xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนหุ้นแบบ Absolute return

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หุ้นขึ้นก็ดีใจ หุ้นตกก็กลุ้มใจ ตลาดหุ้นกับความผันผวนแทบจะอยู่เป็นของคู่กัน อย่างที่นักลงทุนมักจะกล่าวกันติดปากว่า high risk high return หรือแปลเป็นไทยว่า เสี่ยงมากได้มาก (ซึ่งอาจจะเสียมากด้วย) กองทุนรวมส่วนใหญ่ที่มีในตลาดบ้านเราก็เช่นกัน กองทุนหุ้นไทยที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. มักจะเป็นการลงทุนแบบที่เราเรียกว่า Long Only คือ ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือชี้ชวน ถ้าตลาดดี NAV ของกองทุนก็ขึ้น ถ้าตลาดร่วงหนักๆ NAV ของกองทุนก็ลงไปด้วย หรือถ้าพัฒนาขึ้นมาหน่อยก็จดทะเบียนเป็นกองทุนผสม คือสามารถถือเงินสดหรือตราสารหนี้ได้ เมื่อเวลาตลาดลงก็อาจจะไปถือเงินสดแทนได้ไม่ต้องถือหุ้นตลอดเวลา

แต่เรื่องจริงก็ไม่มีใครตาทิพย์รู้ล่วงหน้าว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะลง ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพก็เพียงแต่กลับตัวได้เร็วกว่ารายย่อยและต่างชาติเพราะนั่งเฝ้าอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือการเลือกหุ้นพื้นฐานดี โดยหวังว่าเวลาตลาดขาลงหุ้นที่เลือกไว้จะลงน้อยกว่า เวลาตลาดขาขึ้นหุ้นนั้นก็จะขึ้นมากกว่า แต่ถึงแม้ว่ากองทุนจะชนะตลาดก็ไม่ได้หมายความว่าผลตอบแทนจะเป็นบวกเสมอไป อย่างปี 2558 ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับลดลงไป 15% ถ้ากองทุนไหนติดลบน้อยๆ ก็ถือว่าเก่งแล้ว ซึ่งการลงทุนแบบเดิมนี้เรามักเรียกกันว่า relative return คือผลงานเทียบกับดัชนีของตลาด

ยิ่งในโลกปัจจุบันที่ข่าวสารข้อมูลรวดเร็ว ทุนข้ามชาติสามารถเคลื่อนย้ายได้เกือบเสรี ตลาดก็ยิ่งมีความผันผวนมากขึ้นและเกิดได้บ่อยขึ้น สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ท่านก็อยากพัฒนาศักยภาพของตลาดทุนและผู้จัดการกองทุนไทย จึงได้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ให้สามารถใช้ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) มาป้องกันความเสี่ยงได้มากขึ้น จึงเกิดกองทุนแบบใหม่ที่เราเรียกกันว่า Absolute Return ที่เริ่มได้รับความนิยมจากนักลงทุนที่ไม่ชอบความผันผวนมากๆ

การลงทุนแบบ Absolute Return นี้เป็นการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม และสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้แม้ในสภาวะตลาดขาลง หรือสภาวะตลาดทรงตัว โดยใช้กลยุทธ์การคัดเลือกหุ้นตัวที่มีพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่สูง และมีระดับราคาที่ยอมรับได้ ทั้งยังใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของตลาดให้คงเหลือเพียงผลตอบแทนที่เกิดจากหุ้นนั้นๆ โดยการขายหรือ Short Index Future

อธิบายให้ละเอียดขึ้นไปอีก เช่น ผู้จัดการกองทุนเลือกลงทุนหุ้น 20-25 ตัวที่มีพื้นฐานดี ราคายอมรับได้ มูลค่ารวม 100 ล้านบาท และในขณะเดียวกันก็ไปขาย Index Future มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทเช่นกัน ถ้าตลาดหุ้นตกไป -5% แต่พอร์ตหุ้นที่เราเลือกไว้ลง -3% index future ที่เราขายไว้จะได้กำไรตรงข้ามกับตลาดที่ตกคือ +5% ทำให้ได้กำไรสุทธิ +2% พูดง่ายๆ คือผลตอบแทนที่ได้นั้นเป็นการวัดฝีมือการเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับจังหวะตลาดว่าจะขึ้นหรือจะลง

การลงทุนในรูปแบบ Absolute Return นี้ก็ยังคงมีความเสี่ยงในการลงทุนอยู่บ้าง หากราคาหุ้นในพอร์ตที่เราลงทุนลดลงมากกว่าตลาดในยามที่ตลาดลง หรือขึ้นน้อยกว่าตลาด และในยามที่ตลาดขึ้นก็อาจทำให้ผลตอบแทนของกองติดลบได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือการเลือกหุ้นว่าสามารถเอาชนะดัชนีตลาดได้หรือไม่ แต่ถึงอย่างไรการลงทุนประเภทนี้ก็ยังคงน่าสนใจและเหมาะสมในช่วงตลาดที่มีความผันผวนอยู่ ในปัจจุบันเริ่มมีบาง บลจ.ที่นำเสนอกองทุนประเภทนี้ให้เลือกลงทุน ซึ่ง บลจ.ไทยพาณิชย์ได้นำเสนอ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ท เทรด 555 ฟันด์ เอ (SCBST555A) เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนเมื่อเดือน ก.พ. 59 ที่ผ่านมา โดยมีผลการดำเนินงานนับจากจัดตั้งกองทุน ณ วันที่ 24 ก.พ. 59 จนถึง 29 ก.ค. 59 อยู่ที่ 7.37% และมีความผันผวนของผลตอบแทนเพียงแค่ 4.68% ต่อปี ในขณะที่ SET Index มีความผันผวนสูงถึง 11.38% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน (ที่มา : บลจ.ไทยพาณิชย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์จึงได้นำเสนอกองทุนลักษณะเดียวกันในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนอีกครั้ง

การลงทุนในรูปแบบ Absolute Return จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้บ้าง และไม่ชอบความผันผวนมากๆ แต่ก็ต้องการผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากหรือตราสารหนี้ระยะสั้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ของตนเองเป็นหลักด้วยนะครับ

ตัวอย่างผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงจากการใช้กลยุทธ์ Absolute Return Fund เทียบกับดัชนีตลาด

โดย สมิทธ์ พนมยงค์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น