xs
xsm
sm
md
lg

บิทคอยน์ ระยะกลางเทคนิคสวย - ตลาดทุนส่งสัญญาณฟื้น หลังเฟดหั่นวงเงิน QE - คงดอกเบี้ย ดันเม็ดเงินลงทุนไหลกลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องตลาดหุ้นทั่วโลกโค้งท้ายปีถึงเวลาปรับตัวขึ้น หลังเฟดลดการอัดฉีดสภาพคล่อง QE – คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ระยะสั้นเม็ดเงินลงทุนไหลกลับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก่อนไปต่อที่ตลาดหุ้นเอเชีย-ประเทศเกิดใหม่ ชูหุ้นกลุ่มโรงแรม-สายการบิน-เทคโนโลยี ส่วน “บิทคอยน์” ยังเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่น่าสนใจทั้งกราฟเทคนิคระยะกลางสวย และพื้นฐานดีในระยะยาว ทางด้านทองคำไม่มีความชัดเจน แนะจับตาทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันอาจจะมีอัพไซด์จำกัดแล้ว

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) รอบสุดท้ายของปีนี้ มีมติปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด มองว่าผลการประชุมดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ ต่างจากการปรับลดวงเงินการทำ QE ครั้งแรกในช่วงปี 2014 ซึ่งราคาสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นทองคำ ตลาดหุ้น ต่างปรับตัวลดลงทั้งหมด

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุน Global Investment ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2564 และต้นปีหน้า คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลก มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากสถิติในอดีตของการปรับลดวงเงิน QE ระยะสั้นเม็ดเงินจะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดสหรัฐฯ ก่อนเสมอ ตลาดหุ้นอเมริกาจึงฟื้นตัวเร็วกว่าตลาดหุ้นเอเชียและประเทศเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ยังคงมีความน่าสนใจในระยะยาว โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน หากคลายความกังวลเรื่องการเข้ามากำกับดูแลภาคเอกชนของรัฐบาล ตลอดจนความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าเม็ดเงินจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง รวมถึงตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง โดยมองว่าหุ้นกลุ่มสายการบิน โรงแรม จะได้รับผลบวกโดยตรงและกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ดี แม้จะไม่มีแรงหนุนจากการปิดเมือง โดยในภาพรวมของกำไรสุทธิของหุ้นกลุ่มนี้จะหนุนให้ตลาดหุ้นเติบโตต่อได้

สำหรับแนวโน้มราคาทองคำ ยังมองภาพไม่ชัดเจนจากแรงกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีโอกาสแข็งค่าต่อ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงจะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนราคาทองคำ แต่น่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะถ้าหากทั่วโลกมีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานได้และราคาน้ำมันกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง จะทำให้อัตราเงินเฟ้อค่อย ๆ ลดลง

“นักลงทุนยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน “ทองคำ” เพราะยังไม่มีปัจจัยบวกที่เข้ามาส่งเสริมทำให้ภาพการฟื้นตัวของราคาทองคำยังไม่ชัดเจน และมีแนวโน้มราคาปรับตัวลงต่อได้อีก หากราคาไม่สามารถผ่านแนวต้านสำคัญที่ระดับ 1,820 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปได้ กราฟเทคนิคของทองคำยังเป็นขาลง โดยมีแนวรับระดับ 1,676-1,720 ดอลลาร์สหรัฐฯ”

ทางด้านราคาน้ำมันแม้จะมีการทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบหลายปีแต่อัพไซด์ราคาจำกัดแล้ว ภาพรวมการปรับตัวของราคาจึงไม่ใช่ขาขึ้น และปัญหาการขาดแคลนพลังงานจากการเปิดเมืองจนเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เร็วเกินกว่าคาดในหลาย ๆ ประเทศ กำลังถูกเร่งแก้ไขจนในที่สุดดีมานด์และซัพพลายของน้ำมัน เริ่มกลับมาสมดุลและหลังจากนี้ราคาน้ำมันน่าจะทรงตัวจากการที่ประเทศผู้นำการขุดน้ำมันอย่าง ซาอุดิอาระเบีย และประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังให้ความสำคัญและมุ่งหน้าสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

นายณพวีร์ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ต้องการกระจายพอร์ตลงทุนไปยังสินทรัพย์ทางเลือก “บิทคอยน์” ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจในช่วงหลังจากนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่นักลงทุนสถาบันเริ่มสนใจนำเงินมาลงทุนมากขึ้น และต้องจับตาว่า ก.ล.ต. ของสหรัฐฯ จะมีการอนุมัติกองทุน ETF ของบิทคอยน์ หรือไม่ ถ้าหากมีการอนุมัติจะเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้ราคาบิทคอยน์ปรับตัวขึ้นได้ในระยะยาว ล่าสุดราคามีการทำจุดสูงสุดใหม่ และกราฟเทคนิคมีโอกาสที่จะเห็นราคาบิทคอยน์ปรับตัวขึ้นในระดับ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

“หากจะสรุปแผนการลงทุนภายหลังจากที่เฟดปรับลดวงเงินการทำ QE การบริหารพอร์ตการลงทุน ควรแบ่งเงินไปลงทุนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากอยากให้แบ่งเงินลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง บิทคอยน์ เหรียญที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนการลงทุนสูง โดยกลยุทธ์การลงทุนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้มุมมองสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายลง และไม่เกิดการกลายพันธุ์ใหม่อีกครั้ง จนต้องระงับการเปิดเมืองในหลาย ๆ ประเทศ” นายณพวีร์ กล่าวปิดท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น