xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.ร่วมสมาคมแบงก์ ตีกรอบขายประกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำนักงานคณะกรรมการกำกับการและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้าใจถึงความสำคัญของการซื้อประกันภัยโดยผ่านช่องทางธนาคารเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดและคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงกระตุ้นธนาคารในฐานะนายหน้าขายประกันให้เข้าใจถึงการเสนอขายผลิตภัณฑ์

นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันช่องทางการขายประกันภัยผ่านธนาคารได้รับความนิยมจากประชาชนผู้เอาประกันภัยสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายประกันชีวิต ดังจะเห็นได้จากตัวเลข ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 จำนวนเบี้ยประกันชีวิตรับรวมผ่านช่องทางธนาคารมีจำนวนทั้งสิ้น 123,418 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 45.36 ของการขายประกันชีวิตรวมทุกช่องทาง โดยขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.7 ในขณะที่จำนวนเบี้ยประกันวินาศภัยรับรวมผ่านช่องทางธนาคารมีจำนวนทั้งสิ้น 12,337 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.78 ของการขายประกันวินาศภัยรวมทุกช่องทาง ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.16

สำนักงาน คปภ.ตระหนักถึงความสำคัญของการซื้อประกันภัยของประชาชนผ่านช่องทางธนาคารซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันภัย รวมถึงเพื่อกระตุ้นเตือนให้ธนาคารในฐานะนายหน้าประกันภัยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการติดตามตรวจสอบคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยของพนักงานธนาคาร สำนักงาน คปภ. นำโดย นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านตรวจสอบ (คปภ.) จึงได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย นำโดย นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการกำกับและควบคุมคุณภาพการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านธนาคาร ทั้งนี้ จากการหารือ สมาคมธนาคารไทยได้แจ้งแนวทางปฏิบัติร่วมกันของภาคธนาคารเพื่อปรับปรุงคุณภาพการขาย โดยจะมีการแยกพื้นที่การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยออกจากเคาน์เตอร์รับฝากเงิน และมีป้ายบอกอย่างชัดเจน รวมถึงการใช้กระบวนการในการกำกับและตรวจสอบคุณภาพการขายประกันภัยของธนาคาร ทั้งกระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังการขาย ซึ่งจะมีการนำเอาวิธีการสุ่มตรวจ (Mystery Shopping) มาใช้ อีกทั้งจะมีการจัดทำคู่มือประกอบการขาย และจัดอบรมความรู้เพื่อสร้างมาตรฐานการขายที่เป็นสากล สามารถยึดปฏิบัติได้เหมือนกันทุกธนาคาร นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.ยังได้จัดทำข้อแนะนำ 12 ประการแก่ประชาชนในการซื้อประกันภัยผ่านธนาคารเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายประกันภัย โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ก่อนซื้อ : ผู้ซื้อต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการซื้อประกันชีวิต ไม่ใช่การฝากเงินกับธนาคาร และมีสิทธิเลือกซื้อประกันภัยด้วยความสมัครใจ สามารถปฏิเสธได้หากไม่เป็นไปตามความต้องการ ซึ่งธนาคารเองก็ไม่อาจใช้การทำประกันภัยเป็นเงื่อนไขต่อรองในการให้สินเชื่อหรือธุรกรรมอื่นได้ และที่สำคัญต้องขอดูใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันภัยของพนักงานธนาคารก่อนซื้อทุกครั้ง
ระหว่างซื้อ : ผู้ซื้อควรเลือกแบบประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองตรงกับความต้องการมากที่สุด และควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อยกเว้นของกรมธรรม์นั้นๆ หากไม่เข้าใจ ต้องสอบถามจากผู้ขายให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อ อีกทั้งยังควรประมาณการรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยได้ครบตลอดระยะเวลาของสัญญาประกันภัย และควรกรอกใบคำขอเอาประกันภัยด้วยตนเองตามความเป็นจริง
หลังซื้อ : ผู้ซื้อต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยเข้าบัญชีบริษัทประกันภัยเท่านั้น และจะต้องได้รับเอกสารการรับชำระเงินจากธนาคาร พร้อมเก็บไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ควรตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่าถูกต้องและเป็นไปตามการเสนอขายหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่เสนอขาย สามารถยกเลิกได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย กรณีเกิดข้อสงสัยหรือข้อผิดพลาดในกรมธรรม์ ให้ติดต่อผู้ขายหรือบริษัทประกันภัยโดยเร็ว

