xs
xsm
sm
md
lg

ขยะ + ไอเดีย = Upcycling

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อรุณี ศิลปการประดิษฐ
กองทุนบัวหลวง
จากแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ที่เป็นการเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบระบบการผลิตทางตรง ที่เป็นการนำทรัพยากรมาใช้เพื่อทำการผลิต และเมื่อหมดประโยชน์ก็ทิ้งไป มาเป็นระบบการวางแผนและออกแบบการผลิตเพื่อคืนสภาพให้กับวัสดุต่างๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์แทนการทิ้ง โดยเป็นการนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่เป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เรามักคุ้นเคยกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติผ่านแนวความคิด 3R คือ Reuse : การใช้ซ้ำ Reduce : ลดการใช้ Recycle : การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

แต่ในปัจจุบัน นอกจากแนวความคิดเรื่อง 3R ก็ยังมี Upcycling แนวความคิดใหม่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งคำว่า Upcycling มีการกล่าวถึงครั้งแรกโดย William McDonough and Michael Braungart ในหนังสือ Cradle to Cradle : Remaking the Way We Make Things เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณภาพ ลดการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิต หรือลดการใช้พลังงานที่จะก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดย Upcycling เป็นกระบวนการนำวัสดุเหลือใช้มาแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประโยชน์ มีคุณภาพที่ดีขึ้น หรือดีไซน์ให้มีความสวยงามเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งแตกต่างจากการ Recycle ที่เป็นการนำวัสดุที่เราไม่สามารถใช้ซ้ำได้แล้ว หรือวัสดุที่เสียหายกลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ซึ่งอาจจะมีการหลอมหรือแปรรูปวัสดุนั้น เพื่อให้ได้วัสดุชนิดเดิมที่อาจจะมีลักษณะหรือคุณภาพที่แตกต่างไปจากเดิม โดยอาจมีมูลค่าหรือคุณภาพที่ด้อยลงไป มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิต แทนการผลิตจากการใช้วัสดุใหม่ทั้งหมด แตกต่างจากการทำ Upcycle ที่เมื่อผ่านกระบวนการ Upcycle แล้วผลิตภัณฑ์ที่ได้อาจจะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เดิมอีก และใช้การออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้วัสดุนั้นๆ สามารถใช้งานต่อไปได้

จากการที่กระบวนการ Upcycle เน้นการออกแบบเป็นเครื่องมือในการแปรรูปสินค้า ทำให้ธุรกิจต่างๆ มีการออกแบบสินค้าที่นอกจากจะน่าสนใจแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เช่น Adidas ที่นำเอาวัสดุใช้แล้วรวมทั้งพลาสติกมาผลิตเป็นรองเท้าออกขาย หรือ Freitag ที่นำเอาผ้าคลุมรถบรรทุกที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 3 ปีขึ้นไปมาทำเป็นกระเป๋า ทำให้กระเป๋าแต่ละใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากความแตกต่างของผืนผ้าใบ รวมทั้ง Ecoalf แบรนด์แฟชั่นจากประเทศสเปน ที่นำขยะทางทะเลมาแปรรูปเป็นวัสดุใหม่ เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้า เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า โดยก่อตั้งโครงการ Upcycling the Oceans และยังได้มีการขยายความร่วมมือไปยังประเทศกรีซ รวมถึงประเทศไทยอีกด้วย

ในส่วนของประเทศไทยที่นอกจากการเข้าร่วมโครงการ Upcycling the Oceans ก็ได้รับความสนใจจากบริษัทต่างๆ ในหลายๆ กลุ่มธุรกิจเพื่อผลิตสินค้าที่มีการใช้ส่วนผสมจากวัสดุที่ใช้แล้ว เช่น การนำขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นเส้นใยเพื่อมาทอเป็นผืนผ้า พร้อมนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าหรือกระเป๋า นอกจากนี้ยังมีการนำพลาสติกใช้แล้วไปแปรรูปเป็นไม้เทียม สำหรับนำไปผลิตเป็นไม้พื้น โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีความทนทานมากขึ้นจากการใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบ หรือการนำไปออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้สำหรับการตกแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งการนำถุงปูนที่ใช้แล้วไปออกแบบเพื่อทำเป็นกระเป๋า

จะเห็นได้ว่าแนวความคิด Upcycle เป็นเทรนด์การอนุรักษ์ที่มากกว่าการ reuse หรือ recycle แบบเดิมๆ มาเป็นการนำมาผลิตเป็นของใหม่ ด้วยการใช้นวัตกรรมและการออกแบบ เพื่อมีเป้าหมายในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการที่สามารถนำแนวคิด Upcycle มาผสมกับการออกแบบสินค้าที่มีความสร้างสรรค์ ก็จะเป็นอีกโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่นอกจากจะมีสินค้าที่มีความแตกต่างแล้วยังสามารถช่วยรักษาโลกใบนี้ของเราได้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น