xs
xsm
sm
md
lg

กบข.ตั้งเป้าสมาชิกออมเพิ่มแสนคน มุ่งกองทุนบำนาญยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



​นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ในปี 2563 กบข. ได้กำหนดทิศทางบริหาร กบข. มุ่งสู่การเป็นกองทุนบำนาญยั่งยืน (Sustainable Pension) ภายใต้ 2 เป้าหมายหลัก “สมาชิกมีเงินออมเมื่อเกษียณที่เพียงพอ (Sufficient Retirement Saving)” และ “สังคมมีความยั่งยืน (Social Sustainability)”

“ภายใต้เป้าหมายสมาชิกมีเงินออมเมื่อเกษียณที่เพียงพอ (Sufficient Retirement Saving) กบข. กำหนดเกณฑ์เทียบวัดมาตรฐาน (Benchmark) ไว้ว่าสมาชิก กบข. ควรเกษียณโดยมีเงินออม ณ เกษียณคิดเป็นร้อยละ 80 ของเงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สมาชิกต้อง “ออมเพิ่ม” และ “เลือกแผนลงทุน” ที่เหมาะสม นั่นก็หมายความว่า เราต้องทำให้สมาชิกพอใจ (Satisfy) ใน กบข. และเชื่อมั่น (Trust) ใน กบข. ก่อน วิธีการสำคัญที่จะทำให้สมาชิกเกิดความรู้สึกเช่นนั้นก็คือ ผลตอบแทน กบข. ต้องเป็นบวกต่อเนื่องและสม่ำเสมอ (Stability of Returns) ซึ่งส่วนนี้ได้มีการกำหนดเป็นแนวทางบริหารการลงทุนสำหรับทีมลงทุนไปแล้ว”

นายวิทัยฯ กล่าว​ในส่วนผลสำเร็จของแผนงานนี้ กบข. ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าสมาชิกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 หรือ 100,000 คน ต้องออมเพิ่มและเลือกแผนลงทุนเพิ่มเติมในปี 2563 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมากเมื่อเทียบกับยอดสมาชิกออมเพิ่มและเลือกแผนลงทุนสะสม 12 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ ซึ่งมีจำนวนรวมกันน้อยกว่าจำนวนเป้าหมายดังกล่าว

​นอกเหนือจากแผนงานส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณให้กับสมาชิก ในต้นปี 2563 กบข. ยังพร้อมเปิดตัว “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณของสมาชิก กบข.” (Member Retirement Readiness Index) เพื่อใช้เป็นเครื่องวัดผลความสำเร็จในการส่งเสริมการออมให้กับสมาชิก และพร้อมเริ่มโครงการความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนา “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณระดับประเทศ” (National Retirement Readiness Index) เพื่อเป็นดัชนีอ้างอิงความพร้อมในการเกษียณของคนไทยทั้งประเทศรองรับกับปัญหาสังคมสูงวัย ที่จะเป็นปัญหาหลักของประเทศในอนาคต นายวิทัยฯ ชี้แจงเพิ่มเติม

​สำหรับเป้าหมายส่งเสริมและร่วมสร้างสังคมมีความยั่งยืน (Social Sustainability) นั้น นายวิทัยฯ กล่าวว่า กบข. ยังคงดำเนินแผนงานต่อเนื่องเพื่อการลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Investing) โดยปี 2563 มีเป้าหมายส่งเสริมให้นักลงทุนสถาบันหันมาให้ความสำคัญกับการนำปัจจัย ESG ไปเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนภายนอก ซึ่ง กบข. ได้เริ่มนำหลักเกณฑ์ปัจจัย ESG มาใช้คัดเลือกผู้จัดการกองทุนภายนอกมาแล้วตั้งแต่ปี 2562 สำหรับการจัดการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของสังคมนั้น กบข. จะเลือกลงทุนเฉพาะหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงปัจจัย ESG โดยตั้งเป้าหมายสำหรับปี 2563 ไว้ว่าการลงทุนในประเทศทั้งหมดทั้งในส่วนหุ้นและตราสารหนี้ ต้องเป็น 100% ESG Portfolio ทั้งหมด นั่นก็หมายความว่า กบข. จะเข้าลงทุนเฉพาะในบริษัทที่คำนึงถึงและให้ความสำคัญต่อปัจจัย ESG เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น