โดย พรทิพย์ บำรุงชาติอุดม
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
ในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่วิถีชีวิตของคนในโลกปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่สำคัญที่อาจมีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต คือ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการสร้างระบบการเงินไร้ซึ่งตัวกลาง (DeFi) ที่มีโอกาสจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของโลกแทนที่ระบบการเงินแบบเดิมที่เรารู้จัก
DeFi (“Decentralized Finance”) คือ ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม ผ่านระบบสั่งการอัตโนมัติหรือสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) ที่ถูกสร้างขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นต้องขออธิบายก่อนว่าในปัจจุบันระบบการเงินที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวันนั้น เรียกว่าระบบ Centralized Finance (CeFi) ซึ่งเป็นระบบการเงินที่อาศัยตัวกลาง (Middle Man) ในการทำธุรกรรม ตัวอย่างเช่น เมื่อเราจะต้องการฝากเงิน โอนเงิน หรือการกู้ยืมเงินนั้น โดยปกติเราจะดำเนินการผ่านตัวกลางอย่างเช่นธนาคาร เป็นต้น ทั้งนี้ในอดีตที่เราต้องการระบบตัวกลางในการทำธุรกรรมระหว่างกันนั้นเนื่องจากการทำธุรกรรมทางการเงินเป็นการดำเนินการที่ต้องการความถูกต้อง ปลอดภัยและระดับความน่าเชื่อถือสูงเพื่อให้เรามั่นใจว่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะไม่สูญหายหรือจะไม่ถูกโกงจากคู่สัญญา อย่างไรก็ดี การใช้บริการทางการเงินผ่านระบบตัวกลางนั้นยังคงมีข้อจำกัด เช่น ระยะเวลาในการดำเนินการ ค่าธรรมเนียม ไปจนถึงเงื่อนไขการให้บริการตามแต่ผู้ที่เป็นตัวกลางจะกำหนดขึ้น
ต่อมาหลังความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนและการเกิดขึ้นของคริปโตเคอเรนซีผลักดันให้โลกแห่งระบบการเงินก้าวไปอีกขั้นและเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) จากคุณสมบัติของเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ที่มีความปลอดภัยและยากต่อการแก้ไขข้อมูล ทำให้ผู้ใช้งานในระบบทุกคนสามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้ผ่านการใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันทางออนไลน์ (Decentralized Application “DApps”) และการใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contact) หรือชุดคำสั่งที่จัดเก็บข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา ซึ่งจะทำหน้าที่สั่งการและบันทึกการทำธุรกรรมอัตโนมัติเมื่อเหตุการณ์เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล (Peers to Peers) มีความถูกต้อง โปร่งใส โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งตัวกลางอีกต่อไป ซึ่งข้อดีจากการตัดตัวกลางออกจากระบบนั้นทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมโดยรวมระหว่างกันลดลง ส่งผลให้ผู้ลงทุนหรือผู้ฝากเงินในระบบได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้น อีกทั้งการทำธุรกรรมแบบไร้ตัวกลางยังมีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูงสามารถทำธุรกรรมได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านทางออนไลน์และยังช่วยลดขั้นตอนการทำงานเมื่อเทียบกับระบบการเงินแบบเดิม ตัวอย่างเช่น การโอนเงินระหว่างประเทศที่มีความยุ่งยากในอดีตก็สามารถดำเนินการได้เพียงไม่กี่นาที
นอกจากข้อได้เปรียบในการใช้งานเมื่อเทียบกับระบบการเงินแบบเดิมนั้น อีกคุณสมบัติสำคัญซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของระบบ DeFi ก็คือ ความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างแอปพลิเคชันบนเชนเดียวกัน (Composability) เนื่องจากหลักการทำงานของ DeFi คือการดำเนินการแบบ Open-Source ที่เปิดกว้างให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเครือข่ายและข้อมูลอย่างอิสระโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต (Permissionless) ทำให้นักพัฒนาสามารถต่อยอดนวัตกรรมจากแพลตฟอร์มเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อนำเสนอการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่อย่างไม่สิ้นสุด คล้ายกับการต่อเลโก้ทางการเงิน “Money Lego”
