(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
US-China trade war set to drag on
By Ken Moak
14/01/2020
“ไอโฟน”ของบริษัทแอปเปิล มีต้นทุนราวๆ เครื่องละ 245 ดอลลาร์ แต่ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่เครื่องละ 750 ดอลลาร์ กระทั่งถ้าถือว่าแอปเปิลเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนค่าการผลิตมากกว่า 75% บริษัทสหรัฐฯแห่งนี้ก็ยังคงได้กำไรอย่างมหาศาล ขณะที่จีนเองได้ส่วนแบ่งไปแค่เครื่องละ 8.50 ดอลลาร์ ดังนั้นที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาว่า จีน “แย่งกินอาหารกลางวัน” ของสหรัฐฯนั้น แท้ที่จริงจีนกลายเป็นผู้ป้อนแชมเปญและไข่ปลาคาเวียร์ให้อเมริกา ขณะที่อเมริกาป้อนแค่แซนวิชเนยถั่วให้จีน
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ริเริ่มเปิดฉากทำสงครามการค้าเพื่อเล่นงานจีนเมื่อปี 2018 สืบเนื่องจากเขารู้สึกว่าจีน “กำลังแย่งกินอาหารกลางวันของอเมริกา” ทว่าสำหรับบางคนบางฝ่าย รวมทั้งผู้เขียน (เคน โมค) ด้วย จะต้องโต้แย้งว่า มันอาจจะกลับตาลปัตรเป็นตรงกันข้ามเสียมากกว่า เพราะด้วยการที่สหรัฐฯฉวยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตของจีน บวกกับการที่สหรัฐฯสามารถเข้าถึงตลาดขนาดมหึมาและมีเงินทองจับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเอเชียรายนี้ บรรดาวิสาหกิจอเมริกันจึงทำกำไรกันได้อย่างมโหฬาร
โทรศัพท์มือถือ “ไอโฟน” ของบริษัทแอปเปิล มีต้นทุนค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราวๆ เครื่องละ 245 ดอลลาร์ ในการผลิตมันขึ้นมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ ทว่าราคาขายเฉลี่ยของไอโฟนกลับอยู่ในระดับสูงกว่าเครื่องละ 750 ดอลลาร์ โดยขึ้นอยู่กับว่าเป็นรุ่นไหนโมเดลไหน กระทั่งเมื่อคิดคำนวณจากปัจจัยความน่าจะเป็นที่ว่า แอปเปิลเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนค่าการผลิตมากกว่า 75% แล้ว ก็ยังคงพูดได้อยู่ดีว่าในเรื่องอาหารกลางวันนั้น จีนกลายเป็นผู้ที่ป้อนแชมเปญและไข่ปลาคาเวียร์ให้แก่สหรัฐฯ ขณะที่อเมริกากำลังป้อนแค่แซนวิชเนยถั่วให้แก่จีน
เกี่ยวกับ “การขาดดุลการค้า” ให้แก่จีน ที่ทรัมป์เที่ยวบ่นพึมร้องทุกข์เรื่อยมานั้น เหตุผลข้อใหญ่ที่ทำให้เกิดการขาดดุลดังกล่าว มาจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งสองและกระบวนวิธีในการลงบัญชี พวกวิสาหกิจสหรัฐฯอย่างเช่นแอปเปิล ใช้จีนเป็นฐานสำหรับการส่งออก โดยที่ลำเลียงเอาชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งมีทั้งที่ผลิตในสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และประเทศอื่นๆ เข้ามาในจีนเพื่อการประกอบให้เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ทว่าวิธีการในการลงบัญชีนั้น --ขอยกตัวอย่างเครื่องไอโฟน ของแอปเปิล— จะบันทึกกันว่ามูลค่าไอโฟนจาก “ประเทศผู้ส่งออก” ซึ่งในกรณีนี้คือจีน อยู่ที่เครื่องละ 245 ดอลลาร์ ถ้าหากไม่จัดกันให้สูงไปกว่านั้นอีก แต่ส่วนแบ่งซึ่งจีนได้รับไปจริงๆ กลับไม่ถึงเครื่องละ 8.50 ดอลลาร์ ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง สหรัฐฯก็จะต้องถูกลงบัญชีว่าขาดดุลการค้าจีนเรื่อยไป
