xs
xsm
sm
md
lg

มุมมองตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 4/2017

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีมจัดการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด

หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวมยังไม่มีทิศทางที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนเพียงพอที่จะให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งการขึ้นดอกเบี้ยจากนี้ได้เร็วมากนัก ส่งผลให้ในระยะสั้นเม็ดเงินบางส่วนยังไม่ไหลกลับเข้าสหรัฐฯ และยังคงเข้าลงทุนอยู่ในตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างเป็นลำดับของเศรษฐกิจยูโรโซนและญี่ปุ่น อาจส่งผลให้ ECB และ BoJ พิจารณาการผ่อนปรนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในปัจจุบันลง โดยถือเป็นความเสี่ยงในระยะกลางในลำดับต่อไปต่อตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ ซึ่งรวมไปถึงตลาดหุ้นไทย

สำหรับเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่ 2/2017 เติบโตในอัตรา 3.7% สูงที่สุดในรอบ 4 ปี สนับสนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่พบว่าเป็นลักษณะของการกระจุกตัวในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการผลิตจากเครื่องจักรเป็นหลักที่ยังไม่กระจายตัวไปในวงกว้างมากนัก ขณะที่การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงบางส่วนจากการขาดนโยบายกระตุ้นการจับจ่าย/ท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลเมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนผ่านตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐยังคงถูกผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะมีความล่าช้าอยู่บ้าง คณะกรรมการนโยบายการเงินยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% เช่นเดิม และคาดว่าจะคงดอกเบี้ยในระดับนี้ไปตลอดปี 2017 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่อยู่ในระดับสูงโดยเปรียบเทียบ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่คลี่คลายในเชิงบวกมากขึ้นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมเรามีมุมมองต่อการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2017-18 ไว้อยู่ที่ระดับ 3.6% และ 3.8% ตามลำดับ

ระยะสั้น ถึงแม้เม็ดเงินต่างประเทศบางส่วนจะเริ่มไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น เรายังมีมุมมองในระยะกลางว่าในที่สุดแล้วการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed รวมไปถึงธนาคารกลางสำคัญอื่นๆ และแนวโน้มอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ที่น่าจะทยอยปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้มีเม็ดเงินบางส่วนไหลออกจากตลาดหุ้น (Asset Rotation) อย่างไรก็ตาม การปรับตัวสูงขึ้นดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความชัดเจนขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนในหุ้นก็ถือว่าเป็นทางเลือกในลำดับต้นๆ ที่สอดคล้องไปกับปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวในระยะยาว ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้อีกด้วย

ในไตรมาสที่ 4/2017 เราคาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,620-1,720 จุด ด้วยแรงหนุนหลักจาก Fund flow นักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก

เราปรับเป้า SET Index Target สิ้นปี 2017 ขึ้นเป็น 1,720-1,750 จุด ซึ่งเป็นกรณีที่ดีที่สุดในมุมมองของเรา โดยปัจจัยที่สนับสนุนตลาดหุ้นไทย ได้แก่ แรงหนุนจากสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูงมากขึ้น, สถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลาย, แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคที่ขยายตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการลงทุนภาครัฐ, การส่งออก และการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัว

ในไตรมาสที่ 4/2017 นี้เราเลือกปรับการลงทุนไปยังหุ้นที่มีสภาพคล่องและหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น โดยเน้นหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิค่อนข้างเด่น ประกอบกับมี Valuation น่าสนใจในมุมมองของเรา เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากพอร์ตการลงทุนแบบ Selective ในปัจจุบัน เช่น กลุ่มที่อิงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม (ธนาคาร, ปิโตรเคมี), กลุ่มบริษัทที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางรัฐบาล (ค้าปลีก, ท่องเที่ยว), การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (วัสดุ/ก่อสร้าง, รับเหมาก่อสร้าง) และกลุ่มที่มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ดี (อาหาร)
กำลังโหลดความคิดเห็น