ข้อแนะนำในการซื้อประกันภัยผ่านธนาคาร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการซื้อประกันภัยของประชาชนผ่านช่องทางธนาคาร และเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการซื้อประกันภัย สำนักงาน คปภ.จึงได้จัดทำข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการซื้อประกันภัยผ่านธนาคาร ดังนี้
1. ผู้ซื้อควรเข้าใจว่าการซื้อประกันชีวิต ไม่ใช่การฝากเงินกับธนาคาร
2. ผู้ซื้อควรขอดูใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต หรือประกันวินาศภัยของพนักงานธนาคาร ตามประเภทของกรมธรรม์ประกันภัย
3. ผู้ซื้อควรเลือกแบบประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองตรงกับความต้องการของตนเอง
4. ผู้ซื้อควรวางแผนและประมาณการรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้ครบตลอดระยะเวลาของสัญญาประกันภัย
5. ผู้ซื้อควรเข้าใจถึงความคุ้มครอง และข้อยกเว้นของกรมธรรม์นั้นๆ หากไม่เข้าใจ ต้องสอบถามจากผู้ขายให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อ รวมทั้งควรเก็บเอกสารประกอบการเสนอขายของธนาคารไว้
6. ผู้ซื้อมีสิทธิเลือกซื้อประกันภัยด้วยความสมัครใจ และปฏิเสธได้ หากไม่เป็นไปตามความต้องการของตนเอง ทั้งนี้ ธนาคารไม่อาจใช้การทำประกันภัยเป็นเงื่อนไขต่อรองในการให้สินเชื่อ หรือธุรกรรมอื่น
7. ในกรณีที่ต้องกรอกใบคำขอเอาประกันภัย ผู้ซื้อควรกรอกด้วยตนเอง หรือหากไม่ได้กรอกด้วยตนเอง ผู้ซื้อจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้อง โดยไม่ให้ข้อความที่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ก่อนลงลายมือชื่อในใบคำขอเอาประกันภัย
8. ผู้ซื้อควรสอบถามถึงสิทธิและระยะเวลาในการยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โดยผู้ซื้อสามารถใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ภายใน ๑๕ วัน นับจากวันที่รับกรมธรรม์ประกันชีวิต และได้รับเบี้ยประกันภัยคืนหลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าตรวจสุขภาพ (หากมี) ทั้งนี้ หากผู้ซื้อยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตหลังจากระยะเวลาดังกล่าว ผู้ซื้อสามารถใช้สิทธิเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตและได้รับมูลค่าเวนคืนตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต
9. เมื่อผู้ซื้อชำระเบี้ยประกันภัย ให้ชำระเงินเข้าบัญชีบริษัทประกันภัยเท่านั้น และจะต้องได้รับเอกสารการรับชำระเงินจากธนาคาร พร้อมเก็บไว้เป็นหลักฐาน
10. ผู้ซื้อควรสอบถามถึงช่องทางการติดต่อ หรือการเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยจากผู้ขาย
11. เมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ผู้ซื้อควรตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่าถูกต้องและเป็นไปตามการเสนอขายจากผู้ขายหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่เสนอขาย สามารถยกเลิกได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย กรณีเกิดข้อสงสัยหรือข้อผิดพลาดในกรมธรรม์ประกันภัย ให้ติดต่อผู้ขายหรือบริษัทประกันภัยโดยเร็ว
12. ผู้ขายยังคงมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่อาจใช้ข้อแนะนำข้างต้นเป็นการอ้างสิทธิเหนือผู้บริโภค
ประชาชนควรศึกษาถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง รวมถึงความคุ้มครองและข้อยกเว้น
ของกรมธรรม์ประกันภัยให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจซื้อประกันภัย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. ๑๑๘๖ หรือ www.oic.or.th
กำลังโหลดความคิดเห็น