สำหรับเรื่องข้อร้องเรียนของสหรัฐฯในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการค้า “อย่างไม่เป็นธรรม” ของจีน มันก็เข้าทำนองคำพังเพยที่ว่า “หม้อต้มน้ำ”เรียกขานพูดถึง“กาต้มน้ำ”โดยไม่มองดูตัวเองว่า ทำไมถึงดำนัก! ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯได้เคยตัดสินใจลดค่าเงินดอลลาร์เพื่อให้มีฐานะได้เปรียบในการส่งออกเมื่อปี 2002 แล้วการปั่นค่าเงินตราของสหรัฐฯก็ไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงแค่เรื่องนี้ด้วย การที่สหรัฐฯได้หันมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing) ในปี 2008 เพื่อระดมหาเงินทุนสำหรับใช้ในการกอบกู้ช่วยเหลือแบงก์ต่างๆ และวิสาหกิจต่างๆ ของอเมริกาไม่ให้ต้องล้มละลายไป ด้วยเหตุผลที่ว่าแบงก์และวิสาหกิจเหล่านี้ “ใหญ่เกินกว่าที่จะยอมปล่อยให้ล้ม” ก็มีความหมายเท่ากับเป็นการลดค่าเงินดอลลาร์นั่นเอง หรือในระยะใกล้ๆ เข้ามาอีก ทรัมป์นั้นพยายามกดดันบีบคั้นให้ธนาคารกลางสหรัฐฯลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง เพื่อที่ว่ามูลค่าราคาของสกุลเงินดอลลาร์อเมริกันจะได้ต่ำลงไปเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินตราอื่นๆ แต่ในทางตรงกันข้าม จีนกลับไม่ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนด้วยวัตถุประสงค์ในการลดค่าสกุลเงินตราเลย แท้ที่จริงแล้ว จีนกลับปกป้องค่าเงินหยวนไม่ให้ต่ำลง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสหรัฐฯกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ปั่นค่าเงิน
ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากสหรัฐฯกับจีนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในทางการค้าที่มีอยู่ และสหรัฐฯยังคงมีการหารายได้จากมูลค่าในการส่งกลับออกไป (re-export) แล้ว ประเด็นปัญหาการขาดดุลเช่นนี้ก็จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างไม่มีทางคลี่คลาย
ดังนั้น สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจึงไม่เพียงแต่น่าจะยังต้องต่อสู้กันไปอีกยาวนานกว่าจะยุติลงได้เท่านั้น หากยังมีความเป็นไปได้ที่สงครามนี้อาจจะเลวร้ายลงไปอีก เนื่องจากคู่ปรปักษ์คู่นี้มีความเห็นแตกต่างกันเหลือเกิน –แม้กระทั่งในเรื่องที่ว่าสิ่งที่เข้าใจกันว่าพวกเขาตกลงกันได้แล้วนั้นมีอะไรบ้าง เป็นต้นว่า ฝ่ายสหรัฐฯบอกว่าจีนให้คำมั่นสัญญาที่จะซื้อสินค้าการเกษตรเป็นมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์ในระยะ 2 ปีข้างหน้า แต่ฝ่ายจีนกลับยืนกรานว่าการจัดซื้อจะต้องอิงอยู่กับความจำเป็นและระดับราคา อันที่จริงแล้วฝ่ายจีนได้ย้ำด้วยซ้ำว่า จะไม่เพิ่มโควตาในการซื้อข้าวโพดและผลิตภัณฑ์การเกษตรอย่างอื่นๆ ของสหรัฐฯ รวมทั้งจะไม่ซื้อจากประเทศอื่นๆ อย่างเช่นบราซิล ให้น้อยลงด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น สงครามการค้าคราวนี้ยังกำลังกลายเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจและรบรากันในทางอุดมการณ์ ระหว่าง 2 ประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกเรื่อยมา แท้ที่จริงแล้วสหรัฐฯได้รับอะไรจากจีนเยอะแยะมากมายกว่าที่ได้สูญเสียให้แก่ยักษ์ใหญ่เอเชียรายนี้ เนื่องจากพวกบริษัทอเมริกันมีผลิตภาพสูงขึ้นและมีความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้น จากการโยกย้ายการผลิตมายังประเทศจีน ตัวอย่างเช่น “สินค้านำเข้า” ราคาต่ำจากประเทศจีนได้ช่วยให้ครอบครัวชาวอเมริกันประหยัดเงินได้เฉลี่ยแล้วครอบครัวละเกือบๆ 1,000 ดอลลาร์ต่อปี แถมยังรักษาให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยของอเมริกาอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้โน้มนำให้เกิดการลงทุนและการบริโภค อย่างไรก็ตาม อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเร็วจี๋ของจีน ซึ่งกำลังเปิดทางให้แดนมังกรก้าวกระโดดไปไกลในพรมแดนต่างๆ ทางเทคโนโลยี –ตั้งแต่การพัฒนาด้านอาวุธไปจนถึงอุตสาหกรรมการผลิต— ได้ถูกพวกชนชั้นนำทางการเมืองและหน่วยงานด้านความมั่นคงของอเมริกันมองว่า มันคือภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯซึ่งจะต้องหยุดยั้งให้ได้ไม่ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายกันขนาดไหนก็ตาม
จริงๆ แล้ว สหรัฐฯต้องการที่จะหาเรื่องสู้รบกับจีน และกำลังวาดภาพให้จีนกลายเป็นปีศาจร้าย ตลอดจนกำลังหาทางโดดเดี่ยวจีนในทุกๆ โอกาส สหรัฐฯกล่าวหายักษ์ใหญ่เอเชียรายนี้ว่ากำลังกักขังชาวอุยกูร์ในซินเจียงเอาไว้มากกว่า 1 ล้านคน, กำลังกดขี่บีฑาสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง, กำลังสร้าง “การทูตแบบล่อให้ติดกับดักหนี้สิน” , ตลอดจนกระทำความชั่วร้ายอย่างอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็จัดทำยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) ขึ้นมา เพื่อฟื้นชีพยุทธศาสตร์กลุ่ม 4 ฝ่าย โดยนำเอา 4 “ชาติประชาธิปไตยที่มีความคิดเห็นคล้ายๆ กัน” อันได้แก่ สหรัฐฯ, อินเดีย, ออสเตรเลีย, และญี่ป่น มาต่อต้านคัดค้านการก้าวผงาดของจีน
ไม่ใช่เพียงแค่นี้ พวกสมาชิกรัฐสภาอเมริกันก็กำลังกระทำอย่างดีที่สุดในการ “แยกขาด” (de-couple) สหรัฐฯจากจีน ด้วยการห้ามบริษัทสหรัฐฯทั้งหลายขายผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีให้แก่คู่ค้าชาวจีน, สกัดกั้นไม่ให้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของจีนเข้าสู่ตลาดของพวกเขา, จำกัดวีซ่าที่ออกให้แก่นักวิชาการและนักศึกษาชาวจีน, และดำเนินนโยบายต่อต้านจีนประการอื่นๆ
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรเลย ถ้าหาก เฟส 1 ของข้อตกลงสหรัฐฯ-จีนซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการยุติสงครามการค้า จะกลับมีอายุสั้น เนื่องจากสหรัฐฯไม่ได้รับประโยชน์อะไรจริงๆ จากจีนเป็นการเพิ่มเติมไปจากที่แดนปักกิ่งได้เคยให้คำมั่นสัญญาไปแล้วในระหว่างที่ทรัมป์เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี 2017 ตลอดจนในการเจรจารอบก่อนๆ อันที่จริงเราสามารถหยิกยกเหตุผลขึ้นมาแจกแจงว่า การลงนามใน เฟส 1 นี้น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ในการทำให้ตนเองได้รับเลือกตั้งอีกสมัยของทรัมป์ โดยมุ่งเรียกเสียงสนับสนุนจากพวกเกษตรกรกลับคืนมา หลังจากที่ผู้คนเหล่านี้ต้องเป็นผู้สูญเสียรายรับเป็นพันล้านหมื่นล้านดอลลาร์เพราะขายสินค้าให้แก่จีนไม่ได้ รวมทั้งกำลังเผชิญอนาคตที่ไม่มีความแน่นอนเนื่องจากการที่ทรัมป์ทำสงครามการค้าด้วยแจงจูงใจทางการเมืองเช่นนี้
