กองทุนบัวหลวงคาด AUM ปีนี้โตเฉียดแตะล้านล้าน ชูธีมลงทุนระยะกลาง-ยาว เน้นหุ้นปรับตัวรับยุคดิจิทัล ทั้งชอปปิ้งออนไลน์และผู้ให้บริการทางการเงิน พร้อมเน้นใช้ ESG เป็นเกณฑ์หลักคัดหุ้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในอนาคต ระบุหุ้นไทยปีนี้อยู่ในกรอบ 1,420-1,520 จุดหลังโดนไวรัสโควิด-19 กดดันดัชนี คาดที่ผ่านมาอาจยังไม่ใช่จุดต่ำสุดเพราะยังไม่สามารถประเมินได้
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือกองทุนบัวหลวง กล่าวว่า การเติบโตของสินทรัพย์รวม (AUM) ในปี 2563 น่าจะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.55 แสนล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 5% จากในปีที่ผ่านมา (2562) อยู่ที่ 9.10 แสนล้านบาท ประกอบด้วย กองทุนรวม 5.72 แสนล้านบาท กองทุนอสังหาฯ และกองโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 แสนล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 9.4 หมื่นล้านบาท และกองทุนส่วนบุคคล 1.9 หมื่นล้านบาท
สำหรับในปีนี้คาดว่าบริษัทจะออกกองทุนอีกประมาณ 8-9 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ 1 กอง กองทุน RMF และ SSF 3 กอง กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ 2 กอง และกองทุนที่ลงทุนหลากสินทรัพย์อีก 1 กองทุน โดยกองทุน SFF ยังอยู่ระหว่างความชัดเจนในการจัดตั้งจาก ก.ล.ต. ซึ่งบริษัทจะมีทั้งกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนและกองทุนผสมเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุน
นายพีรพงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับธีมการลงทุนในปี 2563 ที่บริษัทอยากแนะนำในปีนี้เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจการลงทุนในระยะกลางถึงยาวคือธีม “เครือข่ายครอบคลุมสร้างความแข็งแกร่ง บรรษัทแข็งแรงสร้างความยั่งยืน”
เครือข่ายครอบคลุมสร้างความแข็งแกร่ง กองทุนบัวหลวงมองว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ภาคธุรกิจต่างต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยจะเห็นว่าธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งสามารถแปลงโฉมธุรกิจดั้งเดิมไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ อินเทอร์เน็ต นับเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หรือ disrupt ต่ออุตสาหกรรมอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ บริษัทจึงเห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีออนไลน์ พยายามเพิ่มหุ้นส่วนทางธุรกิจเพื่อนำเสนอบริการที่หลากหลาย อีกทั้งยังสามารถผสมผสานผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ทันที ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มเติมแล้ว ยังดึงดูดให้ผู้ใช้งานไม่หนีไปหาคู่แข่ง
ตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ Alibaba (อาลีบาบา) และ Tencent (เทนเซ็นต์) ที่นำเสนอบริการมากมาย เพียงเข้าใช้บริการผ่านแอพพลิเคชันได้ครบ ทั้งซื้อสินค้า ชมภาพยนตร์ ฟังเพลง ท่องเที่ยว การเดินทาง เชื่อมโยงผ่าน Payment Application หรือแพลตฟอร์มการชำระเงิน ในบางครั้งธุรกิจก็ต้องยอมขาดทุนบ้าง เพื่อให้ภาพรวมการแข่งขันยังคงตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้โดยไม่แพ้คู่แข่ง ขณะที่ Amazon (แอมะซอน) นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ของการให้บริการบนแพลตฟอร์มของตนเอง เป็นต้น
นายพีรพงศ์กล่าวว่า บรรษัทแข็งแรงสร้างความยั่งยืน ก็เป็นอีกแนวโน้มที่กองทุนบัวหลวงให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะนอกจากขนาดของธุรกิจ (Size) และผลกระทบเครือข่าย (Network effects) ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ควรพิจารณากับการลงทุนเพื่อผลตอบแทนระยะยาว คือ ปัจจัยด้าน ESG อันได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ภาครัฐและสังคมตระหนักกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้นตามลำดับ
“การลงทุนโดยให้ความสำคัญต่อ ESG เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดย MSCI เคยจัดทำผลสำรวจพบว่ากิจการที่มีคะแนน ESG สูงจะให้ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนและเติบโตได้ดีในระยะยาว มากกว่าธุรกิจที่มีคะแนน ESG น้อย สำหรับในตลาดการลงทุนก็เช่นกัน เรามักจะพบว่าหุ้นของบริษัทในกลุ่มที่มีความสุ่มเสี่ยงกับประเด็นด้าน ESG มักจะถูกประเมินมูลค่าที่ลดลงเมื่อเทียบกับธุรกิจใกล้เคียงกัน ดังนั้น ถึงแม้บริษัทที่มีปัญหาด้าน ESG จะมีราคาหุ้นไม่แพง ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าบริษัทนั้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต” นายพีรพงศ์กล่าว
นายพีรพงศ์กล่าวอีกว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยปีนี้บริษัทเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง อยู่ในระดับประมาณ 3-4% และจะไม่เน้นผลตอบแทนที่ได้จากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น แต่มีข้อแม้ด้วยว่าจะต้องเป็นหุ้นที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีธรรมาภิบาลที่ดี
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 1,420-1,520 จุด ที่ราคา P/E ประมาณ 14-16 เท่า ซึ่งในช่วงที่ผ่านตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นจุดต่ำสุดหรือยัง ซึ่งที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปลายปีที่แล้วและไตรมาสที่ 1 ของปีนี้โตติดลบถึง 2 ไตรมาส ส่งผลให้นับได้ว่าเป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอยตามทฤษฎีแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากปัญหาทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย เป็นไปได้เช่นกันว่าหลังจากไตรมาส 3 เป็นต้นไปเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง โดยการลงทุนในปีนี้นักลงทุนยังคงต้องจัดพอร์ตการลงทุนตามความเสี่ยง และการลงทุนในหุ้นจะต้องกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมาย
สำหรับพอร์ตการลงทุนที่บริษัทอยากแนะนำมีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับความเสี่ยง ได้แก่ ความเสี่ยงต่ำ จะเป็นการลงทุนในหุ้น 25% ตราสารหนี้ 75% ความเสี่ยงปานกลาง เป็นการลงทุนในหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% ความเสี่ยงสูง เป็นการลงทุนในหุ้น 80% ตราสารหนี้ 20% โดยการลงทุนในหุ้นจะแบ่งเป็นการลงทุนในหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และการลงทุนในกองรีทด้วย