ตัวอย่างเช่น การนำแพลตฟอร์มที่ให้บริการในการกู้ยืมมาต่อเข้ากับแพลตฟอร์มที่ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ทำให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ที่สามารถให้บริการการกู้ยืมเงินไปลงทุน หรือตัวอย่างการสร้างแพลตฟอร์มลอตเตอรี่ (Lottery) แบบไร้ตัวกลาง เช่น แพลตฟอร์ม Pool Together ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คูปองหรือลอตเตอรี่แก่ผู้ที่นำเงินมาฝากบนแพลตฟอร์ม โดย Pool Together จะนำเงินในระบบไปหารายได้ผ่านการนำไปปล่อยกู้ผ่านแพลตฟอร์มกู้ยืมเงิน และนำไปเป็นสภาพคล่องเพื่อหารายได้ผ่านแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน โดยรายได้ที่ Pool Together หาได้จะนำกลับคืนให้แก่ผู้ฝากเงินในรูปแบบของเงินรางวัลให้แก่ผู้โชคดีที่ได้รับการสุ่มเลือกจากระบบ ทำให้การฝากเงินในระบบคล้ายกับการซื้อลอตเตอรี่ที่แม้ไม่ถูกรางวัลก็ไม่สูญเสียเงินต้น อีกทั้งรางวัลที่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปแบ่งให้แก่ตัวกลางในอัตราสูงๆ ดังเช่นระบบลอตเตอรี่แบบดั้งเดิมอีกด้วย
จากแนวคิดที่มีความน่าสนใจและผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าระบบการเงินแบบเดิม ทำให้ DeFi มีขนาดตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปริมาณสภาพคล่องในระบบการเงินทั่วโลกที่สูงเป็นประวัติการณ์หลังการใช้มาตรการ QE โดยหากวัดจากมูลค่ารวมที่ถูกล็อกไว้บนแพลตฟอร์ม DeFi หรือที่เรียกว่า Total Value Locked (TVL) ณ วันที่ 23 กันยายน 2564 ตลาด DeFi มีมูลค่ารวมประมาณกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัวจากต้นปี 2562 ที่มีขนาดตลาดเพียง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (Source: DefiPulse)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าระบบ DeFi จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนผู้ใช้งานและมูลค่าตลาด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ปัจจุบัน DeFi เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของระบบการเงินแบบใหม่ที่ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อเพิ่มความสามารถในการนำมาประยุกต์ใช้กับโลกการเงินปัจจุบัน เช่น ขีดความสามารถของระบบในการรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก (Scalability) และการขยายขอบเขตการใช้งานระหว่างเชน
ทั้งนี้ นอกจากประเด็นด้านข้อจำกัดเชิงระบบนิเวศในการใช้งานแล้ว DeFi ยังคงเป็นสิ่งใหม่ที่นักลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจพื้นฐานก่อนการเข้าลงทุน เนื่องจากปัจจุบัน DeFi ยังไม่อยู่ภายใต้การดูแลจากผู้กำกับดูแล (Regulators) ดังนั้น ประเด็นด้านความเสี่ยงและความปลอดภัยของแพลตฟอร์มจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ลงทุนต้องรับผิดชอบการลงทุนของตนเอง ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่นักลงทุนได้รับความเสียหายจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ เช่น การโดน Hack หรือ Flash loan รวมถึงความเสี่ยงจากการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มที่ไม่ปลอดภัยหรือยังไม่ได้รับการ Audit อย่างไรก็ดี หากในอนาคตเทคโนโลยีที่รองรับระบบ DeFi ได้รับการพัฒนาจนสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในการใช้งานต่างๆ รวมถึงการเพิ่มระดับความปลอดภัยในการใช้งาน ก็มีโอกาสที่ DeFi จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีระบบการเงินของโลกดังเช่นที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเคยสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อโลกในอดีต