ข้อตกลง เฟส 2 ถ้าหากมันจะเกิดขึ้นมาได้นั้น น่าที่จะต้องเผชิญความยากลำบากในการเจรจาเพิ่มขึ้นกว่า เฟส 1 มาก เพราะสหรัฐฯกำลังเรียกร้องให้จีนยกเลิกทัศนะแนวความคิดหลักในการพัฒนาประเทศของตน และวิธีการบริหารปกครองของตน มันจึงไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จีนจะยินยอมเช่นนั้น ซึ่งก็เท่ากับเป็นการบ่งชี้ว่า ความขัดแย้งในทางการค้า, ทางเทคโนโลยี, และทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะกลายเป็น “ความเป็นปกติอย่างใหม่” (new normal) ในตลอดช่วงหลายๆ ปีข้างหน้านี้ ไม่ว่าพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครตจะเป็นฝ่ายยึดครองทำเนียบขาวหรือรัฐสภาอเมริกันก็ตามที ประวัติศาสตร์จะบอกเล่าให้ทราบว่าพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯทั้งสองพรรคนี้มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมากในเรื่องเกี่ยวกับการต่อต้านคัดค้านจีน หรืออันที่จริงๆ แล้วพวกเขาก็พรักพร้อมที่จะสามัคคีกันต่อต้านคัดค้านประเทศใดๆ ก็ตามที ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะท้าทายฐานะความมีอำนาจสูงสุดของสหรัฐฯ
ที่กล่าวไปข้างต้นนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นอันน่าเศร้าใจ เพราะสงครามการค้าได้สร้างความเครียดเค้นให้แก่ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ, เศรษฐกิจจีน, ตลอดจนเศรษฐกิจอื่นๆ ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว โดยตามการศึกษาของธนาคารกลางสหรัฐฯ สงครามการค้าครั้งนี้ทำให้เศรษฐกิจอเมริกันต้องเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วมากกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งยังลดทอนกิจกรรมต่างๆ ทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตอีกด้วย อัตราการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งของจีน, สหรัฐฯ, และของโลก ต่างปักหัวลงมาจนอยู่แค่ราวๆ 6%, 2%, และ 3% ตามลำดับ เราคงได้แต่คาดเดากะเก็งเอาว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับโลกถ้าหากทั้งสงครามการค้า, สงครามทางเทคโนโลยี, และสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป หรือกระทั่งเลวร้ายลงไปกว่านี้
ยิ่งกว่านั้น นโยบายต่อต้านจีนของสหรัฐฯไม่ว่าจะเป็นนโยบายใดก็ตามจะใช้ไม่ได้ผลหรอก ตรงกันข้ามแทนที่จะเข่นฆ่าหัวเว่ยให้ตายไป การเอะอะโวยวายของสหรัฐฯแท้ที่จริงกลับช่วยทำให้ผลประกอบการของบริษัทแห่งนี้กระเตื้องดีขึ้น โดยมีรายได้สูงขึ้นราว 18% ในปี 2019 มาอยู่ในระดับมากกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน แทนที่จะเข้าร่วมกับสหรัฐฯในการต่อต้านจีน ทั้งอินเดีย, ญี่ปุ่น, และออสเตรเลียต่างกำลังหาทางกระชับไมตรีจิตมิตรภาพกับยักษ์ใหญ่เอเชียรายนี้
มันถึงเวลาแล้วที่บรรดาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯจะต้องขบคิดพิจารณากันใหม่เกี่ยวกับนโยบายจีนของพวกเขา
(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)
เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer
