สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประกาศดัชนี CPI หรือดัชนีผู้บริโภคของสหรัฐฯ (ถ้าในประเทศไทยจะคุ้นกับคำว่าอัตราเงินเฟ้อ) พุ่งสูงถึงระดับ 6.2% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 31 ปี ส่วนในทวีปยุโรปก็พบกับอัตราเงินเฟ้อระดับ 4.1% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 25 ปี
สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขนาดนี้มาจากการที่ราคาสินค้าต้นทุนอย่างเช่นราคาพลังงานปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้ราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่เกิดจาก Cost Put แบบนี้ถือว่าเป็นผลลบเนื่องมาจากต้นทุนการดำเนินชีวิตสูงขึ้น ซึ่งต่างจากเงินเฟ้อที่เกิดจาก Demand Pull ซึ่งมาจากเศรษฐกิจที่เติบโต
บางสำนักมีการวิเคราะห์ว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลในไม่นานนี้จากการที่ราคาพลังงานจะกลับสู่ภาวะปกติ จากช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตพลังงานบางส่วนได้ล้มหายไปในช่วงที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาดทั่วโลกใหม่ ๆ ถ้าจำกันได้ตอนนี้เราได้เห็นราคาน้ำมัน “ติดลบ” มาแล้ว และบางส่วนยังไม่สามารถคืนกำลังการผลิตกลับมาในระดับปกติได้ทันต่อความต้องการที่กลับมาจากการเปิดเมือง
อย่างไรก็ตามสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐถีบตัวสูงขึ้นมาจากการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบด้วยเครื่องมืออย่างคิวอีในช่วงที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาดอย่างหนักและยังเป็นการอัดฉีดแบบไม่มีจำกัดงบอีกด้วย
แม้ว่า FED จะเริ่มมีการทำ QE Tapering หรือลดวงเงินคิวอีลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป แต่ต้องไม่ลืมว่าก่อนจะมีการทำคิวอีในปี 2563 ที่ผ่านมาเม็ดเงินจากการทำคิวอีในครั้งก่อนช่วงเกิดวิกฤติซับไพร์มยังเอาออกจากระบบได้ไม่หมดเลยด้วยซ้ำและยังมีการอัดฉีดใหม่เข้าไปอีก
ต่อให้มีการทำ Tapering และหยุดการอัดฉีดแต่ปริมาณเงินมหาศาลในระบบยังไม่สามารถจะถูกดึงออกไปได้ในระยะสั้นนี้อย่างแน่นอนและยังมองไม่เห็นภาพเลยว่าจะจัดการสภาพคล่องส่วนนี้ออกไปให้หมดได้อย่างไร
ถ้าหากดัชนี CPI ของสหรัฐฯตอนนี้อยู่ระดับ 6.2% เท่ากับว่าผู้ลงทุนหรือผู้ฝากเงินจะต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้ระดับ 7% ขึ้นไปถึงจะชนะเงินเฟ้อซึ่งตัวเลขระดับนี้ ต้องเป็นสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเช่นหุ้นเท่านั้น ต่อให้ Bond Yield รัฐบาลสหรัฐฯขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2-3% จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ยังห่างไกลจากการเอาชนะเงินเฟ้อ
นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้บิทคอยน์ถูกมองว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนเอาชนะเงินเฟ้อได้จากผลตอบแทนที่สามารถทำไ้ด้ระดับเลขสองหลักขึ้นไปต่อปี บางปีสามารถทำได้เกิน 100% เพียงแค่แบ่งเงินบางส่วนของพอร์ตมาลงทุนก็พอจะเอาชนะตัวเลข 6.2% ได้
เราจึงได้เห็นนักลงทุนรายใหญ่ของโลกเริ่มที่จะกล่าวถึงและแบ่งเงินบางส่วนมาลงทุนในบิทคอยน์ตลอดจนเกิดความต้องการให้เกิด Bitcoin ETF ซึ่งจะเปิดทางให้นักลงทุนสถาบันและรายย่อยสามารถเข้ามาลงทุนในบิทคอยน์ได้สะดวกขึ้น ทว่าต่อให้กองทุนดังกล่าวไม่เกิดขึ้น คาดว่าความต้องการในบิทคอยน์ยังมีมากขึ้นอยู่ดี
ภายในปีนี้หรือต้นปีหน้าเราน่าจะได้เห็นราคาบิทคอยน์ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเร่งนั่นคือเงินเฟ้อ ส่วนจะเริ่มลงทุนอย่างไรขอให้คิดถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนควบคู่กันไปด้วยครับ
บทความโดย : ณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS)