xs
xsm
sm
md
lg

RMF...ใครเริ่มลงทุนก่อน ได้เปรียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ช่วงใกล้สิ้นปีอย่างนี้ สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวนอย่างมาก คำถามส่วนใหญ่ก็คงถามว่า “ควรซื้อกองทุน LTF ได้หรือยัง?” หรือ “หุ้นจะลงอีกหรือไม่ แล้วซื้อตอนไหนดี?” แต่น้อยคนนักที่จะถามถึงกองทุน RMF

ที่คิดอย่างนี้ก็ไม่แปลก เพราะมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่อาจมองว่าการลงทุนในกองทุน LTF น่าสนใจกว่า เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะปานกลางเพียง 7 ปี แถมได้สิทธิลดหย่อนทางภาษีเหมือนกับการลงทุนใน RMF ขณะที่กองทุน RMF ถือเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งกว่าจะถอนเงินออกมาใช้ได้ก็นานเหลือเกิน ต้องถือไปจนถึงอายุ 55 ปี แถมต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่รู้หรือไม่ว่าในทางกลับกัน นักวางแผนทางการเงินที่ดีกลับมองว่าการลงทุนเพื่อการเกษียณนั้นมีความสำคัญมากกว่าการลงทุนเพียงเพื่อหวังสิทธิลดหย่อนทางภาษีในระยะสั้น และมักจะแนะนำให้เลือกลงทุนใน RMF เป็นอันดับแรกๆ ก่อนจัดสรรเงินลงทุนส่วนที่เหลือไปลงทุนในกองทุน LTF

เมื่อถึงวัยเกษียณ สิ่งที่เราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการไม่มีงานประจำ แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะมาจากค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางท่องเที่ยว ค่าเลี้ยงดูบุตรหลาน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ใครจะรู้ว่าราคาข้าวราดผัดกะเพราในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะราคาจานละ 100 บาทก็เป็นได้ ในขณะที่บางคนตั้งเป้าหมายว่าเราต้องมีชีวิตหลังเกษียณไปอีก 20 ปี ซึ่งถ้าอยากใช้จ่ายอย่างสบายๆ เดือนละ 30,000 บาทก็ต้องมีเงินเก็บประมาณ 7,200,000 บาท ซึ่งก็ไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งหากเราเก็บออมอย่างเดียวโดยไม่นำไปลงทุนให้งอกเงยคงยากที่จะบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นการวางแผนทางการเงินที่ดีเพื่อรองรับชีวิตวัยหลังเกษียณที่จะเกิดขึ้นนี้จึงมีความจำเป็นมากโดยเฉพาะในช่วงที่เรายังมีรายได้ประจำที่แน่นอนเช่นนี้

ปัจจุบันเครื่องมือการเก็บออมหรือลงทุนเพื่อการเกษียณมีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในทางเลือกที่ได้รับความนิยมที่สุดคงหนีไม่พ้นการลงทุนในกองทุน RMF เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ระยะยาวแก่นักลงทุนจนถึงวัยเกษียณ มีนโยบายให้ผู้ลงทุนจัดสรรเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง ขั้นต่ำ 3% ของเงินได้หรือ 5,000 บาทต่อปี โดยจะต้องลงทุนระยะยาวจนอายุถึง 55 ปีจึงจะถอนเงินออกมาได้ การออกแบบกองทุนลักษณะนี้ถือเป็นตัวช่วยในการสร้างวินัยแก่นักลงทุน ในช่วงวัยที่ยังมีค่าใช้จ่ายจำเป็นไม่มากนัก แต่เงินออมมักจะหมดไปกับค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ เมื่อถือกองทุน LTF ครบกำหนดก็ถอนออกมาเพื่อซื้อกองทุนใหม่ จึงมิได้เป็นการเก็บออมเพื่อระยะยาว นอกจากนี้ กองทุน RMF ยังมีความหลากหลายของสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเน้นลงทุนในหุ้นไทยเท่านั้นเหมือนกองทุน LTF ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเลือกสรรกองทุนที่เหมาะกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเอง พร้อมทั้งสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนโดยการปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดรับกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้และสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอในพอร์ตการลงทุน ขณะที่ลดสินทรัพย์เสี่ยงกว่าอย่างหุ้นในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง สุดท้ายคือ ประโยชน์ด้านสิทธิลดหย่อนภาษี ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ หรือไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งจริงๆ แล้วอยากให้มองว่าสัดส่วนที่ได้จากการหักภาษีนั้นเป็นกำไรของการลงทุนเพื่อประโยชน์ในระยะยาวนั่นเอง

หลังจากที่กล่าวถึงประโยชน์และความจำเป็นของการลงทุนในกองทุน RMF กันไปแล้ว หลายท่านคงเกิดคำถามว่าแล้วเราจะเริ่มอย่างไรดีล่ะ? การเริ่มต้นลงทุนนั้นก็ไม่ยาก ก่อนอื่นมากำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายหลังเกษียณ ว่าอยากจะมีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณเดือนละเท่าไร ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าต้องเริ่มเก็บเงินเดือนละเท่าไรจึงจะบรรลุเป้าหมาย จากนั้นแบ่งเงินเก็บก้อนนี้ออกเป็นส่วนๆ ตามวัตถุประสงค์การลงทุน โดยมีส่วนหนึ่งเป็นเงินออม (อาจจะประมาณ 10-20% ของรายได้หรือแล้วแต่เหมาะสม) และอีกส่วนหนึ่งจัดสรรมาลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นกองทุน RMF เพื่อให้เงินลงทุนงอกเงย และอาจกระจายไปในกองทุน LTF สำหรับใครที่ต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม เมื่อได้สัดส่วนเงินออมและเงินลงทุนส่วนต่างๆ แล้ว ขั้นสุดท้ายก็คือ การคัดเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของตนเองและเริ่มลงทุนได้เลย

การเริ่มวางแผนทางการเงิน และหันมาลงทุนระยะยาวตั้งแต่วันนี้ทำห้เงินเก็บของเรามีโอกาสเติบโต ออกดอกออกผล และคุณอาจจะได้เกษียณก่อนอายุที่ตั้งใจก็เป็นได้ บอกแล้วว่า...“ใครเริ่มก่อนได้เปรียบ”

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงและคู่มือภาษีก่อนตัดสินใจลงทุน
จัดทำ ณ วันที่ 19 กันยายน 2559 โดยนางสาวชญานุตม์ เหมือนเดช ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น