“ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล” โชว์ผลงานการบริหารกองทุนในพอร์ต ประกาศจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติของกองทุน 8 กองรวด โดยมีผลการดำเนินงานดีในช่วงที่ผ่านมา ด้านผู้บริหารประเมินทิศทางการลงทุนครึ่งปีหลัง มองหุ้นขนาดเล็กทั่วโลกและหุ้น Asia Pacific Ex Japan น่าสนใจรับแนวโน้มเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนใน REITs ยังได้รับแรงหนุนจากค่าเช่าที่เติบโต แนะลงทุนใน 3 กองทุนของซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลที่มีผลงานโดดเด่น
นายวิน พรหมแพทย์, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลสามารถบริหารกองทุนที่อยู่ภายใต้การจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศรวมถึงสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ล่าสุด ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลจึงประกาศจ่ายเงินปันผลและอัตราการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติของกองทุนที่อยู่ภายใต้การจัดการรวม 8 กอง ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความเชี่ยวชาญและศักยภาพในการบริหารกองทุนของซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ท่ามกลางภาวการณ์ลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมาที่ยังคงผันผวน
สำหรับกองทุนทั้ง 8 กองที่ประกาศจ่ายเงินปันผลและอัตราการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติในครั้งนี้ ได้แก่ กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เดลี่ อินคัม ชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Class-R) และชนิดจ่ายเงินปันผล (Class-D) ที่อัตราเท่ากัน 0.032 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล คอร์ ฟิกซ์ อินคัม ชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Class-R) ที่อัตรา 0.04 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล อิควิตี้ ดิวิเดนท์ อินคัม ชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Class-R) และชนิดจ่ายเงินปันผล (Class-D) ที่อัตรา 0.22 บาทต่อหน่วย และ 0.14 บาทต่อหน่วยตามลำดับ กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล บาลานซ์ อินคัม ชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Class-R) ที่อัตรา 0.09 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล พร็อพเพอร์ตี้ อินคัม ชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Class-R) และชนิดจ่ายเงินปันผล (Class-D) ที่อัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย และ 0.15 บาทต่อหน่วยตามลำดับ โดยตั้งแต่จัดตั้งกองทุนสามารถจ่ายเงินปันผลได้ทุกไตรมาส รวม 21 ครั้ง จ่ายเงินปันผลรวม 4.225 บาทต่อหน่วย ซึ่งกองทุนทั้ง 5 กองได้ขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติและจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแล้วในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้
ขณะที่ กองทุนเปิดซีแพม โกลบอล สมอล แค็พ อิควิตี้ ชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Class-R) ที่อัตรา 0.22 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดซีแพม เอเชีย แปซิฟิก ไดนามิก อิควิตี้ ชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ ที่อัตรา 0.75 บาทต่อหน่วย ซึ่งทั้ง 2 กองทุนกำหนดโอนเงินเข้าบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 และกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ยูโร ไฮยิลด์ ชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ ที่อัตรา 0.23 บาทต่อหน่วย กำหนดขายคืนหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคมนี้
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า ในส่วนมุมมองการลงทุนในครึ่งปีหลังประเมินว่าเศรษฐกิจโลกและเอเชียแปซิฟิกยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี รวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล แนะนำการลงทุนในกองทุนเปิดซีแพม โกลบอล สมอล แค็พ อิควิตี้ (CPAM GSCEQ) ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Feeder Fund ที่มีนโยบายเข้าลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว โดยให้อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 13.95% เทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) อยู่ที่ 9.80% เนื่องจากมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังในหุ้นขนาดเล็กทั่วโลก (Global Small Cap) ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะออกมาดี โดย IMF คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2560 และปี 2561 จะขยายตัว 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ ส่วน Bloomberg Consensus ประมาณแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้อาจชะลอตัว แต่ในปี 2561 จะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ความกังวลต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง และในปีนี้จะเริ่มลดขนาดงบดุลโดยการปรับลดวงเงินถือครองพันธบัตรรัฐบาลและหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน
ขณะเดียวกัน แนะนำลงทุนในกองทุนเปิดซีแพม เอเชีย แปซิฟิก ไดนามิก อิควิตี้ (CPAM APDE) ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Feeder Fund ที่มีนโยบายเข้าลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 17.18% เทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) อยู่ที่ 19.25% ส่วนดัชนีชี้วัดนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนนั้นไม่ปรากฏข้อมูล เนื่องจากยังมีมุมมองที่ดีต่อการลงทุนในหุ้น Asia Pacific Ex Japan (APDE) ในครึ่งปีหลังของปีนี้ ซึ่งมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยกองทุนจะมุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่ม New Economy ในประเทศจีน เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต เป็นต้น และลงทุนในตลาดหุ้นประเทศอินเดียที่เศรษฐกิจในปี 2560-2561 มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่า 7% ขณะที่ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Asia Pacific Ex Japan ในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตถึง 18% สูงกว่าคาดการณ์ผลกำไรตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ที่ 11-12% และมูลค่าหุ้นของตลาด Asia Pacific Ex Japan ยังคงซื้อขายที่ระดับ Forward PER ปี 2560-2561 ที่ 14 เท่า และ 13 เท่าตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าดัชนี MSCI World ที่ซื้อขายที่ระดับ 17 เท่า และ 16 เท่าตามลำดับ (ข้อมูลจาก Goldman Sachs ณ 30 มิ.ย. 2560)
นอกจากนี้ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากค่าเช่าที่ยังคงเติบโตได้ดี และคาดว่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การลงทุนใน REITs ประเทศสิงคโปร์นั้น ประเมินว่าจะได้รับแรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น และผลตอบแทนที่ลดลงของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี รวมถึงดอกเบี้ยทั่วโลกที่คาดว่าจะปรับขึ้นอย่างช้าๆ จึงแนะนำให้ลงทุนในกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล พร็อพเพอร์ตี้ อินคัม (CIMB-PRINCIPAL iPROP) ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 4.41% เทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) อยู่ที่ -2.90%
‘นับตั้งแต่ต้นปีกองทุนของเรานับได้ว่าประสบความสำเร็จและสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจ ทั้งนี้มาจากจุดเด่นในการบริหารจัดการในกระบวนการคัดเลือกหลักทรัพย์ลงทุนรายตัว และเน้นการลงทุนในหุ้นกำไรเติบโตและมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในระดับราคาที่เหมาะสม รวมทั้งการเข้าลงทุนในจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม จึงทำให้กองทุนสร้างผลการดำเนินงานที่ดี และทำให้กองทุนสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยได้อย่างต่อเนื่อง และเราหวังว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ลูกค้าได้ต่อไปในอนาคต’ นายวินกล่าว