หมายเหตุผู้แปล
เอเชียไทมส์ยังเสนอข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งซึ่งประเมินความสำเร็จของข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1 เอาไว้ ได้แก่ เรื่อง Cracks appear in US-China ‘détente’ deal ของ Gordon Watts ทั้งนี้หากข้อเขียนของ เคน โมค เป็นการแสดงความคิดเห็นแบบเห็นอกเห็นใจฝ่ายจีนแล้ว ข้อเขียนของ กอร์ดอน วัตส์ ก็มองจากทัศนะแบบเข้าข้างศรัทธาคุณค่าความคิดแบบตะวันตกแบบอเมริกัน ดังนั้นจึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้:
ขณะหมึกลายเซ็นยังไม่ทันแห้ง ดีลการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1 ก็ปรากฏรอยร้าวขึ้นแล้ว
โดย กอร์ดอน วัตส์
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Cracks appear in US-China ‘détente’ deal
By Gordon Watts
16/01/2020
แม้กระทั่งเมื่อหมึกลายเซ็นที่ลงนามกันในข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1 ยังไม่ทันจะแห้งสนิท ก็เกิดมีความหวาดหวั่นกันขึ้นมาแล้วว่า เฟส 2 ของดีลนี้อาจจะไม่มีโอกาสคลอดออกมา
ความคาดหวังอย่างใหญ่โตมโหฬาร ได้ถูกแทนที่ด้วยความปลาบปลื้มเคลิบเคลิ้มอย่างใหญ่โตมโหฬารยิ่งขึ้นไปอีก หลังจากจีนกับสหรัฐฯประกาศว่าสามารถทำข้อตกลงการค้า เฟส 1 กันได้แล้วในท้ายที่สุด เมื่อช่วงก่อนหน้าวันคริสต์มาสที่ผ่านมา
การหยุดพักความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองที่ดำเนินมายาวนาน 2 ปีแล้ว ยังก่อให้เกิดอาการที่ทั้งสองฝ่ายต่างร่วมกันถอนหายใจอย่างโล่งอก
ในที่สุดแล้ว เมื่อวันพุธ (15 ม.ค.) รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ ของจีน ก็ได้ลงนามในข้อตกลงระดับจำกัด ณ ทำเนียบขาวภายใต้การเฝ้ามองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ผู้ที่เซ็นชื่อเสร็จเรียบร้อยไปก่อนแล้ว ทว่ากระทั่งก่อนที่หมึกจะทันแห้งด้วยซ้ำไป รอยแตกร้าวก็กำลังเริ่มต้นปรากฏให้เห็นในข้อตกลงมุ่งผ่อนคลายความตึงเครียดล่าสุดนี้
“ตั้งแต่ตอนที่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินระดับโลกเป็นต้นมา พวกนักวิเคราะห์ตะวันตกได้ใช้ตราประทับหลายๆ อย่างมาบรรยายถึงระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศจีน พวกเขาถึงกับพูดว่า ‘ทุนนิยมแห่งรัฐ’ (state capitalism) ของจีน ทำท่ากลายเป็นตัวที่ท้าทาย ‘ฉันทามติวอชิงตัน’ (Washington Consensus)” เจ้า หมิงฮ่าว (Zhao Minghao) แห่งสถาบันชาร์ฮาร์ (Charhar Institute) ซึ่งเป็นองค์กรคลังความคิดของจีน กล่าวให้ความเห็น
“ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามที วอชิงตันจำเป็นต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า จีนจะไม่เดินตามโมเดลการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหรัฐฯไม่สามารถที่จะบังคับจีนให้ยอมรับข้อเรียกร้องต่างๆ ของตนอีกต่อไปแล้ว ในเมื่อเวลานี้จีนกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ในบทความที่เผยแพร่ทาง ไชน่าเดลี่ (China Daily) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชั้นนำซึ่งรัฐเป็นผู้ดำเนินการ (ดูบทความชิ้นนี้ได้ที่ http://www.chinadaily.com.cn/a/202001/13/WS5e1ba945a310cf3e3558402b.html)
