รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ด้านการปรับตัวและการเข้าถึงดิจิทัล พร้อมอนุมัติงบกลาง 946.31 ล้าน ให้สภากาชาดไทยซื้อวัคซีนโมเดอร์นา 1 ล้านโดส ฉีดให้ ปชช.กลุ่มเปราะบาง
วันนี้ (14 ก.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้านการปรับตัวและการเข้าถึงดิจิทัล โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 46,600 คน ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน -6 กรกฎาคม 2564
พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 81.5 ไม่ได้ทำงานที่บ้าน เพราะอาชีพไม่เหมาะสมกับการทำงานที่บ้าน ส่วนปัญหาที่ประชาชนประสบในการทำงานที่บ้าน เช่น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย และสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี
ส่วนการเรียนออนไลน์พบว่าร้อยละ 42 มีบุตรหลานอยู่ในวัยที่เรียนออนไลน์ ร้อยละ 14.7 มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้เรียนออนไลน์ โดยปัญหาที่ประสบจากการเรียนออนไลน์ 5 อันดับแรกได้แก่ ไม่ค่อยเข้าใจในวิชาที่เรียน,ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, ไม่มีสมาธิ, สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี และอุปกรณ์ไม่ทันสมัย
สำหรับแผนการปรับตัวเพื่อรับมือกับโควิด-19 พบว่า 3 อันดับแรกคือ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต เช่น ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านทุกครั้งและหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหากไม่จำเป็นร้อยละ 95.4 ,นำเงินออมออกมาใช้จ่ายร้อยละ 32.6 โดยพบในกลุ่มอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัวในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น และ กู้ยืมเงินหรือจำนำ ขายทรัพย์สินที่มีอยู่ร้อยละ 22.8 โดยพบในกลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป ขับรถรับจ้าง กรรมกร ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น
สำหรับเรื่องที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้ประชาชนปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จัดหา WIFI ฟรีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ร้อยละ 66.7, จัดหาอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนในราคาถูกร้อยละ 60, จัดหาอินเตอร์เน็ตให้นักเรียน นักศึกษาฟรี ร้อยละ 47.6, จัดหาอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ ให้ประชาชนในราคาถูก ร้อยละ 42.2 และ จัดให้มีสถานที่กลางในการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนร้อยละ 33
ส่วนเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย 3 อันดับแรกได้แก่ ลดภาระค่าสาธารณูปโภคร้อยละ 67.3, จ่ายเงินชดเชย เยียวยาร้อยละ 60.7 และช่วยเหลือด้านค่าครองชีพร้อยละ 58.7
ขณะที่โครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ โครงการเราชนะ ร้อยละ 76.2, โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร้อยละ 66.7, มาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้าร้อยละ 65.4, โครงการคนละครึ่งร้อยละ 61.2 และโครงการ ม.33 เรารักกัน ร้อยละ 43.3
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น จำนวน 946.31 ล้านบาทให้กับสภากาชาดไทย สำหรับใช้ในโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 Moderna ให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งทางบริษัท ชิลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์น่าในประเทศไทย เพื่อให้สามารถส่งมอบวัคซีนงวดแรกได้ในต้นปี 2565
ทั้งนี้ สภากาชาดไทยได้มีนโยบายในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐ ด้วยการให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน ทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยชุดธารน้ำใจและชุดธารน้ำใจฝ่าวิกฤตโควิด-19 การจัดตั้งหน่วยครัวเคลื่อนที่สภากาชาดไทยในจังหวัดต่างๆ การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในแต่ละจังหวัดด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค ผ้าห่ม หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ร่วมกับภาครัฐในการจัดหน่วยบริการฉีดวัคซีน การจัดบริการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) และการส่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดและอาสาสมัครไปช่วยสนับสนุนการฉีดวัคซีนทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภูมิภาค รวมถึงการจัดทำโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางโดยไม่คิดมูลค่า ด้วยการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 Moderna โดยสภากาชาดไทยดำเนินการเองส่วนหนึ่ง และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมดำเนินการด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นต้นไป