xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.ธนชาตคาด AUM ปี 59 โตได้ 20% เน้นเจาะหุ้น Low Beta ตอบโจทย์เทรนด์ดอกเบี้ยต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บลจ.ธนชาตคาดสิ้นปี AUM สามารถแตะ 2 แสนล้านได้ ชูนโยบาย Low Beta เป็นหลัก พร้อมเสนอบริการกองทุนออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนให้มากขึ้น

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ในปี 2559 จะเติบโตราว 20% จากสิ้นปี 58 มี AUM อยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท และปัจจุบันผ่านมา 7 เดือนเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 แสนล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้จะสามารถแตะระดับ 2 แสนล้านบาทได้ ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของกองทุนรวม (Mutual Fund) เป็นส่วนใหญ่

ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันบริษัทฯ ออกกองทุนใหม่ทั้งสิ้นจำนวน 37 กองทุน แบ่งเป็น ทริกเกอร์หุ้นไทย 4 กองทุน กองทุน FIF 1 กองทุน กองทุนผสมตราสารหนี้ 1 กองทุน กองทุนผสมอสังหาริมทรัพย์ 1 กองทุน และกองทุนหุ้น Prime Low Beta 1 กองทุน ที่เหลือจะเป็นกองทุนเทอมฟันด์

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บลจ.ธนชาตมีกองทุนเด่นอย่างกองทุนเปิดธนชาต Low Beta (T-LowBeta) ที่ลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำกว่าตลาด เน้นลงทุนในหุ้นที่ธุรกิจไม่ได้ขึ้นกับวงจรเศรษฐกิจมากนัก เป็นบริษัทที่มีกระแสเงินสดดี มีความสามารถในการแข่งขันสูง สามารถจ่ายเงินปันผลได้ในระดับที่น่าสนใจ ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก และกองทุนเองก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าสนใจ ในปีนี้ บลจ.ธนชาตจึงได้ออกกองทุน T-PrimeLowBeta เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำกว่านั้น เพราะเชื่อว่ายังมีนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นเพราะเริ่มไม่พอใจกับดอกเบี้ยของเงินฝาก แต่ก็ไม่สามารถรับความผันผวนของราคาหุ้นได้มากนัก บลจ.ธนชาตจึงได้คิดกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำกว่าเดิมเพื่อเข้ามาตอบโจทย์นี้ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะหลังจากเปิดกองทุนนี้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาปัจจุบันมีขนาดเกือบ 4 พันล้านบาทแล้ว

“บลจ.ธนชาตเน้นออกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่ผันผวนต่ำกว่าหุ้นทั่วไป ทั้งในแง่หุ้นผันผวนต่ำอย่าง Low Beta หรือกองทุนรวมอสังหาฯ เพราะปัจจุบันเราอยู่ในสถานการณ์ดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก ผู้ที่คุ้นเคยกับการฝากเงินหรือลงทุนแต่ในกองทุนตราสารหนี้เริ่มประสบปัญหาว่าผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่การจะขยับให้ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ไปลงทุนในหุ้นเลยคงยาก เพราะผู้ลงทุนมักไม่สามารถทนรับความผันผวนระหว่างทางได้ แม้จะมีสถิติยืนยันว่าหากลงทุนหุ้นในระยะยาวมักให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินก็ตาม”

หลังจากนี้คาดว่าจะเปิดกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำเช่นกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน LTF เพราะ บลจ.ธนชาตมองว่าหุ้นประเภทนี้กำลังได้รับความนิยม และสามารถสร้างโอกาสรับผลตอบแทนบนความผันผวนที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ ซึ่งคาดว่าจะเปิดขายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

นายโชติช่วง ธีรขจรโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ธนชาต กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ก็จะขยายตัวได้จำกัด และคงมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าดอกเบี้ยจะติดลบในหลายภูมิภาค และราคาน้ำมันจะถูกลงมากก็ตาม นอกจากนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมายังเป็นในลักษณะประคองตัว จึงมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังสามารถรอการขึ้นดอกเบี้ยได้ และหากจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ก็คงจะขึ้นได้ไม่เกิน 1 ครั้ง

“สำหรับกลยุทธ์การลงทุนก็ยังแนะให้นักลงทุนกระจายการลงทุน เนื่องจากตราสารหนี้โลกยังมีปัจจัยความกังวลเรื่องเศรษฐกิจที่ยังกดผลตอบแทนอยู่ (Yield) และจะเห็นได้ว่าเงินเริ่มไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ส่วนตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ก็เริ่มฟื้นตัว แนะนำให้เลือกลงทุนเป็นรายตัว หรือเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้รายได้สม่ำเสมอ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่าปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองในครึ่งหลังของปีนี้ คือ ค่าเงินหยวน แนวโน้มการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเสถียรภาพสถาบันการเงินในอังกฤษ และยุโรป”

ส่วนกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีที่จะเข้ามาตอบโจทย์ผู้ลงทุนยุคใหม่มากขึ้น นางพัชรภัส ลิ้มวรพิทักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มระบบสารสนเทศและเทคโนโลยี บลจ.ธนชาต กล่าวว่า ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ลงทุนอยู่ตลอดเวลา

“ปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินได้พัฒนาไปอีกขั้นจนเข้าสู่ยุคของการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ และกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อให้การเข้าถึงการซื้อขายกองทุนรวมสามารถทำได้ง่ายขึ้น บลจ.ธนชาตจึงได้ร่วมมือกับธนาคารธนชาตพัฒนาเพิ่มเมนูกองทุนรวมในแอปพลิเคชัน Thanachart connect เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้ากองทุนรวม เพราะเข้าใจดีว่าลูกค้าที่ทำงานอาจไม่มีเวลาไปทำธุรกรรมที่เคาน์เตอร์ธนาคารได้ ประกอบกับในช่วงปลายปีอาจมีธุรกรรมของกองทุน LTF/RMF ในอัตราที่ค่อนข้างสูง การพัฒนาระบบจะช่วยอำนวยความสะดวกได้อีกทางหนึ่ง” นางพัชรภัสกล่าว

นอกจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน Thanachart connect แล้ว บลจ.ธนชาตยังได้มีการเพิ่มช่องทางชำระค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF/RMF ด้วยบัตรเครดิตธนชาตผ่านระบบ Thanachart Fund Online ด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น และเพื่อให้ลูกค้าสามารถติดตามตรวจสอบพอร์ตลงทุนของตัวเองอยู่เสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น