จากนั้น เจ้า กล่าวต่อโดยชี้ว่า ข้อตกลงการค้า เฟส 2 ซึ่งจะมีเนื้อหากว้างขวางมากยิ่งขึ้น จะสามารถทำความตกลงกันได้สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าปักกิ่งและวอชิงตันจะตอบสนองอย่างไรต่อ “ความแตกต่างอันสำคัญ” ทั้งหลายเหล่านี้
ทั้งนี้ในความเห็นของผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ (กอร์ดอน วัตส์) โอกาสที่เรื่องเช่นนี้จะบังเกิดขึ้นมาได้นั้น กำลังดูห่างไกลออกไปทุกที
สำหรับข้อตกลง เฟส 1 ความยาว 96 หน้าที่ได้ลงนามกันในกรุงวอชิงตันไปแล้วนั้น เนื้อหาโดยรวมออกจะดูน่าเบื่อ ถึงแม้ได้ครอบคลุมประเด็นปัญหาที่มีน้ำหนักสำคัญเอาไว้บางประเด็น ทั้งนี้ ส่วนประกอบหลักๆ ของดีลฉบับนี้ มีดังต่อไปนี้:
จีนตกลงว่า ในช่วงระยะเวลา 2 ปีต่อจากนี้ไป จะซื้อสินค้าออกของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอีก 200,000 ล้านดอลลาร์ จากระดับของเมื่อปี 2017
ยอดรวมดังกล่าว แบ่งออกเป็นดังนี้: ซื้อสินค้าการเกษตรเพิ่มขึ้น 32,000 ล้านดอลลาร์, ซื้อพลังงานส่งออก 52,400 ล้านดอลลาร์, สินค้าอุตสาหกรรมการผลิต 77,700 ล้านดอลลาร์, และบริการต่างๆ 37,900 ล้านดอลลาร์
ข้อตกลงนี้ยังมีเนื้อหาระบุอย่างสั้นๆ ถึงหัวข้อเรื่องที่ปักกิ่งบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีให้แก่พวกคู่แข่งขันสัญชาติจีน และเรื่องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ
ยังมีการอ้างอิงอย่างคร่าวๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจของปักกิ่งที่จะไม่ “สนับสนุนหรือชี้นำ” ให้พวกบริษัทจีนซื้อหาครอบครองกิจการและดำเนินการลงทุนใน “พวกอุตสาหกรรม (ด้านเทค) ซึ่งเป็นเป้าหมายตามแผนการทางอุตสาหกรรมของจีนที่จะก่อให้เกิดการบิดเบือนผิดรูปผิดร่างขึ้น” ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน (กอร์ดอน วัตส์) แล้ว ตัวอย่างของแผนการทางอุตสาหกรรมที่ว่านี้ ได้แก่ แผนการ “เมดอินไชน่าปี 2025” (Made in China 2025) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/09/article/china-unveils-high-tech-spending-spree/)
ในการกำกับตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้ มีการตกลงให้จัดตั้งกลไกที่เรียกว่า “การจัดวางเพื่อการประเมินและการแก้ไขข้อพิพาททวิภาคี” (Bilateral Evaluation and Dispute Resolution Arrangement) ขึ้นมา ซึ่งจะเปิดทางให้วอชิงตันกับปักกิ่งเฝ้าติดตามการปฏิบัติตามข้อตกลง เฟส 1
ทั้งนี้หากมีความบกพร่องล้มเหลวไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว อาจส่งผลให้สหรัฐฯกลับขึ้นภาษีศุลกากรกันใหม่
เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน วอชิงตันได้ดำเนินการระงับการขึ้นภาษีศุลกากรต่อสินค้าจีนมูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเดิมทีมีกำหนดจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2019
สำหรับการขึ้นภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2019 ต่อสินค้าจีนมูลค่ารวม 120,000 ล้านดอลลาร์นั้น จะลดลงให้ครึ่งหนึ่งเหลือ 7.5% โดยการลดนี้จะมีผลบังคับใช้ใน 30 วัน
