xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสในวิกฤต?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด

ในบทความครั้งก่อนผมได้มีการเขียนถึงปัจจัยภายนอกอย่าง “ไวรัสโคโรนา” หรือ COVID-19 ในแง่ของผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างการประชุม OPEC ก็ได้มีประเด็นที่ทำให้นักลงทุนนั้นต้องปวดหัวอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่รัสเซียไม่ยินยอมที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลงส่งผลให้ราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง หากเราลองพิจารณาดูแล้ว ทั้งสองประเด็นนั้นมีความเกี่ยวโยงกันอยู่

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการระบาดของ COVID-19 นั้นสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นเป็นอย่างมากหลังจากที่การแพร่กระจายของไวรัสนั้นได้ขยายวงกว้างมากขึ้นไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชีย ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากที่เริ่มพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศแถบยุโรป และแม้ว่าความรุนแรงของโรค COVID-19 อาจจะไม่ได้รุนแรงถึงชีวิตมากหากนับจากอัตราการเสียชีวิตที่ 3.4% และสามารถรักษาให้หายได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถปฏิเสธถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้นถึงกลางได้ ซึ่งเราได้เห็นแล้วจากตัวเลข PMI ของจีนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ได้ปรับตัวลดลงจาก 50.0 ลงมาเหลือ 35.7 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดตลอดกาล การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยนอกประเทศจีนนั้นสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนทั่วโลกว่าจะเกิดการระบาดในวงกว้าง (Pandemic) และกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ

การระบาดของ COVID-19 นั้นส่งผลให้เกิด Supply shock ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่สามารถผลิตสินค้าหรือการให้บริการได้และนำไปสู่การชะลอตัวในด้านการบริโภคจากรายได้ที่ลดลงตามการผลิตและบริการที่ลดลง ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นนี้เองส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่อย่างกลุ่มพลังงานน้ำมัน จากความต้องการในการใช้น้ำมันลดลงจากภาคการผลิต รวมถึงการขนส่งทางอากาศที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการลดลงของกิจกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก หากย้อนไปดูในปีที่ผ่านมานั้น สถานการณ์ของตลาดน้ำมันนั้นค่อนข้างสมดุลกันระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน จากการที่ประเทศในกลุ่ม OPEC ร่วมกันลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมัน หลังจากที่ความต้องการของการใช้น้ำมันได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน


ระหว่างการประชุม OPEC เมื่อวันที่ 5-6 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ประเด็นที่ทุกคนจับตามองคือการลดกำลังการผลิตน้ำมันจากกลุ่ม OPEC เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันหลังจากที่แนวโน้มอุปสงค์ และอุปทานของตลาดน้ำมันได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 แต่ผลลัพธ์ของการประชุมนั้นต่างผิดคาด หลังจากที่ประเทศรัสเซียปฏิเสธข้อเสนอการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันของทางกลุ่มจนถึงสิ้นปี 2020 ภายหลังจากที่รัสเซียปฏิเสธข้อตกลง ทางประเทศซาอุดีอาระเบียได้ประกาศลดราคาขายน้ำมันดิบพร้อมทั้งเตรียมตัวเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนข้างหน้า ถือเป็นการเริ่มสงครามราคาน้ำมันและส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง โดย Brent ปรับตัวลดลงมา 24% ในขณะที่ WTI ปรับตัวลดลงกว่า 25% ในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา

ประเด็นเรื่อง COVID-19 และราคาน้ำมันที่ได้ปรับตัวลงแรงหลังการประชุม OPEC นั้นส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาประมาณ 30% นับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงวันที่ 12 มีนาคม อย่างไรก็ตาม ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นี้ผมเชื่อว่าจะเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นที่ท้ายที่สุดแล้วจะคลี่คลายลง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในอดีต เช่น การระบาดของโรคซาร์ส หรือน้ำท่วม เป็นต้น มักจะตามมาด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าระดับปกติในระยะเวลาถัดไป เนื่องจากการ Restock สินค้า นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางของแต่ละประเทศเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในช่วงที่ตลาดหุ้นได้ปรับตัวลงมาอย่างรุนแรงก็สร้างโอกาสให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในการหาจังหวะเข้าลงทุนในตลาดหุ้น เพราะเหตุการณ์วิกฤตในรอบนี้เปรียบเสมือนโอกาสในการเลือกลงทุนในหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดีในราคาถูก ซึ่งโอกาสการลงทุนเช่นนี้นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง ธุรกิจที่มีกระแสเงินสด สภาพคล่อง และสถานะทางการเงินที่แข็งแรงจะยังคงสามารถทนต่อวิกฤตได้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น