บลจ.จิตตะ เวลธ์รับเก็บภาษีขายหุ้นดันต้นทุนเพิ่ม นักลงทุนได้รับผลกระทบแน่นอน ระบุหมดสิทธิ์เลี่ยงต้องทำตามกฎหมาย ส่วนธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลยังได้รับผลกระทบในวงจำกัด เนื่องจากเน้นการลงทุนระยะยาว คาดอาจเห็นการโยกเงินลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด (บลจ.) เปิดเผยถึงผลกระทบจากการเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Transaction Tax) ในอัตรา 0.10% ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ในส่วนของ บลจ.จิตตะ เวลธ์ จะต้องปฏิบัติตามแนวทางของภาครัฐอย่างแน่นอน เพราะจิตตะ เวลธ์ เป็นผู้ให้บริการกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีขายหุ้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อการลงทุนตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะมีรายการค่าธรรมเนียมที่นักลงทุนต้องแบกรับเพิ่มขึ้นมาอีก 1 รายการ ในกรณีมีการขายหุ้นไทยออกจากพอร์ต นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ (Trading Commission) ซึ่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนคือเมื่อการลงทุนในหุ้นไทยมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ความน่าสนใจของหุ้นไทยลดลงไปบ้าง และส่งผลให้นักลงทุนหันไปมองหาการลงทุนทางเลือก รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศที่กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การที่ต้นทุนการขายหุ้นเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้นักลงทุนพิจารณามากขึ้นก่อนจะตัดสินใจขายหุ้นออกไป หากมองในมุมที่ดีก็จะถือเป็นการสร้างนักลงทุนคุณค่าหรือนักลงทุนระยะยาวมากขึ้น ส่วนกลุ่มนักลงทุนระยะสั้นหรือ Day Trade อาจจะต้องทบทวนและปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของ บลจ.จิตตะ เวลธ์ ปัจจุบันมีแผนการลงทุน Jitta Ranking หุ้นไทย เป็นหนึ่งในนโยบายการลงทุน Jitta Ranking ที่เป็นกองทุนส่วนบุคคลที่มีให้เลือกถึง 8 แผนการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปในตลาดที่หลากหลายสามารถเลือกลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ทั้ง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น หรือเวียดนาม เป็นต้น โดยนโยบายของ Jitta Ranking หุ้นไทยจะเน้นการคัดเลือกลงทุนหุ้นดีราคาถูกในตลาดหุ้น SET และ MAI อย่างน้อย 5-30 ตัว และจะมีการปรับพอร์ตตามระยะเวลาที่กำหนด ทุก 3 เดือน เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะตลาด
ทั้งนี้ นโยบายการลงทุนของจิตตะ เวลธ์จะมุ่งเน้นการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก การขายหุ้นในพอร์ตจึงไม่ได้มีการดำเนินการบ่อยครั้งนัก หรือจะมีการปรับพอร์ตทุกๆ 3 เดือน หรือหากพื้นฐานไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่เห็นการปรับพอร์ตในบางช่วงได้ ดังนั้นผลกระทบจากการเก็บภาษีขายหุ้นที่ลูกค้าได้รับจึงมีอยู่จำกัด