แต่สำหรับอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯเก็บเพิ่มก่อนหน้านั้น จากสินค้าเข้าจีนมูลค่ารวม 250,000 ล้านดอลลาร์ จะยังคงเดิม ซึ่งก็คืออยู่ที่ 25%
(ดูรายละเอียดข้อตกลงฉบับนี้ได้ที่ https://ustr.gov/sites/default/files/files/agreements/phase%20one%20agreement/Economic_And_Trade_Agreement_Between_The_United_States_And_China_Text.pdf)
ทรัมป์กล่าวในพิธีลงนามที่ทำเนียบขาวว่า “วันนี้ เราได้ก้าวเดินไปข้างหน้าหนึ่งก้าวอย่างมีความสำคัญยิ่ง เป็นหนึ่งก้าวเดินไปข้างหน้ากับประเทศจีน อย่างชนิดที่ไม่เคยมีการก้าวเดินกันเช่นนี้มาก่อนเลย”
“นับตั้งแต่ที่จีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน เราได้ถูกขูดรีดไปเกือบๆ 5 ล้านล้านดอลลาร์ในรูปของการเสียเปรียบดุลการค้า –ท่านรองนายกรัฐมนตรี (หลิว เหอ) ผมหวังว่าเขาคงไม่ได้กำลังฟังเรื่องนี้อยู่นะครับ— แล้วก็ยังสูญเสียตำแหน่งงานในด้านอุตสาหกรรมการผลิตไปเป็นจำนวนหลายล้าน แล้วก็อีกหลายล้าน และได้เห็นโรงงานต่างๆ เป็นหมื่นๆ แห่งต้องปิดตัวลง” เขากล่าวต่อ
หลิวอาจจะรับทราบข้อสังเกตเช่นนี้ของทรัมป์ แต่เขาตัดสินใจที่จะใช้ท่าทีระมัดระวังตัว โดยอ่านจดหมายที่มาจากนายของเขา --ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
“(ข้อตกลงฉบับที่ลงนามกันนี้) ดีสำหรับจีน, ดีสำหรับสหรัฐฯและดีสำหรับทั่วทั้งโลก มันยังแสดงให้เห็นว่าประเทศของพวกเราทั้งสองมีความสามารถที่จะลงมือกระทำสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและการเคารพซึ่งกันและกัน” สี บอก พร้อมกับระบุด้วยว่า เขาจะ “รักษาการติดต่ออันใกล้ชิดกับ” ทรัมป์ ในระดับ“อย่างเป็นการส่วนตัว”
ขณะที่การตอบสนองที่เป็นส่วนของรองนายกรัฐมนตรีจีนผู้นี้เอง อยู่ในลักษณะซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนมากว่าไม่เต็มปากเต็มคำ โดยเขากล่าวเพียงว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะ “แก้ไขความกังวลของสหรัฐฯได้อย่างมากมาย”
แต่พวกนักวิเคราะห์ทั้งหลาย กลับกล้าพูดจาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแหลมคมยิ่งกว่านั้นมาก โดยพวกเขาระบุว่ามีโอกาสอยู่เยอะที่ข้อตกลง เฟส 2 จะถูกกวาดลงกองขยะแห่งประวัติศาสตร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ ttps://www.asiatimes.com/2020/01/article/trump-and-xi-in-a-dance-of-diminishing-returns/) ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ได้พูดอย่างชัดเจนว่า ข้อตกลง เฟส 2 อาจจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ต้องภายหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว ... เป็นอย่างเร็วที่สุด
โรเบิร์ต ไลต์ไลเซอร์ (Robert Lighthizer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative) ดูจะพยายามมองถึงผลในทางปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น ภายหลังแสดงบทบาทอันสำคัญในการเจรจาต่อรองเพื่อทำดีล เฟส 1 “เฟสที่ 2 จะได้รับการวินิจฉัยตัดสิน (เป็นบางส่วน) จากการประเมินว่าเรามีการปฏิบัติตาม เฟส 1 กันอย่างไร โดยดูกันในรายละเอียดทุกๆ อย่างทีเดียว” เขาบอกกับรายการข่าวของเครือข่ายโทรทัศน์ ซีบีเอส
