xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในยุคโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณัฐพงษ์ ขจรกิจอภิรักษ์
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ถ้าย้อนกลับไปดูในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาจะพบว่าตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยลื่นไหลกลับหยุดชะงักแบบไม่ทันตั้งตัวและส่งผลเชื่อมโยงเป็นวงกว้าง แม้ว่าตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งแรกของปี 2563 จะยังสามารถขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 1.25 หรือมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้รวมทั้งสิ้น 13.69 ล้านล้านบาท แต่ทว่า การเพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลไม่ใช่หุ้นกู้ภาคเอกชนอย่างที่เคยเป็นมา โดยพบว่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวในครึ่งปีแรกมีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 22 ของค่าเฉลี่ยการออกในช่วงครึ่งปีแรกของระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ดัชนีผลตอบแทนของหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ A- อายุ 1-3 ปี ยังให้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลกลุ่มอายุ 1-3 ปี

ในสภาวะปกติ การลงทุนในหุ้นกู้มักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลเนื่องจากมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงกว่า นักลงทุนจึงต้องการผลตอบแทนคาดหวังที่สูงกว่า แต่ในห้วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจ นักลงทุนมีความกังวลต่อคุณภาพของผู้ออกหุ้นกู้ ไม่ว่าจะเป็นความกลัวต่อผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่อาจจะมีปัญหา หรือความกังวลว่าบริษัทอาจจะขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยงจากเครดิตที่สูงขึ้น (Credit spread widen) เนื่องจากมองว่าการลงทุนในหุ้นกู้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในแง่โอกาสในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Downgrade) และสภาพคล่องลดลง (Liquidity Risk Premium) ส่งผลให้เกิดการเทขายหุ้นกู้และทำให้ราคาของหุ้นกู้ในตลาดรองปรับลดลง ดัชนีผลตอบแทนของหุ้นกู้ภาคเอกชนจึงติดลบในช่วงมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการระบาดของ COVID-19 อย่างรวดเร็วและมีการปิดเมืองสกัดกั้นการลุกลาม

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น สาเหตุมาจากนักลงทุนสามารถประเมินผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ได้ชัดเจนมากขึ้นจากการรายงานงบการเงินไตรมาส 2 ที่ประกาศออกมา และภาครัฐมีการยกเลิกการปิดเมืองทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคธุรกิจดีขึ้น ความต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยงจากเครดิตจึงเริ่มปรับลดลงและส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกู้ปรับตัวดีขึ้น

หากมองไปยังอนาคต การระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้ออาจจะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่แตกต่างกันไป บางธุรกิจอาจจะสามารถฟื้นตัวได้ บางธุรกิจอาจล้มหายไปจากระบบเศรษฐกิจ และก็มีบางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวจะยังคงอยู่กับเราไปอีกระยะเวลาหนึ่ง การใช้มาตรการทางการเงินมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ จากเดิมที่ใช้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นกลายมาเป็นการใช้มาตรการเฉพาะจุดเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะทำให้การลงทุนที่เราเคยมั่นใจว่ามีความปลอดภัยสูงหรือน่าสนใจได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ไม่ว่านักลงทุนจะลงทุนตรงด้วยตัวเอง หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย นักลงทุนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเอง ติดตาม เข้าใจ เข้าถึงการฟื้นตัวของธุรกิจให้มากขึ้นกว่าในอดีต ดังวลีเด็ดตลอดกาลที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”
กำลังโหลดความคิดเห็น