นายอิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (บลจ.วี) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดการค้าปลีกของโลกที่ทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ (E-Commerce) ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก อีกทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้บริโภคกลุ่มคนทุกช่วงวัยเข้าสู่ระบบการซื้อของและการชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นด้วยคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2019-2022 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีอัตราการเติบโตปีละ 19% นำโดย สหรัฐฯ, จีน, ยุโรปตะวันตก และคาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 22% ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า
เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการขยายตัวของประชากรโลกที่เข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน หรือโมบายล์ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่น อินเดีย, จีน และละตินอเมริกา ซึ่งพบว่ามีการส่งคำส่งซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือคิดเป็น 79% ของอีคอมเมิร์ซทั่วโลก คาดว่าในปี 2023 ประชากรอีกกว่า 5 พันล้านคนจะมีการบริโภคผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งทำให้ยอดขายผ่านออนไลน์ทั่วโลกจะมีมูลค่ามากกว่า 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่จะทำให้ร้านค้าปลีกเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แต่ยังทำให้ธุรกรรมการชำระเงินผ่านดิจิทัลปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยจะส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน (Payment) มีแนวโน้มเข้าสู่การใช้แพลตฟอร์มที่มีระบบการจัดการที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก รวมทั้งการทำรายการระหว่างประเทศ และเรื่องการรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลของผู้ทำธุรกรรมที่จะสูงขึ้นเพื่อรองรับความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการ
สัดส่วนการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล และโมบายล์วอลเล็ตคิดเป็น 41.8% ของการทำธุรกรรมชำระเงินอีคอมเมิร์ซทั่วโลก และจะเพิ่มขึ้นเป็น 52.2% ในปี 2023 ทำให้มีหลากหลายบริษัทเข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางการดำเนินการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้บริการในทุกสถานที่ภายใต้ความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการ
ด้วยเทคโนโลยีที่ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าสู่ระบบการซื้อขายและชำระเงินออนไลน์มากขึ้นในอนาคต ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและผู้ให้บริการชำระเงินมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต
บลจ.วีจึงเปิดเสนอขาย กองทุนเปิด วี ออนไลน์ ช้อปปิ้ง แอนด์ เพย์เม้นท์ (WE ONLINE SHOPPING AND PAYMENT FUND : WE-OSHOP) เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีกออนไลน์ทั่วโลกผ่านกองทุนหลัก PROSHARES ONLINE RETAIL ETF ในสัดส่วน 75% เช่น บริษัท Amazon.com, Alibaba Group Holding, Qurate Retail เป็นต้น และลงทุนในหุ้นกลุ่มบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวข้องกับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) ในรูปแบบต่างๆ เช่น สมาร์ทการ์ด, บัตรเติมเงิน และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านกองทุนหลัก IPAY ETFMG Prime Mobile Payments ETF ในสัดส่วน 25% เช่น บริษัท Paypal, Visa, Mastercard เป็นต้น
กองทุนจะใช้กลยุทธ์เชิงรุกด้วยการกระจายการลงทุน (Active Asset Allocation) ใน 26 บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ และนอกสหรัฐฯ ที่มีการเติบโตบนช่องทางอีคอมเมิร์ซ ที่มีมูลค่าทางการตลาดตั้งแต่ 500 ล้านเหรียญ และต้องมีมูลค่าการซื้อขายสินค้าต่อวันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญ และลงทุนใน 42 บริษัททั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตจากความต้องการใช้บริการชำระเงินในอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทที่ให้บริการระบบซอฟต์แวร์ประมวลผลและระบบความปลอดภัยในการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ
“ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีประสบการณ์ที่ดี ได้รับความสะดวกในการค้นหาและซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตของ E-commerce มากขึ้น ทำให้บริการการชำระเงินเติบโตตามไปด้วย ดังนั้น บลจ.วีมองว่าการลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีกออนไลน์และกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการชำระเงินทั่วโลก กับ กองทุนเปิด วี ออนไลน์ ช้อปปิ้ง แอนด์ เพย์เม้นท์ มีความน่าสนใจในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ขณะเดียวกัน ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รอบ 2 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นปัจจัยหนุนให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มวัยทั่วโลกทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้น และในระยะยาวแม้ว่า COVID-19 จะคลี่คลายลงหรือหมดไป ทำให้ทั่วโลกกลับมาเปิดประเทศดำเนินเศรษฐกิจ แต่การใช้บริการซื้อสินค้าและชำระเงินผ่านระบบออนไลน์จะยังเติบโตต่อไป เนื่องจากตอบสนองความต้องการผู้บริโภคด้านความสะดวกสบายในการจับจ่ายที่เปลี่ยนไป” นายอิศรากล่าว