ที่มาของซีดีเพลงคลาสสิกประวัติศาสตร์ ในชื่อชุด “ประโคมเพลง บรรเลงถวาย” ซึ่งรวบรวมจากศิลปินเอก ที่เรียกได้ว่า เป็นนักดนตรีและนักประพันธ์เพลงชั้นยอดของไทย เช่น ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ณรงค์ ปรางเจริญ ณัฐ ยนตรรักษ์ อภิสิทธิ์ วงศ์โชติ วงซิมโฟนีออเคสตร้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงบางกอกซิมโฟนีออเคสตร้า เป็นต้น

แต่ละบทเพลงมีความหมายและให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป อย่างเพลง “แสงดาว” บรรเลงโดย วงซิมโฟนีออเคสตร้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความยาว 4 นาที บทประพันธ์เริ่มต้นด้วยเสียงแห่งความโศกเศร้า บ่งบอกถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่

เครื่องดนตรีทุกชิ้น ใช้เทคนิค Sul Ponticello ซึ่งนักดนตรีจะใช้คันชักสีในตำแหน่งใกล้หย่อง (Bridge) ของตัวซอ ทำให้ได้เสียงแปลกที่แสดง ถึงบรรยากาศขมุกขมัว ปกคลุมด้วยเมฆหมอกแห่งความอาลัย จากนั้น ทำนองหลักในลีลาอ่อนหวานแบบไทยๆจึงค่อยๆลอย เข้ามา สื่อถึงใจความสำคัญของบทประพันธ์เพลง คือ "แสงดาว" ซึ่งหมายถึง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เพลงที่เด่นมากอีกเพลง คือ "ทูลลา" ได้นักเปียโนรางวัลศิลปินศิลปธร “ณัฐ ยนตรรักษ์” เดี่ยวเปียโนความยาวกว่า 7 นาที เป็นบทเพลงที่แสดงความรู้สึกโศกเศร้าโทมนัสใจอย่างใหญ่หลวง ต่อการสิ้นพระชนม์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

"ทูลลา" ประกอบด้วยดนตรี 3 ท่อน เริ่มต้นในบันไดเสียงไมเนอร์อันโศกเศร้าสะท้อนความอาลัยรัก ส่วนท่อนกลางอยู่ ในบันไดเสียงเมเจอร์ เมื่อผู้ประพันธ์ระลึกถึงความสุขเมื่อพระองค์ยังทรงมีพระชนมชีพ และทรงประกอบพระกรณียกิจ ด้วยพระจริยาวัตรอันงดงาม เปี่ยมด้วยพระเมตตา

จากนั้นจะมีเสียงคอร์ดดังกระชั้น เป็นสัญญาณถึงข่าวการสิ้นพระชนม์ ส่งเข้าสู่ท่อนท้ายอันรันทดอีกครั้ง ในช่วงใกล้จบเสียงเพลงถั่งโถมแสดงถึงความรู้สึกอันท่วมท้น ก่อนจะจบลงด้วยความนิ่งสงบ

สำหรับเพลงเอกของชุดคือ “เพลงถวายปฏิญญา” มีความยาว 18 นาที ถือเป็นบทเพลงที่มีความอลังการทางศิลปะ กำหนดให้มีการอ่านทำนองเสนาะ การอ่านบทกวี และการขับร้องเดี่ยว รวมถึง การขับร้อง โดยคณะนักร้องประสานเสียงกว่า 100 คน บรรเลงประกอบด้วยวงค์ดุริยางค์วงใหญ่ประมาณ 90 คน

บทเพลงดังกล่าวผู้ประพันธ์ ประพันธ์ขึ้นจากความประทับใจในบทกวี "ถวายปฏิญญา" ของ ก้องภพ รื่นศิริ กวีร่วมสมัย มีเนื้อหาน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่ทรงมีต่อวงการดนตรีคลาสสิกไทย

ทั้งนี้ บทเพลงในซีดีชุดดังกล่าว จะนำไปบรรเลงในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 15 พ.ย. เวลา 20.30 น. และเวลา 21.30 น. ณ เวทีที่ 3 มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

พระกรุณาธิคุณต่อวงการเพลงคลาสสิก
ทรงพระกรุณาเป็นองค์อุปถัมภ์วงดนตรีซิมโฟนี- ออเคสตร้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ มีผู้บรรเลงประมาณ 80 - 100 คน ประกอบด้วย นิสิตจาก ภาควิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ และภาควิชาดุริยางคศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์
ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์วงดุริยางค์เยาวชนไทย ซึ่งเป็นวงดนตรีประเภทซิมโฟนีออเคสตร้าที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน และ พัฒนาศักยภาพทางดนตรีสากลอย่างถูกต้อง ตามหลักวิธีให้แก่เยาวชนไทยที่สนใจในดนตรีสากล ตลอดจนการใช้ดนตรีเป็นสื่อในการพัฒนาระเบียบวินัย และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความสามัคคีในหมู่คณะ
ปี พ.ศ. 2547 ได้ทรงจัดตั้ง "ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก" โดยทรงรับเป็นองค์ประธานและองค์อุปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมด้านดนตรีคลาสสิกและกิจกรรมต่างๆทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
พระราชทานการสนับสนุนวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ และวงดุริยางค์ซิมโฟนีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยพระกรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงทำให้เกิดมรดกทางด้านดนตรีคลาสสิกอันทรงคุณค่าไว้มากมายในประเทศไทย ตลอดจนพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกให้มีความสามารถเป็นเลิศเทียบเท่าระดับนานาชาติจวบจนทุกวันนี้

นักประพันธ์เพลงและนักดนตรี
1. ถวายปฏิญญา โดย ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร(15.00 นาที)
บรรเลงโดย : วงซิมโฟนีออเคสตร้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. แสงดาว โดย ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร(4.00 นาที)
บรรเลงโดย : วงซิมโฟนีออเคสตร้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. Tears Of Dust โดย ณรงค์ ปรางเจริญ(5.30 นาที)
บรรเลงโดย : วงบางกอกซิมโฟนีออเคสตร้า
4. Lament For Cello & Orchestra โดย อภิสิทธิ์ วงศ์โชติ(3.00 นาที)
บรรเลงโดย : วงบางกอกซิมโฟนี ออเคสตร้า
5. Eternity (นิรันดร์) โดย ทฤษฎี ณ พัทลุง(10.00 นาที)
บรรเลงโดย : สยามฟิวฮาโมนิค ออเคสตร้า
6. L’Adieu (ทูลลา) โดย ณัฐ ยนตรรักษ์(7.00 นาที)
7. Elegy For A Great Person โดย ณรงค์ ปรางเจริญ(3.35 นาที)
8. In Memoriam โดย ศรสันติ นิวาสานนท์(8.05 นาที)
9. Pie Jesu โดย สมเถาว์ สุจริตกุล

สนใจดาวโหลดเพลงได้ที่ : www.prakompleng.com
ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร
ณัฐ ยนตรรักษ์
ทฤษฎี ณ พัทลุง
อภิสิทธิ์ วงศ์โชติ
สมเถาว์ สุจริตกุล
ณรงค์ ปรางเจริญ
ศรสันติ นิวาสานนท์
กำลังโหลดความคิดเห็น