xs
xsm
sm
md
lg

จับสัญญาณการลงทุนหุ้นกลุ่มค้าปลีก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย รัตติกาล พูนวศินมงคล
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
 
แม้ในช่วงไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มค้าปลีกจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ lock down จากทางภาครัฐแต่ดีกรีการได้รับผลกระทบของผู้ประกอบการแต่ละรายนั้นแตกต่างกันออกไป เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายนั้นต้องปิดให้บริการสาขา ในขณะที่บางรายแม้ไม่ต้องปิดสาขาแต่ก็ไม่สามารถขายสินค้าได้เหมือนภาวะปกติเนื่องจากถูกจำกัดการขายสินค้าบางประเภทและติดช่วงระยะเวลาเคอร์ฟิว แม้ผลประกอบการในไตรมาส 2/63 จะมีแนวโน้มเป็นจุดต่ำสุดในรอบปีและจะค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่คาดว่าการฟื้นตัวของผู้ประกอบการแต่ละรายนั้นจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประเภทของธุรกิจค้าปลีก และกลยุทธ์การปรับตัวของแต่ละบริษัทเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค new normal

สัญญาณทางเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาเพื่อประเมินการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มค้าปลีกคือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer confidence index-CCI) ซึ่งจะสะท้อนความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงคาดการณ์การจ้างงาน รายได้และภาวะเศรษฐกิจในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า โดยตัวเลขดังกล่าวจะสะท้อนแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งเราสามารถพิจารณาได้จาก Retail sales index ซึ่งมักจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ CCI ยังเป็นตัวชี้นำยอดขายสาขาเดิม (SSSG) 3-6 เดือนถัดไปของกลุ่มค้าปลีกอีกด้วย
 
ในช่วงที่ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับสูง (มากกว่า 80) การเติบโตของยอดขายสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน เช่น เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน, สินค้าแฟชั่น รถยนต์ มักมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่ายอดขายสินค้าในกลุ่มไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ซึ่งสะท้อนในการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ของผู้ประกอบการค้าปลีกในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (consumer discretionary) ที่มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่ายอดขายสาขาเดิมของกลุ่มสินค้าจำเป็น (consumer staple)

ปัจจุบันแม้ตัวเลข CCI เริ่มฟื้นตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จาก 48.2 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 50.1 ในเดือนกรกฎาคม หลังจากที่ธุรกิจกลับมาเปิดตัวรวมถึงได้รับมาตรการเยียวยาและดูแลผลกระทบจาก COVID-19 ของภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งบ่งบอกถึงการที่ผู้บริโภคยังคงมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย นอกจากนี้ นักลงทุนควรคำนึงถึงความสามารถในการหารายได้โดยพิจารณาจากข้อมูลการจ้างงานทั้งในและนอกภาคการเกษตร ประกอบกับการเติบโตของรายได้ซึ่งควรแยกพิจารณาทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ เมืองท่องเที่ยว และต่างจังหวัด ซึ่งจะบอกถึงการเพิ่มขึ้นของความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่นั้นๆ

ตัวเลขที่บ่งบอกถึงความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยในต่างจังหวัดได้ดีคือตัวเลขการเติบโตของรายได้ภาคการเกษตร (farm income growth) เนื่องจากสัดส่วนของรายได้ส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดนั้นมาจากภาคการเกษตร ซึ่งในอดีตพบว่าช่วงที่ตัวเลขดังกล่าวมีอัตราการเติบโตในระดับสูงมีผลให้การจับจ่ายใช้สอยในต่างจังหวัดเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นมีอัตราการเติบโตของยอดขายอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนในการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีสัดส่วนของยอดขายอยู่ในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้บ่งบอกถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะเป็นเพียงข้อมูลที่บ่งบอกถึงรายได้ของครัวเรือนเท่านั้น นักลงทุนควรพิจารณาถึงค่าครองชีพและภาระหนี้สินของครัวเรือนประกอบด้วย ซึ่งสามารถพิจารณาจากสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติ (Household debt to GDP) ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับสูงโดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดว่า GDP จะลดลง ดังนั้นความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยที่แท้จริง (spending power) น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังและขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าคงทนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ดังนั้นจึงคาดว่ายอดขายสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภคจะเห็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น