“(เฟสหนึ่ง) ให้ทั้งกระบวนวิธีดำเนินการ ให้ทั้งบทลงโทษ เป็นตัวกำหนดมาตรฐานต่างๆ “ เขากล่าวเพิ่มเติมในการแถลงต่อสื่อมวลชนในเวลาต่อมา
กระนั้นก็ตาม ในความเห็นของผู้เขียน (กอร์ดอน วัตส์) แล้ว ประเด็นปัญหาอันสำคัญยิ่งยวดยังคงอยู่ที่ว่า โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบที่ดำเนินการโดยรัฐของปักกิ่งนั้น เป็นการลบเลือนเส้นแบ่งที่แยกระหว่างวิสาหกิจเอกชนกับภาควิสาหกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ กล่าวโดยสรุปแล้ว มันคือการผสมผสานระบบทุนนิยมให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยที่มีฐานะครอบงำเหนือสิ่งอื่นๆ ในพิมพ์เขียวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน
สำหรับทีมของทรัมป์แล้ว เรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่จะต้องนำมาโต้แย้งถกเถียงกัน แต่สำหรับ สี และพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นี่คือเส้นสีแดงอันตรายที่ไม่สามารถล่วงละเมิดได้
บทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (Global Times) ซึ่งอยู่ในเครือของ เหรินหมินรึเป้า (People’s Daily) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีเนื้อหาเน้นย้ำถึง “ความขัดแย้งกันเอง” เช่นนี้:
ความไม่แน่นอนอย่างมากมายมหาศาลยังคงดำรงอยู่ ... ข้อตกลงการค้าเบื้องต้นฉบับนี้ ซึ่งเห็นชอบกันได้ในช่วงระยะเวลาที่ความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมทรามลงอย่างชัดเจนนั้น จะสามารถนำมาปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงๆ หรือ? หรือว่า มันจะถูกแทนที่ด้วยความขัดแย้งใหม่ๆ ด้วยความก้าวหน้าที่เพิ่มมากขึ้นไปอีกในขณะทีการเจรจาดำเนินไป?” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/content/1177006.shtml)
เราจะเดินจากที่นี่ไปยังที่ไหนนั้น จึงยังไม่มีความแน่นอนเอาเสียเลย แต่ก็มองเห็นได้แล้วว่าความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้านั้นทั้งสำคัญและน่าเกรงขาม
บันทึกสั้นๆ ชิ้นหนึ่งจาก แคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) บริษัทที่ปรึกษาและการวิจัยซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน ชี้ออกมาอย่างชัดเจนถึงความเป็นจริงซึ่งอยู่เบื้องหลังการป่าวร้องโฆษณาอย่างเกินเลยความจริงในเรื่องข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน
“ไม่มีตารางเวลาสำหรับการเจรจากันต่อไปในเรื่องการอุดหนุนของภาครัฐและความกังวลเชิงโครงสร้างประการอื่นๆ ของฝ่ายสหรัฐฯ การพูดคุยอาจจะเปิดฉากเริ่มต้นขึ้นมาใหม่ในเวลาต่อไปในอนาคต ทว่าข้อตกลงเฟส 2 ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ นั้น ไม่น่าที่จะมีออกมาให้ลงนามกันหรอก” บันทึกสั้นๆ ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ย้ำ
“การที่ทั้งสองฝ่ายไร้ความสามารถที่จะบรรลุข้อตกลงกันในประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หมายความว่าเงาดำทะมึนเหล่านี้ซึ่งกำลังทอดทับอยู่เหนือความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐฯ-จีน จะยังดำรงอยู่ต่อไปอีก” แคปิตอล อีโคโนมิกส์ บอก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.capitaleconomics.com/)