บลจ.กสิกรฯ มองเศรษฐกิจโลกปีหน้าโตลดลงเหลือ 4% รับตัวช่วยเศรษฐกิจทยอยปรับลดทั้ง QE และการลงทุนจากภาครัฐฉุดอัตราการทำกำไรบริษัทจดทะเบียนวูบเหลือแค่ 7% จากปีนี้โตเกือบ 50% คาดหุ้นสหรัฐฯ จ่อปรับฐานหลังราคาปรับสูงอัตราการทำกำไรต่ำ แนะเพิ่มน้ำหนักหุ้นเอเชีย ญี่ปุ่น ส่วนจีนเหมาะลงยาว ปีหน้ายังมีโอกาสทำกำไร
นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะโตอยู่ในระดับ 5-6% ขณะที่ปีหน้าเศรษฐกิจโลกน่าจะโตอยู่ที่ระดับ 4% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ฟื้นแบบตัว V ทุกประเทศโตกลับมาเร็ว แต่ปีหน้าอัตราการเติบโตจะกลับไปเป็นปกติ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวลดลงไปจนถึงปี 2023 เนื่องจากตัวช่วยทางเศรษฐกิจและนโยบายการเงินการคลังจะลดขนาดลง หลังจากในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางทุกที่มีนโยบายการเงินขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์โลกเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และน่าจะเริ่มทยอยลดลงในปีหน้าเนื่องจากเริ่มเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อในระยะถัดไป ส่วนนโยบายการคลังเองก็จะถูกชะลอลงเช่นกันเนื่องจากหลายรัฐบาลมีการสร้างหนี้อยู่ในระดับสูงแล้วเพื่อประคองเศรษฐกิจ ส่วนสุดท้ายที่มีสัญญาณให้เห็นมานานแล้วคือเรื่องของราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด ทั้งในส่วนของตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงตลาดทุนในหลายตลาดเริ่มมีราคาที่สูงขึ้นมาก
ทั้งนี้ ในปีหน้าเรื่องของเศรษฐกิจและตัวช่วยทางเศรษฐกิจในปีหน้าจะลดลง แต่ที่ยังไม่ลดคือราคาของสินทรัพย์ โดยสิ่งที่จะต้องจับตาต่อจากนี้จะประกอบด้วย 6 เรื่องด้วยกัน คือ 1. การกระจายวัคซีนและประสิทธิภาพรวมถึงความคืบหน้าของยารักษา COVID Vaccine 2. อัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวเพิ่มสูงขึ้นนานกว่าที่คาดการณ์ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก โดยหลายฝ่ายมองว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยปลายปีหน้า ซึ่งเงินเฟ้อต้องจับตาว่าจะลดลงหรือไม่ในช่วงต้นปีหน้า ถ้าไม่ก็จะมีผลต่อนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารต่างๆ
3. ปัญหาติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานและราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้ภาคการผลิตฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยปัญหาซัปพลายติดขัดก็น่ากังวล ทุกคนอยากเริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้น บริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะค่อยๆ ผ่อนคลายไปได้ ตรงนี้ถ้าไม่สามารถแก้ได้อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกถึง 1%
4. การปรับลดมาตรการการผ่อนคลายเชิงปริมาณและการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดอาจทำให้ตลาดตอบรับในเชิงลบ Taper Tantrum แต่ในกรณีนี้ส่วนใหญ่เชื่อว่าเฟดเองจะค่อยๆ ลดการซื้อพันธบัตรลงและน่าจะจบในปีหน้า 5. อัตราภาษีที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันผลตอบแทนของตลาดในระยะถัดไป ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่เลยคือเรื่องของภาษีซึ่งหลายประเทศอาจมีสัญญาณการขึ้นภาษีบ้างแล้วหลังจากเพดานหนี้เริ่มสูงในช่วงที่ผ่านมา
6. ความเสี่ยงจากประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่ การค้าระหว่างประเทศ เทคโนโลยี หรือทรัพย์สินทางปัญญา โดยเรื่องนี้คาดว่านโยบายคงจะไม่รุนแรงเหมือนสมัยทรัมป์ที่ทำให้ทั่วโลกเกิดความวิตกได้
นายนาวินกล่าวอีกว่า แนวโน้มอัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกในปีหน้าจะปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยปีนี้อัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับตัวดีขึ้นเกือบ 50% แต่ในปีหน้าอัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะลดลงเหลือประมาณ 7% โดยอัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ปีหน้าก็จะปรับตัวลดลงเหลือไม่ถึง 10% ซึ่งจะมีแค่ 2 ประเทศเท่านั้นที่อัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะสูงกว่า 10% ในปีหน้า คือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีน และอินเดีย
“หุ้นสหรัฐฯ เริ่มแพงแล้วเพราะอดีต P/E แค่ 14.5 เท่า แต่ปัจจุบันขึ้นไปถึง 22 เท่า ซึ่งเป็นคำถามว่าถ้าปีหน้าตัวช่วยทางเศรษฐกิจต่างๆ ถูกตัดออกจะเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าหุ้นสหรัฐฯ จะต้องช่วยตัวเองได้คือการสร้างผลกำไร และถ้าอัตราการสร้างกำไรน้อยกว่าที่ควรจะเป็นปีหน้าหุ้นสหรัฐฯ ก็น่าจะเห็นการปรับฐานลงได้ โดยถือเป็นความเสี่ยงของระดับราคาหุ้นในสหรัฐฯ แน่นอน”
อย่างไรก็ตาม นายนาวินกล่าวว่า ถึงแม้ปีหน้าราคาสินทรัพย์เสี่ยงมีโอกาสปรับตัวลดลง แต่บริษัทยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากกว่าเนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนยังสูงกว่าสินทรัพย์อื่น ซึ่งนักลงทุนต้องดูความเหมาะสมในการจัดพอร์ตและความเสี่ยงที่รับได้ โดยตลาดที่บริษัทให้น้ำหนักการลงทุนเพิ่มประกอบด้วย จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ บริษัทมองว่ายังไม่มีการปรับเพิ่มหรือลดน้ำหนักแต่อย่างใด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโอกาสในการทำไรขาขึ้นกับโอกาสที่หุ้นจะปรับลดลงแล้วตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปีหน้าความน่าสนใจจะลดลงกว่าตลาดอื่น
สำหรับตลาดหุ้นจีนที่บริษัทยังให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากถึงแม้จีนจะถูกกดดันจากนโยบายของภาครัฐ แต่จีนก็ยังคงเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และกำลังการบริโภคที่สูง ซึ่งตลาดหุ้นจีนจะเหมาะต่อการลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้าเนื่องจากการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแล้วถือว่าหุ้นจีนถูกกว่าเมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐฯ ซึ่งถ้าใครเข้าใจนโยบายระยะยาวของรัฐบาลจีนการลงทุนในตลาดจีนเป็นทางเลือกที่ดี แต่ในระยะสั้นจะยังคงถูกกดดันจากมาตรการที่รัฐบาลจีนออกกฎมาควบคุม
“คนที่ถือยาวในหุ้นจีนลงทุนได้ซื้อเพิ่มได้ ถ้าดูสถิติราคาหุ้นจีนย้อนหลังไปจะพบว่ารัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมแบบนี้มาทั้งหมด 4 ครั้ง แต่ทุกครั้งที่ทำมาตรการแบบนี้ปีต่อไปจะกลับลำมาทำนโยบายที่ผ่อนคลายตลาดทำให้ผลตอบแทนของหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปีหน้าก็มีโอกาสที่จะเห็นภาพแบบนี้เช่นกันแต่คงจะทำในบางนโยบายก่อน” นายนาวินกล่าว