ตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2564 เผชิญความผันผวนมาตลอดทั้งปี เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ Bond Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้นรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี จากความคาดหวังของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากการเริ่มนำวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 มาฉีดให้ประชากรในหลายประเทศ แต่แล้วตลาดต้องผันผวนอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 ของปีจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาซึ่งทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วทั้งโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวลดลงเพื่อสะท้อนความกังวลจากการระบาดในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของปี อัตราการฉีดวัคซีนที่เร่งตัวขึ้นทั่วโลกส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ส.ค. ทำให้ตลาดกลับมามีความคาดหวังอีกครั้งว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น ในปี 2565 จึงเป็นปีที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะได้เริ่มเห็นอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นที่ชัดเจนหลังจากที่เคยชินกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดต่อกันมาหลายปี จึงเป็นความท้าทายของตลาดตราสารหนี้และกลยุทธ์ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสร้างความผันผวนต่อพอร์ตการลงทุนตราสารหนี้อย่างแน่นอน
โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ไปจนถึงปี 2565 คาดการณ์ว่า Bond Yield ทั่วโลกจะค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนการคาดการณ์นโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้น นำโดยเฟดหลังจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับที่เฟดคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2 รวมทั้งการจ้างงานที่ถึงแม้จะยังไม่กลับมาสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ก็มีการพัฒนาไปในทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เฟดจึงมีแนวโน้มจะปรับลดการฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดที่ปัจจุบันอยู่ที่จำนวนหนึ่งแสนสองหมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยอาจจะสามารถปรับลดได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ และลดลงเรื่อยๆ จนหมดในกลางปี 2565 และอาจเริ่มพิจารณาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยถ้าตัวเลขเศรษฐกิจเป็นไปตามที่คาดการณ์ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เลยในช่วงปลายปี 2565 สะท้อนได้จากผลโหวตของกรรมการเฟดล่าสุดในเดือน ก.ย. มีกรรมการ 9 ท่านจากทั้งหมด 18 ท่านมองว่าเฟดจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในปลายปี 2565
ในส่วนทางฝั่งยุโรป ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB คาดการณ์ว่าจะยังคงอัดฉีดสภาพคล่องสู่ตลาดต่อไปตามโปรแกรมเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2565 ก่อนที่จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในปีหน้าหรือไม่ ในขณะที่ฝั่งเอเชีย ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นธนาคารกลางแรกที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนำไปแล้วในเดือน ส.ค.ปีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ ไปกระตุ้นความต้องการบริโภคสินค้า นำมาสู่การที่มีอุปสงค์มากเกินไป โดยที่ผ่านมาถึงแม้ COVID-19 จะระบาดแต่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ก็ยังคงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ในส่วนของธนาคารกลางอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางมาเลเซีย และธนาคารกลางอินโดนีเซีย ก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในครึ่งปีหลังปี 2565 เช่นกัน
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ถึงแม้ว่าการส่งออกจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ทั้งในปีนี้และปีหน้า แต่ในส่วนของการฟื้นตัวในภาคท่องเที่ยวนั้นยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่ากับตอนก่อนมี COVID-19 รวมทั้งยังคงมีความเสี่ยงอื่นๆ ด้วย เช่น ความเสี่ยงในเรื่องการเมือง ดังนั้น จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในปี 2565 อย่างไรก็ดี บาดแผลของเศรษฐกิจไทยทำให้กระทรวงการคลังต้องออก พ.ร.บ.เงินกู้เพิ่มขึ้นอีก 5 แสนล้านบาทเพื่อมาพยุงเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ปริมาณอุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยของปีงบประมาณ 2565 เพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งอัตราการฉีดวัคซีนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงจนกลับเข้าสู่ระดับที่พอควบคุมได้ รัฐบาลจึงมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ Bond Yield ระยะกลางและยาวของไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปตาม Bond Yield ในส่วนต่างๆ ของโลกเช่นกัน
จากแนวโน้มการปรับขึ้นของดอกเบี้ยในปีหน้า ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินมีแนวโน้มกลับเข้าสู่สมดุลมากขึ้น รวมทั้งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะชัดเจนขึ้นในทุกภาคส่วนของโลก ทำให้นักลงทุนมีความสนใจกลับมาเปิดรับต่อความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความกดดันในตลาดตราสารหนี้ในปี 2565 ดังนั้น นักลงทุนควรพิจารณาลงทุนซื้อและขายอย่างระมัดระวัง มองหาจังหวะทยอยลงทุนเพิ่มเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้นมาในระดับที่สะท้อนความคาดหวังของการฟื้นตัวเศรษฐกิจและอุปทานพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น และขายทำกำไรในช่วงสั้นๆ เมื่อเห็นราคาปรับเพิ่มขึ้นมา รวมทั้งควบคุมอายุการลงทุนของพอร์ตไม่ให้ยาวจนเกินไปเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุนเมื่อ Bond Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด